ท้องถิ่นวันนี้คือ “ดอกไม้ในใจของผองชน”


ท้องถิ่นวันนี้คือ “ดอกไม้ในใจของผองชน”

17 ธันวาคม 2558

สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ธรรมชาติของดอกไม้ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ชนิดใด จะดอกเล็กดอกใหญ่ ไม่ว่าจะมีราคาแพง หรือเป็น “ดอกหญ้า” ที่ต่ำต้อยขายไม่ได้ราคาสักเพียงใดก็ตาม ดอกไม้เหล่านั้นต่างก็ “ทรงคุณค่า” ในตัวของมันเองอยู่เสมอ และไม่ว่าดอกไม้เหล่านั้นจะเกิดเติบโตในกระถาง หรือในสวนที่สวยงามมีราคาแพง หรือเกิดเองอยู่สองฝั่งข้างทางถนน ต่างก็สร้างสีสันให้ผองชนได้สดชื่นเบิกบานใจ และประดับตกแต่งโลกให้สดชื่นสวยงามสราญตา เพราะ ดอกไม้ก็ยังคงเป็นดอกไม้ที่ยังคงมีคุณค่าอยู่ทุกขณะเวลานั่นเอง

หน้าที่ของท้องถิ่นเปรียบเสมือนคุณค่าของดอกไม้

เมื่อกล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นแล้ว อาจมองว่า “ท้องถิ่น” หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นองค์กรที่ไม่มีลักษณะของ “อำนาจ” แต่เป็นองค์กรที่มี “หน้าที่” แยกเป็น (1) หน้าที่ที่ต้องกระทำและ (2) หน้าที่ที่อาจกระทำ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายจัดตั้งของท้องถิ่นนั้น ๆ [2]

ผู้เขียนขอเปรียบ “ท้องถิ่น” ว่ายังคงมี “บทบาทหน้าที่” ที่มีคุณค่าที่คง “ความสง่างามและงดงาม” สมกับที่เป็น “ท้องถิ่น” อยู่เช่นเดิมไม่มีสิ่งใดจะมาแปรเปลี่ยนได้ เสมือนกับดอกไม้ที่ทรง “คุณค่าของดอกไม้” ที่คงความเป็นดอกไม้อยู่อย่างไรก็อย่างนั้น ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงนั่นเอง

หน้าที่ของท้องถิ่นที่นอกเหนือ

กิจกรรมงานหลายงานของท้องถิ่นมักถูกสั่งการโดยหน่วยงานผู้กำกับดูแลในระดับจังหวัดและอำเภอ เพื่อขอความร่วมมือ สนับสนุน ประสานงาน จาก อปท. นับตั้งแต่เรื่องงบประมาณ บุคลากร หรือความร่วมมืออื่นใด โดยที่ท้องถิ่นเองแทบไม่มีสิทธิพิจารณาโต้แย้งได้เลยว่ามิใช่หน้าที่ตาม พรบ. ของตนเองหรือไม่ อย่างไร และหน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนก็ไม่ต้องรับผิดชอบในเรื่องงบประมาณต่อหน่วยงานท้องถิ่นที่ขอรับการสนับสนุนแต่อย่างใด

งานเทศกาลประจำปี

ตัวอย่างที่เห็นเป็นการทั่วไปในทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ได้แก่ การจัดงานประจำปีซึ่งได้กลายเป็นหน้าที่ของคนท้องถิ่นไปเสียแล้ว แม้จะตั้งชื่องานว่าเป็น “งานเทศกาลหรืองานประเพณี” ก็ตาม กิจกรรมต่างๆ ของงานที่ตามมาได้แก่ การส่งสาวงามนางงามเข้าร่วมประกวด การประกวดร้องเพลง การออกร้าน ออกบูธแสดง การรับของบริจาคกาชาด ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมปกติซ้ำซากประจำปีที่ท้องถิ่นต้องทำทุกปี เช่น ในจังหวัดชายแดนบางจังหวัด มีการจัดงานเทศกาลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือการระดมทุน เผยแพร่กิจกรรมประจำปี อาทิเช่น งานลอยกระทง 2 แผ่นดิน งานสงกรานต์ 2 แผ่นดิน เป็นต้น

งานประชุมประชาคม ระดมมวลชน

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผ่านมา การส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน [3]ซึ่งอาจมิใช่หน้าที่โดยตรงของท้องถิ่น เนื่องจากมิได้กำหนดไว้ในอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นตามกฎหมายแต่อย่างใด มีข้อสั่งการจากจังหวัดหนึ่งขอรับการสนับสนุนจากท้องถิ่น ให้ ปลัด อปท. นำมวลชน ตามจำนวนที่ระบุ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการประชุมประชาคม ระดมความคิดเห็น ในการประชุมประชาคมเรื่อง “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” เพื่อให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในการลงทุน และเข้ามาลงทุนในพื้นที่ จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์คว่า หน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวมีความเหมาะสมถูกต้องเพียงใด เพราะในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของท้องถิ่น นั้นจำเป็นต้องใช้งบประมาณ และมีการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกิจกรรมนั้น ๆ และหากไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณในกิจกรรมนั้นได้ ท้องถิ่น ก็จะไม่สามารถดำเนินการในกิจกรรมนั้นได้เลย ซึ่งเป็นภาระในความรับผิดชอบของนายก อปท. และ ปลัด อปท. ที่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ง่าย

งานท้องถิ่นมากมายแต่ไม่มีผลงานของตัวเอง

ในสถานการณ์ปกติท้องถิ่นจะทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ตามอำนาจหน้าที่เท่านั้น เพราะผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีข้อสังเกตว่า ในความต้องการหรือความเดือดร้อนของประชาชนชาวบ้านนั้น จะต้องปรากฏโครงการหรือกิจกรรมอยู่ในลำดับต้นของแผนพัฒนาท้องถิ่นประจำปี ที่ท้องถิ่นต้องดำเนินการ โดยไม่ต้องรอสั่งการจากหน่วยเหนือแต่อย่างใด

แต่มีงานอีกประเภทหนึ่งคือ การขอรับความอนุเคราะห์ตามนโยบายสั่งการของทางราชการจากหน่วยเหนือหรือหน่วยงานผู้กำกับดูแล ซึ่งงานประเภทนี้มักสร้างภาระความหนักใจให้แก่ท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ด้วยในหลายประการเป็นข้อสั่งการตามทัศนคติของผู้สั่งการเท่านั้น งานประเภทนี้มักอ้างความชอบธรรมจากอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นซึ่งอาจไม่ถูกต้องนัก มักเป็นงานหรือกิจกรรมที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน หรือตอบสนองน้อย ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรงน้อย จึงเป็นการสนองนโยบายและการปฏิบัติอย่างมี “ความเกรงใจ”

จากตัวอย่างข้างต้น มีคำถามเชิงประเมินคุณค่าว่าประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์ในกิจกรรมเหล่านั้นเพียงใด คำตอบที่ได้ยังไม่สามารถประเมินได้ จึงเป็นกิจกรรมแกมบังคับจากหน่วยเหนือที่ต้องร่วมมือและดำเนินการ เพราะผลของงานเหล่านี้มิได้กลับมาประเมินเป็นผลงานโดยตรงของท้องถิ่น หรือ อปท. แต่อย่างใดเลย

เพราะการจะพิจารณาว่าสิ่งใด “มีคุณค่า” นั้น ก็จะพิจารณาจาก “ผลของงาน” เป็นสำคัญ ซึ่งท้องถิ่นล้วนแต่มีหน้าที่ที่มากมายดังกล่าวแล้ว แต่กลับไม่มีผลงานที่เป็นของตัวเองเท่าใดนัก แม้ปัจจุบันคนท้องถิ่นหลายคนมักพูดแบบติดตลกว่า “งานของท้องถิ่นที่ไม่ได้ทำ ก็มีเพียงงาน ป้องกันประเทศ งานระบบเงินตรา และงานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้น”

เล็กๆแต่ยิ่งใหญ่เป็นดอกไม้ในใจของผองชน

ท้องถิ่นที่ใครต่อใครต่างมองไม่เห็นความสำคัญ มองว่าเล็ก แต่ปรากฏว่าท้องถิ่นกลับมีภารกิจหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่มาก ครอบคลุมหน้าที่ที่มีต่อราษฎรในพื้นที่ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะเอะอะอะไร ๆ ก็ต้องท้องถิ่น ทุกอย่างท้องถิ่นต้องทำ เพราะมันอยู่ในท้องถิ่น ไม่ทำไม่ได้ เพราะหากท้องถิ่นไม่ทำแล้ว งานนั้นก็จะไม่แล้วเสร็จ ไม่เรียบร้อย และเป็นปัญหาของท้องถิ่นต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้นประมาณนั้น

หากคนท้องถิ่นตระหนักถึงอำนาจหน้าที่ของตนเอง และทำงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นแล้ว ท้องถิ่นก็จะเป็น “ดอกไม้ในใจของผองชนตลอดไป” สมกับที่เป็นดอกไม้แม้จะเป็นดอกหญ้าที่ทรงคุณค่าในตัวมันเอง

ผู้เขียนขอเปรียบท้องถิ่นเสมือน “ช้าง” ที่ตัวมันใหญ่มาก แต่ตามันกลับเล็ก มันจึงมองไม่เห็นความใหญ่โตของตัวมันเอง ท้องถิ่นนั้นมีภารกิจหน้าที่ที่ใหญ่โตมากมาย แต่กลับมองไม่เห็นหน้าที่ตัวเองว่ายิ่งใหญ่ มองไม่เห็นความยิ่งใหญ่ของตนเอง ฉะนั้นคนท้องถิ่นจึงอย่าได้ท้อและน้อยใจ ว่าตนเองไม่มีอำนาจหน้าที่ หรือมีหน้าที่น้อย หากเราท้องถิ่นได้รู้จักหน้าที่ของเราเองแล้ว เราก็จะได้รู้ว่า เรามีบทบาทหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่มากเพียงใด เพราะแท้ที่จริงแล้วท้องถิ่นมีบทบาทอำนาจหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่มาก

ก่อนจบบทความนี้ ผู้เขียนได้แว่วเสียงเพลง “ดอกหญ้าในป่าปูน” ของสลา คุณวุฒิ ที่มีความหมายจับใจเหมาะเจาะกับบทบาทของท้องถิ่นที่เปรียบเสมือน “ดอกหญ้า” ที่ติดดินยิ่งนัก ไม่เชื่อลองฟังดู ...

“... อยู่เมืองสวรรค์ แต่ชนชั้นติดดิน เป็นผู้รับใช้จนชิน หูได้ยินแต่คำสั่งงาน แต่ยังยิ้มได้ เพราะใจเหมือนดอกหญ้าบาน ถึงอยู่ในที่ต่ำชั้น แต่ก็บานได้ทุกเวลา …” [4]



[1] Ong-art saibutra & Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer & สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2558 ปีที่ 66 ฉบับที่ 22879 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 14 วันศุกร์ที่ 18 – วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม 2558, หน้า 80, เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] ดู อำนาจหน้าที่ของ อปท. จาก พรบ. เทศบาล พ.ศ. 2496, พรบ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537, พรบ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540

[3] พีระพงษ์ ละอำคา, ความรู้เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ, สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม Mahasarakham University, 21 พฤศจิกายน 2557, http://www.uniquestmsu.msu.ac.th/index.php?option=NewsList&id_type=3&id_view=175&to=Back&

& สุภาวิณี ทรงพรวาณิชย์, เขตเศรษฐกิจพิเศษ…ท่ามกลางเขตวัฒนธรรมพิเศษ, ใน งานจัดการความรู้ ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น, วิจัยท้องถิ่น “ใคร ๆ ก็ทำวิจัยได้”, 10 ธันวาคม 2558, https://vijaitongtin.wordpress.com/2015/12/10/เขตเศรษฐกิจพิเศษ-ท่ามก/

[4] สลา คุณวุฒิ(คำร้อง,ทำนอง), เพลง ดอกหญ้าในป่าปูน, “คุณค่าของดอกไม้ขึ้นอยู่กับคนชื่นชมและคนที่เห็นคุณค่า”

หมายเลขบันทึก: 598511เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2015 00:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2015 19:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท