ข้าราชการครูท้องถิ่นด้อยจริงหรือ


ข้าราชการครูท้องถิ่นด้อยจริงหรือ

10 ธันวาคม 2558

สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ในปัจจุบัน ได้แก่ เทศบาล อบต. อบจ. รวม เมืองพัทยา ได้จัดการศึกษาในสถานศึกษา โดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษาเช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ [2] จึงมีคำถามกันมา มากมายจนเกิดความสับสนว่าครูหรือบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะในสายผู้ปฏิบัติของผู้ที่ทำงานในท้องถิ่น เช่น ครู ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใน อบต. หรือ เทศบาล หรือครูโรงเรียนอนุบาล ครูประถม สังกัดเทศบาล อบต. ครูมัธยม สังกัด อบจ. ตลอดจนบุคคลากรทางการศึกษาอื่น ที่มีชื่อเรียกตำแหน่งเหมือนกันกับข้าราชการ สพฐ. ได้ค่าตอบแทน ค่าวิทยฐานะ ความก้าวหน้าเท่ากับครู สพฐ. หรือไม่

เพื่อให้หายเคลือบแคลงสงสัย วันนี้จึงมีคำถามว่า สิทธิประโยชน์ของครู อปท จะเทียบเท่ากับครูของ สพฐ. หรือไม่ หรืออาจกล่าวในอีกนัยหนึ่งว่า ข้าราชการครูท้องถิ่นมีสิทธิสวัสดิการ ความก้าวหน้าที่ด้อยกว่าข้าราชการครูทั่วไป หรือไม่ อย่างไร

บุคลากรการศึกษาท้องถิ่น

บุคลากรการศึกษาสายผู้ปฏิบัติใน อปท. มีอยู่ 2 ประเภทคือ (1) ครู ในสายงานการสอน และ (2) บุคลากรทางการศึกษาอื่น ๆ [3] ซึ่งเป็นปัญหาของท้องถิ่นมานาน ที่สถานะของครูและบุคลากรทางการศึกษา ของ อปท. ดูเหมือนจะแปลกแตกต่างไปจากข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาอื่น เช่น ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของ สพฐ. ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะในส่วนของครูในสายการสอนเท่านั้น [4]

ตามประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (กถ.) พนักงานครูส่วนท้องถิ่น ได้แก่ พนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้สอนประจำในสถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือดำรงตำแหน่งอื่นซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้บริหารหรือให้การศึกษาในสถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการให้การศึกษาซึ่งไม่สังกัดสถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ให้คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นนำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูในส่วนที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับกับการบริหารงานบุคคลของพนักงานครูส่วนท้องถิ่นโดยอนุโลม

ยืนยันสิทธิความเท่าเทียมกับ ครู สพฐ.

นายเทพสุริยา บ่อใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ได้กล่าวบรรยายไว้อย่างน่าสนใจ ในการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการว่าด้วยแนวทางการบริหารงานบุคลากรทางการศึกษาท้องถิ่น สำหรับคณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานท้องถิ่น (ก.จ.จ. ก.ท.จ. และ ก.อบต.จังหวัด) ณ สถาบันพัฒนาบุคลากรเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 มีสาระสำคัญสรุปว่า

(1) ตาม มาตรา 17 (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) (9) ประกอบมาตรา 24 วรรค 7 (กรณีของเทศบาล) และมาตรา 26 วรรค 7 (กรณีของ อบต.) แห่ง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 [5]ประกอบกับประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) เรื่องกำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น [6] ให้นำมาตรฐาน หลักเกณฑ์ระเบียบและหนังสือสั่งการที่ใช้กับข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการมาปรับใช้กับพนักงานครูและบุคคลากรทางการศึกษาเทศบาลโดยอนุโลม และมีประกาศในลักษณะเดียวกันของ อบจ. เทศบาล และ อบต. และโดยอาศัย พระราชบัญญัติสภาครูและบุคคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 [7] กำหนดเงื่อนไขการประกอบวิชาชีพครู ต้องมีใบอนุญาตและกำหนดหน่วยงานการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางศึกษา ซึ่งก็คือครุสภานั่นเอง

(2) สิทธิต่างๆ ของครู อปท. เป็นไปตาม พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ที่กำหนด รวมทั้งขั้นตอนระยะเวลาความก้าวหน้า ระดับตำแหน่ง ครูผู้ช่วย ครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ ครูเชี่ยวชาญ ครูเชี่ยวชาญพิเศษ หรือแม้แต่ บัญชีเงินเดือนครูก็ใช้บัญชีเดียวกันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นครูหรือบุคลกรทางการศึกษา ของ สพฐ. หรือของ อปท.

(3) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดสรรตำแหน่งครูผู้ช่วย ครูหัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้ดูแลเด็ก แก่ สถานศึกษาใน อปท. ซึ่งกรมฯ ได้จัดสรรค่าตอบแทนสิทธิต่าง ๆ ที่เท่าเทียมกับครู สพฐ. [8]

(4) สิทธิบำเหน็จบำนาญก็เป็นไปตามระเบียบเดียวกับครู สพฐ.

(5) สำหรับความก้าวหน้าของครู ก็เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติสภาครูและบุคคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 ได้กำหนด หลักเกณฑ์การประเมิน ค่าวิทยฐานะค่าตอบแทนอื่นเป็นไปตามบัญชีครู โดยใช้ระเบียบดังกล่าวโดยอนุโลม เพราะเงินเดือนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นผู้จ่าย

ฉะนั้น เมื่อพิจารณาถึงสิทธิสวัสดิการ และประโยชน์ที่ครูท้องถิ่นได้รับแล้ว จะเห็นได้ว่ามีความเท่าเทียมกับสิทธิของข้าราชการครู สพฐ. ในทุกประการ [9] เมื่อทราบถึงสิทธิฯ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ข้าราชการครูส่วนท้องถิ่นทุกท่านจะได้มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้สมกับการเป็นวิชาชีพ และช่วยกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กในท้องถิ่นให้เจริญรุดหน้าจนเป็นที่ยอมรับในความมีมาตรฐานจากทุกฝ่าย



[1] Ong-art saibutra & Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer & สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 13 วันศุกร์ที่ 11 – วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2558, หน้า 80, เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดตั้งขึ้นโดยการรวมเอากรมวิชาการกรมสามัญศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าด้วยกัน เมื่อครั้งปฏิรูประบบราชการ ในปี พ.ศ. 2546

[3] ดู พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553

https://www.mwit.ac.th/~person/01-Statutes/NationalEducation.pdf

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116/ตอนที่74 ก/หน้า 1/19 สิงหาคม 2542

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119/ตอนที่123 ก/หน้า 16/19 ธันวาคม 2545

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127/ตอนที่45 ก/หน้า 1/22 กรกฎาคม 2553

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“การศึกษา” หมายความว่า กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคม การเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

“สถานศึกษา” หมายความว่า สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานการศึกษาหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของเอกชน ที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา

“ผู้สอน” หมายความว่า ครูและคณาจารย์ในสถานศึกษาระดับต่าง ๆ

“ครู” หมายความว่า บุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาของทั้งของรัฐและเอกชน

“คณาจารย์” หมายความว่า บุคลากรซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการสอนและการวิจัยในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาของรัฐและเอกชน

[4] ดู พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553

http://www.sesa10.go.th/sesa10/data/mar55/7.pdf

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121/ตอนพิเศษ 79 ก/หน้า 22/23 ธันวาคม 2547

ฉบับที่ 2 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125/ตอนที่ 36 ก/หน้า 28/20 กุมภาพันธ์ 2551

ฉบับที่ 3 หน้า 7-11 เล่ม 127 ตอนที่ 45 ก ราชกิจจานุเบกษา 22 กรกฎาคม 2553

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ให้รับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณแผ่นดิน งบบุคลากรที่จ่ายในลักษณะเงินเดือนในกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม หรือกระทรวงอื่นที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

“ข้าราชการครู” หมายความว่า ผู้ที่ประกอบวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ ในสถานศึกษาของรัฐ

“คณาจารย์” หมายความว่า บุคลากรซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการสอนและการวิจัยในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาของรัฐ

“บุคลากรทางการศึกษา” หมายความว่า ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา รวมทั้งผู้สนับสนุนการศึกษาซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ให้บริการ หรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ การบริหารการศึกษา และปฏิบัติงานอื่นในหน่วยงานการศึกษา

“วิชาชีพ” หมายความว่า วิชาชีพครู วิชาชีพบริหารการศึกษา และวิชาชีพบุคลากรทางการศึกษาอื่น

[5] พระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542

http://www.cmcity.go.th/cmcity/images/document/KM_Law/Law0007.pdf

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง

“พนักงานส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดพนักงานเทศบาล พนักงานส่วนตำบล ข้าราชการกรุงเทพมหานคร พนักงานเมืองพัทยา และข้าราชการหรือพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง ซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการโดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณหมวดเงินเดือนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือจากเงินงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำมาจัดเป็นเงินเดือนของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น

มาตรา 17 คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(2) กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเบื้องต้นสำหรับข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด

(3) กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับอัตราตำแหน่งและมาตรฐานของตำแหน่ง

(4) กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนและวิธีการจ่ายเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่น

(5) กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือก การบรรจุและแต่งตั้ง การย้าย การโอน การรับโอน การเลื่อนระดับ และการเลื่อนขั้นเงินเดือน

(6) กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับวินัยและการรักษาวินัย และการดำเนินการทางวินัย

(7) กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการให้ออกจากราชการ

(8) กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิการอุทธรณ์ การพิจารณาอุทธรณ์และการร้องทุกข์

(9) กำหนดมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ วิธีการบริหาร และการปฏิบัติงานของข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกิจการอันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลในองค์การบริหารส่วนจังหวัด

มาตรา 24 วรรค 7 (กรณีของเทศบาล) และมาตรา 26 วรรค 7 (กรณีของ อบต.)

ให้นำความในมาตรา 10 มาตรา 11 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 21 และมาตรา 22 มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (หรือคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล) ด้วยโดยอนุโลม ทั้งนี้ โดยให้การใช้อำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลางพนักงาน เทศบาล หรือคณะกรรมการพนักงานเทศบาล แล้วแต่กรณี

[6] ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (กถ.)

เรื่อง กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น

ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2544

** หมายเหตุ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนพิเศษ 62 ง ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2544

http://www.local.moi.go.th/2009/home/lawedit58.pdf

ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (กถ.)

เรื่อง กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 18 เมษายน 2556

ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (กถ.)

เรื่อง กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557

(ยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือนของพนักงานส่วนท้องถิ่น ท้ายประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น เรื่อง กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น เรื่อง กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 18 เมษายน 2556 และให้ใช้บัญชีอัตราเงินเดือนของพนักงานส่วนท้องถิ่นบัญชี 3 ท้ายประกาศนี้แทน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป)

http://www.bohin.org/ac3.pdf

เล่ม 131 ตอนพิเศษ 53 ง ราชกิจจานุเบกษา 25 มีนาคม 2557

ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (กถ.)

เรื่อง กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557

(การเข้าสู่แท่ง)

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/036/15.PDF

เล่ม 132 ตอนพิเศษ 36 ง ราชกิจจานุเบกษา 13 กุมภาพันธ์ 2558

ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (กถ.)

เรื่อง กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2558

(ยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือนของพนักงานส่วนท้องถิ่น 3 ใช้บัญชี 4 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไป)

http://esanlocalgov.com/files/news/bec3e175a06c091da2e8d20446e120c0.pdf

ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (กถ.)

เรื่อง กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2558

(ให้แก้ไขคำว่า “ตำแหน่งประเภทบริหาร” และ “ตำแหน่งประเภทอำนวยการ” ในประกาศ กถ. ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2544 แก้ไขฉบับที่ 4 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 เป็น “ตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่น” และตำแหน่ง ประเภทอำนวยการท้องถิ่น”)

http://esanlocalgov.com/files/news/2105f9520b387f5cfecce16cd2994b99.pdf

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“พนักงานส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด พนักงาน เทศบาลพนักงานส่วนตำบล ข้าราชการกรุงเทพมหานคร พนักงานเมืองพัทยาและข้าราชการหรือพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการโดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณหมวดเงินเดือนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือจากเงินงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนของรัฐบาลที่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำมาจัดเป็นเงินเดือนของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น

หมวด 10

การบริหารงานบุคคลของพนักงานครูส่วนท้องถิ่น

ข้อ 32 พนักงานครูส่วนท้องถิ่น ได้แก่ พนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้สอนประจำในสถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือดำรงตำแหน่งอื่นซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้บริหารหรือให้การศึกษาในสถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการให้การศึกษาซึ่งไม่สังกัดสถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ให้คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นนำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูในส่วนที่เกี่ยวข้องมาใช้บังคับกับการบริหารงานบุคคลของพนักงานครูส่วนท้องถิ่นโดยอนุโลม

[7] พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546

https://person.mwit.ac.th/01-Statutes/teacher-act01.pdf

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120/ตอนที่ 52 ก/หน้า 1/11 มิถุนายน 2546

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

“วิชาชีพ” หมายความว่า วิชาชีพทางการศึกษาที่ทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งการรับผิดชอบการบริหารสถานศึกษาในสถานศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาทั้งของรัฐและเอกชน และการบริหารการศึกษานอกสถานศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนการสนับสนุนการศึกษา ให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ และการบริหารการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาต่างๆ

“ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา” หมายความว่า ครูผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัตินี้

“ครู” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพหลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ ในสถานศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา ทั้งของรัฐและเอกชน

[8] บอน(นามแฝง),บรรจุผู้ดูแลเด็กเป็นข้าราชการ ร่วมแสดงความเห็น, 17 กุมภาพันธ์ 2553, http://www.nakhonlocal.go.th/webboards/show.php?Category=board&No=741

ดู พระราชบัญญัติ เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 79 ก วันที่ 23 ธันวาคม 2547 หน้า 75-77,

http://kormor.obec.go.th/act/act040.pdf

พระราชบัญญัติ เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนที่ 21 ก วันที่ 30 มีนาคม 2554 หน้า 1-4,

http://klang.chiangrai.net/Info/INfo_2015-07-14-24.pdf

พระราชบัญญัติ เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจําตําแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 43 ก วันที่ 21 พฤษภาคม 2558 หน้า 7-9,

http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/law43-210558-7.pdf

สรุปสาระสำคัญ พรบ. 2547

ว่าด้วยอัตราเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งสำหรับ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา

ตำแหน่งที่ไม่มีใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ใช้บัญชีของข้าราชการพลเรือน

เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งไม่ถือเป็นเงินเดือน

คณะกรรมการข้าราชการครูฯ สามารถเสนอขอปรับ เงินเดือน จะกระทำเมื่อ กรณีค่าครองชีพเปลี่ยนแปลงไปมาก หรือเพื่อเกื้อกูลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสม เป็นธรรม ความแตกต่างระหว่ารายได้ของข้าราชการประเภทอื่น ภาวะเศรษฐกิจ และฐานะการคลังของประเทศ

กรณีการปรับบัญชีเงินเดือน ให้ปรับอัตราเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งให้สูงขึ้นในร้อยละเท่ากัน และไม่เกินร้อยละสิบของอัตราที่บังคับใช้อยู่

กรณีปรับแล้วหากอัตราใดมีเศษไม่ถึงสิบบาท ให้ปรับตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นสิบบาท

[9] พนง.ท้องถิ่น-ขรก.เฮโอนเป็น ’ครู’ สพฐ.ได้, มติชน ฉบับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 (กรอบบ่าย), http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=40399&Key=hotnews

หมายเลขบันทึก: 598269เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2015 02:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2019 23:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท