“อู่ทอง-นครปฐม ประตูการค้าสองฝั่งมหาสมุทรสองพันปี”


พระปราตาม่าเจดีย์ ที่มา: tinyzone.tv

อินทภาสบาท “สฺยำ” ตอน 4)

ในอ่าวไทยอาจารย์ต้วนเขาว่าคนเดินเรือจีนสมัย 2,000 ปีเรียกอ่าวจินหลิง มีชุมชนบ้านเมืองตั้งอยู่หลายแห่งตลอดทั้งอ่าวมาก่อนหน้า นักโบราณคดีบ้านไทว่าเมืองอู่ทองเก่าแก่สุดมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่ชื่ออู่ทองนั้นมาภายหลังชื่อเดิมตั้งต้นไม่มีใครรู้แน่ เป็นเมืองสำคัญในย่านลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันตกที่มีหลักฐานการติดต่อกับโลกภายนอกอย่างคึกคักร่วมสมัยกับฟูนันรัฐเรืองรองแห่งปากพญานาคหรือก่อนหน้า

บ้างอ้างอิงโองการของพระเจ้าอโศกมหาราชว่าเป็นที่หมายเมืองสุวัณภูมิของพระเถระจากอินเดียเข้ามาเผยแพร่ศาสนาพุทธ บางสำนักโต้แย้งว่าอาจไม่ใช่เพราะขาดหลักฐานรองรับที่หนักแน่น แต่ยอมรับว่าเมืองอู่ทองเป็นเมืองพุทธในครั้งโบราณ เป็นชุมชนใหญ่ที่เขาประมาณกันว่ามีชาวเมืองอาศัยอยู่ทั้งในและนอกคูเมืองเป็นหมื่นครอบครัว ตัวเมืองมีการขุดคลองล้อมรอบขนาดไม่น้อย 1x2 ตรกม. มีร่องรอยการขุดคลองเก่าวิ่งไปทางด้านตะวันออกนัยว่าเป็นเส้นทางขนส่งระหว่างเมืองและแม่น้ำสายหลักคงเป็นท่าจีน ถึงปากอ่าวสมัยกรุงเทพยังจมบาดาลก็ไม่เกินร้อยห้าสิบกิโลเมตร เป็นเมืองต้นแบบของเมืองในยุคต่อๆมาสมัยทวารวดี

จากการศึกษาขั้นละเอียดเจาะเก็บตัวอย่างดินชั้นกรุงเทพตรวจสอบชนิดตะกอนเก็บเรณูต้นไม้โบราณและวัดค่าหาอายุของสำนักโบราณคดีดำรงวิชาการ ได้ตีความใหม่ล่าสุดเร็วๆนี้ว่าแนวชายฝั่งทะเลสมัยพุทธกาลลดลงไปเยอะแล้วอยู่แถวๆกรุงเทพมหานคร เหนือขึ้นมามีสภาพเป็นที่ราบน้ำท่วมขนาดใหญ่ เมืองอู่ทองจึงไม่ใช่เมืองท่าที่อยู่ใกล้ชิดติดชายฝั่งทะเล การเดินเรือเข้าถึงเมืองจึงต้องผ่านร่องแม่น้ำเท่านั้นซึ่งก็ไม่ใช่อุปสรรคแต่อย่างใด สามารถเป็นเมืองท่าในแบบเดียวกับอยุธยาได้

สำนักดำรงวิชาการยังอธิบายด้วยว่าในสภาพที่เป็นพื้นที่ราบน้ำท่วมเกือบทั้งหมดและคงตัวในระดับสูง จึงไม่ปรากฏว่ามีเมืองชุมชนตั้งอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำท่วมสูงแบบนี้ในช่วงเวลานั้น ทุกชุมชนเมืองต่างก็ตั้งอยู่บนที่สูงกว่า 4 เมตรจากระดับน้ำทะเลทั้งสิ้น จนพันกว่าปีให้หลังถึงค่อยมีเมืองบนสันโคกริมแม่น้ำเช่นอยุธยา

เรามีอ่าวจินหลิงที่คนจีนเรียกแต่ไม่รู้ว่าเมืองศูนย์กลางจินหลิงอยู่ที่ไหนของอ่าวไทย นักโบราณคดีหลายคนก็อยากจะให้อู่ทองคือตัวแทนของสุวัณภูมิ แต่ยังหาหลักฐานสนับสนุนไม่เข้มแข็งพอ ในขณะที่คำอ้างอิงฝ่ายมอญรามัญก็น่าสนใจที่ว่าพระเจ้าอโศกส่งสมณะทูตมาเผยแพร่ศาสนาพุทธในย่านสุวัณภูมิ ถึงเป็นสุวัณภูมิที่อาจมีศูนย์กลางอยู่ทางเมืองมอญ เขาอ้างถึงจารึกของกษัตริย์มอญพระนาม “ธัมมาศดี” ว่าเมื่อครั้งพระเถระเดินทางมาถึงสุวัณภูมิมีกษัตริย์ชื่อ “สิริมาโสคา” เป็นผู้ปกครอง เมืองหลวงอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของภูเขาคีละสารู้จักกันในชื่อ “Goiamattikanagara” เป็นเมืองที่อยู่ไม่ห่างจากชายฝั่งทะเลอ่าวเมาะตะมะมาตะบันและมีดินโคลนมาก....อยู่ตรงไหน

ลองเทียบขนาดคูเมืองอู่ทองกับเมืองนครปฐมถิ่นทราวดีราว 2x3.8 ตรกม. สุโขทัย 1.5x2 ตรกม. เชียงใหม่ 1.6x1.6 ตรกม. เกาะอโยธยา 2x4 ตรกม. และกรุงเทพฯ ราว 1.7x2.7 ตรกม....กลายเป็นพี่ใหญ่ที่ตัวเล็กที่สุด และถ้าเทียบกับมหานครอเล็กซานเดรียแห่งอียิปต์ของพโตเลมีสมัยต้นคริสต์ศตวรรษขนาดกว่า 10 ตรกม หรือมหานครปาตาลีปุตระเมืองหลวงของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ประมาณกันว่ามีขนาดกว่า 20 ตรกม. และมีประชากรอาศัยอยู่เกือบครึ่งล้านคน.....เมืองอู่ทองถ้าเป็นศูนย์กลางก็จัดว่ารุ่นจิ๋วจี๊ดเบอร์เอสลงมา

ถ้าเป็นเมืองนครปฐมค่อยพอฟัดพอเหวี่ยง มีเมืองเก่าทั้งพระประโทนขนาดบิ๊กถึง 8 ตรกม. และกำแพงแสนน้องๆอู่ทองอยู่ไม่ไกลจากท่าจีนเพียงสิบกว่ากิโลเมตรและจากท่าจีนถึงปากน้ำชายทะเลสมัยก่อนไม่เกินห้าสิบกิโลเมตร ผมมีความเชื่อโดยส่วนตัวว่าเมืองนครปฐมที่รวมเมืองเก่าทั้งสองนั้นน่าจะถึงร่วมสมัยเมืองอู่ทอง

ในอดีตรุ่นนั้นศูนย์กลางความรุ่งเรืองของอินเดียกระจายตัวอยู่ทางตอนเหนือในลุ่มน้ำคงคาซึ่งไหลตะวันออกลงอ่าวเบงกอล ปาตาลีปุตระคือมหานครที่ยิ่งใหญ่ของโลก ดำรงสถานะเมืองหลวงหลักของหลายราชวงศ์นานหลายร้อยปี เรือสำเภาทุกลำที่ออกทะเลค้าขายข้ามทวีปเดาว่าต้องแวะที่ย่านนี้ถ้าอยากทำกำไรงาม

ระยะทางจากอ่าวเมาะตะมะรัฐมอญเดินเท้าเลาะร่องเขามาทางใต้ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ลงแม่น้ำแควใหญ่เข้าลุ่มเจ้าพระยาเจอเมืองท่าอู่ทองและนครปฐมใกล้ปากอ่าว ไม่เกินสี่ร้อยกิโลเมตรหรือไม่ถึงครึ่งเดือนตีนช้างตีนม้า การค้าขายจากจีนขึ้นไปอินเดียเหนือ หรือจากอินเดียลงไปเมืองจีน ถ้าเดินเรืออ้อมแหลมมาลายาคงใช้เวลานานกว่าอาจถึงหลายเดือน เชื่อว่าชาวเรือทั้งหลายคงคิดได้

คงเป็นสาเหตุหลักที่ผลักดันให้เกิดเมืองท่าสำคัญทางฝั่งอ่าวไทย เป็นเมืองท่าที่ใช้ขนถ่ายสินค้าที่พักคนเดินทางพ่อค้าและนายทาส ทั้งทางบกและทางทะเลระหว่างจีนและอินเดีย ในขณะที่เมืองมอญก็เป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งอ่าวเมาะตะมะ การถ่ายเทของผู้คนไปมาศิลปวัฒนธรรมของสองฟากฝั่งก็ทำผ่านสองเมืองท่านี้ แต่เอนเอียงอยู่ภายใต้อิทธิพลของจักรวรรดิอินเดียมากกว่าทางจีนแผ่นดินใหญ่ เช่นการเผยแผ่ศาสนาพุทธในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชลงมาทางเมาะตะมะเมืองมอญและเข้าอ่าวไทย โดยมีเส้นทางด่านเจดีย์สามองค์เป็นทางด่วนสายไหมเส้นหลัก....อู่ทอง-นคราปราตาม่า

คำว่า “ทวารวดี” ที่แปลกันว่าประตูนั้น ก็อาจถูกเรียกใช้กันมาก่อนยุค “tolo poti” ด้วยมั้ง ประตูตะวันออกเชื่อมท้องทะเลอ่าวไทยเข้ากับประตูธัมมาศดีตะวันตกของทะเลเมาะตะมะ

และนึกถึงชื่อเมืองและการเดินทางในสมัยสองพันปีตามบทความของอาจารย์ต้วน ....”แล่นไปอีก 80 วันเศษ มีอาณาจักรเฉินหลี เดินเท้าอีก 10 วันเศษ มีอาณาจักรฟูกันตูหลู และแล่นเรือต่ออีก 2 เดือนเศษ มีอาณาจักรหวงจือ”.... ว่า 80 วันเศษคงแล่นเรือจากเมืองการ์ต้านคราปลายแหลมญวนถึงเฉินหลีประตูตะวันออก หรืออู่ทอง-นคราปราตาม่า เดินเท้าขึ้นเหนือป่ายตะวันตกสิบกว่าวันผ่านด่านเจดีย์สามองค์ถึงฟูกันตูหลูเมืองมอญประตูตะวันตกหน้าอ่าวเมาะตะมะ....ช่างเข้ากันเสียเหลือเกิน

ป.ล. คำเรียก “ปฐม” หรือคำว่า “ธม” ที่ว่าเป็นของเขมรและเคยใช้เรียกปฐมเจดีย์มาก่อน น่าจะมาจากภาษาสันสกฤตว่า “prathama” ซึ่งไทยเรียก “ประถม” ในอินโดฯ ยังเรียก “pratama ปราตาม่า” รักษารูปลักษณ์ของภาษาได้ใกล้เคียงกับต้นฉบับมากกว่าใครๆ หากทั้งหมดแปลว่า ก่อนใคร หนึ่ง สิ่งแรก เป็นหลัก และใหญ่โต....รากภาษาเดียวกันทั้งเครือ

จันทบุรี 08 สิงหาคม 2557 (แก้ไข 29 มิถุนายน 2560)

หมายเลขบันทึก: 598381เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2015 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2017 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท