706. "สมการความสุข" (เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่านสามก๊ก ตอนที่ 36)


เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอนที่ 36)

จากเมื่อวาน ผมได้เล่าฟังเรื่องความสุขในการทำงาน หนึ่งในนิยามสำคัญมาจากงานของ ศาสตราจารย์ริชาร์ด เจ. แฮคแมน ท่านพบว่า คนทำงานจะมีความสุข รู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย (รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า) ก็ต่อเมื่อผู้นำสร้างสภาพการทำงานที่

  1. ดึงพรสวรรค์และทักษะของพนักงานที่มีอยู่หลากหลายมาใช้
  2. ลูกจ้างได้ทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ
  3. ลูกจ้างรู้สึกว่างานที่ทำส่งผลกระทบต่อคนอื่น

ถ้าพูดในอีกมุมผมขอสรุปว่า ความสุข = ความสำเร็จ นั่นเอง

ถ้าคุณต้องการสร้างความสำเร็จคุณต้องทำให้คนของคุณมีความสุข ถ้าคุณจะครองบัลลังค์ คุณก็ต้องดูแลอาณาประชาราษฎรษ์ ให้มีความสุข เรื่องนี้คุณจะเห็นว่าผู้นำที่โดดเด่นไม่ว่าจะเป็นเล่าปี่ โจโฉ ซุนกวน จนมาถึงสุมาอี้ เน้นนักเน้นหนา จะเห็นว่าโจโฉยกทัพไปที่ไหน ก็จะพยายามทำให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด เล่าปี่เองก็พยายามดูแลทุกข์สุข อาณาประชาราษฎรษ์ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอ เรียกว่าดูอย่างสมบูรณ์แบบอย่างไม่มีที่ติ สุมาอี้สอนลูกว่า “ชนะใจราษฎรได้เป็นฮ่องเต้ ชนะใจฮ่องเต้ได้เป็นเจ้าแคว้น ชนะใจเจ้าแคว้นได้เป็นอำมาตย์” นั่นก็คือทำให้ลูกค้าของคุณมีความสุข (ทั้งภายในและภายนอก) คุณก็จะประสบความสำเร็จ

Source: https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_media_adapta...

ความสุข ความสำเร็จ เป็นของคู่กัน

มองมาในยุคปัจจุบัน เราทำอะไรกับบทเรียนที่มีค่านี้ได้บ้าง คำตอบคือมีวิธีหนึ่งคือค้นหาความสุขแล้วนำมาขยายผล ความสุขมักมาคู่กันกับความสำเร็จครับ ตรงนี้พอดูสามก๊กนี่ผมเห็นชัดมากๆ ว่ามันสอดคล้องกันอย่างน่าทึ่ง

คำถามคือ “ผมก็เต็มที่แล้ว ให้เงินเดือน ให้ความมั่นคงอยู่แล้ว” ก็ไม่เห็นมีอะไรนี่

ใจเย็นครับ ... คุณทำได้อีก ค้นหาความสุข มาสร้างความสำเร็จได้มากขึ้นอีก

เพราะภายใต้เงินทอง ความมั่นคงที่คุณเห็น คนของคุณอาจอยู่ด้วยความทุกข์เพราะติดขัดอะไรบางอย่างก็ได้

เช่นผมไปในหลายองค์กร ที่ดูเป็นองค์กรคุณภาพ คนงานดูมีรายได้สูง หากแต่กลับพบกับความทุกข์ยากอย่สงไม่น่าเชื่อ เช่น “พนักงานติดหนี้นอกระบบเต็มเลยอาจารย์ เจอตามทวงหนี้ แทบไม่มีสมาธิในการทำงาน” “อาจารย์ครับ ฝึกพนักงานไป แต่ปรากฏว่า สอนไปก็ลืม ทำอย่างไรดีครับ”

นี่ครับ จินตนาการครับว่าคุณได้คนไม่มีสมาธิมาบริการลูกค้า คงไม่ดีแน่ จินตนาการครับได้พนักงานที่ทักษะไม่ถึงมาตรฐาน สร้างความเสียหาย หรือทำให้หัวหน้าต้องตามเช็ดตามล้าง คงไม่ดีแน่นอน”

“สื่อสารกับผู้บังคับบัญชายากมากครับอาจารย์ มีปัญหามากๆ”

“โครงการมีปัญหามากครับ ขึ้นโครงการแล้ว ยังมีอะไรตกหล่นอีกเยอะ รู้สึกแย่มากๆ มีปัญหาโทษกันตลอด”

ผมว่านี่ให้คำตอบชัดมาก ความทุกข์ ทำให้ความสำเร็จลดน้อยลง หรือไม่ก็เกิดความเสี่ยง

เราจะทำอย่างไรดีครับ

คำตอบคือ ผมขอเสนอศาสตร์หนึ่งที่เรียกว่า Appreciative Inquiry (AI) ซึ่งเป็นการชวนคนในองค์กรมาค้นหาสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นในองค์กร ผ่านการตั้งคำถามเชิงบวก แล้วเอามาขยายผลอย่างเป็นระบบ โดยเราเชื่อว่าในองค์กรมีเรื่องราวดีๆ ซ่อนเร้นอยู่ครับ

เช่นคำถามแรก “ติดหนี้ จนไม่มีสมาธิ” เราเลยตั้งคำถามเชิงบวก ว่า “ตอนประสบความสำเร็จเรื่องการเงินทำกันอย่างไร ค้นพบครับ “ใช้เงินสด เงินต่อเงิน หักบัตรเครดิต ลงทุนในที่ดิน ทำบัญชี” ได้วิธีมาเราก็มาวางแผนขยายผลให้คนในองค์กรได้สัมผัสกับอิสรภาพทางการเงินกัน

สอนพนักงานไปก็ไม่จำ ทำไม่ได้ เราถามกันต่อ “ตอนที่สอนแล้วจำทำอย่างไร” ได้คำตอบเช่น “สอนไม่พอครับ ต้องพาเขาไปอยู่ตามแผนกต่างๆ ที่เป็นจุดสัมผัสของงาน อย่างละสองสามวัน กลับมานี่เห็นภาพ ทำได้ แล้วทำดีด้วย” อีกคนก็เล่าว่า “ที่ธนาคารที่ทำมาใช้วิธีการถามว่างานแบบนี้ต้องทำอะไรเป็นบ้างก็จดรายการมา แล้วให้น้องใหม่เดินตามรุ่นพี่ รุ่นพี่ก็เป็น Mentor สอนให้จนเป็น” ได้สองวิธีการที่จะทำให้เกิดความสุขความสำเร็จ ก็เอามาวางแผนขยายผลต่อ

สื่อสารกับผู้บังคับบัญชาไม่ได้ พอถามเชิงบวกว่าตอนที่สื่อสารได้สำเร็จทำอย่างไร “คุยกันนายต้องมี Plan A Plan B” จะออกแนวๆนี้ ก็ได้คิดกันว่าครั้งต่อไปเราจะเสนอความเห็นกับผู้บังคับบัญชาอย่างไร

ต่อมาเป็นเรื่อง “เริ่มโครงการแล้ว ตกๆหล่นๆ เสียหายมาก” ก็ถามเชิงบวกว่า “โครงการไหนขึ้นแล้วไม่มีปัญหา แล้วทำอย่างไร” ลูกศิษย์ผมตอบว่า “โครงการนี้ไงครับอาจารย์ไม่มีปัญหา เพราะอะไรหล่ะครับ เพราะตอนเริ่มโครงการมีการดึงทุกฝ่ายมาประชุม Kickoff โครงการ เคลียร์กันจนพร้อมจึงเริ่ม” เช็คไปเช็คมาที่เป็นปัญหานี่ไม่ได้ประชุมนัดแรก Kickoff กันครับ ... เป็นไงครับที่สุดได้นโยบายใหม่ เอาไปขยายผลทำให้คนทำงานมีความสุข และองค์กรสำเร็จได้อีกมากยิ่งขึ้น

เห็นชัดว่าความสุข ความสำเร็จมาคู่กันเป็นเหมือนเงากันเลย เช่นเดียวกับความทุกข์เป็นเงาของประสิทธิภาพที่น้อยลง หรือความล้มเหลว

อยากให้องค์กรสร้างความสุข ความสำเร็นมากขึ้นสามารถใช้กระบวนการพัฒนาองค์กรแบบ Appreciative Inquiry มาช่วย

อย่าปล่อยให้ความทุกข์ ปัญหาสร้างวงจรความทุกข์ และความล้มเหลวที่ซ้ำซากจำเจต่อไปครับ แค่ใช้ AI ก็คลายขึ้นมากแล้วครับ

และในวันนี้ผมก็ขอขอบคุณตัวละครในสามก๊กที่ได้สะท้อนมุมมองที่ผมเองก็ทึ่งอยู่เสมอ เพราะทำให้เห็นอะไรอย่างที่คาดไม่ถึงครับ ผมว่าคนในยุคสามก๊กไม่ธรรมดาทั้งนั้นครับ

ลองดูเรื่องราวของ AI ได้ที่ Clip ข้างล่างนี้นะครับ AI สามารถช่วยคุณเปลี่ยนความทุกข์เป็นความสุขและความสำเร็จได้ งานได้ผลคนเป็นสุขแน่นอนครับ



วันนี้พอเท่านี้ เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจารณาดูนะครับ

หมายเลขบันทึก: 597079เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2015 15:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2015 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท