Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

4.พระปฏาจาราเถรี : ภิกษุณีผู้เลิศทางพระวินัย


พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระปฏาจาราเถรี ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย

ผู้ทรงพระวินัย คือ ผู้ที่มีความรอบรู้ แม่นยำ และ เข้าใจในพระวินัยต่างๆที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น

ประวัติย่อ

พระปฏาจาราเถรี เป็นธิดาของมหาเศรษฐีในเมืองสัตถี เมื่ออายุย่างได้ ๑๖ ปี

เป็นหญิงมีความงดงามมาก บิดามารดาทะนุถนอมห่วงใยให้อยู่บนปราสาท ชั้น ๗ เพื่อป้องกันการคบหากับชายหนุ่ม

แม้กระนั้น เพราะนางได้คบกับคนรับใช้ในบ้านของตน

ต่อมาบิดามารดาของนางได้ตกลงยกนางให้แก่ชายคนหนึ่ง ที่มีชาติสกุลและทรัพย์เสมอกัน

เมื่อใกล้กำหนดวันวิวาห์ นางได้พูดกับคนรับใช้ผู้เป็นสามีว่า:

-“ได้ทราบว่า บิดามารดาได้ยกฉันให้กับลูกชายสกุลโน้น ต่อไปท่านก็จะไม่ได้พบกับฉันอีก ถ้าท่านรักฉันจริง ท่านก็จงพาฉันหนีไปจากที่นี่แล้วไปอยู่ร่วมกันที่อื่นเถิด”

เมื่อตกลงนัดหมายกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วชายคนรับใช้ผู้เปลี่ยนฐานะมาเป็นสามีนั้น ได้ไปรออยู่ข้างนอกแล้ว

นางก็หนีบิดามารดาออกจากบ้าน ไปร่วมครองรักครองเรือนกันในบ้านตำบลหนึ่งซึ่งไม่มีคนรู้จัก ช่วยกันทำไร่ ไถนา เข้าป่าเก็บผักหักฟืนหาเลี้ยงกันไปตามอัตภาพ

นางต้องตักน้ำตำข้าวหุ้งต้มด้วยมือของตนเอง ได้รับความทุกข์ยากแสนสาหัส เพราะตนไม่เคยทำมาก่อน

กาลเวลาผ่านไป นางได้ตั้งครรภ์บุตรคนแรก เมื่อครรภ์แก่ขึ้นนางจึงอ้อนวอนสามีให้พานางกลับไปยังบ้านของบิดามารดาเพื่อคลอดบุตร เพราะการคลอดบุตรในที่ไกลจากบิดามารดาและญาตินั้นเป็นอันตราย แต่สามีของนางก็ไม่กล้าพากลับไปเพราะเกรงว่าจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง จึงพยายามพูดจาหน่วงเหนี่ยวเธอไว้ จนนางเห็นว่าสามีไม่พาไปแน่

วันหนึ่ง เมื่อสามีออกไปทำงานนอกบ้าน นางจึงสั่งเพื่อนบ้านใกล้เคียงกันให้บอกกับสามีด้วยว่านางไปบ้านของบิดามารดาแล้วนางก็ออกเดินทางไปตามลำพัง

เมื่อสามีกลับมาทราบความจากเพื่อนบ้านแล้ว ด้วยความห่วงใยภรรยาจึงรีบออกติดตามไปทันพบนางในระหว่างทาง แม้จะอ้อนวอนอย่างไรนางก็ไม่ยอมกลับ

ทันใดนั้น ลมกัมมัชวาต คือ อาการปวดท้องใกล้คลอด ก็เกิดขึ้นแก่นาง จึงพากันเข้าไปใต้ร่มริมทาง

นางนอนกลิ้งเกลือกทุรนทุรายเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างหนัก

ในที่สุดก็คลอดบุตรออกมาด้วยความยากลำบากเมื่อคลอดบุตรโดยปลอดภัยแล้ว ก็ปรึกษากันว่า “กิจที่ต้องการไปคลอดที่เรือนของบิดามารดานั้นก็สำเร็จแล้ว จะเดินทางต่อไปก็ไม่มีประโยชน์” จึงพากันกลับบ้านเรือนของตน อยู่รวมกันต่อไป

ต่อมาไม่นานนักนางก็ตั้งครรภ์อีก เมื่อครรภ์แก่ขึ้นตามลำดับนางจึงอ้อนวอนสามีเหมือนครั้งก่อน แต่สามีก็ยังคงไม่ยินยอมเช่นเดิม นางจึงอุ้มลูกคนแรกหนีออกจากบ้านไป

แม้สามีจะตามมาทันชักชวนให้กลับก็ไม่ยอมกลับ จึงเดินทางร่วมกันไป

เมื่อเดินทางมาได้อีกไม่ไกลนัก เกิดลมพายุพัดอย่างแรงและฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก

พร้อมกันนั้นนางก็ปวดท้องใกล้จะคลอดขึ้นมาอีก จึงพากันแวะลงข้างทาง

ฝ่ายสามีได้ไปหาตัดกิ่งไม้เพื่อมาทำเป็นที่กำบังลมและฝน แต่เคราะห์ร้ายถูกงูพิษกัดตายในป่านั้น

นางทั้งปวดท้องทั้งหนาวเย็น ลมฝนก็ยังคงตกลงมาอย่างหนัก สามีก็หายไปไม่กลับมา

ในที่สุดนางก็คลอดบุตรคนที่สองอย่างนาสังเวชลูกของนางทั้งสองคนทนกำลังลมและฝนไม่ไหว

ต่างก็ร้องไห้กันเสียงดังลั่นแข่งกับลมฝน นางต้องเอาลูกทั้งสองมาอยู่ใต้ท้อง

โดยนางใช้มือและเข่ายืนบนพื้นดินในท่าคลาน ได้รับทุกขเวทนาอย่างมหันต์สุดจะรำพันได้

เมื่อรุ่งอรุณแล้วสามีก็ยังไม่กลับมาจึงอุ้มลูกคนเล็กซึ่งเนื้อ หนังยังแดง ๆ อยู่จูงลูกคนโตออกตามหาสามี เห็นสามีนอนตายอยู่ข้างจอมปลวกจึงร้องไห้รำพันว่าสามีตายก็เพราะนางเป็นเหตุ

เมื่อสามีตายแล้ว ครั้นจะกลับไปที่บ้านทุ่งนาก็ไม่มีประโยชน์ จึงตัดสินใจไปหาบิดามารดาของตนที่เมืองสาวัตถี

โดยอุ้มลูกคนเล็ก และจูงลูกคนโตเดินไปด้วยความทุลักทุเล เพราะความเหนื่อยอ่อนอย่างหนักดูน่าสังเวชยิ่งนัก

หัวใจสลายเพราสูญเสียลูกน้อยทั้งสองนางเดินทางมาถึงริมฝั่งแม่น้ำจิรวดี มีน้ำเกือบเต็มฝั่งเนื่องจากฝนตกหนักเมื่อคืนที่ผ่านมา นางไม่สามารถจะนำลูกน้อยทั้งสองข้ามแม่น้ำไปพร้อมกันได้เพราะนางเองก็ว่ายน้ำไม่เป็น

แต่อาศัยที่น้ำไม่ลึกนักพอที่เดินลุยข้ามไปได้ จึงสั่งให้ลูกคนโตรออยู่ก่อนแล้ว อุ้มลูกคนเล็กข้ามแม่น้ำไปยังอีกฝั่งหนึ่ง

เมื่อถึงฝั่งแล้วได้นำใบไม้มาปูรองพื้นให้ลูกคนเล็กนอนที่ชายหาดแล้วกลับไปรับลูกคนโตด้วยความห่วงใยลูกคนเล็ก

นางจึงเดินพลางหันกลับมาดูลูกคนเล็กพลาง

ขณะที่มีถึงกลางแม่น้ำนั้น มีนกเหยี่ยวตัวหนึ่งบินวนไปมาอยู่บนอากาศ มันเห็นเด็กน้อยนอนอยู่มีลักษณะเหมือนก้อนเนื้อ

จึงบินโฉบลงมาแล้เฉี่ยวเอาเด็กน้อยไป นางตกใจสุดขีดไม่รู้จะทำอย่างไรได้ จึงได้แต่โบกมือร้องไล่ตามเหยี่ยวไป แต่ก็ไม่เป็นผล เหยี่ยวพาลูกน้อยของนางไปเป็นอาหาร

ส่วนลูกคนโตยืนรอแม่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง เห็นแม่โบกมือทั้งสองตะโกนร้องอยู่กลางแม่น้ำ ก็เข้าใจว่าแม่เรียกให้ตามลงไป

จึงวิ่งลงไปในน้ำด้วยความไร้เดียงสา ถูกกระแสน้ำพัดพาจมหายไป

เมื่อสามีและลูกน้อยทั้งสองตายจากนางไปหมดแล้วเหลือแต่นางคนเดียวนาง

จึงเดินทางมุ่งหน้าสู่บ้านเรือนของบิดามารดา ทั้งหิวทั้งเหนื่อยล้า ได้รับความบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ

รู้สึกเศร้าโศกเสียใจสุดประมาณ พลางเดินบ่นรำพึงรำพันไปว่า:-

“บุตรคนหนึ่งของเราถูกเหยี่ยวเฉี่ยวเอาไป บุตรอีกคนหนึ่งถูกน้ำพัดไปสามีก็ตายในป่าเปลี่ยว”

นางเดินไปก็บ่นไปแต่ก็ยังพอมีสติอยู่บ้างได้พบชายคนหนึ่งเดินสวนทางมา สอบถามทราบว่ามาจากเมืองสาวัตถี จึงถามถึงบิดามารดาของตนที่อยู่ในเมืองนั้น ชายคนนั้นตอบว่า:-“น้องหญิงเมื่อคืนนี้เกิดลมพายุและฝนตกอย่างหนักเศรษฐีสองสามีภรรยาและลูกชายอีกคนหนึ่ง ถูกปราสาทของตนพังล้มทับตายพร้อมกันทั้งครอบครัวเธอจงมองดูควันไฟที่เห็นอยู่โน่น ประชาชนร่วมกันทำการเผาทั้ง ๓ พ่อ แม่ และลูกบนเชิงตะกอนเดียวกัน”นางปฏาจารา พอชายคนนั้นกล่าวจบลงแล้วก็ขาดสติสัมปชัญญะไม่รู้สึกตัวว่าผ้านุ่งผ้าห่มที่นางสวมใส่อยู่หลุดลุ่ยลงไป เดินเปลือยกายเป็นคนวิกลจริตร้องไห้บ่นเพื่อรำพันเซซวนคร่ำครวญว่า:-

“บุตรสองคนของเราตายแล้ว สามีของเราก็ตายที่ทางเปลี่ยว มารดาบิดาและพี่ชายของเราก็ถูกเผาบนเชิงตะกินเดียวกัน”

นางเดินไปบ่นไปอย่างนี้ คนทั่วไปเห็นแล้วคิดว่า “นางเป็นบ้า” พากันขว้างปาด้วยก้อนดินบ้าง โรยฝุ่นลงบนศีรษะนางบ้าง

และนางยังคงเดินต่อเรื่อยไปอย่างไร้จุดหมายปลายทาง

ขณะนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางพุทธบริษัท ทรงทราบด้วยพระฌานว่า

นางปฏาจารามีอุปนิสัยแห่งพระอรหัต จึงบันดาลให้นางเดินทางมายังวัดพระเชตวัน

นางได้เดินมายืนเสาศาลาโรงธรรมอยู่ท้ายสุดพุทธบริษัทหมู่คนทั้งหลายพากันขับไล่นางให้ออกไป แต่พระบรมศาสดาตรัสห้ามไว้แล้วตรับกับนางว่า

“จงกลับได้สติเถิด น้องหญิง”

ด้วยพุทธานุภาพ นางกลับได้สติในขณะนั้นเอง มองดูตัวเองเปลือยกายอยู่ รู้สึกอายจึงนั่งลง อุบาสกคนหนึ่งโยนฝ้าให้นางนุ่งห่ม นางเข้าไปกราบถวายบังคมพระศาสดาที่พระบาท แล้วกราบทูลเคราะห์กรรมของนางให้ทรงทราบโดยลำดับ

พระพุทธองค์ได้ตรัสพระดำรัสว่า:-

“แม่น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ก็ยังน้อยกว่าน้ำตาของคนที่ถูกความทุกข์ความเศร้าโศกครอบงำ ปฏาจารา เพราะเหตุไร เธอจึงยังประมาทอยู่”

ปฏาจารา ฟังพระดำรัสนี้แล้วก็คลายความเศร้าโศกลง พระบรมศาสดา ทรงทราบว่านางหายจากความเศร้าโศกลงแล้ว จึงตรัสต่อไปว่า:-

“ปฎาจารา ขึ้นชื่อว่าบุตรสุดที่รัก

ไม่อาจเป็นที่พึ่ง เป็นที่ต้านทานหรือเป็นที่ป้องกันแก่ผู้ไปสู่ปรโลกได้

บุตรเหล่านั้น ถึงจะมีอยู่ก็เหมือนไม่มี

ส่วนผู้รู้ทั้งหลายรักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว ควรชำระทางไปสู่พระนิพพานของตนเท่านั้น”

เมื่อจบพระธรรมเทศนา นางปฏาจาราดำรงอยู่ในโสดาปัตผล เป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบันแล้ว

กราบทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงอนุญาตแล้วจึงบวชเป็นภิกษุณี

ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อนางปฏาจาราได้อุปสมบทแล้ว

ปรากฏว่าเป็นพระเถรีผู้มีความรอบรู้ในเรื่องพระวินัยเป็นอย่างดี

อาศัยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องเธอไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้ทรงพระวินัย

หมายเลขบันทึก: 595437เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2015 17:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2015 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท