ชีวิตที่พอเพียง : ๒๕๒๓. มนุษย์มีสิทธิในสุขภาพดี หรือมีเพียงสิทธิในบริการสาธารณสุข



นั่นคือคำถามจาก อ. แหวว ตอนก่อนสามทุ่มวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๘ แล้วตอนตีสองครึ่งก็ส่งร่าง Ppt และความเห็นจากมวลมิตรหมอผู้ใหญ่ของท่าน ๑๒ คน เป็นความเห็นดีๆ ทั้งสิ้น ในหลากหลายด้าน อ. แหววทำ crowdsourcing เก่งจริงๆ รวมของผมก็จะเป็น ๑๓ คน

ที่จริงหัวข้อที่อาจารย์แหววจะไปบรรยายในงานสาธารณสุข ๑๐๐ ปี ที่กระทรวงสาธารณสุข วันที่ ๒๔ กันยายน คือ “วิวัฒนาการสุขภาพและสิทธิ” ซึ่งเรื่องสิทธิ อ. แหววชำนาญอยู่แล้ว และคุณหมอชูชัย ศุภวงศ์ ให้ความเห็นแล้ว ผมจึงไม่แตะ

ผมขอย้ำความเห็นของคุณหมอสุวิทย์ ว่าเวลานี้เราตีความ “สุขภาพ” ว่า well-being หรือ “สุขภาวะ” ซึ่งเป็นความหมายที่กว้างกว่าเรื่องโรคภัยไข้เจ็บมดหมอหยูกยา เราเน้นที่สุขภาวะ ไม่ใช่เน้นการเป็นโรค สุขภาวะจึงเป็นเรื่องของทุกคน ดังนั้นทุกคน และทุกนโยบายสาธารณะ ต้องคำนึงถึงสุขภาวะของตน ของคนอื่น และของสังคมภาพรวม และต้องคำนึงถึงปัจจัยนำสู่สุขภาวะดี และปัจจัยทำลายสุขภาวะด้วย เช่นบุหรี่ เหล้า อบายมุขต่างๆ การทำลายสิ่งแวดล้อม นำสู่การทำลายสุขภาวะ

ประเด็นที่ผมอยากให้ อ. แหวว ในฐานะคนนอกกระทรวงสาธารณสุข นอกวิชาชีพสาธารณสุข (แต่ทำงานเรื่องสุขภาวะของคนด้อยโอกาสอย่างเอาเป็นเอาตาย จนคนนับถือไปทั้งเมือง) เตือนสติคนในกระทรวง สาธารณสุขก็คือ วิวัฒนาการสาธารณสุข ที่ประเทศไทย ระบบสุขภาพ เดินนำหน้าไปอย่างน่าชื่นชม ระบบสุขภาพ ของประเทศไทยในเวลานี้เป็นระบบที่ก้าวหน้า คือเป็นระบบกระจายอำนาจ มีองค์กรที่หลากหลายทำหน้าที่ขับเคลื่อน ระบบไปข้างหน้า ในสภาพของ ระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว (Complex-Adaptive Systems)

แต่มีความพยายามในสมัยปลัดกระทรวงฯ ท่านที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ ที่จะให้มี “Single command” ในระบบสาธารณสุข เอามาไว้ที่กระทรวงฯ ซึ่งผมถือเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ยิ่งใช้การบริหารแบบ Command & Control ยิ่งล้าหลัง

ใช้วิธีการสร้างความสามัคคีภายในกระทรวงฯ โดยการสร้างศัตรูร่วม คือองค์กรตระกูล ส จัดทีมออกข่าวโจมตี สาดโคลนใส่ องค์กรตระกูล ส เป็นวิธีการมนตร์ดำ ไม่สร้างสรรค์ต่อบ้านเมือง เพื่อ single command ของตน เป็นการ “วิวัฒนาการถอยหลัง” ซึ่งจะไม่มีวันสำเร็จ มีแต่จะสร้างความเสียหายแก่ระบบสุขภาวะ และแก่บ้านเมือง

เมื่อไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ทำเพื่อความยิ่งใหญ่กระทรวงสาธารณสุข เป็นปฐม กระทรวงสาธารณสุขเอง จะเสื่อม เมื่อไรก็ตาม คนในวงการวิชาชีพ ทำเพื่อวิชาชีพตนเป็นปฐม วิชาชีพนั้นจะเสื่อม หากมีเป้าหมาย “วิวัฒน์” ต้องทำเพื่อสังคมส่วนรวม เป็นปฐม นี่ไม่นับทำเพื่อ “ตัวกู ของกู” เป็นปฐม

ในระบบที่ซับซ้อนยิ่ง อย่าระบบสุขภาวะ กลไกต่างๆ ในบ้านเมืองต้องร่วมมือกัน ทำงานให้เกิด synergy เพื่อผลสุขภาวะของผู้คน และสังคม

กระทรวงสาธารณสุขควรทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ซึ่งเป็นงานสำคัญและยาก และมีข้อจำกัดที่ความเป็น ราชการ จึงควรต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ที่เก่งด้านวิจัย สร้าง evidence สำหรับใช้กำหนดนโยบาย ให้เป็น evidence-based policy หน่วยงานเช่นนี้เป็นหน่วยงานในตระกูล ส ทั้งสิ้น

หากจะให้ระบบบริการสุขภาพมีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ควรมีวิวัฒนาการของระบบต่อไป โดยให้ โรงพยาบาลมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความเป็นอิสระและคล่องตัว มีบอร์ดกำกับ กระทรวงสาธารณสุข ไม่ทำหน้าที่ provider อีกต่อไป หันไปทำหน้าที่ policy maker อย่างจริงจัง ได้ผล และครอบคลุม ซึ่งหมายความว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ต้องมีขนาดใหญ่โตอย่างในปัจจุบัน ในประเทศที่เจริญแล้ว เขาเป็นอย่างนี้ทั้งสิ้น

นี่คือความเห็นด้าน วิวัฒนาการสาธารณสุข แบบมองไปข้างหน้า

นำไปสู่การตอบโจทย์ มนุษย์มีสิทธิในสุขภาพดี หรือมีเพียงสิทธิในบริการสาธารณสุข ว่า มนุษย์มีสิทธิ ในสุขภาวะดี โดยที่ต้องการระบบสุขภาพที่ดี มีพัฒนาการเชิงระบบ ไปสู่ระบบที่ซับซ้อนและปรับตัว ออกจากระบบ ควบคุมและสั่งการรวมศูนย์ เป็นระบบที่มี EQE – Equity, Quality, Efficiency มากกว่าในปัจจุบันอย่างมากมาย



วิจารณ์ พานิช

๒๒ ก.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 596693เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2015 08:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2015 09:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท