ตัวตน ๓



...............บันทึกนี้ขอเล่าเรื่องตัว เรื่องตนของเรา โดยเฉพาะ เรื่องของ "ตัวกู ของกู" ที่ควรลด เเละ ละ ตามคำของหลวงปู่พุทธทาส ซึ่งขอเล่าในมิติของข้อสังเกตของตนเองเป็นเบื้องต้น เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักคิดเเละแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งในบันทึก "ตัวตน ๓" นี้เป็นทรรศนะของข้าพเจ้าที่แบ่ง ความเป็นตัว เป็นตนออกเป็น ๓ อย่างในระดับล่างจากโลกสู่ธรรม ได้เเก่ ความไม่รู้จักตนเอง ความรู้จักตนเอง เเละความรู้จักการวางตนเอง ซึ่งมองว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจของครู/นักกิจกรรม/นักสร้างเเรงบันดาลใจ ที่มีความมุ่งหวังว่าอยากสร้างการรู้จักตนเองให้กับผู้เรียนหรือเยาวชนในการอบรมต่างๆ ที่อาจมองไม่ชัดเจนในความเป็น "ตัวตน" ของมนุษย์
...............ปกติเเล้วเราจะเห็นปัญหาของเยาวชน คือ การไม่เป็นตัวของตัวเอง เช่น หลงไปตามกระเเส/ค่านิยมของสังคม อยากเป็นตามไอดอล อยากเป็นตามเเบบบุคคลในอุดมคติ ฯ โดยความมุ่งหวังว่าอยากสร้างหรือเสริมให้เขาเป็นตัวตนของตนเองมากที่สุด ซึ่งคำว่า "ตัวของตัวเองมากที่สุด" จุดนี้ก็อาจเกิดความหลงตัวเองมากที่สุดก็อาจเป็นได้
โดยหลักคิด ตัวตน ๓ มีรายละเอียดดังนี้ (คำว่ารู้ตัว คือ มีสติระลึกรู้ / รู้ตน คือ รู้ตัวตนของตนเอง)

๑.ขั้นไม่รู้จักตนเอง คือ ขั้นของการรู้ที่น้อยที่สุด ได้เเก่ การไม่รู้ตัว,ไม่รู้ตนของตนเอง หมายถึง ขาดสติระลึกรู้ถึงความมีอยู่ของตัวตนของตนเอง เเละการรู้ตัวเเต่ไม่รู้ตนของตนเอง หมายถึง เริ่มมีสติการรู้ตนเกิดขึ้นเเต่ยังไม่เห็นตน ทั้งสองที่กล่าวมา เช่น ภาวะที่ไม่รู้จุดหมายในชีวิต ไม่รู้ความฝันของตนเอง ไม่รู้ว่าตนเองชอบอะไร ถนัดอะไร เป็นต้น ซึ่งควรเสริมกระบวนการหรือกิจกรรม ที่เสริมให้เขารู้จักเเละเข้าใจตนเองมากยิ่งขึ้น ในทางการศึกษาควรเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ ในแบบ อัตนิยม หรือ พิพัฒนานิยม หรือ ปฏิรูปนิยม หรือกล่าวโดยง่าย คือ ให้ผู้เรียนเน้นการปฏิบัติมากกว่านั่งคาดการณ์ในห้องเรียน ที่อาจช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นมโนภาพที่อยู่ภายนอกผ่านผัสสะเข้ามาสู่จินตนาภาพที่อยู่ภายใน ให้เขาเห็นความชอบ ความต้องการ ความถนัดของตนเองเพิ่มมากขึ้น หรือ ในทางจิตวิทยาที่เน้นการตระหนักรู้ภายใน (self-awarenes)ให้เขาเห็นตัวเองมากยิ่งขึ้น ผ่านกระบวนการความฉลาดทางอารมณ์(Emotional Intelligence) เพื่อเข้าใจตนเองเเละเข้าใจผู้อื่นเพื่อที่จะเป็นทักษะการจัดการปัญหาตนเองด้วยตนเองได้นั่นเอง นั่นเป็นกระบวนการในการเสริมความเข้าใจตนเอง ให้รู้ว่าตนเองมีอะไรที่เป็นตนเอง เป็นต้น

๒.ขั้นรู้จักตนเอง คือ ขั้นของการรู้ในระดับกลางซึ่งส่วนหนึ่งเรามุ่งหวังว่าอยากให้เยาวชนของเราอยู่ในขั้นๆนี้ ได้เเก่ รู้ตัว,รู้ตน หมายถึง มีสติระลึกรู้ว่ามีตน เช่น รู้ความฝันตนเอง รู้ความต้องการตนเอง รู้อารมณ์ของตนเอง เเละรู้ความถนัดของตนเอง เป็นต้น เเละ รู้ตัว(ไม่เสมอ),ไร้ตน หมายถึง นอกจากการรู้ตนเองมีอย่างนั้นๆเเล้ว บางครั้งหรือหลายครั้งมีปัญญารู้ว่า "ตน" ตนนี้ไม่ใช่ของเรา เช่น ภาวะในทางการเรียนที่ไม่เคร่งเเละไม่หย่อนจนเกินไป(ไม่ยึดที่เกรด ที่การประเมินจนเกินไป) หรือ ภาวะที่เราเป็นหัวหน้าองค์กรหลายครั้งที่ไม่ยึดในตำแหน่งในตัวของบทบาทแต่คอยสร้างความเป็นกันเองให้กับสมาชิกองค์กร เป็นต้น ในทางการศึกษา ควรเสริมให้ผู้เรียนรู้ทั้งตัวตนของตนเองเเละรู้สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนของตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความหลงในตนเองเกิดขึ้น เช่น สอนวิธีการคิดแบบโยนิโสมนสิการ ได้เเก่ คิดถูกวิธี คิดถูกทาง คิดอย่างมีเหตุมีผล เเละคิดให้เกิดกุศลผลบุญ นั่นเอง

๓.ขั้นรู้จักวางตนเอง คือ ขั้นของการรู้ตนเองในระดับสูงจากทางโลกไปสู่ทางธรรม (ที่หากปฏิบัติต่อไปจะเข้าสู่ความจริงทางธรรมในระดับที่สูงขึ้นไป) ได้เเก่ การรู้ตัวอยู่เสมอว่าไร้ตน เป็นการไม่ยึดใดสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เช่น การคอยช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เป็นนิตย์โดยไม่ต้องการรางวัลใดๆตอบเเทนเเต่เมื่อมีคนให้ก็ไม่ยึดในรางวัลนั้นเเละมุ่งช่วยผู้อื่นอยู่เป็นนิตย์เช่นเดิม หรือการไม่หลงไปในคำชื่นชมใดๆแต่เมื่อมีคำติเตียนก็รีบแก้ไขตนเองอย่างสม่ำเสมอ หรือ การได้รับรางวัลใดๆเเล้วรู้ว่ารางวัลคือรางวัล รางวัลไม่ใช่ตัวเรา หรือ การไม่ยึดอยู่กับอำนาจหรือตำแหน่งของตนอย่างเสมอๆ ทางธรรมะขึ้นมาอีก คือ การไม่ยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ รู้ว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา สิ่งนี้ก็ไม่ใช่ของเรา ไม่มีอะไรเป็นของเรา เป็นตัวเรา เเต่ละสิ่งล้วนเป็นธรรมธาตุที่ปรุงแต่งขึ้นทั้งสิ้น นั่นเอง โดยตัวของผู้เขียนเเล้ว มองว่า เราควรจะสร้างให้เยาวชน/ผู้เรียนของเราอยู่ในขั้นๆนี้ ที่รู้ ๓ อย่าง ได้เเก่ รู้ว่าอะไรที่เป็นตัวเรา เเละอะไรที่ไม่ใช่ตัวเรา เพื่อจะนำไปสู่การละวางแบบอุเบกขา คือ การวางความเป็นตัวตนให้ลดน้อยลง ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมตัว ลืมตน ในบทบาทหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เเต่เป็นการทำหน้าที่ต่อสังคมของตนอย่างละวางตัว วางตนของตน ให้เกิด กุศล หรือการไม่ยึดในความเป็นตนเองต่อสังคมนั้นๆที่ตนอยู่ "วางเเบบไม่ทิ้ง เเต่คอยเฝ้าดูเพื่อช่วยเหลืออยู่ห่างๆนั่นเอง"

...............เริ่มต้นจากคำถามว่า เรา คือ ใคร ? สู่คำตอบที่ ๑ คือ เรา คือ เรา เมื่อรู้เเจ้งในคำตอบที่ ๑ เเล้วจะนำไปสู่คำตอบที่ ๒ คือ ไม่มีอะไร คือ เรา เเละเราไม่ควรยึดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างไร้ปัญญา หากปัญญาเพิ่มมากขึ้น เราจะเข้าใจเราเองมากขึ้น เเต่หากเมื่อใดที่เราหลงใน"ตัวกู" เมื่อนั้นเราจะกลับไปเริ่มต้นใหม่ในระดับการจัดการ/สภาวะ/ระดับการรู้ที่ต่ำลงไป บันทึกตัวตน ๓ นี้จึงเป็นอีกทรรศนะของความ รู้ตัว รู้ตน อีกอีกเเง่มุม ที่อาจเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยในการมองภาพ "ตน" ของตนเอง เเละเป็นเเนวทางในการพัฒนาผู้อื่นร่วมด้วย


หมายเลขบันทึก: 596003เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2015 20:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2015 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นแนวคิดที่สร้างสรรค์ดีมาก อยากจะอ่านแนวคิดอย่างนี้จากเยาวชนมาก เพราะจะได้แนวใหม่ๆ ที่กล้าคิด กล้าแย้ง กล้าเสนออย่างสร้างสรรค์

เรื่อง "ตัวตน" นี้ เป็นเรื่อง ที่ผู้คนถูกย้อมสมองมานาน ตั้งแต่กรีก อินเดีย จนมาถึงยุคใหม่ที่เน้นอัตตาเชิงสสาร พี่อยากให้อ่านแนวคิดของฟรอยด์ ที่เสนอแรงขับดันของมนุษย์ที่แสดงออกมา ๓ อย่างคือ ID Ego Superego ย้อนกลับไปยุคกลาง เดการ์ด บอกประโยคหนึ่งว่า "ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงรู้สึกเป็นตัวตนเดียวนี้" (I think so I am) นั่นคือ คิด แล้วรู้ตัวทันที ส่วนไฮเดกเกอร์ไปไกลกว่านี้มาก เขาคิดที่ไปถึง ภพของอัตตาแบบข้ามภพขณะ และข้ามภพแบบชาติโน่นเลย (ฺBeing and Time)

ในขณะคนยุคไอทีวันนี้ ผู้คนต่างหมกหมักในตัวตนแบบมายา คือ กำลังแสดงอัตตาแบบไม่รู้อัตถัตต์ (อัตถ์+อัตตา) หมายถึง ไม่รู้แก่นตัวตนแท้ๆ พูดอีกมุมคือ ไม่รู้ว่า ตัวรู้ มีแต่รู้สึก มากกว่ารู้ตัว พี่่ว่า รู้ตัวนั้น ลุ่มลึกกว่า รู้สึก แต่ท่านพุทธทาส บอกว่า จะรู้ตัวก็ต้องผ่ารู้สึก (ผัสสะ) นั่นก็น่าคิด (ในกรณีอัตตวิทยาของท่าน) ซึ่งต่างกับคนยุคนี้ ที่ไม่รู้ทั้งสองอย่างแจ้งในตัวหรือไม่ตื่นในตัวตน

การศึกษาควรศึกษาเรื่อง "อัตตา ตัวตน" ให้เป็นรากฐาน เพราะนี่คือ ประตูที่จะสัมพันธ์กับโลกต่อไป หากไม่รู้ฐานที่จะสูบเอาสหวิทยาการมาเก็บไว้ในตัว ก็ยากที่จะเก็บและวิเคราะห์มหาข้อมูลของโลกได้ น่าเป็นห่วงเด็กรุ่นใหม่ ที่เพิ่งเข้ามาสู่โลก แล้วก็ถูกข่มขืนสมองด้วยพหุข่าวสาร ข้อมูล ทั้งภาพ คลิป ข้อความ จนเด็กกระเจิง ไม่รู้อะไรเหมาะ อะไรควร


ไม่นานมานี้ผมศึกษาเรื่อง ของ ซิกมันต์ ฟรอยด์ อยู่พอดีครับ แนวคิดของตะวันตก ID Ego Superego พออ่านไปเเล้วผมว่าฟรอยด์ตีความจากความอยากของมนุษย์ล้วนๆที่ว่าเรามี ตัณหา มีเหตุผล เเละมีเหตุผลที่ผ่านการเกลาจากสังคม "เมื่อทั้ง ๓ อย่างนี้มารวมกันถึงจะเป็นคนที่มีความมั่นคงในตนเอง" ข้อนี้ผมอ่านไปเเล้วก็สึกแย้งขึ้นมาทันใดครับ เพราะผมมองว่าเมื่อ ๓ อย่างมันมารวมกันเมื่อไหร่ นั่น ล่ะครับ คือ ความวิบัติ หากเป็นตรรกะ ตรรกะนั้นก็วิบัติ เห็นได้จากแนวคิด ของ ฟานซิส เบคอนที่กล่าว ว่า "ความรู้ คือ อำนาจ" นั่นล่ะครับ คือ ผลเสียของการรวมกันเเละไม่เเยกส่วนออกจากกันในทางปฏิบัติ ส่วนเเนวคิดของ เรอเน เดสการ์ด ผมมองว่าท่านลึกซึ้งนะครับ คำว่า I think,there for I m แปลอย่างคำของหลวงปูพุทธทาสว่า "เพราะกูคิด กูจึงมีอยู่/การยึดนั่นเอง" เดสการ์ดมองว่า จิตเรามี ๓ อย่าง คือ จิตเดิมเเท้ที่ติดตัวมาตั้งเเต่เกิด จิตที่ปรุงเเต่งขึ้นด้วยจินตนาการของเราเอง เเละจิตที่ปรุงแต่งด้วยผัสสะที่เกิดจากภายนอก โดยส่วนตัว ตอนผมอ่านรู้สึกถึงจิตวิญาณของตะวันตกเลยล่ะครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท