ชีวิตที่พอเพียง :๒๕๐๗. ความเสื่อมของสังขาร



บทความ Hidden Hearing Loss from Everyday Noise ในนิตยสาร Scientific American บอกเราว่า มองในมุมหนึ่ง ร่างกายของเราเปราะบางมาก สภาพแวดล้อมบางแบบอาจสร้างความเสื่อมต่ออวัยวะบางส่วนของเราทีละน้อยๆ โดยเราไม่รู้ตัว ดังกรณีหูชั้นในของเรา

ความเสื่อมที่เอามาเล่าคราวนี้ว่าเฉพาะความเสื่อมของการได้ยิน อันเกิดจากความเสื่อมของเส้นใยประสาทในหู

หูของเราเปราะบางต่อการถูกทำลายทีละน้อยๆ จากเสียงที่ดังเกินพอดี นี่เป็นความรู้ที่รู้กันมานาน แต่ความรู้ใหม่คือ เสียงที่ดังพอดี ก็มีส่วนทำลายประสาทหูด้วย หูจึงเป็นอวัยวะที่มีธรรมชาติ “ยิ่งใช้ยิ่งเสื่อม” แตกต่างจากสมองและกล้ามเนื้อ

ส่วนประกอบของประสาทหูต้องไวมาก เพราะสัมผัสที่รับคือคลื่นเสียงที่แสนจะแผ่วเบา และมีรายละเอียดแตกต่างกัน มากมาย เช่นเสียงดนตรี สิ่งที่ไวต่อสัมผัสมาก ก็จะเปราะบางต่อการทำลายมากด้วย

กลไกซับซ้อนหลายขั้นตอน มีทั้งกลไกขยายคลื่นเสียง กลไกเปลี่ยนคลื่นเสียงเป็นสารเคมี (กลูตาเมท) และเปลี่ยนสารเคมีเป็นกระแสไฟฟ้าแล่นสู่สมอง

การวิจัยเรื่องนี้ยาก เพราะไม่สามารถตัดชิ้นเนื้อมาตรวจได้ ต้องศึกษาในคนตายเท่านั้น แต่เวลานี้ความรู้ก็ก้าวหน้า ไปมาก ว่า "เซลล์เส้นขน" (hair cells) มีทั้งชั้นนอก และชั้นใน มีรอยต่อ (synapse) กับเส้นประสาท รอยต่อนี้ เมื่อโดนทำลาย แล้วก็กลับคืนดีไม่ได้ งอกใหม่ไม่ได้ คนเราจึงสั่งสมความหูตึงมาตั้งแต่เกิด

การวัดหูตึงที่ใช้กันเรื่อยมา ใช้เครื่องที่เรียกว่า audiogram เป็นการวัดการได้ยินเสียงตามคลื่นต่างๆ ไม่ไวพอต่อการวัด หูตึงแบบซ่อนเร้น จึงมีวิธีวัดแบบใหม่ เรียกว่า ABR - Auditory Brain Stem Response คือวัดกระแสไฟฟ้าในสมองแม้จะวัดได้ไวมาก แต่ก็ยุ่งยากมากด้วย

นักวิทยาศาสตร์ไม่ย่อท้อ กำลังหาทางทำให้หูตึงซ่อนเร้นกลับคืนดีให้ได้ เพราะแม้รอยต่อระหว่างเส้นประสาท กับเซลล์เส้นขนตายแล้วตายเลย แต่เส้นประสาทค่อยๆ ตาย เขาบอกว่า อาจฉีดสารกระตุ้นการงอกของเส้นประสาทให้ค่อยๆ งอกกลับมาใหม่ได้

นี่คือข่าวดีของคนอยากอายุยืน ว่าในอนาคตคนอายุยืนคงจะไม่ใช่อายุยืนแบบหูหนวกตาบอดมนุษย์คงจะหาวิธีซ่อมแซมร่างกายส่วนที่ชำรุดให้คืนดีได้มากกว่าในปัจจุบันอย่างมากมาย


วิจารณ์ พานิช

๓ ก.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 595658เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2015 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2015 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท