ชีวิตที่พอเพียง ๒๕๗๒. ตระเวนชนบทญี่ปุ่น ๒. วันแรก : เรียนรู้เรื่อง OVOP



OVOP ย่อมาจาก One Village One Product และมีต้นแบบมาจากเมือง Oita และเริ่มปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จากนโยบายพัฒนาพื้นที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้น โอท็อปของเราเลียนแบบมาจากเขาตามที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว

วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๘ เรานั่งเครื่องบินการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 468 ไปลงที่เมืองฟูกูโอกะ เครื่องบินออกตี ๑ ถึงฟูกูโอกะ ๗.๓๐ น. ใช้เวลาบิน ๕ ชั่วโมง ผมพยายามนอนหลับ แต่ก็คงจะได้หลับสักสองชั่วโมงเศษๆ

ตอนผ่านเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ผมกรอกในเอกสารว่าจะไปที่เมือง Ajimu ตามที่ได้รับแจ้งจากทางสถาบันอาศรมศิลป์ เจ้าหน้าที่งง ผมจึงเอาเอกสาร Japan Trip ของสถาบันอาศรมศิลป์ให้ดู เธอจึงร้องแสดงว่าเข้าใจแล้วว่าจะไปไหนบ้าง หันไปดูอีกแถวหนึ่ง คุณวรนันท์ หนึ่งในคณะก็ต้องใช้วิธีเดียวกัน สาวน้อยเข้าคิวหลังคุณวรนันท์จึงผ่านฉลุย

แต่คนในคณะของเราที่ไม่ผ่านเป็นพระ คือท่านอาจารย์สงบ ศรีเมือง มากับลูกศิษย์ ๒ คน ลูกศิษย์ผ่าน แต่ท่านไม่ผ่าน เพราะยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ตอนยังไม่บวช ท่านไปทำงานที่ญี่ปุ่น และไปขับรถเกิดอุบัติเหตุคนตาย เมื่อไปตรวจลายมือเขาจับประวัติเดิมได้ และไม่ให้เข้าเมือง ต้องบินกลับ แสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นให้คนไทยเข้าเมืองได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า แต่ไม่ได้หมายความว่าใครๆ ก็เข้าเมืองเขาได้ คนที่เขาไม่มั่นใจว่าเข้าไปแล้วจะก่อความไม่สงบสุขในบ้านเมืองของเขา หรือเคยไปมีพฤติกรรมที่เขาไม่ต้องการ เขาก็ไม่อนุญาตให้เข้าเมือง

เวลาประมาณ ๙ โมง เราขึ้นรถบัสกลางที่เช่าพร้อมคนขับ ไปยัง Yufuin Garden Hotel เพื่อกินอาหารเที่ยงที่ Prism Restaurant แต่ระหว่างทางหยุด ๒ ครั้ง ครั้งแรกหลังออกจากสนามบินไม่นาน เพื่อเข้าห้องน้ำ ครั้งหลังไปแวะเพราะทางภัตตาคารบอกว่าต้องไปถึงเวลา ๑๑.๓๐ น. ตรงตามนัด ห้ามไปถึงก่อน คนขับจึงต้องพาเราไปแวะสถานที่ พักรถ เข้าห้องน้ำ และช็อปปิ้งเชิงวัฒนธรรม เอาเข้าจริงเช้านี้เราได้ไปสัมผัสสถานที่สนับสนุนสินค้าพื้นเมือง ในรูปของที่พักรถริมทางถึงสองแห่ง และจะได้เห็นทุกที่ที่รถจอดให้เข้าห้องน้ำ ตลอดทริปนี้

ทำให้ผมนึกเปรียบเทียบว่า ที่พักรถ และให้คนเข้าห้องน้ำของไทยคือปั๊มน้ำมัน ลักษณะคล้ายคลึงกันกับที่เราไปเห็นที่ญี่ปุ่นเช้านี้ แต่มีส่วนที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงคือ ร้านในที่พักรถของไทยเป็นของทุนใหญ่ แต่ของญี่ปุ่นเป็นของชาวบ้าน ที่ทำวิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกรรายย่อยในท้องถิ่น

หลังอาหารเที่ยงเราไปที่เมือง Ajimuแวะชิมไวน์ที่โรงผลิตไวน์ประจำเมือง (www.ajimu-winery.co.jp) ที่เขาบอกว่าไวน์ขาวชนิด sparkling ของเขาได้รับรางวัลที่ ๑ สามปีซ้อน ผมลองชิม พบว่าไวน์แดงไม่อร่อย ไวน์ขาวบางชนิดอร่อย

ไฮท์ไล้ท์ของวันนี้คือรายการนำเสนอเรื่อง OVOP Movement โดยคุณ Tadashi Uchida ผู้รับตำแหน่ง President ของ OVOP International Exchange Committeeต่อจาก Dr. Morihiko Hiramatsu ผู้ก่อตั้ง เป็นการนำเสนอที่เตรียมตัวมาอย่างดี บอกอย่างไม่ปิดบัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เกษตรด้วยเทคโนโลยีชีวภาพเชื้อรา ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า koji และเขาเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า seed malt ซึ่งคล้ายๆ แป้งข้าวหมากบ้านเรา เขาแนะว่าเมล็ดกาแฟรสดีเมื่อเอาไปผ่านจุลินทรีย์ในลำไส้ช้าง จึงน่าจะทดลองผลิตกาแฟรสดีจากการหมักด้วยจุลินทรีย์ koji ซึ่งเป็นเชื้อรา Aspergillus oryzae ผมคิดต่อว่าน่าจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็น health food โดยมีฤทธิ์เป็น probiotics แนวคิดเทคโนโลยีชีวภาพเชื้อรานี้ คุณวนัส และวรนันท์ แห่งกลุ่มเบทาโกรน่าจะได้ประโยชน์มาก ในวันหลัง คุณวรนันท์ ซื้อโคจินี้กลับมาเมืองไทย ว่าจะเอามาทดลองหมักข้าวของไทย

ระหว่างนั่งฟังการบรรยายและซักถาม ผมใช้บริการ pocket wifi ที่อาจารย์เปิ้ลเช่ามาจากเมืองไทย ค้นพบเอกสารประมวลผลงาน ๓๐ ปี ของขบวนการ OVOP ที่นี่ คุณ Tadashi Uchida ย้ำว่า เป้าหมายหลักคือความเข้มแข็งของชุมชน เรื่องเงินเป็นเรื่องรอง ซึ่งผมคิดว่า เป็นกลไกเผชิญสภาพที่ในชนบทมีประชากรลดลง และเป็นคนแก่อายุเกิน ๖๕ ถึงครึ่งหนึ่ง

กินอาหารเย็นและพักที่ “บ้านร้อยปี” ซึ่งที่จริงอายุ ๑๓๘ ปี เป็นการพักแบบชนบทญี่ปุ่นแท้ นอนเสื่อ สาวน้อยกับผมได้ลาภจากการที่พระอาจารย์มาไม่ได้ เราจึงได้ครอบครองห้องในบ้านอีกหลังหนึ่ง ซึ่งอายุสองร้อยปี เป็นสัดส่วนและอยู่ติดห้องน้ำ (มีส้วมและอ่างล้างหน้า แต่ไม่มีห้องอาบน้ำ) แทน ห้องนี้มีแอร์ให้ไออุ่นอย่างดี เจ้าของบ้านตั้งอุณหภูมิไว้ ๒๒ แต่ผมปรับให้เป็น ๒๕ ตอนกลางคืนอากาศเย็นลงมากราวๆ ๕ องศาเซลเซียส

บ้านหลังที่เราครอบครอง เป็นบ้านไม้ชั้นครึ่ง ห้องชั้นล่างที่เรานอนกว้างราวๆ ๔ x ๖ เมตร มีเตาผิงอยู่กลางห้อง แขวนกาน้ำร้อนไว้กลางห้อง แต่เป็นเครื่องประดับ ไม่ใช่ใช้จริง เพราะผมถามคุณผู้ชายเจ้าของบ้านว่าจุดไฟได้ไหม แกบอก (ด้วยภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่น) ว่าอันตรายจาก ซีโอทู และชี้ไปที่เครื่องแอร์ ทำนองบอกว่ามีเครื่องทำความร้อน

ตอนกินอาหารเย็นเสร็จ หญิงเจ้าของบ้าน (อายุราวๆ ๖๐ ปี) มาโอภาปราศรัย (ตอนเราไปถึง เธอก็มากล่าวต้อนรับ และบอกข้อมูลเกี่ยวกับบ้านและเครื่องอำนวยความสะดวกที่มีให้ มีส้วมและอ่างล้างหน้าหลายที่ แต่มีห้องอาบน้ำที่เดียว ใครอยากไปอาบออนเซ็นสาธารณะ สามีและลูกชายจะขับรถพาไป ใช้เวลานั่งรถ ๑๐ นาที ออนเซ็นอยู่ในเมือง) เราถามเรื่องจำนวนแขกที่มาพัก เธอบอกว่าราวๆ ปีละ ๕๐๐ คน เป็นนักเรียนครึ่งหนึ่ง ที่เหลือครึ่งหนึ่งเป็นคนญี่ปุ่น อีกครึ่งหนึ่งเป็นคนต่างชาติ เด็กนักเรียนมาเรียนรู้ชีวิตชนบท หรือมาทัวร์สีเขียวนั่นเอง โดยนักเรียนจะลงแปลงนา และร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เช่นดองผัก เขาชี้ว่าหัวไชเท้าดองที่เรากิน ก็ทำโดยเด็กนักเรียนที่มาโฮมสเตย์ บ้านร้อยปีนี้เจ้าของอยู่กันสามคน คือภรรยาเป็นหัวหน้า สามี และลูกชายที่เป็นหนุ่มใหญ่แล้ว ช่วยกันทำงานโฮมสเตย์ โดยที่ลูกชายก็มีงานประจำของตน

วันนี้ทั้งวันเราวนเวียนอยู่ในจังหวัดโออิตะ (Oita Prefecture) เกาะกิวชิว โดยเมื่อลงเครื่องบินแล้ว ก็นั่งรถไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้




ร้านค้าบริเวณที่พักรถ

แวะรับประทานอาหารเที่ยง



หน้าโรงผลิตไวน์


ที่สวนหน้าโรงผลิตไวน์


ฟังการบรรยายสรุปเรื่อง OVOP


เส้นทางอันซับซ้อนของ OVOP


OVOP ที่แท้ต้องเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง


GNS

โยงสู่เศรษฐกิจพอเพียงthumb_MO3A4261_1024


แนะวิธีเพิ่มมูลค่าอาหารด้วยเชื้อยีสต์


ถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึก


อาหารเย็นที่บ้านร้อยปี


แม่บ้านมาแนะนำอาหาร พ่อบ้านยืนอยู่ข้างหลัง


อาหาร


ในห้องนอน บ้านสองร้อยปี



วิจารณ์ พานิช

๖ ธ.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 599199เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2016 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มกราคม 2016 09:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท