ตามรอยสยามในเชิงภูมิประวัติศาสตร์


the Sunda Continent ทวีปซุนด้า ที่มา: grahamhancock.com

อินทภาสบาท "สฺยำ" ตอน2)

เมื่อราวหมื่นห้าพันปีที่แล้วทวีปซุนด้ากว้างใหญ่เคยเชื่อมร้อยรัดแผ่นดินของพวกไตไปจนถึงปลายแถวแนวภูเขาไฟของพวกชวาและบาหลีเข้าเป็นหนึ่งเดียว เป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่กว่าทวีปอินเดีย ทวีปยุโรป หรือใหญ่ประมาณทวีปออสเตรเลียในปัจจุบัน แม่น้ำเจ้าพระยาในครั้งนั้นไหลยาวผ่านพื้นที่ราบลุ่มขนาดมหึมาคงน้องๆลุ่มน้ำมิสซิสซิปปี้ของอเมริกา เป็นสายน้ำหลักของทวีปไปลงปากอ่าวที่ทะเลจีนใต้ ชายฝั่งทะเลอยู่ลึกจากระดับน้ำทะเลตอนนี้ราว -110 เมตร ไม่นานหลังจากนั้นอากาศอบอุ่นก็เข้ามาแทนที่มหายุคน้ำแข็งอันยาวนานนับแสนปี ภูเขาน้ำแข็งแข่งกันละลายน้ำทะเลก็เพิ่มระดับอย่างรวดเร็วขึ้นมาถึง 50-60 เมตรเมื่อผ่านไปสี่ห้าพันปี เฉลี่ยศตวรรษละหนึ่งเมตรต้นๆ

น้ำทะเลทะลักเข้ามาจนถึงแถวหัวหิน ระหว่างฝั่งมาลายาและเขมร-ปลายแหลมญวนยังไม่ขาดจากกันเสียทีเดียว แผ่นดินยังเชื่อมถึงกันเพียงนั่งเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาที่กลายเป็นช่องแคบแถวๆเมืองปัตตานี-นราธิวาส แต่อ่าวไทยกำลังกลายเป็นทะเลเกือบปิดขนาดใหญ่กว้างเป็นร้อยและยาวหลายร้อยกิโลเมตรในรูปแบบเดียวกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหรือทะเลดำ คาดว่าทะเลขยายตัวแห่งนี้ยังคงลักษณะกึ่งปิดได้นานเป็นพันปี

สามสี่พันปีต่อมาหรือเจ็ดพันปีที่แล้วก็ถึงคราวแพแตกแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง น้ำทะเลหลากท่วมขึ้นมาอีก 50 เมตรเฉลี่ยศตวรรษละหนึ่งเมตรครึ่ง ถึงจุดสูงสุดที่บวก 4 เมตรจากระดับน้ำทะเลในทุกวันนี้ แบ่งแยกทวีปที่เคยกว้างใหญ่ออกเป็นเกาะแก่งเช่น ชวา กะลิมันตัน และสุมาตรา ในขณะที่แผ่นดินใหญ่น้ำทะเลท่วมเข้าไปจนถึงอ่างทอง-สิงห์บุรี กินพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างทั้งหมด เจ้าพระยาที่เคยกว้างใหญ่จึงเหลือเพียงตำนานเปลี่ยนเป็นแม่น้ำสายเล็กๆ ไหลลงมาถึงนครสวรรค์ก็จะเข้าเขตปากน้ำแล้ว

หลังจากนั้นระดับน้ำทะเลจึงค่อยๆลดลงในอัตรา 0.6 เมตรต่อพันปีจนมาอยู่ในระดับปัจจุบัน พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างมีลักษณะคล้ายแอ่งเป็นผืนดินราบขนาดใหญ่ เอียงเทลงมาทางใต้ด้วยมุมน้อยมาก ระดับความสูงของพื้นที่ส่วนใหญ่ต่ำกว่าห้าเมตรลงมาถึงเกือบเท่าระดับน้ำทะเล เมื่อมองสภาพภูมิศาสตร์เข้ากับการหดตัวของน้ำทะเลแล้วน่าจะบอกได้ว่า ในอดีตพื้นที่แห่งนี้มีสภาพเป็นทะเลโคลนน้ำตื้น เวลาน้ำลงชายหาดจะยื่นออกไปไกลมาก ถ้าขึ้นที่สูงมองไปคงจะเห็นแต่ป่าชายเลนสุดลูกหูลูกตา มีป่าพรุพื้นที่ชุ่มน้ำปลักตมอยู่ทั่วไป มีน้ำท่วมขังเจิ่งนองไม่ค่อยไหลเวียนโดยเกือบตลอดช่วงเวลา และมีแม่น้ำเจ้าพระยาทำหน้าที่หลักคอยพัดพาตะกอนดินทรายจากทางเหนือลงมาสะสมตัวอย่างช้าๆที่หน้าปากอ่าว.....

หันไปดูประวัติศาสตร์ของมนุษย์โดยไม่เคร่งครัดกับการจัดลำดับยุคในแบบของสำนักวิชาวิวัฒนาการเดินเป็นเส้นตรงให้มากนัก จะเห็นว่ามีการค้นพบอารยธรรมสำคัญๆซึ่งเป็นต้นทางส่งอิทธิพลและผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเชื่อของสังคมมนุษย์ในปัจจุบัน ถือกำเนิดและเจริญเติบโตขยายตัวไปตามลุ่มแม่น้ำสายหลักไม่ห่างฝั่งทะเลตั้งแต่จีนมาจนถึงยุโรปในช่วงห้าหกพันปีที่ผ่านมาทั้งนั้น

ทางฝั่งตะวันออกจีนแผ่นดินใหญ่ไล่กลับไปก็เจอกับสงครามแย่งชิงดินแดนภาคกลางลุ่มน้ำหวงเหอระหว่างพระเจ้าหวงตี้และพระเจ้าเหยียนตี้ ข้ามทวีปจมทะเลซุนด้าไปทางฝั่งทวีปอินเดียก็เจอกับปราการอารยธรรมพระเวทแถบลุ่มน้ำสินธุด้วยคำยืนยันจากคัมภีร์สวดมนต์สรรเสริญพระเจ้าฤคเวท เลยไปทางตะวันตกย่านอ่าวเปอร์เซียเป็นอารยธรรมลุ่มน้ำไทกรีส-ยูเฟรตีสของพวกสุเมเรียน เดินข้ามทะเลทรายผ่านทะเลแดงไปทางตะวันตกเฉียงเหนือถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนปากแม่น้ำไนล์ก็เข้าสู่อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ของฟาโรห์อียิปต์ นั่งเรือข้ามทะเลเมดิเตอร์ขึ้นเหนือเข้าตีกรีกโบราณและได้ทันสังสรรค์มื้อค่ำบนเกาะเมืองซานโตรินี่ทะเลอีเจียนอย่างเต็มอิ่ม

สังเกตว่าอารยธรรมต้นสายใหญ่ๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ปรากฏตัวเกิดขึ้นร่วมสมัยหลังยุคน้ำแข็ง หลังน้ำทะเลท่วมสูงสุดทรงตัวและค่อยๆลดระดับลงอย่างเชื่องช้าทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าเปรียบการรุกไล่ของน้ำทะเลเป็นศัตรู ศัตรูคนนี้ต้องเหี้ยมโหดมากทำสงครามรุกคืบตีชิงกินดินแดนอย่างยาวนานไม่สนใจใคร ในอัตราร้อยปีต่อระดับหนึ่งเมตรในช่วงสี่ห้าพันปีแรกและเพิ่มความกดดันขึ้นไปถึงร้อยปีต่อระดับเมตรครึ่งในช่วงสามพันปีสุดท้าย....ก่อนจะหยุดพักยาว เมื่อบรรยากาศเปลี่ยนอารมณ์ย่อมเปลี่ยนตาม ความกังวลของสิ่งมีชีวิตบนบกทั้งหลายที่บินไม่ได้แบบนกและต้องพึ่งพาอาศัยแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต ย่อมได้รับการปลดปล่อยหลังความเก็บกดเรื่องน้ำท่วมโลกปลูกฝังถ่ายทอดทางสายกรรมพันธุ์มายาวนานไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น

ในระหว่างทางของการละลายท่วมท้นประมาณช่วงหมื่นสี่พันปีและหมื่นสองพันปี มีการหยุดพักหายใจช่วงละเกือบพันปี ที่อาจทำให้ลมหายใจของหลายชีวิตหลายสังคมได้ผ่อนคลายบ้าง และอาจคิดไปไกลแบบคนมองโลกสวยว่าน้ำทะเลคงไม่รุกล้ำเข้ามามากกว่านี้แล้ว และถ้าสมมุติโดยส่วนตัวว่าสังคมที่หมายถึงนั้นคือสังคมของมนุษย์พวกที่ชอบอาศัยอยู่กันตามดินแดนที่ราบลุ่มริมแม่น้ำไม่ห่างจากชายฝั่งทะเลมากนัก โดยจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับการโผล่ปรากฏของอารยธรรมรุ่นหลังน้ำท่วมโลกก็คงพอเห็นภาพ

ไปเปิดกูเกิ้ลเอิร์ทขยายให้ใหญ่ๆส่องดูใต้พื้นทะเลจะอ่านได้ว่า บริเวณนอกชายฝั่งเซียงไฮ้ตรงทะเลจีนตะวันออกขึ้นไปถึงทะเลเหลืองเว้าเข้าไปที่ปักกิ่งนั้นมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มซึ่งต่อเนื่องลงมาจากที่ราบภาคกลางลาดลงไปทางฝั่งเกาหลีและญี่ปุ่น มีระดับความลึกมากสุดไม่เกิน -80 เมตรจากระดับน้ำทะเล พื้นที่ตรงนี้กะคร่าวๆมีขนาดไม่น้อยกว่าที่ราบภาคกลาง ก่อนน้ำท่วมใหญ่แผ่นดินนี้เชื่อมต่อไปถึงญี่ปุ่น แนวชายฝั่งอยู่ห่างออกไปเกือบถึงไหล่ทวีปประมาณ 400-500 กิโลเมตรจากแนวปัจจุบัน ในช่วงหมื่นสองพันปีน้ำทะเลยังรุกเข้ามาในพื้นที่แถบนี้ไม่มากนัก การอพยพย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่คงเกิดขึ้นราวหมื่นหนึ่งพันปี

ข้ามทวีปซุนด้าไปที่ลุ่มน้ำสินธุปากีสถานในปัจจุบัน ก่อนน้ำแข็งเริ่มละลายใหญ่แนวชายฝั่งลัดเลาะไปตามไหล่ทวีปห่างจากตอนนี้ประมาณ 150 กิโลเมตร พื้นที่มีความลาดชันลงไปทางไหล่ทวีป ไม่มีการสะสมตัวของตะกอนที่ปากแม่น้ำ น้ำไหลแรงเซาะพื้นทะเลจนเกิดเป็นร่องเห็นได้ชัด ตะกอนคงลงไปสะสมตัวที่ไหล่ทวีปแทน คาดว่าอารยธรรมที่เกิดก่อนน้ำท่วมใหญ่และอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งต้องเคลื่อนย้ายถิ่นฐานอย่างรวดเร็วอยู่เป็นประจำ

ในอ่าวเปอร์เซียนั้นเป็นพื้นที่ราบลุ่มทั้งหมด ชายฝั่งออกมาถึงอ่าวโอมาน กว่าน้ำทะเลจะท่วมเข้าไปก็ผ่านไปหลายพันปีแล้ว แต่ใช้เวลาไม่นานในการทะลักท่วมพื้นที่ทั้งหมดและการอพยพใหญ่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงหมื่นปี ที่ราบลุ่มปากแม่น้ำไนล์การอพยพคงค่อยๆทยอยเคลื่อนย้ายในอัตราที่ช้ากว่าทางปากแม่น้ำสินธุ เพราะมีการพัดพาตะกอนสะสมตัวมากกว่าทำให้พื้นที่ไม่เอียงลาดชันนัก ส่วนทางกรีกโบราณคงไม่มีผลกระทบมากแนวชายฝั่งเดิมกับปัจจุบันไม่หนีกันเท่าไร ถ้ามีสังคมดั้งเดิมอยู่ก็คงยังอยู่กันตรงนั้น

อารยธรรมยุคพึ่งพาหยาดเหงื่อแรงกายที่ไหนจะพัฒนาอย่างยั่งยืนก้าวหน้าและขยายตัวได้หากต้องมามัวกังวลกับน้ำท่วมโลก ถึงน้ำทะเลจะหยุดการรุกล้ำมานานพอสมควรแล้ว หากความทรงจำในเรื่องนี้กลับยังฝังแน่นถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นในตำนานเรื่องเล่าขานของแต่ละเผ่าพันธุ์ทั่วทั้งโลก

ย้อนกลับมาที่อารยธรรมของทวีปซุนด้าก่อนน้ำท่วมใหญ่ (ถ้ามี) ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างสองอารยธรรมสำคัญ การอพยพครั้งใหญ่ทิ้งถิ่นฐานที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์กว้างใหญ่คงเกิดขึ้นราวหมื่นปีที่แล้วหลังรู้แน่ว่าน้ำทะเลเพียงหยุดพักเอาแรง....แต่ว่าพวกเขาอพยพไปไหนกัน บนเกาะสุมาตราถิ่นคนภูเขายังมีร่อยรอยตำนานเรื่องน้ำท่วมโลกถ่ายทอดผ่านการทักทอลวดลายบนผืนผ้า แสดงรูปเรือลำใหญ่ล่องลอยบนผืนน้ำ บรรทุกสัตว์ที่เห็นชัดคือช้างและผู้คนทั้งยืนทั้งนั่งบนหลังสัตว์ซ้อนกันถึงสามชั้น หลังน้ำท่วมใหญ่ทำไมพวกเขาไม่กลับมาสร้างบ้านแปงเมืองในแบบเดียวกันกับเพื่อนร่วมชะตากรรมชาวสุเมเรียน สินธุ และชาวจีน...พวกเขาหายไปไหน

ปล. การสะสมตัวของตะกอนในช่วงหมื่นกว่าปีมานี้คงมีผลบ้างนิดหน่อยเป็นหลักเมตรหรือหลักสิบ คงไม่สามารถเกลี่ยพื้นที่ขนาดใหญ่ๆเช่นว่าให้เกือบราบเรียบได้ หรือการเคลื่อน-ยก-ยุบตัวของเปลือกโลกก็ตาม ช่วงเวลาเท่านี้แทบไม่มีความหมายในทางธรณีวิทยาที่ว่ากันเป็นหลักแสนหรือล้านปี

จันทบุรี 4 สิงหาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 598035เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2015 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2015 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท