การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในสังคมไทย


การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในสังคมไทย


นางสาวจันขมล ตรีพันธ์

นักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาสังคมวิทยา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย



วัฒนธรรมเป็นรากฐานของความมั่นคงของชาติ เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ วัฒนธรรมย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมจะเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับปรากฏการณ์หรือบริบททางสังคมที่เกี่ยวข้อง วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดรูปแบบของสถาบันซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไปในสังคม วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ พฤติกรรมของคน ขึ้นอยู่กับสังคมนั้นๆและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ควบคุมสังคมสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้แก่สังคม เพราะในวัฒนธรรมจะมีทั้งความศรัทธา ความเชื่อ ค่านิยม บรรทัดฐาน เป็นต้นในปัจจุบันวัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งแน่นอนว่าในปัจจุบันการสื่อสารมีการเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะทั้งทางด้านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้มีการติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมต่างชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งวัฒนธรรมต่างชาติในสังคมไทยปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป และวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลต่อวัยรุ่นในปัจจุบัน เช่น วัฒนธรรมเกาหลี วัฒนธรรมญี่ปุ่น วัฒนธรรมตะวันตก เป็นต้น


1. ความหมาย

มีนักวิชาการได้ให้ความหมายเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมไว้ ดังนี้

1.1 สุพิศวงธรรมพันธา(2538 : 68) ได้ให้ความหมายไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม” เป็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความรู้ความเชื่อและลักษณะการแสดงออกของวิถีชีวิตทั่วไปในสังคมผลของการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้เปลี่ยนแปลงวิถีใหม่มาให้ผู้คนเช่นความก้าวหน้าของวิชาฟิสิกส์ทำให้เกิดการผลิตระบบสื่อสารแบบโทรเลขและโทรศัพท์ขึ้นใช้ทั่วโลกทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกว้างขวางทั่วโลกเป็นต้น

1.2 ณรงค์เส็งประชา (2541 :207) ให้ความหมายไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม” เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มนุษย์กำหนดให้มีขึ้นทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุและไม่ใช่วัตถุที่นำเอามาใช้เป็นองค์ประกอบในการดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคม

1.3 สุริชัยหวันแก้ว (2540 : 156 – 157) ได้ให้ความหมายไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม” หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆที่มนุษย์ประดิษฐ์และสร้างขึ้นและที่สำคัญก็คือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านค่านิยมบรรทัดฐานและระบบสัญลักษณ์ต่างๆในสังคมนั้นๆเช่นการเปลี่ยนแปลงของค่านิยมจากสถานภาพและบทบาทชายเป็นใหญ่มาเป็นหญิงและชายเท่าเทียมกันค่านิยมในการเลือกคู่ค่านิยมในการแต่งงานเปลี่ยนแปลงเป็นต้น

กล่าวโดยสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมหมายถึงการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านค่านิยมบรรทัดฐานและระบบสัญลักษณ์ต่างๆในสังคมนั้นๆ


2. แนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

มีนักวิชาการได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมไว้ ดังนี้

2.1 ผ่องพันธุ์มณีรัตน์(2521 : 14)การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเป็นการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตหรือจารีตกฎหมายศาสนาสิ่งที่ประดิษฐ์และวัตถุอื่นๆในวิถีชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่านิยมจึงอาจกล่าวได้ว่าพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมนั้นๆการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมส่วนมากเกิดจากการประดิษฐ์และการแพร่กระจาย

2.2 สุริชัยหวันแก้ว (2547 : 157-158) การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆที่มนุษย์ประดิษฐ์และสร้างขึ้นโดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านค่านิยมบรรทัดฐานและระบบสัญลักษณ์ต่างๆในสังคมนั้นๆได้แยกการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมออกเป็นสองรูปแบบได้แก่

2.2.1. การเปลี่ยนแปลงจากภายใน (Endogenous Change) อย่างเช่นจากการประดิษฐ์คิดค้นวิธีการผลิตใหม่ขึ้นในสังคมนั้นเองจากการต่อสู้ขัดแย้งระหว่างกลุ่มและกระบวนการในสังคมจากการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงจากชนชั้นนำเป็นต้น

2.2.2. การเปลี่ยนแปลงจากภายนอก (Exogenous Change) อย่างเช่นการรับเอาเทคโนโลยีหรือสิ่งประดิษฐ์มาจากภายนอกการล่าอาณานิคมซึ่งบางกรณีการเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายนอกอาจเกิดขึ้นโดยความสมัครใจของผู้คนในสังคมหรือบางครั้งอาจโดยการใช้กำลังบีบบังคับ

2.3 พระยาอนุมานราชธน (2515 : 65) กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมไม่ว่าจะในแง่ใดลักษณะใดจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าหรือรวดเร็วก็ขึ้นอยู่กับการสังสรรค์วัฒนธรรม(Acculturation) คือการที่วัฒนธรรมต่างสังคมมากระทบกันว่าจะมีมากหรือน้อยและมีความรุนแรงเพียงใดนอกจากนั้นในสังคมมนุษย์อาจมีการรับวัฒนธรรมบางส่วนมาจากสังคมข้างเคียงได้แต่ทั้งนี้บางส่วนของวัฒนธรรมที่รับมานั้นไม่ขัดกับค่านิยมหลักของสังคมและมีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่จนในที่สุดวัฒนธรรมที่รับมาจากสังคมอื่นกลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมนั้นการรับเอาวัฒนธรรมของสังคมอื่นมาในระยะแรกอาจเรียกว่าเป็นการยืมวัฒนธรรมแต่เมื่อนานๆไปการยืมก็จะกลายเป็นการรับการยืมวัฒนธรรมและการรับวัฒนธรรมนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

2.4 วิลเลียมอ็อกเบอร์น (williamOgburn) นักสังคมวิทยาชาวอเมริกันมองว่า “การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมจะก่อให้เกิดภาวะการปรับตัวไม่ทันขึ้นเสมอ ทำให้เกิดความเฉื่อยหรือความล้าหลังทางวัฒนธรรมขึ้น” เช่น วัฒนธรรมทางวัตถุทำให้สังคมเจริญแล้ว เช่นการมีรถยนต์ขับ แต่วัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุ อันได้แก่ ค่านิยม ประเพณียังไม่ปรับตัวกลมกลืนกับวัฒนธรรมทางวัตถุ เพราะกลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่กล้าเปลี่ยนนิสัยหรือพฤติกรรม ขาดการศึกษา แม้จะมีรถยนต์แต่การปฏิบัติตามกฎจราจรยังเกิดไม่เท่ากับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น

กล่าวโดยสรุปว่า แนวคิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเป็นการเปลี่ยนแปลงทางวิถีชีวิตค่านิยม ซึ่งแยกการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมออกเป็นสองรูปแบบคือการเปลี่ยนแปลงจากภายใน และการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกการรับเอาวัฒนธรรมของสังคมอื่นมาในระยะแรกอาจเรียกว่าเป็นการยืมวัฒนธรรมแต่เมื่อนานๆไปการยืมก็จะกลายเป็นการรับการยืมวัฒนธรรมและการรับวัฒนธรรมนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม


3. ทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม (Cultural Diffusion Theory)

มีนักทฤษฎีได้อธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีการแพร่กระจายของวัฒนธรรมไว้ดังนี้

3.1 ฟรานซ์ โบแอส (Franz Boas) เป็นนักมานุษยวิทยาชาวเยอรมันทำงานในตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เน้นว่า “การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมเป็นกระบวนการที่มีลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมหนึ่งแพร่กระจายไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง โดยปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมใหม่” นอกจากนั้นยังเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดแนวคิดที่เชื่อว่า “วัฒนธรรมสามารถวัดได้ โดยนำวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาเปรียบเทียบกันและพิจารณาคุณลักษณะที่สูงกว่าหรือด้อยกว่าของแต่ละวัฒนธรรม แต่ยังคงเชื่อว่าวัฒนธรรมนั้นไม่มีวัฒนธรรมใดที่ดีกว่าหรือเลวกว่ากัน”

3.2 เอช.จี. บาร์เนท (H.G. Barnett) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันผู้ซึ่งสนใจศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวกับนวัตกรรม (Innovation) ที่ถือว่าเป็นตัวแทนจากวัฒนธรรมหนึ่งและมีการถ่ายทอดไปยังวัฒนธรรม อื่น ในงานเขียนชื่อ “Innovation : The Basis of Cultural Change” (1953) กล่าวไว้ว่านวัตกรรมก็คือ ความคิดหรือพฤติกรรมหรือสิ่งใดๆก็ตามที่เป็นของใหม่ เพราะมันแตกต่างทางด้านคุณภาพไปจากรูปแบบที่มีอยู่ บาร์เนทเชื่อว่า “วัฒนธรรมเปลี่ยนไปเพราะนวัตกรรม แต่ขณะเดียวกันวัฒนธรรมบางวัฒนธรรมอาจเป็นตัวถ่วงหรือไม่สนับสนุนให้เกิดมีนวัตกรรมก็ได้ ฉะนั้นเขาจึงเสนอว่าจำเป็นต้องมีวิธีการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมขึ้นในสังคมหรือวัฒนธรรม”

3.3 เอฟเวอเรทเอ็ม. โรเจอร์ (Everett M. Rogers) ได้เน้นว่า “การเปลี่ยนแปลงสังคมส่วนใหญ่เกิดจากการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามามากกว่าเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นภายในสังคม และนวัตกรรม ที่ถ่ายทอดกันนั้นอาจเป็นความคิดซึ่งรับมาในรูปสัญลักษณ์ ถ่ายทอดได้ยาก หรืออาจเป็นวัตถุ ที่รับมาในรูปการกระทำ ซึ่งจะเห็นได้ง่ายกว่า” โรเจอร์ ยังได้กล่าวอีกว่า “นวัตกรรมที่จะยอมรับกันได้ง่าย ต้องมีลักษณะ 5 ประการ ได้แก่

3.3.1มีประโยชน์มากกว่าของเดิม

3.3.2 สอดคล้องกับวัฒนธรรมของสังคมที่รับ

3.3.3 ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อนมาก

3.3.4 สามารถแบ่งทดลองรับมาปฏิบัติเป็นครั้งคราวได้

3.3.5 สามารถมองเห็นเข้าใจง่าย

โดยสรุปทฤษฎีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมนี้จะช่วยอธิบายถึงวิธีการและขั้นตอน ของการเผยแพร่วัฒนธรรมหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง ถ้าจะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมใหม่จะต้องคำนึงถึงข้อเหมือนและข้อแตกต่างของวัฒนธรรมทั้งสองเป็นสำคัญ


4. วัฒนธรรมไทย

วัฒนธรรมเป็นเครื่องวัดและเครื่องกำหนดความเจริญหรือความเสื่อมของสังคม และขณะเดียวกัน วัฒนธรรมยังกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคม ดังนั้นวัฒนธรรมจึงมีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมไทยมีความสำคัญและมีหน้าที่ต่อวิถีชีวิติของสมาชิกในสังคม ดังนี้

4.1ความสำคัญของวัฒนธรรมไทย

4.1.1 วัฒนธรรมเป็นเครื่องสร้างระเบียบแก่สังคมมนุษย์ วัฒนธรรมไทยเป็นเครื่องกำหนดพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมไทย ให้มีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนรวมถึงผลของการแสดงพฤติกรรมตลอดจนถึงการสร้างแบบแผนของความคิด ความเชื่อ และค่านิยมของสมาชิกให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน

4.1.2 วัฒนธรรมทำให้เกิดความสามัคคีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สังคมที่มีวัฒนธรรมเดียวกันย่อมจะมีความรู้สึกผูกพันเดียวกัน เกิดความเป็นปึกแผ่น จงรักภักดีและอุทิศตนให้กับสังคมทำให้สังคมอยู่รอด

4.1.3 วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดรูปแบบของสถาบัน เช่น รูปแบบของครอบครัวจะเห็นได้ว่าลักษณะของครอบครัวแต่ละสังคมต่างกันไป ทั้งนี้เนื่องจากวัฒนธรรมในสังคมเป็นตัวกำหนดรูปแบบ เช่น วัฒนธรรมไทยกำหนดเป็นแบบสามีภรรยาเดียว ในอีกสังคมหนึ่งกำหนดว่าชายอาจมีภรรยาได้หลายคน หรือหญิงอาจมีสามีได้หลายคน ความสัมพันธ์ทางเพศก่อนแต่งงานเป็นสิ่งที่ดีหรือเป็นเรื่องขัดต่อศีลธรรม

4.1.4 วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหา และสนองความต้องการของมนุษย์ มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตภายใต้สิ่งแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นมนุษย์ต้องแสวงหาความรู้จากประสบการณ์ที่ตนได้รับการประดิษฐ์คิดค้นวิธีการใช้ทรัพยากรนั้นให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตและถ่ายทอดจากสมาชิกรุ่นหนึ่งไปสู่สมาชิกรุ่นต่อไปได้โดยวัฒนธรรมของสังคม

4.1.5 วัฒนธรรมช่วยให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า หากสังคมใดมีวัฒนธรรมที่ดีงามเหมาะสม เช่น ความมีระเบียบวินัย ขยัน ประหยัด อดทน การเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เป็นต้น สังคมนั้นย่อมจะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว

4.1.6 วัฒนธรรมเป็นเครื่องแสดงเอกลักษณ์ของชาติ คำว่า เอกลักษณ์ หมายถึง ลักษณะพิเศษหรือลักษณะเด่นของบุคคลหรือสังคม ที่แสดงว่าสังคมหนึ่งแตกต่างไปจากอีกสังคมหนึ่ง เช่น วัฒนธรรมการพบปะกันในสังคมไทย จะมีการยกมือไหว้กันแต่ในสังคมญี่ปุ่นใช้การคำนับกัน เป็นต้น

4.2 หน้าที่ของวัฒนธรรม

4.2.1 วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดรูปแบบของสถาบัน ซึ่งมีลักษณะแตกต่าง กันไปในแต่ละสังคม เช่น วัฒนธรรมอิสลามอนุญาตให้ชาย (ที่มีความสามารถเลี้ยงดูและ ให้ความ ยุติธรรมแก่ภรรยา) มีภรรยาได้มากกว่า 1 คน โดยไม่เกิด 4 คน แต่ห้ามสมสู่ ระหว่าง เพศเดียว กัน อย่างเด็ดขาด ในขณะที่ศาสนาอื่นอนุญาตให้ชายมีภรรยาได้เพียง 1 คน แต่ไม่มีบัญญัติห้าม ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกัน ฉะนั้นรูปแบบของสถาบันครอบครัวจึงอาจแตกต่างกันไป

4.2.2 วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่กำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ พฤติกรรมของคน จะเป็นเช่นไร

ก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของกลุ่มสังคมนั้น ๆ เช่น วัฒนธรรมในการพบปะทักทายของ ไทย ใช้ในการสวัสดีของชาวตะวันตกทั่วไปใช้ในการสัมผัสมือ ของชาวทิเบตใช้การแลบลิ้น ของชาว มุสลิมใช้การกล่าวสลาม เป็นต้น

4.2.3 วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ควบคุมสังคม สร้างความเป็นระเบียบ เรียบร้อย ให้แก่สังคม เพราะในวัฒนธรรมจะมีทั้งความศรัทธา ความเชื่อ ค่านิยม บรรทัดฐาน เป็นต้น ตลอดจน ผลตอบแทนในการปฏิบัติและบทลงโทษเมื่อฝ่าฝืน

5. ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมไทย

วัฒนธรรมไทยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามบริบททางสังคม ความหลากหลายทางวัฒนธรรมมักจะมีมากขึ้นเพียงใดนั้นวัฒนธรรมต่าง ๆ ของแต่ละสังคมอาจเหมือนหรือต่างกันสืบเนื่องมาจากความแตกต่างทางด้านความเชื่อ เชื้อชาติ ศาสนาและถิ่นที่อยู่ ซึ่งมีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมไทย ดังนี้

5.1 การเปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมเมือง ทำให้วัฒนธรรมบางอย่างเปลี่ยนแปลงหรือสูญหายไป

5.2 การพัฒนาของบ้านเมือง เช่น สมัยก่อนวัฒนธรรมการศึกษาจะอยู่ที่วัด ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการศึกษาในระบบโรงเรียน หรือวัฒนธรรมที่นิยมให้ผู้หญิงเป็นแม่บ้านได้เปลี่ยนไป เพราะผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากขึ้น

5.3 การรับและนิยมวัฒนธรรมต่างชาติ เช่น ปัจจุบันวัยรุ่นไทยนิยมนักร้องและนักแสดงชาวเกาหลี ชาวญี่ปุ่น จึงสนใจเรียนรู้วัฒนธรรมของชาติเหล่านี้ รวมทั้งวัยรุ่นบางคนเห็นว่าวัฒนธรรมไทยบางอย่างล้าสมัย เช่น เครื่องดนตรีไทย เพลงไทยเดิม จึงละเลยที่จะเรียนรู้

5.4 ความเจริญก้าวหน้าทางด้านการติดต่อสื่อสาร เช่น อินเทอร์เน็ต เคเบิลทีวี ทำให้คนไทยเรียนรู้และนิยมวัฒนธรรมภายนอกมากขึ้น บางครั้งได้เกิดการเลียนแบบโดยไม่ได้ไตร่ตรองให้ดีก่อนนำไปใช้ เช่น การใส่เสื้อสายเดี่ยว เกาะอก ซึ่งเสี่ยงต่อภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดตามมาอีกด้วย


6. ผลดี-ผลเสีย การรับวัฒนธรรมต่างชาติ

การเลือกที่จะรับวัฒนธรรมต่างชาติควรเลือกรับให้เหมาะสมกับบริบททางสังคมและวิถีชีวิตของคนไทยโดยไม่ให้ถูกวัฒนธรรมอื่นกลืนกินไปหมดซึ่งการรับวัฒนธรรมต่างชาติมีทั้งผลดีและผลเสีย ดังนี้

6.1 ผลดี

สามารถนำประยุกต์ใช้ทำให้เกิดการพัฒนาความเจริญในด้านต่างๆทำให้ประเทศเกิดความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วเช่น การศึกษา การนำเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาทางการแพทย์ ทางการเมือง จะเห็นได้จากการนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ซึ่งได้รับอิทธิพลจากประเทศในยุโรปและทางเศรษฐกิจระบบเศรษฐกิจเป็นแบบเสรีนิยม หรือทุนนิยมได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากที่สุด

6.2 ผลเสีย

การรับวัฒนธรรมต่างชาติ ทำให้วิถีชีวิตคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เห็นอกเห็นใจมีความอบอุ่นน้อยลง มีการชิงดีชิงเด่น ความสัมพันธ์เปลี่ยนเป็นแบบทุติยภูมิ การรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติมาใช้มากๆจะถูกกลืนกินทางวัฒนธรรม ขาดเอกลักษณ์ของตัวเองการเลือกที่จะรับวัฒนธรรมต่างชาติควรเลือกรับให้เหมาะสมกับสังคมและวิถีชีวิตของคนไทยโดยไม่ให้ถูกวัฒนธรรมอื่นกลืนกินไปหมด

สรุป

การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทาง ค่านิยม บรรทัดฐาน วิถีชีวิต จารีต ซึ่งวัฒนธรรมความหลายหลายและมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอยู่เสมอ วัฒนธรรมเป็นรากฐานสำคัญทางสังคมเป็นตัวบ่งบองถึงชาตินั้นๆวัฒนธรรมไทยสมควรแก่การรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณี แต่สังคมไทยมีการรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติมาอย่างหลากหลาย และมันจะมองวัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่ล่าหลัง แต่ถ้าเรารู้จักที่จะมีการปรับใช้ การรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติมาปรับใช้ให้เหมาะกับปริบทของท้องถิ่นหรือชุมชนนั้น อาจทำให้วัฒนธรรมไทยไม่ถูกกลืนกินด้วยวัฒนธรรมต่างชาติ ซึ่งวัฒนธรรมเป็นรากฐานความมั่นคงของสังคมและยังมีสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างชาติ ถ้าเรารู้จักที่จะรักษาคงความเป็นวัฒนธรรมเก่าเอาไว้ และปรับใช้กับวัฒนธรรมสมัยใหม่ จะต้องเสริมความเข้าใจระหว่างกันด้านความคิด วิถีชีวิต จารีตและค่านิยมที่ยังหลากหลายมากในโลกปัจจุบัน










อ้างอิง

หนังสือ

คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ. (2543) .การประชุมสัมมนาทางวิชาการระดับชาติสาขาสังคมวิทยาครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร.

ณรงค์ เส็งประชา.(2523).สังคมวิทยาเมืองและชนบท. กรุงเทพมหานคร: กรุงสยามการพิมพ์.

อมรา พงศาพิชญ์.(2534) .วัฒนธรรม ศาสนา และชาติพันธุ์ : วิเคราะห์สังคมไทยแนวมานุษยวิทยา. กรุงเทพมหานคร:

สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


สารอิเล็คทรอนิก

ความหมายของวัฒนธรรมไทย. ออนไลน์จาก : https://www.gotoknow.org/posts/510879 สืบค้นเมื่อวันที่25ตุลาคม 2558

ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม. ออนไลน์จาก http://www.huso.buu.ac.th/cai/Sociology/225101/Lesson13/

สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2558

ผลดี อิทธิพล ของ วัฒนธรรม ต่าง ชาติ ที่ มี ต่อ สังคม ไทย?. ออนไลน์จาก :

https://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20... สืบค้นเมื่อวันที่25ตุลาคม 2558

www.edupol.org/eduOrganize/eLearning/superIntenden... สืบค้นเมื่อวันที่25ตุลาคม 2558

วัฒนธรรมกับการเปลี่ยนแปลง : ความหลากหลายบนความหลายหลาก. ออนไลน์จาก :

https://www.gotoknow.org/posts/358168 สืบค้นเมื่อวันที่25ตุลาคม 2558

วัฒนธรรมไทยควรช่วยกันรักษาไว้เพื่อเอกลักษณ์ของประเทศไทย. ออนไลน์จาก :

http://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4124 สืบค้นเมื่อวันที่25ตุลาคม 2558

โลกาภิวัตน์. ออนไลน์จาก : http : / /www.panyathai.or.th/wiki/index สืบค้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2558

หมายเลขบันทึก: 598216เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2015 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2015 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท