"น้ำท่วมเมืองลุ่มจำหนีขึ้นเมืองฟ้า"


งานบุญบั้งไฟพญานาคสักการะปู่แถน ที่มา:Chalerm23-Oknation.net

อินทภาสบาท "สฺยำ" ตอน3)

ในตำนานเก่าแก่ของล้านช้างถิ่นอีสานเรื่อง “ปู่แถน” เทวดาผู้เป็นใหญ่ผู้สร้างและดูแลโลกมนุษย์ เกิดบันดาลให้น้ำท่วมเมืองลุ่มท่วมที่อยู่อาศัยเพราะผู้คนไม่เชื่อฟังออกนอกลู่นอกแนว จนต้องพากันผูกแพลอยออกไปถึงเมืองฟ้า ไม่นานจึงขอกลับมาอยู่เมืองลุ่มตามเดิม....

เรื่องราวน้ำท่วมโลกขึ้นไปผูกพันถึงดินแดนภูเขาสูงของพี่น้องถิ่นไต เล่าขานนิทานพื้นบ้านในตีมเดียวกันกับตำนานของชาวจีน ชาวอินเดียและชาวกรีกที่อยู่ห่างไกลถึงเกือบครึ่งโลกราวกับกดปุ่มส่งออนไลน์ถึงกันแบบตอนนี้ ก็ในเมื่อหลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ชัดว่าน้ำทะเลเคยท่วมโลกจริงๆเมื่อหมื่นกว่าปีจนมาหยุดไม่กี่พันปีที่แล้วนี่ จะปฏิเสธพงศาวดารโบราณฉบับชาวบ้านที่ถ่ายทอดกันปากต่อปากจากรุ่นสู่รุ่นกระจายไปทั่วก็คงกระไร

ถ้าขยายตำนานล้านช้างให้ครอบยาวลงมาถึงทวีปซุนด้าทางตอนใต้.... เมืองลุ่มคงหมายถึงที่ราบลุ่มจำนวนสามแห่งของทวีปคือ

-ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาโบราณตั้งแต่เจ้าพระยาตอนบน-ตอนล่าง รวมแม่กลอง และบางปะกง บริเวณพื้นที่อ่าวไทยทั้งหมดผ่านเขมร คาบสมุทรมาลายา ภาคใต้ของเวียดนามจนไปถึงปากแม่น้ำที่ทะเลจีนใต้

-ที่ราบลุ่มแม่น้ำมูซิ (Musi) โบราณของปาเล็มบัง รวมสาขาลุ่มน้ำบาตังฮารี (Batanghari) ของจัมบิ ลุ่มน้ำเซียก (Siak) ของเรียว ซึ่งตั้งต้นจากเทือกเขาบาริซาน (Barisan) แก่นแกนของเกาะสุมาตราทางตะวันตก และลุ่มน้ำกาป๊วส (Kapuas) ของเมืองปนเตียนักบนเกาะกะลิมันตันฝั่งตะวันตก รวมกันเป็นลุ่มน้ำใหญ่มีปากอ่าวที่ทะเลจีนใต้ใกล้กับเจ้าพระยา ซึ่งแบ่งสรรปันส่วนสองลุ่มน้ำโดยแนวเกาะนาทูน่า

-ที่ราบลุ่มแม่น้ำชวาโบราณ แม่น้ำทุกสายบนเกาะชวาจะไหลขึ้นเหนือลงเส้นนี้ รวมถึงแม่น้ำที่ไหลจากเกาะกะลิมันตันลงมาทางใต้ เช่น แม่น้ำบาริโต้ (Barito) ของเมืองบันจาร์มาซิน แม่น้ำคาฮายัน (Kahayan) และแม่น้ำเมินดาวัย (Mendawai) ของเมืองปาลังการาย่า และแม่น้ำซำปิ๊ด (Sampit) ของเมืองซำปิ๊ด กลายเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ทางด้านตะวันออกของทวีป ลุ่มน้ำนี้เปิดออกสู่ทะเลทางฝั่งตะวันออกของทะเลชวาใกล้ๆกับเกาะบาหลี.....

เมืองฟ้าทางแผ่นดินแม่นั้นคงได้แก่ทิวเขาสูงทางภาคเหนือที่ราบสูงบนภาคอีสานของไทยขึ้นไปถึงรัฐฉานในพม่ายูนานตอนใต้ของจีนข้ามไปยังฝั่งลาวเมืองแถนจนถึงกวางสีและจ้วงเหนือเวียดนาม ในขณะที่ทางด้านใต้ของทวีปคงกินถึงเทือกเขาตะนาวศรีต่อลงไปยังทะเลสาบโตบ่ะบนยอดเขาบาริซานของเกาะสุมาตราแนวภูเขาไฟของเกาะชวาจนถึงยอดเขาคินาบารูบนเกาะบอร์เนียว....และรวมถึงยอดเขาสระบาป-สอยดาวแห่งเมืองจันทรา-ควนคราบุรี

หลังน้ำท่วมหยุดรุกคืบเหตุผลใดพวกผู้คนในเมืองฟ้าจึงไม่กลับลงมาแบบเดียวกับชาวเมืองลุ่มแห่งดินแดนตะวันออกไกลและตะวันออกกลาง ยังคงยึดหลักปักฐานกระจัดกระจายตามหุบตามพงดงเมืองสวรรค์ บนดินแดนเขาตัดยอดราบเช่นบ้านเชียงแห่งเมืองอุดรธานีที่แปลว่าเมืองทางเหนือ หรือติดใจนางฟ้านางสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เข้าเสพสมสุขสันต์ใช้ชีวิตกันอยู่แบบเงียบๆถึงหลายพันปีจึงค่อยย่องปีนลงบันไดมาปรากฏตัวให้ชาวโลกได้สัมผัสตัวเป็นๆเมื่อสองสามพันปีที่ผ่านมา

คาบสมุทรมาลายาเป็นที่รู้จักของชาวจีนในยุคราชวงศ์ฮั่น (Han) ในเส้นทางสายไหมทางทะเลราวปีที่เริ่มนับคริสต์ศักราชไม่นาน กองเรือสินค้าออกเดินทางเลาะเลียบมาตามชายฝั่งแยกออกเป็นสองแนวในช่วงต้น เส้นนึงเลาะไปทางหน้าหมู่เกาะฟิลิปปินส์ลงมาบอร์เนียวเข้าสุมาตราผ่านช่องแคบมะลัคกา และอีกเส้นลัดเลาะลงมาตามชายฝั่งเวียดนามอ้อมแหลมญวนเข้าอ่าวไทยไปยังชุมพร-สุราษฎร์ฯตัดข้ามตะนาวศรีหรือไม่ก็ล่องลงไปอ้อมช่องแคบมะลัคกา แล้วร่วมกันไปต่อยังอินเดีย ตะวันออกกลางและอียิปต์-กรุงโรม

อาณาจักรเข้มแข็งของชาวฟ้าจำแลงฝั่งทะเลจีนใต้ที่เปิดเผยตัวตนให้รู้จักกันในหมู่นักเดินเรือสำรวจและค้าขายทั้งชาวจีนอินเดียจนถึงพโตเลมีแห่งโรมันคืออาณาจักร “ฟูนัน” ตั้งแต่ต้นคริสต์จักรหรือราวพุทธศตวรรษที่ 6 ซึ่งว่ากันไม่มีชื่อนี้อยู่จริงแต่หลักฐานชี้ชัดถึงอาณาจักรใหญ่ที่มีศูนย์กลางเมืองท่าการค้าสำคัญบนสันดอนปากแม่น้ำโขงปลายแหลมญวนในชื่อ “Oc Eo” และเชื่อกันว่าเป็นอาณาจักรของชาวเขมรโบราณ พโตเลมีเรียกเมืองท่านี้ว่า “Kattigara” พยายามแปลกันในภาษาสันสกฤตว่า “Kirti-nagara” หรือ “Kotti-nagara” ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรืองอยู่หลายร้อยปีและเป็นเมืองเดียวกับบันทายมาศในรุ่นหลัง

ดินดอนแม่โขงเดลต้าโผล่พ้นน้ำทะเลอายุไม่น่าเกินสามพันปี ต่อให้น้ำโขงพาตะกอนลงมาจากหิมาลัยมากแค่ไหน เมืองท่านี้จึงควรเป็นของชาวลุ่มพวกใดพวกหนึ่งที่อพยพหนีน้ำท่วมเมื่อครั้งโน้น แล้วพากันเทครัวย้ายก้นตามน้ำทะเลกันลงมาจากเมืองฟ้าเพราะการกินการอยู่คงไม่ค่อยถูกปากถูกคอเท่าไรนักหรืออาจถูกเทวดาเจ้าที่คอยกลั่นแกล้งอยู่ตลอดก็เป็นได้ ในภาษาอินโดฯที่รักษาต้นทางสันสกฤตได้ดีกว่า คำว่า "katti" อาจมาจากคำว่า "karta" ซึ่งแปลว่าความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ใช้เป็นคำต่อท้ายของหลายเมืองเช่น "Jakarta" หรือ "Yogyakarta" และ "gara" มาจาก "negara" ที่แปลว่านครแห่งนาค รวมความว่าความเรืองรองของชาวนาค ซึ่งเข้ากันกับสถานที่ตั้งของเมืองบนสันดอนปากแม่น้ำโขงหรืออีกนัยปากพญานาคเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นถ้าคำเมืองเป็นสันสกฤตจริงแสดงว่าวัฒนธรรมฮินดูก็คงเข้ามามีอิทธิพลในย่านนี้ตั้งแต่สองพันปีนั่นแล้ว

อีกอาณาจักรเล็กๆร่วมสมัยทางเหนือของฟูนันทางตอนใต้ของเวียดนามปรากฏชื่ออาณาจักร “จามปา” ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพวก “Sa Huynh” มีวัฒนธรรมแตกต่างจากกลุ่มเมืองฟ้าแผ่นดินใหญ่ นักวิชาการเขาว่าเป็นพวกที่อพยพมาจากทางเกาะบอร์เนียวหลายร้อยปีก่อนหน้า และรับวัฒนธรรมฮินดูและภาษาสันสกฤตเข้ามาในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 10 อาณาจักรจามปาเดิมชาวจีน-เวียดนามเรียก “Lâm Ấp” ชาวเมืองเปลี่ยนมาเรียกตัวเองว่า “จามปา” ในพุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งเป็นช่วงรุ่งเรืองขึ้นมาของเมืองท่าการค้าทางทะเลระหว่างจีนกับอินเดียที่สำคัญแทนฟูนันที่ล่มสลายไปและเป็นคู่แข่งกับอาณาจักรศรีวิชัยบนเกาะสุมาตรา

ที่มาของชาวต่างประเทศจามปานี้ขอเดาแบบนอกคอกว่าคงอพยพพลัดหลงหนีน้ำท่วมโลกมานานแล้ว อาจมาจากที่ราบลุ่มปากแม่น้ำมูซิโบราณมากกว่าจะพากันขึ้นเรืออพยพข้ามมาจากบอร์เนียว และถิ่นที่อยู่นั้นมีแต่เทือกเขาสันภูในอีกทางก็อาจมาจากหมู่เกาะภูเขาติดทะเลน้ำลึกเป็นลูกน้ำเค็มเก่งการเดินเรือเต็มตัวเช่น เกาะฟิลิปปินส์หรือทางเกาะสุลาเวสีจะดูเข้าท่ากว่าจากเกาะใหญ่แบบบอร์เนียว และถ้าเราแปล "Kattigara" ว่าเมืองแห่งปากพญานาค พวกที่อาศัยอยู่บน "Lam Ap" ก็ต้องแปลเป็นพวกควาญนาคมือถือตะขอขี่หัวควบคุมการทำหน้าที่ของพญานาค

คำว่า “จามปา” เข้าใจว่าเป็นภาษาสันสกฤต “campaka” แปลว่าดอกจำปา กลิ่นหอม ในภาษาอินโดฯซึ่งเข้าใจว่ามาจากต้นศัพท์สันสกฤตเช่นกัน เรียก “cempaka – เจิมปากะ” แปลว่าดอกไม้หอม เช่นดอกจำปา ดอกลั่นทมเรียก“cempaka kubur” ชาวบ้านใช้ไหว้เคารพวิญญาณ แต่ชาวบาหลีถือเป็นดอกไม้ประจำศาสนาฮินดูใช้สำหรับกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะ จึงแปลความคำเรียก “จามปา”....ว่าเมืองดอกไม้ของพระเจ้า และคงต้องการสื่อถึงสถานะว่าเป็นตัวแทนของเหล่าเทพเจ้าสูงสุดในศาสนา

ไล่ลัดเข้าอ่าวไทยมองหาอาณาจักรชาวฟ้าชาวลุ่มอพยพกับเขาบ้าง อาจารย์ต้วน ลี เซิง เขียนบอกว่าตั้งแต่พ.ศ.ที่อ่าวไทยยังไม่เกิด แต่ชื่อ “อ่าวจินหลิง” อ่าวทองสุวรรณภูมินั้นเรียกขานร่วมสมัยฮั่นสองพันปีผ่าน มีอาณาจักรปรากฏในเส้นทางเดินเรือเช่น “อีลูมูตูหยวน” และ “เฉินหลี” แถวสุราษฎร์ฯ มีอาณาจักร “จินหลิง” ตรงภาคกลางติดกับอ่าวจินหลิง....อยู่ตรงไหนกันนี่

มีคณะทูตเดินทางจากกวางตุ้งทางเรือผ่านคาบสมุทรมาลายาไปยังอินเดียบันทึกไว้ว่า... “จากสีเหวิน เหอผู่ ซึ่งเป็นด่านของยื่อหนาน เดินทางโดยเรือเป็นเวลา 5 เดือน มีอาณาจักรตูหยวน เมื่อแล่นเรือไปอีก 4 เดือน มีอาณาจักรอี้หลูม่อ และเมื่อแล่นไปอีก 80 วันเศษ มีอาณาจักรเฉินหลี เดินเท้าอีก 10 วันเศษ มีอาณาจักรฟูกันตูหลู และแล่นเรือต่ออีก 2 เดือนเศษ มีอาณาจักรหวงจือ มีขนบธรรมเนียมคล้ายกับจูเอี๋ย”.....แปลเป็นไทยว่าอะไรบ้างคงต้องตามรอยจากผู้เชี่ยวชาญกันต่อไป

จันทบุรี 06 สิงหาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 598164เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2015 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ธันวาคม 2015 00:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท