ขับเคลื่อน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _๔๐ : PLC เทศบาลบ้านวิทย์น้อย บัญญัติ ๑๐ ประการแรก


วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ PLC เทศบาลบ้านวิทย์น้อย ในวง AAR หลังจากเข้าเยี่ยมชมการสอนของครูปฐมวัย ร.ร.เทศบาลบ้านส่องนางใย หลังจาก "เปิดห้องเรียน" การให้สะท้อน (Reflection) และ ป้อนกลับ (Feedback) เป็นการ "เปิดใจเรียน" ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการ PLC

การสะท้อนป้อนกลับส่วนใหญ่ เป็นแบบ "วิพากษ์" คือ เป็นการชี้ให้เห็นส่วนที่ควรปรับปรุงพัฒนา ในสายตาของผู้เยี่ยมชมอย่างเป็นเหตุเป็นผล ... ผมรู้สึกว่า วิธีการให้ความเห็นแบบนี้ไม่ดีนัก ความรักและความเอาใจใส่ของครู ดูเหมือนได้รับความสำคัญน้อยไป ครั้งต่อไปอาจจะต้องปรับนิดหน่อย อย่างไรก็ดี การวิพากษ์แบบนี้ หากเปิดใจ จะก้าวไปข้างหน้าได้รวดเร็ว...

ผมสรุปประเด็นที่เราเห็นว่าเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาได้ ๑๑ ข้อ ขอเสนอเป็นบัญญัติ ๑๐ ประการ (รวบบางข้อที่เห็นเป็นประเด็นเดียวกัน) สำหรับการจัดการเรียนการสอนกิจกรรมบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ดังนี้

๑) ให้กระบวนการ ตาม "วัฎจักรนักวิทย์น้อย"

จากการไปเยี่ยม ๓ โรงเรียน เราพบตรงกันว่า ครูส่วนใหญ่ยังห่วงเนื้อหา ต้องการอยากจะให้เด็กได้ความรู้ หรือสาระจากแต่ละการทดลอง จึงพยายามที่จะ ตั้งคำถามนำ บอกคำตอบ พยายามเฉลยคำตอบ หรือก็คือ ยังเน้นเนื้อหา

๒) เน้นนักเรียนรายบุคคล คือ ให้นักเรียนทุกคนได้ลงมือทดลองด้วยตนเอง

การทดลองในโครงการบ้านวิทย์น้อยส่วนใหญ่จะใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ราคาไม่แพง สามารถหาซื้อได้ในร้านเครื่องเขียน (ศึกษาพันธ์) ดังนั้นจึงน่าจะเป็นไปได้ที่เด็กๆ ทุกคนได้ลงมือทดลองด้วยตนเอง ได้ฝึกคิดฝึกทำด้วยตนเอง ... ในกรณีที่มีวัสดุไม่เพียงพอ ที่เด็กๆ ต้องร่วมกันทำ ครูน่าจะต้องรอและติดตามดูว่า เด็กทุกคนได้ทำ โดยเฉพาะเมื่อเวลาครูตั้งคำถาม ส่วนใหญ่จะมีเด็ก (เก่ง กล้า) ไม่กี่คนที่จะคอยตอบ ซึ่งจะมีเด็กส่วนหนึ่งที่อาจจะไม่ชอบ เพราะตอบไม่ได้หรือตอบไม่ทัน หรือไม่กล้าตอบ ....

๓) ฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมหรือทำงานกลุ่ม

ทักษะนี้สำคัญมากๆ โดยเฉพาะเด็กที่จะต้องดำรงชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ ๒๑ การไปเยี่ยมห้องเรียนของทั้ง ๒ โรงเรียน พบว่า ครูจะใช้วิธีการบอกให้ทำตาม หรือให้เด็กตัดสินใจเองว่าใครจะทำอะไร โดยไม่ได้ใส่เงื่อนไขให้เด็กได้ฝึกทำงานร่วมกัน เช่น ให้แบ่งหน้าที่กัน ให้คุยกันว่าใครจะทำก่อนหลัง ฯลฯ

๔) เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ "ทำซ้ำ"

ระหว่างการเยี่ยมการสอน ผมสังเกตว่า เด็กหลายคนต้องการจะทำซ้ำ อยากทำใหม่ นั่นหมายถึง เกิดความสงสัย เปิดใจอยากรู้อยากเห็นเต็มที่ ถ้าเพียงครูจัดอุปกรณ์พร้อมไว้ ให้เด็กได้ทำซ้ำตามใจ ครูก็คอยตั้งคำถามให้การเรียนรู้ลุ่มลึกขึ้นเรื่อยๆ

๕) การเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ

ทันทีที่ครูเกร็ง จะเกิดการเร่งเวลาด้วยการบอก ออกคำสั่ง ห่วงเรื่องความเรียบร้อย ต้องไม่เลอะ ไม่เปื้อน ฯลฯ ทำให้การเรียนไม่เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติของเด็กคือ ได้ "เล่น" (Play) แต่เราอยากให้เด็ก "เรียน" (Learn) ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทรวาณิช (อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย) ท่านใช้คำว่า "เพลิน" (Plearn) สำหรับการ "เล่น+เรียน" .... มาเห็นครูปุ๊กพูดคำนี้ที่ ร.ร.เทศบาลโพธิ์ศรี ครับ

๖) ความปลอดภัย ... ไม่ต้องอธิบายครับ ครูปฐมวัยใส่เรื่องนี้ที่สุด

๗) ครูอาจจะสอนแบบ "ทำให้ดู" หรือเรียกว่าการสาธิต ในกรณีที่ไม่ซับซ้อนมาก หรืออาจสอนแบบ "พาทำ" สำหรับการทดลองที่ซับซ้อนมากขึ้น แต่ที่สำคัญคือ ครูต้อง "ให้ทำเอง" เสมอ ...

๘) ครูต้องมั่นใจ ... ผมเชื่อว่า เราทำการทดลองนี้ต่อไป ๆ ครูจะมั่นใจขึ้นเองครับ

๙) สังเกตว่า นักเรียนมีความสุข สนุกที่ได้เรียน ... สิ่งนี้สำคัญที่สุดครับ ซึ่งจำเป็นที่ครูมีความสุข สนุกที่ได้สอนด้วย

๑๐) เชื่อมโยงชีวิตจริง คือ เชื่อมโยงเรื่องที่เด็กๆ ได้เรียนรู้จากการทดลอง ไปสู่เหตุการณ์จริงๆ ในชีวิตของเด็กๆ



หมายเลขบันทึก: 598366เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2015 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2015 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท