รายวิชาศึกษาทั่วไป : วิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน _๐๒ การประชุมชี้แจง "ร่างรายละเอียดรายวิชา ตามกรอบ TQF" ( มคอ.๓) (๑)


วันนี้ วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ มีการประชุมชี้แจงอาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ที่ห้องประชุม ๑ สโมสรบุคลากร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอาจารย์ผู้สอนรายวิชานี้ ประมาณ ๓๐ คน จาก ๑๓ หลักสูตร

วัตถุประสงค์ของการประชุมคือ ชี้แจงรายละเอียด มคอ.๓ ของรายวิชา และกำหนดแผนพัฒนาอาจารย์ร่วมกัน เราสรุปกันว่าจะพัฒนาอาจารย์กันวันที่ ๕-๖ มกราคม ๒๕๕๘ นี้ ครับ เป็นหน้าที่ของผมต่อไปที่ต้องจัดให้มีเวทีพัฒนาอาจารย์ต่อไป

เจตนารมณ์และหลักการ

เจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่คือ ส่งเสริมให้ บัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีอุดมการณ์เพื่อสังคม "พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน" ดังปรัชญาในตราโรจนากรของมหาวิทยาลัย นิสิตทุกคนไม่เพียงแต่ต้องเข้าใจจดจำ แต่ต้องได้ลงมือทำ ได้ทดลองนำองค์ความรู้ที่ได้ศึกษาไปให้บริการแก่สังคม ... นี่เป็นความดีระดับสูงสุดสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่มีเป้าหมายและปรัชญาใด จะยิ่งใหญ่ไปกว่านี้แล้ว...

หลักคิดในการตั้งชื่อวิชาในศาสตร์สาขาต่างๆ ตามกระบวนทัศน์ปัจจุบัน มุ่งเอาเป้าหมายของรายวิชาเป็นตัวตั้ง คือชื่อวิชาจะสื่อว่าเรียนแล้วได้อะไร ได้ความรู้อะไร ได้ทักษะอะไร หรือเจตคติแบบใด อาจแบ่งได้เป็น ๓ แบบ หนึ่งคือ เน้นให้ได้องค์ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ในลักษณะศาสตร์หรือวิชาที่ได้ค้นพบและยอมรับกันมา เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ -> เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ -> เคมีอนินทรีย์ อนุกรมวิธาน กลศาสตร์ ฯลฯ ส่วนใหญ่การตั้งชื่อแบบนี้ ใช้กับศาสตร์สาขาวิชาพื้นฐานเฉพาะด้าน แบบที่สองคือวิชาที่เน้นทักษะ ชื่อของวิชาจะบอกได้ว่าเรียนแล้วจะทำอะไรได้ ใช้อะไรเป็น เช่น วิชาการเลี้ยงหมู วิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ฯลฯ แบบที่สาม คือ วิชาที่เน้นเป้าหมายเชิงนามธรรม อุดมการณ์ เพื่อยกระดับจิตวิญญาณ ซึ่งมีทั้งแบบที่เน้นการคิดปรัชญา แบบเน้นศรัทธาทางศาสนา หรือแบบเน้นปัญญาจากการรู้แจ้งความจริงสูงสุด วิชาศิลปะวิจักษ์ วิชากฎหมายและจริยธรรม เป็นต้น

ชื่อของรายวิชา "๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน" ไม่ได้สื่อความหมายตามกระบวนทัศน์ในปัจจุบัน แต่มีเป้าหมายยกระดับจิตวิญญาณการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อของนิสิต ซึ่งมหาวิทยาลัยกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ชัดเจน และดำเนินนโยบาย ไปสู่เป้าหมายนั้นด้วย โครงการ "๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน" มาอย่างต่อเนื่อง จนรู้จักกันทั่วไปทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ... นี่จึงเป็นที่มาของการนำชื่อนี้มาใช้เป็นสัญลักษณ์ของเป้าหมายของรายวิชา

หลักการสำคัญ ๓ ประการ ของการพัฒนารายวิชา คือ

  • ประสานให้เป็นความร่วมมือของทุกหลักสูตร คณะ -วิทยาลัยเพื่อพัฒนาคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัย ส่งเสริมอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย
  • ให้นิสิตทุกคน รู้จักบทบาทและความสำคัญของหลักหลักสูตร คณะ -วิทยาลัย และมหาวิทยาลัยในการรับใช้สังคม
  • มุ่งปลูกฝังและส่งเสริม “จิตอาสา” โดยการบูรณาการการเรียนรายวิชาศึกษาทั่วไปกับโครงการบริการวิชาการ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน”

ด้วยหลัก ๓ ประการนี้ จึงมีแนวทางในการพัฒนารายวิชา ๓ ข้อ คือ

  • ต่อยอดองค์ความรู้จากโครงการ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" ของแต่ละคณะ-วิทยาลัย เพื่อให้นิสิตรู้จักบทบาทและความสำคัญของการบริการวิชาการของแต่ละหลักสูตร
  • บูรณาการการจัดการเรียนการสอนของรายวิชา กับ โครงการ“หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” เพื่อส่งเสริมและปลูกฝัง "จิตอาสา" ที่จะพัฒนาและรับใช้สังคม ตามปรัชญา วิสัยทัศน์ และอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย
  • เปิดโอกาสให้แต่ละหลักสูตรหรือสาขาวิชาของคณะ-วิทยาลัย ได้ร่วมออกแบบการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติของเป้าหมายความรู้หรือทักษะที่จะต้องในไปใช้ในการบริการวิชาการฯ

เมื่อยึดหลักของการมีส่วนร่วมข้างต้น การดำเนินการพัฒนารายวิชาที่ผ่านมา จึงไป-มาไม่รวดเร็ว ที่ผ่านมาได้ประชุมระดมสมองไปแล้วหลายครั้ง สรุปได้ดังนี้ครับ

  • -๑๐ พ.ค. ๕๘ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ยกร่างรายละเอียดวิชา -> ได้ร่างแผนการเรียนรู้
  • ๒๕ ก.ค. ๕๘ ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อาจารย์ผู้สอน ครั้งแรก -> มีคนเข้าร่วมประชุมไม่มาก
  • ๑๗ ก.ย. ๕๘ ประชุมคณะอนุกรรมการเครือข่ายพัฒนาการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป -> บอกว่าให้ไปแต่างตั้งอนุกรรมการพัฒนารายวิชา ขึ้นมาเพื่อจัดทำ มคอ.๓ โดยมีคณะผู้บุกเบิกโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่ืงชุมชนเป็นกรรมการ
  • ๒๗ ต.ค. ๕๘ ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนารายวิชาฯ ยกร่าง มคอ.๓ -> ได้ร่าง มคอ. ๓ และมอบหมายให้แต่ละฝ่ายไปเขียนเนื้อหาเอกสารประกอบการสอนของรายวิชาฯ
  • ๑ ธ.ค. ๕๘ ประชุมติดตาม และยกร่าง มคอ.๓ และเอกสารประกอบการสอนรายวิชาฯ -> ได้ มคอ. ๓

(ร่าง) รายละเอียดของรายวิชา ที่ได้นำมาชี้แจงต่ออาจารย์ผู้สอนในการประชุมครับ (ดาวน์โหลดได้ที่นี่)

ประเด็นที่อภิปรายกันนาน

๑) รายวิชานี้ ๒ หน่วยกิต จัดการเรียนรู้แบบ ๒(๑-๓-๒) นั้นถูกต้อง ตามหลักการและระเบียบการร่างหลักสูตรหรือไม่?

เอกสารที่ละเอียดที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ และหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘) นี้ ได้ผ่านการพิจารณาของกรรมการวิชาการของมหาวิทยาลัย ผ่านสภามหาวิทยาลัย และรับรองจาก สกอ. เรียบร้อยแล้ว จึงถูกต้องแล้วครับ ...

ปัญหาต่อไปคือ ทำไมต้อง (๑-๓-๒) ทำไมต้องเรียนรวม ๖๐ ชั่วโมง ทั้งทฤษฎี (รวม ๑๕ ชั่วโมง) และปฏิบัติ(รวม ๔๕ ชั่วโมง) คำตอบคือ เพื่อให้อาจารย์ผู้สอน สามารถออกแบบเวลาเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้นิสิตได้มีโอกาสเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ ได้เข้าพื้นที่สำรวจ สัมผัสสถานการณ์จริงๆ ปัญหาจริงๆ ของชุมชน และได้ฝึกฝนและบ่มเพาะจิดอาสาที่จะนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะจากหลักสูตรของตนเอง ไปให้บริการรับใช้สังคม บูรณาการกับโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนอย่างเต็มที่

๒) รายวิชานี้เกี่ยวข้องแค่ไหน อย่างไรกับโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน

แนวคิดในการการสร้างรายวิชานี้มีที่มาจากที่มหาวิทยาลัยได้ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ ๓ มิติ คือบูรณาการการเรียนการสอนกับการบริการวิชาการ บูรณาการกับงานทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น และบูรณาการกับการวิจัย เมื่อนำมาคิดร่วมกับวัตถุประสงค์ของรายวิชาศึกษาทั่วไป ที่ไม่ได้มุ่งผลผลิตหรือผลลัพธ์จากทั้ง ๓ ด้านพันธกิจ เพียงมุ่งเตรียมนิสิตให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามอัตลักษณ์ การบูรณาการจึงเน้นการเรียนรู้ของนิสิต เช่น

  • บูรณาการกับงานบริการวิชาการ ใช้โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของหลักสูตรที่ดำเนินการมาแล้ว เป็นกรณีตัวอย่างในการเรียนรู้ หรือใช้เป็นฐานในการเรียนรู้ หรือใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของการจัดการเรียนรู้แแบบ Project-based Learning หรือกำหนดชุมชนเป้าหมายของโครงการฯ เป็นเป้าหมายในการศึกษาแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) .... ออกแบบได้หลากหลายแนวทาง โดยอาจารย์ผู้สอนประจำหลักสูตร คือผู้ออกแบบและกำหนด
  • บูรณาการกับงานทำนุศิลปวัฒนธรรมหรือการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของหลายหลักสูตรหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะและวัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น หากออกแบบการเรียนรู้ให้นิสิตได้มีโอกาสได้เข้าร่วม ศึกษา เรียนรู้ เยี่ยมดูหน้างาน น่าจะทำให้เกิดผลลัพธ์มากกว่า เรียนแบบบรรยายทั่วไป
  • บูรณาการกับงานวิจัย มิตินี้จะทำให้นิสิตใหม่ในหลักสูตร ได้เห็นกระบวนการวิจัยในสาขา ที่สามารถนำมาบริการรับใช้สังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน

สรุป วิชานี้มีขึ้นเพื่อ ให้อาจารย์ สามารถออกแบบการเรียนการสอน ให้นิสิตที่ลงทะเบียนไปเข้าร่วมเรียนรู้จากโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน โดยใช้งบประมาณของโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน กิจกรรมการเข้าร่วมจะมากจะน้อยอย่างไร ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของหลักสูตร

๓) ใครจะต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชานี้ ไม่เรียนได้ไหม?

นิสิตรหัส ๒๕๕๘ เป็นต้นไป ต้องลงทะเบียนเรียนรายวิชานี้ เพราะเป็นเงื่อนไขของหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘) ซึ่งกำหนดไว้เป็นรายวิชาบังคับเลือก ในหมวดกลุ่มสหศาสตร์

มิเช่นนั้น จะไม่สำเร็จการศึกษา ครับ

๔) จำเป็นต้องเปิดเทอมหน้าไหม?

ไม่ครับ ... หลักสูตรใดพร้อมก่อนเปิดเรียนก่อน หลักสูตรใดพร้อมทีหลังเปิดทีหลังได้ แต่นิสิตรหัส ๕๘ ขึ้นไปต้องได้ลงทะเบียนเรียนรายวิชานี้ .... อย่างไรก็ดี ก.พ.ร. ของมหาวิทยาลัย ได้กำหนดเกณฑ์ให้ทุกคณะ ต้องทำโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนอย่างน้อยร้อยละ ๘๐ นั่นหมายถึง ควรจะเปิดสอนรายวิชานี้ทุกปีการศึกษา เพื่อให้นิสิตที่ลงทะเบียนได้ร่วมเรียนรู้กับการดำเนินโครงการฯ

๕) ทุกหลักสูตรต้องมีอาจารย์ผู้สอนประจำหลักสูตรใช่ไหม?

ใช่ครับ ต้องมีอาจารย์ผู้สอนประจำหลักสูตรในรายวิชานี้อย่างน้อย ๑ ท่าน ถ้ามีหลายท่าน จะมีอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาประจำหลักสูตร ๑ ท่าน

๖) แต่ละหลักสูตรต้องเปิดกี่กลุ่มเรียน?

แต่ละหลักสูตรมีอย่างน้อย ๑ กลุ่มเรียน หากมีนิสิตจำนวนมาก ให้เปิดได้หลายกลุ่มเรียน ตามความประสงค์ของอาจารย์ผู้สอนประจำหลักสูตรและข้อจำกัดของห้องเรียน



บันทึกต่อไป จะมาลงลึกรายละเอียดแผนการสอนตาม มคอ.๓ ครับ











</span></span>

หมายเลขบันทึก: 598272เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2015 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2018 10:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท