ฉบับที่ ๐๔๐ สสส.ในฐานะองค์กรจัดการภาครัฐแนวใหม่จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร


สสส.ในฐานะองค์กรจัดการภาครัฐแนวใหม่จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

นสพ.มติชน มีดังนี้
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ "สสส. ในฐานะองค์กรจัดการภาครัฐแนวใหม่ จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร" ทั้งนี้ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.) กล่าวว่า การเสนอให้ปรับแก้ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 นั้น เชื่อว่าเกิดจากเข้าใจความหมายของคำว่า "สุขภาวะ" ไม่ตรงกัน ทั้งนี้ กรณี สสส.สามารถแก้ไขได้ใน 2 ระยะ คือ ระยะสั้น ปรับกฎระเบียบขององค์กรให้รัดกุม รวมทั้งสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคม ซึ่ง สสส.มีจุดแข็งในการสื่อสารรณรงค์อยู่แล้ว โดยเฉพาะความหมายของคำว่าสุขภาวะที่กว้างกว่าสุขภาพทางกาย เป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำความเข้าใจ
ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมการกองทุน สสส.บางคนมีผลประโยชน์ทับซ้อนว่า สสส.มีผู้ทรงคุณวุฒิทำหน้าที่ตรวจพิจารณา ตรวจทานโครงการต่างๆ ที่ขอรับทุนอยู่แล้ว
ขณะที่นายวิเชียร พงศธร ประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี สสส. กล่าวว่า พ.ร.บ.กองทุน สสส.ได้ถูกออกแบบไว้อย่างรอบคอบ เพื่อให้ สสส.ทำงานสร้างเสริมสุขภาพในเชิงรุกได้อย่างยั่งยืน หากเทียบกับภาคธุรกิจแล้วถือว่ามีการกำกับติดตามอยู่ในเกณฑ์ที่เข้มข้นมาก ดังนั้นการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพสามารถทำได้ด้วยการบริหารและกำกับดูแลของคณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งมีอำนาจสูงสุด

นสพ.โพสต์ทูเดย์ มีดังนี้
ค้านแก้กฎหมาย สสส.ชี้ขั้นตอนยุ่งยาก แนะแก้ระเบียบแทน ตีกรอบคำว่า "สุขภาพ" ใหม่
นพ.ปิยะ หาญวรวงค์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพ เปิดเผยในงานเสวนา เรื่อง "สสส.ในฐานะองค์กรจัดการภาครัฐแนวใหม่จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร" ว่ารูปแบบของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหลากหลายและนำความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน เข้ามาช่วยกัน จนกระทั่งได้โครงการที่มีคุณภาพและประสบความสำเร็จ
นพ.ปิยะ กล่าวว่า อาจไม่จำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ตามที่รัฐบาลมีแนวคิด แต่อาจทำนิยาม "สุขภาพ" ให้แคบลง ทั้งนี้อำนาจสำนักงานฯ สามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงมีปัจจัยกำหนดสุขภาพอีกหลากหลายเรื่อง ซึ่งต้องมองในภาพรวมของสังคม สสส.ต้องเข้าไปเกี่ยวโยงทั้งเรื่องสุขภาพใจ กฎหมาย เทคโนโลยี ซึ่งโยงมาถึงสุขภาพได้หมด
นายวิเชียร พงศธร กรรมการ สสส. กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายเพราะต้องใช้เวลาและมีขั้นตอนต่างๆ อีกมาก แต่ควรปรับปรุงนิยามสุขภาพให้ชัดขึ้นกว่าเดิม รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ ทับซ้อน

นสพ.บ้านเมือง มีดังนี้
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ จัดเสวนาวิชาการ "สสส.ในฐานะองค์กรจัดการภาครัฐแนวใหม่จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร" โดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.) กล่าวว่า แนวคิดการจัดการภาครัฐแนวใหม่ที่นำผลลัพธ์ ความสำเร็จเป็นตัวตั้ง ซึ่งมีหน่วยงานราชการหลายแห่งกำลังปรับไปสู่ทิศทางนี้ มีความต่างกับรูปแบบเดิม โดยเฉพาะเรื่องการจัดระบบงบประมาณ การเสนอให้มีการปรับแก้ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 นั้น เป็นความเข้าใจที่ยังไม่ตรงกันในความหมายของคำว่า "สุขภาวะ" ซึ่งกรณี สสส.สามารถแก้ไขได้ใน 2 ระยะ คือ ระยะสั้น การปรับกฎระเบียบขององค์กรเพื่อให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ต้องแก้กฎหมาย รวมทั้งการสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคม ซึ่งในสาระของระบบการทำงาน สังคมยังเข้าใจระดับที่ไม่มากพอ นำไปสู่การตั้งคำถามทั้งในเรื่องความโปร่งใส และระบบการตรวจสอบที่มีอยู่แล้วในหลายระดับแต่ไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ความหมายคำว่า "สุขภาวะ" กว้างกว่าสุขภาพทางกาย ดังนั้นต้องทำความเข้าใจก่อน หากยังไม่เป็นที่พอใจก็ขยับไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ. ซึ่งควรทำเมื่ออยู่ในสภาวะรัฐบาลปกติ มีการพิจารณาจากทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ช่วยตรวจสอบถ่วงดุลอย่างรอบคอบ
ด้าน ดร.ทญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสุรา ยาสูบ และปัจจัยคุกคามอื่นๆ จะต้องอาศัยการสะสมประสบการณ์และทักษะ เมื่อภาคีส่วนหนึ่งมีประสบการณ์มากพอก็จะทำหน้าที่เป็น "จุดจัดการ" กันได้ สสส.จึงใช้แนวทางการเพิ่มจำนวนจุดจัดการที่มีประสบการณ์ให้มากขึ้น เพื่อกระจายไปสู่หน่วยทำงานอื่นได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อรับทุนไปแล้ว หน่วยงานที่เป็นจุดจัดการไม่ได้เอาเงินไปใช้เอง แต่นำเงินไปสนับสนุนภาคีย่อยอีกทีหนึ่ง ซึ่งเมื่อไม่เข้าใจกระบวนการทั้งหมด อาจเข้าใจว่า สสส.ให้ทุนกับหน่วยงานหน้าเดิม หรือขาประจำ ซึ่งการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ต้องอาศัยหน่วยงานมากกว่า 1 แห่ง สสส.ไปเป็นส่วนเสริมให้องค์กรที่ 1 ที่ 2 หรือที่ 3 ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มการขับเคลื่อน นำองค์ความรู้ไปเสริม หรือทำให้คนที่ทำงานด้วยกันรู้จักกัน
"กรณีผลประโยชน์ทับซ้อนที่พบว่าบางโครงการมีรายชื่อคณะกรรมการกองทุนฯ ได้รับทุนนั้น เนื่องจากภาคีที่สั่งสมประสบการณ์มานานทำงานอย่างใกล้ชิด อาจถูกเชิญไปเป็นคณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการแผนงานต่างๆ ในขณะที่เขาเหล่านั้นก็มีภารกิจในมูลนิธิ หน่วยงานที่ขับเคลื่อนของเขาบางส่วนแล้ว แต่ สสส. มีกระบวนพิจารณาตรวจทานโครงการต่างๆ ที่เข้ามาขอรับทุน ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้รับทุน เป็นการป้องกันและมีการตรวจสอบด้วยตัวเอง" ดร.ทญ.ศิริวรรณ กล่าว
นายวิเชียร พงศธร ประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี สสส. กล่าวว่า พ.ร.บ.กองทุนฯ ได้ถูกออกแบบไว้อย่างรอบคอบเพื่อให้ สสส.ทำงานสร้างเสริมสุขภาพในเชิงรุกได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหากเทียบกับภาคธุรกิจแล้วถือว่ามีการกำกับติดตามในอยู่เกณฑ์ที่เข้มข้นกว่ามาก ดังนั้นการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพสามารถทำได้ด้วยการบริหาร และกำกับดูแลของคณะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งมีอำนาจสูงสุด เนื่องจากปัญหาสังคมและปัญหาสุขภาวะซึ่งรวมถึงทางกาย ทางใจ และทางสังคม เป็นปัญหาที่มีขนาดใหญ่มาก ดังนั้นจึงควรเพิ่มขีดความสามารถของ สสส.ให้ทำงานเพิ่มขึ้น และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ด้อยโอกาส

เว็บไซต์เพิ่มเติม : www.trc.or.th

๑๐ พ.ย.๕๘


หมายเลขบันทึก: 597187เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2015 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2015 16:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท