Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

10.พระโสณาเถรี : ภิกษุณีผู้เลิศทางปรารภความเพียร


พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระโสณาเถรี ตำแหน่งเอตทัคคะด้านผู้ปรารถนาความเพียร

ประวัติย่อ

พระโสณาเถรี เกิดในตระกูลเศรษฐี ในเมืองสาวัตถี ได้ชื่อว่า “โสณา” เมื่อเจริญวัยแล้วได้มีคู่ครองที่มีฐานะเสมอกัน อยู่ร่วมกันมามีบุตร ๗ คน มีธิดา ๗ คน

เมื่อบุตรธิดาทั้งหลายเจริญวัยแล้ว ได้แต่งงานมีคู่ครองเรือนแยกย้ายกันออกไปอยู่ตามลำพัง ต่างก็มีฐานะความเป็นอยู่สุขสบายตามสมควรแก่อัตภาพฆราวาสวิสัย

ต่อมาสามีของนางถึงแก่กรรมลง นางได้ปกครองดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดโดยยังมิได้จัดสรรแบ่งปันให้แก่บุตรธิดาเลย

และต่อมา บุตรธิดาเหล่านั้นได้พากันพาพูดกับนางบ่อย ๆ ว่า:-

“คุณแม่ บิดาของพวกข้าพเจ้าก็ตายไปแล้ว ทรัพย์สมบัติเหล่านี้แม่จะเก็บเอาไว้ทำไม

หรือแม่เกรงว่าพวกเราทั้ง ๑๔ คนนี้จะเลี้ยงแม่ไม่ได้”

นางโสณาได้ฟังคำของลูก ๆ มาพูดกันอยู่บ่อย ๆ ก็คิดว่า

“เมื่อเราแบ่งทรัพย์สมบัติให้แล้ว ลูก ๆ ก็คงจะเลี้ยงดูเราให้มีความสุขได้ ไม่ต้องลำบาก”

เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว นางก็แบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกชายหญิงทั้ง ๑๔ คน ๆ ละเท่า ๆ กัน

แล้วนางก็ไปอยู่อาศัยกลับลูกชายคนโต เมื่อไปอยู่ใหม่ ๆ ก็ได้รับการปฏิบัติ ดูแลอย่างดี

แต่เมื่อนานไปลูกสะใภ้ก็เริ่มมีความรังเกียจ พูดจาเสียดสีขึ้นวันละเล็กวันละน้อย พร้อมทั้งไปยุแหย่ให้สามีรังเกียจแม่ของตนเอง เมื่อพูดบ่อย ๆ เข้า สามี ก็เห็นคล้อยตามด้วย จนกระทั่งวันหนึ่ง ลูกสะใภ้ได้พูดกับนางว่า:-

“คุณแม่ความจริงแม่ก็มีลูกชายลูกหญิงตั้งหลายคน ทรัพย์สมบัติทั้งหลายแม่ก็แบ่งให้เท่า ๆ กัน มิใช่ว่าฉันจะได้ ๒ ส่วนมากกว่าคนอื่น ๆ แต่ทำไมแม่จึงมาอยู่มากินแต่ที่บ้านฉันคนเดียว แม่ไม่รู้จักทางไปบ้านลูกคนอื่นเลยหรือ ?”

นางโสณา ได้ฟังคำของลูกสะใภ้แล้ว อีกทั้งลูกชายก็ดูท่าทีคล้อยตามภรรยาของตน

นางจึงจำใจห่อของใช้ส่วนตัวไปอาศัยลูกคนต่อ ๆ ไป และเหตุการณ์ก็เป็นไปทำนองเดียวกัน นางไม่สามารถจะพึ่งพาอาศัยลูกชายและลูกหญิงทั้ง ๑๔ คนนั้นได้

จึงคิดว่า “จะมีประโยชน์อะไรกับการอาศัยลูกเหล่านี้เราไปบวชเป็นภิกษุณีจะดีกว่า”

นางโสณา ได้ไปยังสำนักภิกษุณีสงฆ์ ขอบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุณี เพราะความที่นางเป็นผู้มีลูกมาจึงได้ชื่อว่า “พหุปตติกาเถรี” นางเองก็คิดว่า “เราบวชในวัยชราไม่ควรที่จะอยู่ด้วยความประมาท”

จงได้ช่วยนางภิกษุณีทั้งหลายทำวัตรปฏิบัติตามกิจของภิกษุณีสงฆ์ แต่เพราะความเป็นผู้บวชใหม่ และอยู่ในวัยชราจึงทำกิจบกพร่อง

นางภิกษุณีทั้งหลายจึงกระทำทัณฑกรรมลงโทษแก่เธอโดยให้เธอทำหน้าที่ ต้มน้ำอุ่นให้ภิกษุณีทั้งหลายสรง ทั้งเช้า-เย็นเป็นประจำบุตรธิดาของเธอได้มาเห็น ก็พากันพูดจาเยาะเย้ยจนเธอรู้สึกสลดใจ

วันหนึ่ง พระโสณาเถรี ได้ไปหาฟืนและตักน้ำมาไว้ในโรงครัว แต่ยังมิได้ก่อไฟ พระเถรีก็คิดว่า

“เราไม่ควรประมาท ควรจะอาศัยเวลาและสถานที่อันสงบสงัดนี้ บำเพ็ญสมณธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน”

คิดดังนี้แล้วก็ได้พิจารณาอาการ ๓๒ ท่องบนภาวนาไป เดินจงกรมไปโดยยึดเสาโรงครัวเป็นแกนกลางเดินวนรอบเสาสำรวมจิตเจริญวิปัสสนา

ขณะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดา ประทับอยู่ในพระคันธกุฎี ทรงทราบด้วยพระฌาณ จึงทรงเปล่งพระโอภาสรัศมีปานประหนึ่งว่าประทับอยู่ตรงหน้าพระเถรีนั้นแล้วตรัสสอนว่า:-

“ดูก่อนนพหุปุตติกา ชีวิตความเป็นอยู่เพียงวันเดียวครู่เดียว ของผู้ที่เห็นธรรมอันสูงสุดที่เราได้แสดงแล้ว

ดีกว่าประเสริฐกว่าชีวิตความเป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ของผู้ไม่เห็นธรรม”

พอสิ้นสุดพุทธดำรัสพระเถรีก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย และเมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงคิดว่า

“เมื่อภิกษุณีเหล่านั้นมาเพื่อต้องการน้ำอุ่น พอเห็นเราแล้วไม่ทันได้ใคร่ครวญ ก็จะพูดล่วงเกินดูหมิ่นเราเหมือนก่อน ก็จะได้รับบาปกรรมอันหนัก เราควรจะทำอะไรพอเห็นที่สังเกตให้พวกเขากำหนดรู้สักอย่างหนึ่ง”

แล้วนางก็ยกภาชนะต้มน้ำขึ้นตั้งบนเตาไฟ แต่มิได้ก่อไฟเพียงแต่ใส่ฟืนเข้าไว้ เมื่อนางภิกษุณีทั้งหลายมาที่โรงครัว เพื่อจะนำน้ำอุ่นไปสรง เห็นมีแต่ภาชนะต้มน้ำอยู่บนเตาไฟแต่ไม่เห็นไฟ จึงกล่าวว่า:-

“พวกเราบอกให้หญิงแก่คนนี้ต้มน้ำถวายภิกษุณีเพื่อนำไปสรง จนบัดนี้นางก็ยังไม่ได้ใส่ไฟในเตาเลย ไม่ทราบว่านางมัวทำอะไรอยู่”

พระโสณาเถรี จึงกล่าวว่า:-“ข้าแต่แม่เจ้า ถ้าท่านทั้งหลายต้องการน้ำอุ่นไปสรง ก็จงตักเอาจากภาชนะนั้นเถิด”

แล้วพระเถรี ก็อธิษฐานเตโชธาตุทำให้น้ำนั้นอุ่นขึ้นทันทีภิกษุณีทั้งหลายได้ฟังคำของนางแล้วก็คิดว่า

“คงจะมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่” จึงทดลองใช้มือจุ่มลงในภาชนะ ก็ทราบว่าเป็นน้ำอุ่น

จึงตักเอาไปสรงทั่วกัน แต่ว่าตักสักเท่าใด น้ำก็ยังปรากฏเต็มภาชนะอยู่เช่นเดิม

ภิกษุณีทั้งหลายจึงทราบชัดว่า พระเถรีนี้ สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ต่างก็พากันตกใจ

นางภิกษุณี ผู้มีวัยอ่อนกว่า ก็ก้มกราบแทบเท้ากล่าวขอขมาโทษว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า พวกข้าพเจ้าได้พูดจาดูหมิ่นล่วงเกินท่าน

พระความเขลาเบาปัญญา มิได้พิจารณาให้รอบคอบตลอดกาลนานมาแล้ว ขอพระแม่เจ้าจงเมตตาอดโทษแก่พวกข้าพเจ้าด้วยเถิด”

ส่วนนางภิกษุณีผู้มีวัยแก่กว่าก็นั่งกระหย่ง (นั่งคุกเข่า) กล่าวขอขมาให้อดโทษานุโทษให้เช่นกัน โดยขอขมาโทษด้วยคำว่า

“ข้าแต่พระแม่เจ้าพวกข้าพเจ้าได้พูดจาดูหมิ่นล่วงเกินท่าน โดยมิได้พิจารณาให้รอบคอบตลอดกาลนานมาแล้ว ขอท่านจงเมตตาอดโทษให้พวกข้าพเจ้าด้วยเถิด”

ตั้งแต่นั้นมา คุณงามความดีของพระโสณาเถรี ก็ปรากฏเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า

“พระเถรี ผู้แม้บวชในเวลาแก่เฒ่า ก็ยังสามารถดำรงอยู่ในพระอรหัตผลได้ในเวลาไม่นาน เพราะอาศัยความเป็นผู้ปรารภความเพียรไม่เกียจคร้าน”

พระบรมศาสดา ขณะประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร เมื่อทรงสถาปนาภิกษุณีทั้งหลาย ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับแล้ว อาศัยความเป็นผู้ปรารภความเพียร ขยัน ไม่เกียจคร้านของพระเถรีนี้

จึงได้ทรงสถาปนาพระนางโสณาเถรี นี้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้เป็นผู้ปรารถนาความเพียร

  • อภิญญา ปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่ง มี ๖ อย่าง
  • ๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้
  • ๒. ทิพพโสต หูทิพย์
  • ๓. เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่นได้
  • ๔. ปุพเพนิวาสานุสสติ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้
  • ๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์
  • ๖. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป
  • (๕ อย่างแรกเป็นโลกิยอภิญญา ข้อสุดท้ายเป็นโลกุตตรอภิญญา)
หมายเลขบันทึก: 595463เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2015 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2015 17:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท