​จิตรกรรมฝาผนัง อุโบสถหลังเก่า วัดกู้


จิตรกรรมฝาผนัง อุโบสถหลังเก่า วัดกู้

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (1/1/2559)

พระอุโสถหลังเก่า วัดกู้ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี อยากเข้ามานานมาก ตั้งแต่สมัยผมรียนมัธยมย่านนั้น ก่อนปี 2540 โน้น ทุกครั้งที่นั่งรถผ่านจะเห็นพระอุโบสถหลังเก่าปิดตลอดเวลา ในใจคิดว่าภายในต้องมีของดีแน่แท้ และนับเป็นโอกาสอันดีที่ปีใหม่ พ.ศ.2559 เขาเปิดให้เข้าชม ผมดีใจยิ่งจนต้องรีบเข้าไปถ่ายรูปทันที

วัดกู้เป็นวัดเก่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย อาจสร้างในสมัยพญาเจ่ง ขุนนางชาวมอญ วัดนี้มีชื่อเสียงมากเพราะเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ใน ร.5 กรณีเรือล่ม ท่าน้ำวัดแต่เดิมเป็นศาลเพียงตา ปัจจุบันทำเป็นศาลาใหญ่โตมาก ผู้คนนิยมไปไหวจำนวนมาก

ในพระอุโบสถหลังเก่า จิตรกรรมฝาผนังค่อนข้างเลือนลาง หากไม่ซ่อมคงจะหายไปตามกาลเวลา เนื่องจากน้ำท่วมบ่อยครั้ง
เป็นฝีมือช่าง ร.3 เป็นต้นมา แบ่งเป็น 3 ตอน ตอนบนอดีตพระพุทธเจ้าเลือนลางมาก เหนือหน้าต่างวาดพุทธประวัติยังสภาพดีพอใช้ แนวหน้าต่างวาดเรื่องของทหารชาวมอญ อาจเล่าเรื่องชาวมอญมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บางพูด ซึ่งใกล้ลบเลือน

จิตรกรรมสอดคล้องกับวัดเกาะพญาเจ่งที่อยู่ใกล้กัน ฝือมือสมัย ร 3 เช่นกัน แต่งามไม่เท่า วัดเกาะพญาเจ่งเน้นพื้นฟ้าฝืมือช่างหลวง แต่วัดกู้เน้นพื้นแดงแบบไทยประเพณี ยังแบ่งวรรคตอนด้วยก้อนหิน ต้นไม้ กำแพง ไม่นิยมใช้เส้นสินเทา อีกทั้งยังมีเอกลักษณะศิลปะมอญเช่น เจดีย์แบบมอญ ธง เสาหงส์ รวมถึงยังปรากฎอาคารสถาปัตยกรรมไทย เช่น อาคารยอดปราสาท พระเมรุยอดมณฑปอีกด้วย ทวารบาลประตูเป็นรูปชาวต่างชาติ หน้าต่างเป็นรูปโต๊ะหมู่บูชาแบบจีน ดาวเพดานเป็นรูปดอกไม่บนพื้นแดง

ส่วนตัวอุโบสถนั้นเป็นแบบอยุธยาตอนปลาย ตอนล่างแอ่นโค้งเหมือนท้องเรือ ลายปูนปั้นเถาดอกไม้แบบใบเทศ เฟื้องอุบะรองรับหลังคา ฝีมือรัชกาลที่ 5 ลงมา ใบเสมาทรงป้อมเกือบกลม เป็นเสมาแบบนั่งแท่นในซุ้มทรงกูป ภายในอุโบสถประดิฐสถานำพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งบนฐานชุกชีที่นิยมสมัย ร.3

ทั้งจิตรกรรมและอุโบสถ เสียดายที่ทางวัดยังดูแลได้ไม่ดีนัก หากปรับปรุงซ่อมแซมให้ดี ผมว่าน่าจะดึงดูดให้ผู้คนเข้าไปสักการะและเปฌนแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าคู่กับชาวปากเกร็ดได้อย่างดียิ่ง

ใครมีโอกาสควรเข้าไปชมครับ

หมายเลขบันทึก: 599196เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2016 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2016 09:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นศิลปะพุทธศาสนาที่เก่าแก่มากนะครับ น่าเข้าไปชมและศึกษามาก ๆ สวัสดีปีใหม่นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท