การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา ด้วยระบบข้อมูลแบบ UCHA


บทนำ

ปัจจุบันสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา (สคร.5) มีบทบาทหน้าที่ในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค ตามจุดเน้นของการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรค ในเขตพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 9 (นครชัยบุรินทร์) โดยมีวิสัยทัศน์คือ “เป็นองค์กรชั้นนำที่มีมาตรฐานสากล ด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ภายในปี 2562” ทั้งยังเกิดโรคใหม่ที่ต้องเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน และมีบทบาทหน้าที่ด้านอื่นๆที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีข้อจำกัดในการเพิ่มบุคลากร เป็นผลให้บุคลากรมีงานล้นมือ การแสวงหาองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานมักเกิดจากความทรงจำในอดีตหรือเกิดการค้นคว้าเฉพาะงาน บ่อยครั้งที่ไม่สามารถตอบปัญหาหรือข้อสงสัยในงานที่ทำได้ทันที เนื่องจากการรวบรวมข้อมูลต้องใช้บุคลากรที่มีความชำนาญหลายคนหลายกลุ่มงาน และอาจใช้เวลาหลายวัน ความรู้ที่ขาดข้อมูลทำให้เกิดความคาดเคลื่อนทางวิชาการ ซึ่งเป็นผลเสียหากนำองค์ความรู้ที่ไม่ถูกต้องไปใช้

โปรแกรม UCHA (อ่านออกเสียงว่า อู-ฉะ) ริเริ่มขึ้นโดยนายแพทย์ทวีทอง กออนันตกูล นายแพทย์ระดับทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรมสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ใช้แก้ปัญหาการใช้สารสนเทศเพื่องานสาธารณสุข เน้นการสร้างความรู้แบบมีหลักฐานจากการวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้บุคคลมี Tacit Knowledge ที่ดี แข็งแรงและถูกต้อง ด้วยการเลือกใช้เทคโนโลยีที่พอเพียง ซึ่งสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา ได้นำระบบข้อมูลแบบ UCHA มาใช้ในการจัดทำระบบฐานข้อมูล ตั้งแต่มกราคม 2549 ที่สามารถนำเข้าและเรียกดูข้อมูลโรคแบบ Real-time ได้ โดยในเบื้องต้นมีการจัดทำฐานข้อมูลเฉพาะโรค ได้แก่ โรคไข้หวัดนก โรคไข้เลือดออก โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคเลปโตสไปโรซีส วัณโรค และโรคเรื้อน ด้วยคุณสมบัติที่ใช้งานง่าย (ด้วยการคลิ๊ก) ตอบข้อสงสัยได้ทันทีทุกมุมมองอย่างต่อเนื่อง เรียกดูข้อมูลได้ทุกที่ตลอดเวลาพร้อมๆ กันอย่างรวดเร็วผ่านระบบอินเทอร์เน็ต สามารถนำไปครอบฐานข้อมูลที่มีอยู่เดิมได้ทุกงาน ใช้โปรแกรมแบบ Open source ที่ถูกกฎหมาย และไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ โดยมีการนำโปรแกรม UCHA มาใช้ในการดำเนินงานและเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคดังนี้

ปี 2552 จัดทำระบบฐานข้อมูลโรคในระบบเฝ้าระวัง (รง.506) ทุกโรค

ปี 2554 จัดทำระบบฐานข้อมูลฝึกอบรมของบุคลากร ซึ่งได้รางวัลก้าวแรกการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R) และรางวัลพัฒนาต่อยอดงานประจำด้านบริหารทั่วไปสู่งานวิจัย (R2R) กรมควบคุมโรคปี พ.ศ. 2555 และจัดทำระบบฐานข้อมูลครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์เพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูลความคุ้มค่าและใช้ในการจัดซื้อทดแทนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ชำรุดและมีอายุการใช้งานมาก

ปี 2555 พัฒนาระบบฐานข้อมูลยาและเวชภัณฑ์มิใช่ยา

ปี 2556 พัฒนาและทดลองเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูล 12 แฟ้มจังหวัดนครราชสีมา

วัตถุประสงค์

เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูล ที่สามารถสนับสนุนการดำเนินงาน และการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ

กรอบแนวคิด/แนวทางการพัฒนา

ผลงานนวัตกรรมนี้ใช้แนวทางการวิจัยและพัฒนา (Research and development) โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีการพัฒนาระบบสารสนเทศด้วยวงจรการพัฒนาระบบสารสนเทศด้วยวงจรการพัฒนาระบบ (System Development Life Cycle: SDLC) ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนคือ (1) การวางแผน (2) การวิเคราะห์ (3) การออกแบบ (4) การสร้าง ทดสอบ เผยแพร่ (5) การดูแล พัฒนา (6) การประเมินผล ใช้การจัดการความรู้ในเครือข่ายสมาชิก ก่อให้เกิดวิธีการใหม่ในการพัฒนางานที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกิดการใช้ข้อมูลที่นำไปสู่การตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น

ประโยชน์ของนวัตกรรม

  • เป็นเครื่องมือในการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพทั้งในด้านมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลที่ใช้เป็นรูปแบบเดียวกันทำให้ได้ระบบฐานข้อมูลที่สามารถใช้งานจากฐานข้อมูลเดียว ทุกหน่วยงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบบ Real Time ช่วยแก้ไขปัญหาการทำงาน นำไปใช้ในงานประจำ และใช้การจัดการความรู้ (KM) ในเครือข่ายสมาชิก ก่อให้เกิดวิธีการใหม่ (Innovation) ในการพัฒนางานที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกิดการใช้ข้อมูลนำไปสู่การตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น (Evidence based decision making) ช่วยลดความยุ่งยากหรือภาระงานที่มากเกินไป ทำให้มีความง่ายและเกิดประโยชน์ต่องานประจำ ทำให้ได้ระบบฐานข้อมูลที่มีคุณภาพในด้านมาตรฐานจัดเก็บข้อมูล ความถูกต้องของข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล และมีความปลอดภัยของระบบโดยการกำหนดรหัสผ่านในการใช้งาน
  • สนับสนุนการทำงานของบุคลากรในหน่วยงาน และบุคลากรสาธารณสุขในเขตพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 9 (นครชัยบุรินทร์) ซึ่งนำไปใช้ในการสนับสนุนการดำเนินงาน และเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคป้องกันควบคุมโรค ตามจุดเน้นของการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรค

สรุปผลการพัฒนา/ การพัฒนาต่อ

มีระบบฐานข้อมูลที่สามารถสนับสนุนการทำงานของบุคลากรในหน่วยงาน และบุคลากรสาธารณสุขในเขตพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 9 (นครชัยบุรินทร์) ซึ่งนำไปใช้ในการสนับสนุนการดำเนินงาน และเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคป้องกันควบคุมโรค ตามจุดเน้นของการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรค โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 มีผู้ใช้งานระบบฐานข้อมูลโรคจำนวน 11,135 ครั้ง และผู้ใช้งานมีความพึงพอใจในการใช้งานระบบฐานข้อมูลโรค ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.75)โดยในปีงบประมาณ 2558 จะมีการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในเขตพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 9 ต่อไป

หมายเหตุ : ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การนำเสนอผลงานนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมควบคุมโรค ปี 2557

หมายเลขบันทึก: 596705เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2015 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ตุลาคม 2015 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท