หลักสูตรฝึกอบรมการจัดการพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ในผู้ป่วยจิตเวชสำหรับบุคลากรสาธารณสุข ในเขตสุขภาพที่ 10


หลักสูตรฝึกอบรม การจัดการพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง

ในผู้ป่วยจิตเวชสำหรับบุคลากรสาธารณสุข ในเขตสุขภาพที่ 10

1. หลักการและเหตุผล (P : principle and reason)

พฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ต่อบุคลากรในสถานบริการสาธารณสุข เป็นปัญหาที่สำคัญในทุกภูมิภาคทั่วโลก (Anderson and West 2011 citing Maria 2013 : 121) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (NICE 2014 : 1-60) โดยเฉพาะพยาบาลมีแนวโน้มที่จะถูกทำร้ายมากที่สุด (Chappell and Di Martino 2006 citing Maria 2013 : 121 ; วันเพ็ญไสไหม, สุดาพรรณธัญจิรา และณวีร์ชยาประเสริฐสุขจินดา 2010 : 121-135) เนื่องจากเป็นกลุ่มวิชาชีพที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยและญาติ งานมีลักษณะเฉพาะ ต้องเผชิญกับความเครียดและความกดดันในภาวะไม่ปกติสุขของผู้ป่วย (สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ และคนอื่น 2551) นอกจากนี้ยังพบว่า พยาบาลจิตเวชถูกกระทำรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเป็น 3 เท่าของกลุ่มอาชีพด้านสุขภาพอื่น ๆ เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชมีพฤติกรรมรุนแรงมากขึ้น (Spencer, Stone and McMillan 2012 : 43) จึงเป็นความเสี่ยงปัจจุบันในการทำงานของพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ

ความเสี่ยงดังกล่าว พบความชุกในแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน หน่วยบริการผู้ป่วยนอก อยู่ระหว่างร้อยละ 25-80 (Campbell and others 2011 ; Stevenson 2014 : 8 ; NICE 2014 : 1-60) และในหอผู้ป่วยจิตเวช และคลินิกจิตเวช มากกว่าร้อยละ 39 (วันเพ็ญไสไหม, สุดาพรรณธัญจิรา และณวีร์ชยา ประเสริฐสุขจินดา 2010 : 121-135) ส่วนใหญ่เป็นการกระทำรุนแรงด้วยวาจา เช่น พูดตะโกนเสียงดัง ข่มขู่ ด่าทอด้วยคำหยาบคาย (วริศรา ดิษบรรจง 2551 ; ศิมาลักษณ์ ดิถีสวัสดิ์เวทย์ 2556 ; Cornaggia and other 2011: 10-20) ส่วนความรุนแรงด้านร่างกายเป็นการผลัก ดึง กระชาก คุกคามทางเพศด้วยการใช้มือสัมผัส ถึงแม้จะมีรายงานความชุกที่น้อยกว่า แต่ผลลัพธ์ที่ตามมาเป็นความเสียหายทั้งทางกายและใจอย่างรุนแรง เช่น พยาบาลที่ศูนย์การแพทย์ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา รายงานว่าถูกผู้ป่วยจิตเวชทำร้ายได้รับบาดเจ็บสาหัส ปากมดลูกเสียหายอย่างถาวร ช่องไขสันหลัง ขากรรไกร ตาข้างขวาและสมองถูกทำลาย เกิดปัญหาทางจิตถึงขั้นพยายามทำร้ายตัวเอง (McLean 2013 : 42)

ในทางกลับกันพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยอย่างมาก และมีโอกาสสูงที่จะได้รับการตอบโต้การกระทำด้วยความรุนแรง หรือในกรณีจำเป็นต้องควบคุมตัว ต้องผูกมัด หรือจำกัดพฤติกรรมไว้ในห้องแยกเดี่ยว อาจเกิดผลแทรกซ้อนตามมาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ (Stubbs and others 2009 : 99-105 ; Happell and Harrow 2010) เช่น กระดูกแตก หัก มีแผลฉีกขาด แผลกดทับ และมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตแบบกะทันหัน (Duxbury, Aiken and Dale 2011 : 46-50) บางครั้งเน้นเรื่องความปลอดภัยทางกายมากเกินไป มองข้ามผลกระทบด้านจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวล ซึมเศร้า รู้สึกสูญเสียความเป็นอิสระ เสียศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ (นันทวัช สิทธิรักษ์ และคนอื่น 2552) ทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อการบำบัด และเป็นการทำงานที่ไม่ใช่มืออาชีพ (Mihai and others 2013 : 468 ; Karpilovsky 2013 : 452 ; Pekara 2011 : 187-191) ทำให้การรักษาเป็นประสบการณ์ที่น่าสะพรึงกลัว ทำลายขวัญทั้งบุคลากรและผู้ป่วย ทำให้หอผู้ป่วยเป็นสถานปฏิบัติงานที่ไม่น่าพึงปรารถนา เป็นประสบการณ์ที่ปวดร้าวอย่างมากต่อทั้งผู้ป่วย พยาบาลและทีมสหวิชาชีพ สามารถจุดประกายความเกลียดชัง ระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรได้อย่างมาก (Karpilovsky 2013 : 452) รวมทั้งองค์กรต้องสูญเสียทั้งภาพลักษณ์การให้บริการและงบประมาณ (Julian and Lisa 2013 : 465 ; Mihai and others 2013 : 468)

ในประเทศไทยการศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อพฤติกรรมก้าวร้าว พบสาเหตุจากทั้งด้านผู้ป่วย สิ่งแวดล้อม บุคลากร ผู้บริหาร นโยบายและระบบการทำงานขององค์กร โดยเฉพาะด้านบุคลากร พบปัจจัยที่สำคัญคือ ขาดความรู้ด้านจิตเวชฉุกเฉิน (กรมสุขภาพจิต 2558 : 4) ขาดทักษะ และความมั่นใจ ขาดการเตรียมความพร้อมในการจัดการกับพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ของหน่วยงาน บุคลากรไม่เคยได้รับการอบรมด้านการป้องกันตัว และการจัดการกับพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง (เฉลิมรัฐ ค้ำชูชาติ 2548) ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการถูกกระทำความรุนแรงมากกว่าผู้ที่ได้รับการอบรม 1.6 เท่า (ศิมาลักษณ์ ดิถีสวัสดิ์เวทย์ 2556) การขาดความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพเพื่อการบำบัดกับผู้ป่วย ปฏิบัติงานไม่มีคุณภาพ และที่สำคัญอย่างยิ่ง ขาดการวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไข ไม่บันทึกและไม่รายงานอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น (เกสราศรีพิชญาการ, ภัทราภรณ์ทุ่งปันคำและบังอร ศุภวิทิตพัฒนา 2003) ส่วนในต่างประเทศรายงานว่าปัจจัยเสี่ยงต่อพฤติกรรมก้าวร้าว เกิดจากการปฏิบัติงานที่ไม่ใช่มืออาชีพ มีความสะเพร่า ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ (Miriam 2013 : 440) ไม่รายงานอุบัติการณ์หรือรายงานต่ำกว่าความเป็นจริง (Gates, Gillespie and Succop 2011; Stevenson 2014 : 8) รวมทั้งการมีบุคลิกภาพต่อต้าน มีทัศนคติเชิงลบต่อผู้ป่วย และการวางตัวไม่เหมาะสม การใช้คำพูดหรือพฤติกรรมคุกคาม มีความเครียดและมีความขัดแย้งในทีม (Miriam 2013 : 440)

ในเขตสุขภาพที่ 10 พบสถานการณ์พฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ของผู้ป่วยจิตเวช และผู้มารับบริการในทำนองเดียวกัน ข้อมูลจากการสรุปผลการนิเทศงานบริการสุขภาพจิตและจิตเวชของโรงพยาบาลในเครือข่าย เขตสุขภาพที่ 10 มากกว่าครึ่ง รายงานพฤติกรรมก้าวร้าว จากผู้ป่วยจิตเวชและผู้รับบริการเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความเสี่ยงต่ออุบัติการณ์รุนแรง เนื่องจากบุคลากรขาดความรู้และทักษะ ขาดความเชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดการได้ (โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์2557) และจากการทบทวนย้อนหลังในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาจากเอกสารการขอรับความช่วยเหลือด้านวิชาการ และหนังสือเชิญเป็นวิทยากร พบว่ามีการกระทำก้าวร้าว รุนแรง ทั้งด้วยวาจาและทางร่างกาย โดยผู้ป่วยที่มารับบริการต่อพยาบาลและสหวิชาชีพในโรงพยาบาลต่าง ของเขตสุขภาพที่ 10 ค่อนข้างมาก เช่น ตะโกนด่า พูดข่มขู่ท้าทาย ถืออาวุธขู่จะทำร้ายบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน การชกต่อย ตบตี และในการประชุมเชิงปฏิบัติการเมื่อวันที่ 12-13 กุมภาพันธ์ 2558 โดยการประชุมกลุ่มย่อย (focus group) ของกลุ่มพยาบาลวิชาชีพที่รับผิดชอบงานสุขภาพจิตและจิตเวช 5 กลุ่มจังหวัด ในเขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 120 คน กลุ่มพยาบาลได้อธิบายถึงความรู้สึกต่อสถานการณ์พฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ว่ากลัวถูกทำร้าย รู้สึกไม่ปลอดภัย ตื่นกลัว น่ากลัว เสี่ยงอันตราย อยากอยู่ห่าง แต่ก็รู้สึกเห็นใจ สงสาร อยากช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัว มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เจ้าหน้าที่จำนวนน้อย ไม่มีทักษะในกรณีที่ต้องควบคุมผู้ป่วยก้าวร้าว ไม่รู้จะจัดการอย่างไรดี กลัวให้การพยาบาลไม่ถูก ไม่กล้า ไม่มั่นใจการดูแล บางแห่งไม่เคยได้รับการอบรมการจัดการพฤติกรรมก้าวร้าวมาก่อน และเสนอขอความช่วยเหลือในการฝึกอบรมให้กับโรงพยาบาลต่าง ด้วย (โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ 2558)

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ต่อบุคลากรในระบบบริการสาธารณสุข และเพื่อให้สอดคล้องกับนิยามความปลอดภัย ในระบบบริการสุขภาพขององค์การอนามัยโลก ในการลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภัยหรืออันตรายที่ไม่ควรเกิดขึ้นจากการบริการสุขภาพหรือให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่สามารถยอมรับได้ (WHO 2011 อ้างถึงในปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ 2557) ข้อกำหนดด้านจริยธรรมทางวิชาชีพในการดูแลรักษาผู้ป่วย รวมถึงการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 และมาตรฐานการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลในเรื่องระบบการจัดการความเสี่ยง และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย แนวทางการผูกยึดผู้ป่วย การจัดการภาวะฉุกเฉิน และยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข ข้อที่ 3 การพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการจัดบริการ ด้านพัฒนาบุคลากร ข้อที่ 18 มีแผนพัฒนาบุคลากรอย่างมืออาชีพในระดับจังหวัด (กระทรวงสาธารณสุข 2558) และประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 ของกรมสุขภาพจิต ในการพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการด้านสุขภาพจิต เพื่อเสริมสร้างศักยภาพความร่วมมือของเครือข่าย โดยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตสู่เครือข่าย (กรมสุขภาพจิต 2556) ผู้วิจัยจึงพัฒนาหลักสูตรนี้ขึ้น เนื่องจากการฝึกอบรมที่ผ่านมาไม่มีหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานเฉพาะ ขาดกรอบแนวคิดที่ชัดเจน และขาดเนื้อหาสาระที่เฉพาะ และสอดคล้องเชื่อมโยงกันกับเป้าหมาย การฝึกอบรมกระทำตามที่ร้องขอในหัวข้อเรื่องที่เฉพาะสำหรับเหตุการณ์ในแต่ละครั้ง แต่ละพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นนำเสนอเนื้อหาแบบบุฟเฟ่ต์ (smorgasbord of content) (Farrell and Shafiei 2008 : 401- 402) และไม่มีการประเมินผลการฝึกอบรม ผลลัพธ์ของหลักสูตรนี้คาดว่าจะช่วยให้บุคลากรสาธารณสุข ที่ทำงานในหน่วยงานที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ในโรงพยาบาลต่าง ของเขตสุขภาพที่ 10 มีความรู้ ความเข้าใจ มีทัศนคติ มีทักษะ และมีความเชื่อมั่นในตนเองเพื่อการจัดการพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้บุคลากรสาธารณสุขสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้มีการสร้างระบบการทำงานที่ปลอดภัย ลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของพฤติกรรมรุนแรงในหน่วยงาน

แนวคิดพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร

ในการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม เรื่อง การจัดการพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในผู้ป่วยจิตเวช สำหรับบุคลากรสาธารณสุข ในเขตสุขภาพที่ 10 ผู้วิจัยใช้แนวคิดพื้นฐานจากปรัชญาพิพัฒนาการ (progressivism) โดยมีความเชื่อว่าประสบการณ์ของมนุษย์เป็นพื้นฐานไปสู่ความรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้อยู่ในสภาพที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงไม่มีการเน้นถึงความรู้ที่มีลักษณะถาวร ผู้วิจัยมุ่งที่จะให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเรียนรูจากการจัดประสบการณ์ที่จัดให้ และใช้แนวคิดพื้นฐานด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ ในทฤษฎีที่เน้นการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองด้วยการเสริมแรง ( token economy) เพื่อกระตุ้นในการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม รวมทั้งมีการฝึกทักษะ เพื่อให้ผู้เข้าฝึกอบรมได้เกิดการเรียนรู้ตามศักยภาพของตน และเกิดทัศนคติที่ดีต่อการจัดการพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง จึงใช้ทฤษฎีการดูแลของวัตสัน (Watson’s Caring theory) ซึ่งเป็นทั้งปรัชญา และทฤษฏีทางการพยาบาลที่มีจุดเน้นที่การดูแล ภายใต้อิทธิพลทางด้านมานุษยวิทยา รวมทั้งความรู้สึกผูกพันต่อบทบาทการดูแลเพื่อการฟื้นหายของผู้ป่วย เป้าหมายของการดูแล คือ การช่วยเหลือบุคคลให้ค้นพบภาวะดุลยภาพ ของร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ในแง่ของการเคารพในศักดิ์ศรีของทุกคน เน้นการดูแลอันเป็นคุณธรรมที่ดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ โดยอาศัยการสร้างสัมพันธภาพระหว่างผู้ให้การดูแลกับผู้ได้รับการดูแล ภายใต้ความรักในความเป็นเพื่อนมนุษย์ ที่ให้ความสำคัญทั้งร่างกายและจิตใจอย่างไม่แยกออกจากกัน เป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร รวมทั้งความจำเป็นต้องเรียนรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องพระราชบัญญัติสุขภาพจิต .. 2551 เนื่องจากการกระทำเพื่อการจัดการกับพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง บางอย่างถึงแม้จะเป็นการกระทำเพื่อจุดมุ่งหมายในการบำบัดรักษา แต่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของบุคคล ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจในสาระสำคัญและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกฎหมาย เพื่อจะสามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น การผูกมัด การใช้ห้องแยกเดี่ยวเพื่อแยกหรือกักผู้ป่วย การควบคุมตัวเพื่อนำส่งสถานพยาบาล การควบคุมตัวเพื่อการบำบัดรักษาโดยการผูกมัดจะต้องกระทำอย่างระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งผู้ปฏิบัติงานจำเป็นจะต้องได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ ทักษะปฏิบัติ มีเจตคติที่ดี และมีจริยธรรมสูง เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยและคนอื่น ปลอดภัย

2. จุดมุ่งหมายของหลักสูตร (O : objective)

หลังฝึกอบรม ผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีการเปลี่ยนแปลงสมรรถนะใน 4 ด้าน หรือ CAMP Concept โดยสรุป ดังนี้

2.1 จุดมุ่งหมายหลัก เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม

1. มีความรู้ ความเข้าใจ (Cognitive domain ) ในสถานการณ์ และปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อกระบวนการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง และวิธีการจัดการจัดการอย่างเป็นระบบ

2. มีทัศนคติ (Affective domain) ที่ดีต่อผู้ป่วยและวิธีการจัดการพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง

3. มีความเชื่อมั่น เคารพในตนเอง (Mindfulness domain) ต่อการจัดการพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง

4. มีทักษะ ความเชี่ยวชาญ (Psychomotor domain) ในการปฏิบัติการทั้งด้านการใช้คำพูด (verbal restraint ) และวิธีการทางกายภาพ (non-verbal restraint )

เมื่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะ มีเจตคติและความเชื่อมั่นในการจัดการพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงแล้วจะสามารถจัดการได้อย่างเป็นระบบ

2.2 เป้าหมายของหลักสูตร

มีระบบการจัดการพฤติกรรมร้าวในสถานปฏิบัติงาน ผู้รับบริการมีความปลอดภัย ได้รับบริการที่ดี

3. เนื้อหาที่เฉพาะของหลักสูตร (S : specific content)

หลักสูตรฝึกอบรม เรื่อง การจัดการพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในผู้ป่วยจิตเวช สำหรับบุคลากรสาธารณสุข ในเขตสุขภาพที่ 10 มีโครงสร้างและขอบข่ายเนื้อหา สาระที่เฉพาะ (S : specific content) 5 หน่วยการเรียนรู้ รวม 1 6 ชั่วโมง ดังตาราง1

ตาราง 1หน่วยการเรียนและระยะเวลาในการฝึกอบรม

หน่วยที่

เรื่อง / เนื้อหา

ระยะเวลา (ชั่วโมง)

1

การแนะนำและสรุปภาพรวมหลักสูตร

จริยธรรมทางการพยาบาล และทฤษฎีการดูแลของวัตสัน

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551

2

2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง

3

3

การจัดการก่อนเกิดเหตุการณ์

3

4

การจัดการเมื่อมีเหตุการณ์

7

5

การจัดการหลังเกิดเหตุการณ์

1

รวมทั้งสิ้น 5 หน่วยการเรียนรู้

16 ชั่วโมง

หมายเหตุกิจกรรมลงทะเบียนพิธีเปิด การบรรยายพิเศษ การประเมินก่อนและหลังการ ฝึกอบรม ไม่นับเวลา

คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม

เนื่องจากเนื้อหาของหลักสูตรการฝึกอบรม เรื่อง การจัดการพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ในผู้ป่วยจิตเวช สำหรับบุคลากรสาธารณสุข ในเขตสุขภาพที่ 10 นี้ มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าแผนก หัวหน้างาน หัวหน้าหน่วย หัวหน้าทีม ซึ่งมีอำนาจ หน้าที่ในการสั่งการ อำนวยการ วางแผนปฏิบัติการดูแลผู้ป่วย และผู้มารับบริการ รวมทั้งการจัดการพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ในรูปแบบทีม ทั้งในภาวะฉุกเฉิน และภาวะปกติ เพื่อการป้องกันปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงในสถานบริการ จึงได้กำหนดคุณสมบัติ ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ดังนี้

1. เป็นพยาบาลวิชาชีพ

2. ปฏิบัติงานในหน่วยบริการฉุกเฉิน หน่วยบริการผู้ป่วยนอก หน่วยบริการผู้ป่วยใน หน่วยบริการผู้ป่วยจิตเวช หรือหน่วยปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตและจิตเวช

3. มีความสนใจและต้องการพัฒนาตนเอง

4. สามารถเข้าร่วมฝึกอบรมได้ตลอดทุกขั้นตอนการฝึกอบรม

จำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมครั้งละ ไม่เกิน 30 คน เนื่องจากหลักสูตรมีเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับการฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดทักษะในรายบุคล และการฝึกทักษะในสถานการณ์จำลองเพื่อให้เกิดทักษะในการปฏิบัติงานเป็นทีม

ระยะเวลา ระยะเวลาการฝึกอบรม รวม2 วัน หรือ 16 ชั่วโมง ประกอบด้วย ทฤษฏี และแบ่งกลุ่มย่อยอภิปราย จำนวน 11 ชั่วโมง ฝึกปฏิบัติ จำนวน 5 ชั่วโมง

วิธีการฝึกอบรม

ในการฝึกอบรมตามหลักสูตรนี้ เนื่องจากมีเนื้อหาที่หลากหลายจำเป็นต้องใช้เทคนิคการฝึกอบรมหลากหลายวิธี ในการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้มีการเรียนรู้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านความเข้าใจ ทักษะ และทัศนคติ ให้มากที่สุดในเวลาที่จำกัดจึงใช้เทคนิคการฝึกอบรมหลายวิธี ดังนี้

1. การบรรยาย (lecture) เป็นการบรรยายของวิทยากรในหัวข้อต่าง ๆ ของหลักสูตร โดยใช้สื่อต่าง ประกอบการบรรยาย เช่น PowerPoint หรือวีซีดี และเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมซักถาม

2. กรณีศึกษา (case study) เป็นการศึกษาเรื่องราวจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง (สถานการณ์จำลอง) เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์และตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ภายใต้สถานการณ์พฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

3. การฝึกปฏิบัติการ (workshop) เป็นการฝึกทักษะการป้องกันตนเอง และเอาตัวออกจากสถานการณ์วิกฤติ การควบคุมตัวและการผูกมัดผู้ป่วยอย่างปลอดภัย และฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมในการควบคุมตัวผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง

4. การแสดงบทบาทสมมติ (role playing) เป็นการให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมแสดงบทบาทในสถานการณ์ที่เหมือนจริง โดยกำหนดโครงเรื่อง และให้ผู้แสดงคิดคำพูดไปตามท้องเรื่องและบทบาทที่กำหนดเสร็จแล้วให้ผู้ดูวิเคราะห์ เสนอแนวทางแก้ปัญหา

สื่อที่ใช้

1. คู่มือวิทยากร/เอกสารประกอบการฝึกอบรม

2. คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค (ใช้กับโปรแกรม CD/DVD ได้)

3. โปรเจคเตอร์

4. File DVD กรณีศึกษา เรื่อง การประเมินพฤติกรรมผู้ป่วยก้าวร้าว รุนแรง

5. File PowerPoint เนื้อหาสาระของหน่วยการเรียนรู้

6. ผ้าผูกมัดผู้ป่วย 4 เส้น

7. ท่อน้ำพีวีซีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ยาว 1 เมตร 3 อัน

8. สัญลักษณ์คล้ายธนบัตรสำหรับใช้แทนรางวัล

ขอบข่ายเนื้อหาสาระและวัตถุประสงค์ของแต่ละหน่วยการเรียนรู้

เนื้อหาสาระที่เฉพาะในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ตามหลักสูตรฝึกอบรม เรื่อง การจัดการพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ในผู้ป่วยจิตเวช สำหรับบุคลากรสาธารณสุข ในเขตสุขภาพที่ 10 มีวัตถุประสงค์ที่เฉพาะ ดังนี้

หน่วยการเรียนรู้ที่1 การแนะนำและสรุปภาพรวมหลักสูตร จริยธรรมทางการพยาบาล และทฤษฎีการดูแลของวัตสัน ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551

วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและมีทัศนคติทางบวกต่อพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง รวมทั้งการให้บริการดูแลผู้ป่วย ดังนี้

1. ภาพรวมของหลักสูตร รายละเอียดและขั้นตอนในกระบวนการฝึกอบรม เป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นหลังจากสิ้นสุดการฝึกอบรม

2. หลักจริยธรรมทางการพยาบาล

3. ทฤษฎีที่เน้นการดูแลอันเป็นคุณธรรมที่ดำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

4. สาระสำคัญของพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551

หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง

วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะ มีทัศนคติทางบวกในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. ความหมาย และองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับความโกรธ พฤติกรรมก้าวร้าว พฤติกรรมรุนแรง

2. แนวคิด ทฤษฏี ปัจจัยและวงจรการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง

3. การจำแนกระดับพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง

4. แนวปฏิบัติในการจัดการผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรงจากการวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพ

5. วิธีการจัดการพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ตามสถานการณ์อย่างเป็นระบบ (PreAsPost Management : PAPM)

หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 การจัดการก่อนเกิดเหตุการณ์ (pre-incident management)

วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะ มีทัศนคติทางบวก และมีความเชื่อมั่นในตนเอง ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. การจัดการก่อนเกิดอุบัติการณ์

2. การประเมินความเสี่ยงต่อพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง

3. การป้องกันการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง

หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 การจัดการขณะเกิดเหตุการณ์ (As incident management )

วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะ มีทัศนคติทางบวก และมีความเชื่อมั่นในตนเอง ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1. เทคนิค วิธีการจัดการทั้งวิธีการใช้คำพูด และไม่ใช้คำพูด

2. การป้องกันตนเอง และการเอาตัวเองออกจากสถานการณ์วิกฤติ

3. การควบคุมตัวและการผูกมัดผู้ป่วยอย่างปลอดภัย

4. การจัดการกับพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ได้อย่างปลอดภัยทั้งตนเอง และผู้ร่วมงาน

หน่วยการเรียนรู้ที่ 5 การจัดการหลังเกิดเหตุการณ์ (Post incident management)

วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะ มีทัศนคติทางบวก และมีความเชื่อมั่นในตนเอง ในประเด็นต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลวางแผนป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต ดังนี้

1. การจัดการกับสถานการณ์หลังเกิดเหตุการณ์

2. การทบทวนหลังเกิดเหตุการณ์

กำหนดการฝึกอบรม

หลักสูตรการฝึกอบรม เรื่อง การจัดการพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ในผู้ป่วยจิตเวช

สำหรับบุคลากรสาธารณสุข ในเขตสุขภาพที่ 10

วันที่…….เดือน...........................พ.ศ. ................

ห้องประชุม………………………………โรงพยาบาล.......................................

วันที่ 1

08.00 – 08.30 - ลงทะเบียน

08.30 – 09.00 - พิธีเปิดการอบรม และบรรยายพิเศษ นโยบายและแนวทางการดูแลผู้ป่วย

ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือผู้แทน)

09.00 – 11.00 - แนะนำและสรุปภาพรวมหลักสูตร (APN อัครเดช กลิ่นพิบูลย์)

- จริยธรรมทางการพยาบาล และทฤษฎีการดูแลของวัตสัน

- ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551

11.00 – 12.00- ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง (APN นาฏลดา นำภา)

13.00 – 13.40- ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง (ต่อ) (APN นาฏลดา นำภา)

13.40 – 14.00 --การจัดการพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ตามสถานการณ์อย่างเป็นระบบ

(PreAsPost Management :PAPM)

14.00 - 16.30- การจัดการก่อนเกิดเหตุการณ์ (APN นาฏลดา นำภา)

- การจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อความปลอดภัย

- การประเมินพฤติกรรมเสี่ยง

- การป้องกันพฤติกรรมรบรวน

16.30 – 16.45- สรุปอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (APN อัครเดช กลิ่นพิบูลย์

APN นาฏลดา นำภา)

วันที่ 2

08.30 – 10.00 - การจัดการขณะเกิดเหตุการณ์ (รัชนี อุทัยพันธ์)

- การจำกัดพฤติกรรมด้วยวาจา

- เทคนิคการลดระดับความรุนแรง

10.00 – 11.00- การจัดการหลังเกิดเหตุการณ์ (APN นาฏลดา นำภา)

- การทบทวนอุบัติการณ์ร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัว การทบทวนแก้ไขปัญหา

ในหน่วย การทบทวนกระบวนการทางคลินิกของหน่วยงาน

11.00 – 12.00- การจัดการขณะเกิดเหตุการณ์

-การจำกัดพฤติกรรมด้วยเทคนิคทางกายภาพ (อัครเดช กลิ่นพิบูลย์)

13.00 – 17.00 - การจัดการขณะเกิดเหตุการณ์ (ต่อ) (อัครเดช กลิ่นพิบูลย์ และคณะ)

- การจำกัดพฤติกรรมด้วยเทคนิคทางกายภาพ การป้องกันตนเองและการเอา

ตัวรอดจากสถานการณ์วิกฤติ การควบคุมตัวผู้ป่วยด้วยมือเปล่า

17.00 – 17.15- สรุปอภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้

แผนการฝึกอบรม

หน่วยการเรียนรู้ที่ 1, 2 และ 3

เวลา

กิจกรรมย่อย

เนื้อหาสาระ

วิธีดำเนินการ

กิจกรรม

สื่อและอุปกรณ์

ที่

ประเภท

08.00–08.30

1

ลงทะเบียน

08.30–09.00

2

พิธีเปิดการอบรมและการบรรยายพิเศษ

-นโยบายและแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง (ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือผู้แทน)

บรรยายโดยผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานหรือผู้แทน

-PowerPoint

-Computer

09.00–11.00

3

บรรยาย/อภิปรายกรณีศึกษา

-แนะนำและสรุปภาพรวมหลักสูตร

-จริยธรรมทางการพยาบาล และทฤษฎีการดูแลของวัตสัน

-ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551

บรรยายโดยวิทยากร

APN อัครเดช กลิ่นพิบูลย์

-PowerPoint

-Computer

-สัญลักษณ์

คล้ายธนบัตรเพื่อใช้แทนรางวัล

11.00 -12.00

4

บรรยาย/อภิปรายกรณีศึกษา

-ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง

บรรยายโดยวิทยากร

APN นาฏลดา นำภา

-PowerPoint

-Computer

12.00-13.00 น. พัก

13.00–13.40

5

บรรยาย

-ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง (ต่อ)

บรรยายโดยวิทยากร

APN นาฏลดา นำภา

-PowerPoint

Computer

13.40–14.00

5

บรรยาย

-การจัดการพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ตามสถานการณ์อย่างเป็นระบบ (PreAsPost Management :PAPM)

บรรยายโดยวิทยากร

APN อัครเดช กลิ่นพิบูลย์

-PowerPoint

-Computer

14.00–16.30

6

บรรยาย

การจัดการก่อนเกิดเหตุการณ์

-การจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อความปลอดภัย

-การประเมินสถานการณ์ความเสี่ยง

-การป้องกันพฤติกรรมรบรวน

บรรยายโดยวิทยากร

APN นาฏลดา นำภา

-PowerPoint

-Computer

16.30–16.45

7

การซักถาม

-สรุปอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมซักถามวิทยากร (APN อัครเดช กลิ่นพิบูลย์ นาฏลดา นำภา) รัชนี อุทัยพันธ์

-PowerPoint

-Computer

หน่วยการเรียนรู้ที่ 3, 4 และ 5

เวลา

กิจกรรมย่อย

เนื้อหาสาระ

วิธีดำเนินการ

กิจกรรม

สื่อและอุปกรณ์

ที่

ประเภท

08.30–10.00

9

บรรยาย/อภิปรายกรณีศึกษา

การจัดการขณะเกิดเหตุการณ์

-การจำกัดพฤติกรรมด้วยวาจา

-เทคนิคการลดระดับความรุนแรง

บรรยายโดยวิทยากร

รัชนี อุทัยพันธ์

-PowerPoint

-Computer

-สัญลักษณ์

คล้ายธนบัตรเพื่อใช้แทนรางวัล

10.00–11.00

10

บรรยาย/อภิปรายกรณีศึกษา

การจัดการหลังเกิดเหตุการณ์

-การทบทวนอุบัติการณ์ร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัว

-การทบทวนแก้ไขปัญหาในหน่วย

-การทบทวนกระบวนการทางคลินิกของหน่วยงาน

บรรยายโดยวิทยากร

APN นาฏลดา นำภาและนักจิตวิทยา

-PowerPoint

-Computer

-สัญลักษณ์

คล้ายธนบัตรเพื่อใช้แทนรางวัล

11.00–12.00

11

บรรยาย

การจัดการขณะเกิดเหตุการณ์

-การจำกัดพฤติกรรมด้วยเทคนิคทางกายภาพ

บรรยายโดยวิทยากร

APN อัครเดช กลิ่นพิบูลย์

-PowerPoint

-Computer

-สัญลักษณ์

คล้ายธนบัตรเพื่อใช้แทนรางวัล

12.00-13.00 น. พัก

13.00–17.00

11

บรรยาย

สาธิต

การแสดงบทบาทสมมติ

การฝึกปฏิบัติ

การจัดการขณะเกิดเหตุการณ์

-การจำกัดพฤติกรรมด้วยเทคนิคทางกายภาพ (ต่อ)

- การป้องกันตนเองและการเอาตัวรอดจากสถานการณ์วิกฤติ

- การควบคุมตัวผู้ป่วยด้วยมือเปล่า

บรรยาย สาธิตและ

ฝึกปฏิบัติแบบรายบุคคลและแบบทีมโดยวิทยากร

APN อัครเดช กลิ่นพิบูลย์ และคณะ

-PowerPoint

-Computer

-ผ้าผูกมัดผู้ป่วย 4 เส้น

-ท่อน้ำพีวีซี

2 เส้น

17.00–17.15

12

การซักถาม

-สรุปอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ผู้เข้ารับการฝึกอบรมซักถามวิทยากร (APN อัครเดช กลิ่นพิบูลย์ นาฏลดา นำภา)

PowerPoint

Computer

4.การประเมินผลการฝึกอบรม (E : evaluation)

4.1 การประเมินก่อนและหลังการฝึกอบรมทันที ในหัวข้อต่อไปนี้

(1) การประเมินการเรียนรู้ (learning) 4 ด้าน (CAMP Concept)

(1.1) การเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ ความเข้าใจ (Cognitive) โดยใช้แบบสอบถามความรู้ ความเข้าใจ และทักษะปฏิบัติของพยาบาลวิชาชีพเกี่ยวกับการจัดการพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ในสถานที่ทำงาน

(1.2) ด้านเจตคติ (Attitude) โดยใช้มาตรวัดทัศนคติต่อการจัดการความก้าวร้าวและความรุนแรง (Management Aggression and Violence Attitude Scale : MAVAS)

(1.3) ด้านสติ (Mindfulness) โดยใช้มาตรวัดความเชื่อมั่นในการจัดการผู้ป่วยก้าวร้าว แปลจาก The Confidence in Managing Patient Aggression Scale (Thackrey 1987 citing Nau and others 2010 : 1-3)

(1.4) ด้านทักษะการปฏิบัติงาน (Practice) โดยใช้แบบสอบถามความรู้ ความเข้าใจ และทักษะปฏิบัติของพยาบาลวิชาชีพเกี่ยวกับการจัดการพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ในสถานที่ทำงาน

4.2 การประเมินหลังฝึกอบรมทันที

(1) การประเมินทักษะการป้องกันตนเองและการควบคุมตัวผู้ป่วยอย่างปลอดภัย ด้วยแบบประเมินการฝึกทักษะ

(2)การประเมินปฏิกิริยาผู้เข้ารับการฝึกอบรม

(2.1)ความพึงพอใจต่อการฝึกอบรม

(2.2) ความคาดหวังที่จะนำความรูและทักษะที่ได้ไปใช้ในงาน

(2.3) ความคิดเห็นต่อเนื้อหา วิทยากร

(2.4) ความคิดเห็นต่อสถานที่ โสตทัศนูปกรณระยะเวลาในการฝึกอบรม

โดยใช้แบบประเมินผลโครงการฝึกอบรม ที่ประกอบด้วย 4 ตอน คือข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ ความคิดเห็นและความพึงพอใจต่อโครงการ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่น

เกณฑ์ประเมินการประเมินผลการฝึกอบรม

1)เกณฑ์ในการพิจารณาประสิทธิผลของหลักสูตร พิจารณาจากผลต่างของคะแนนจากแบบสอบถามความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการจัดการพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง มาตรวัดทัศนคติต่อการจัดการความก้าวร้าวและความรุนแรง มาตรวัดความเชื่อมั่นในการจัดการผู้ป่วยก้าวร้าว โดยกำหนดว่า หลังการทดลองใช้หลักสูตรฝึกอบรม ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องมีคะแนนเฉลี่ยมากกว่าก่อนการฝึกอบรม

2)คะแนนเฉลี่ยจากแบบสอบถามความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการจัดการพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง หลังการฝึกอบรมได้มากว่าหรือเท่ากับ ร้อยละ 80

3)ผลการประเมินความคิดเห็นของผู้เข้ารับการอบรมต่อการใช้หลักสูตรฝึกอบรม ตามแบบประเมินโครงการฝึกอบรม ในตอนที่ 3 อยู่ในระดับมาก มากกว่าหรือเท่ากับ ร้อยละ 80

4) ผลการประเมินทักษะอยู่ในเกณฑ์ ผ่าน มากกว่าหรือเท่ากับ ร้อยละ 80

หมายเลขบันทึก: 596387เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2015 13:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2015 13:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท