ชีวิตที่พอเพียง : ๒๕๑๐. จัดการการเปลี่ยนแปลงแบบไม่ใช้อำนาจนำ



ผมได้เรียนรู้เรื่องนี้เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๘ ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษา สำหรับบุคลากรด้านสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑ (พ.ศ. ๒๕๕๗ - ๒๕๖๑) ครั้งที่ ๓/๒๕๕๘จากการนำเสนอของ พญ. ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ แห่ง สรพ. เรื่อง Patient Safety in Academic Institute

เป้าหมายเชิงคุณค่าของกิจกรรมนี้คือ คุณภาพของบริการสุขภาพ ที่ผู้ป่วยจะได้รับ ซึ่งในกรณีนี้คือความปลอดภัย จากข้อบกพร่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เสมอในขั้นตอนของการให้บริการ เคยมีรายงานจากสหรัฐอเมริกาว่าจำนวนคนตาย จากข้อบกพร่องด้าน patient safety สูงกว่าจำนวนคนตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน น่าสยองนะครับ

แต่นั่นคือสภาพที่เกิดจากความละเลย อย่าลืมว่า คนที่ตายเพราะความชุ่ยของตนเอง อาจมีมากยิ่งกว่านะครับ เรื่องนี้ยาว วันหลังจะหาทางเฉลย

คุณหมอปิยวรรณ ที่เราเรียกกันทั่วไปว่าหมอนุ้ย สนใจยกระดับคุณภาพของบริการสุขภาพให้แก่คนไทย และประเด็นหนึ่งที่เธอคิดว่าสำคัญยิ่งคือ ความปลอดภัยของผู้ป่วย เธอเอาแนวคิดนี้ไปปรารภกับพวกอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ก็ได้รับคำตอบว่า “เราทำกันอยู่แล้ว”

คุณหมอนุ้ยไม่ใช่นัก KM แต่ก็รู้จักใช้วิทยายุทธ KM คือเมื่อคิดจะทำอะไร ไม่เริ่มจากศูนย์ เริ่มจากหาความรู้ที่มีอยู่แล้ว มาใช้ ดังนั้น ที่พึ่งของเธอคือ “อากู๋” ซึ่งนำเธอไปพบ WHO Multi-professional Patient Safety Curriculum Guide ที่สาระตรงใจ จึงติดต่อทางองค์การอนามัยโลก เพื่อขอความร่วมมือจัดการฝึกอบรม คำตอบคือ “คุณเป็นใคร” “HAI” เป็นหน่วยงานอะไร แต่เมื่อรู้จักกัน ความร่วมมือสู่ความสำเร็จก็เกิดขึ้น

กิจกรรมสร้างการเปลี่ยนแปลงในการสอนเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ เริ่มจากข้อตกลงอนุญาต ให้แปลคู่มือเป็นภาษาไทย ตามมาด้วยการประชุมผู้นำจากหลายวิชาชีพปรึกษาหารือว่าควรดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ตามด้วยการเชิญองค์กรวิชาชีพมาหารือวิธีการดำเนินการในการเรียนการสอนในวิชาชีพของตน ตามด้วย workshop แก่ผู้นำในวิชาชีพ และ workshop Training for the Trainer แล้วแต่ละวิชาชีพนำไปดำเนินการตามวิธีการของตน โดยทีมคุณหมอนุ้ยทำหน้าที่ติดตามวัดผล และเชิญมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันว่าวิชาชีพใดดำเนินการอย่างไร ได้ผลอย่างไร

เป็นการนำเอาองค์ความรู้นานาชาติที่มีอยู่แล้ว มาใช้ในระดับประเทศ โดยขับเคลื่อนผ่านความร่วมมือกัน มีอิสระในการนำความรู้ไปตีความดำเนินการตามบริบทของตน มีการติดตามแบบกัลยาณมิตร และนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดย สรพ. ทำหน้าที่จัดเวที สร้างการเปลี่ยนแปลงแบบใช้ความรู้นำ ไม่ใช่อำนาจนำ ไม่ใช้วิธีกำหนดรูปแบบวิธีปฏิบัติตายตัว และบอกให้ปฏิบัติตาม ผมอยากให้ผู้นำด้านการศึกษาไทย ได้อ่านบันทึกนี้ ที่ที่อ่านแล้วมีเพื่อนเป็นคนทางการศึกษากรุณาช่วยบอกต่อด้วยครับ

ความงดงามคือการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ซึ่งก็คือวัฒนธรรมระมัดระวังอย่างมีหลักวิชาในทุกขั้นตอน ซึ่งที่จริงใช้ได้กับทุกวิชาชีพ โดยเฉพาะวิชาชีพครู ซึ่ง student safety มีมากมายหลากหลายด้าน รวมทั้งด้านถูกทำลาย ความเชื่อมั่นในตนเอง เพราะถูกว่าโง่


วิจารณ์ พานิช

๓ ก.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 595931เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2015 08:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2015 08:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท