สอนอะไร สอนอย่างไร ในอาร์ดีเอ (RDA-Resource Description and Access) ตอนที่ 3


ผมขอกลับมาเล่าประเด็นที่ชวนขบคิดถัดมาสำหรับผู้สอนรายวิชาการจัดระบบสารสนสนเทศ ก็คือ แนวคิดด้านความถูกต้องของ “ชื่อ” หรือ “คำ” สำหรับใช้ค้นหาสารสนเทศ (Authority concepts) เช่น ชื่อเรียกที่เป็นทางการ ชื่อที่รู้จักกันทั่วไป คำที่คนทั่วไปใช้เรียก/ค้นหาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คำที่รู้จักและใช้เรียกกันเฉพาะในวงการนั้นๆ เป็นต้น

จุดเด่นข้อหนึ่งของการสอนมาตรฐานอาร์ดีเอ คือ มาตรฐานนี้ได้รวมเอาแนวคิดด้านความถูกต้องของ “ชื่อ” และ “คำค้น” เข้ามาอยู่ด้วยกันกับ “การสร้างระเบียน” สำหรับตรวจสอบ “ชื่อ” และ “คำค้น” ในบทเดียว ซึ่งเป็นสิ่งถูกต้องและสมเหตุสมผล

แต่เดิมมา มาตรฐานเอเอซีอาร์ (AACR) ที่ใช้กันอยู่ก่อนหน้านี้ได้แยก “การบันทึก” ออกจาก “การเลือก” ชื่อและคำค้นข้อมูล/สารสนเทศ อย่างสิ้นเชิง ซึ่งทำให้ระเบียนรายการของห้องสมุด (Catalogs) ตกอยู่ในสภาพของ “หนังสือ 1 เล่ม ต่อ 1 ระเบียน” ผู้สืบค้นไม่สามารถเห็นความสัมพันธ์ของแต่ละรายการที่เกี่ยวโยงกันได้ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น วรรณคดีคลาสสิกอย่างรามเกียรติ์ที่ถูกนำมาแปลเรียบเรียงโดยนักแปลหลายต่อหลายคน หลายยุคหลายสมัย ถูกดัดแปลงให้เป็นการ์ตูน แอนิเมชั่น ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ถูกนำมาตีความ/แปลความให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน หยิบยกเอาบางตอนขึ้นมาทำใหม่ ฯลฯ

ตามมาตรฐาน AACR เมื่อสร้างระเบียนรายการเรื่อง รามเกียรติ์ เราก็จะสร้างระเบียนแยกตาม “ประเภท” ของทรัพยากรสารสนเทศ อาทิ หนังสือ สื่อโสตทัศน์ ภาพนิ่ง วารสาร อินเทอร์เน็ต เป็นต้น เมื่อแยกตามประเภททรัพยากร เราก็เลยสร้างระเบียนรายการห้องสมุดแบบ “ต่างกรรมต่างวาระ” ขึ้นมา ผู้ใช้จะค้นทีก็ค้นแบบ “เป็นครั้งๆ” ไป ยากที่จะค้นแบบ “เห็นภาพรวม” ทั้งหมดได้ในครั้งเดียว

เพื่อแก้ปัญหาตรงจุดนี้ มาตรฐานอาร์ดีเอจึงได้ปรับกระบวนการในการวิเคราะห์สารสนเทศสำหรับกำหนด “ชื่อ” และ “คำค้น” ขึ้นมาใหม่ ให้ครบวงจร ด้วยการรวมเอา 3 ขั้นตอน คือ การเลือก => การบันทึก => การระบุความสัมพันธ์ระหว่างชื่อและคำค้นต่างๆ ของแต่ละระเบียนที่มีต้นกำเนิดมาจากงานเดียวกัน เข้ามาไว้ด้วยกันนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ หากเราสอนมาตรฐานอาร์ดีเอ ในหัวข้อแนวคิดด้านความถูกต้องของ “ชื่อ” และ “คำค้น” ผนวกกับ “การสร้างระเบียน” สำหรับตรวจสอบ “ชื่อ” และ “คำค้น” เพื่อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรสารสนเทศ สิ่งที่พึงตระหนักคือ หัวข้อนี้จะค่อนข้างแตกต่างจากการสอนตามมาตรฐาน AACR แบบเดิมเป็นอย่างมาก

หมายเลขบันทึก: 595470เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2015 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2015 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท