Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

2. พระเขมาเถรี: ภิกษุณีผู้เลิศทางมีปัญญามาก (อัครสาวิกาเบื้องขวา)


พระนางเขมาเถรี เป็นภิกษุณีผู้เลิศทางมีปัญญามาก พระพุทธเจ้าทรงยกย่องท่านเป็นอัครสาวิกาเบื้องขวา ตำแหน่งของท่านนั้น เทียบได้กับพระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวา

ประวัติย่อ

พระเขมาภิกษุณีบังเกิดในราชสกุล ตระกูลกษัตริย์พระบิดา พระนามว่า พระเจ้ามัททราช กรุงสาคละ แคว้นมัททะ

มีพระนาม ว่า พระนางเขมาทรงมีพรรณะดั่งทอง มีพระฉวีเสมือนทอง ท่านเป็นสตรีที่มีรูปงามมาก

ท่านเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารแห่งนครราชคฤห์ แต่ท่านไม่เคยไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเลย เพราะเคยได้ยินมาว่า พระพุทธเจ้านั้นตำหนิความงามของร่างกาย จึงเกรงว่าพระพุทธองค์จะแสดงโทษในรูปโฉมของพระนาง

พระเจ้าพิมพิสาร คิดว่า เราเป็นถึงอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า แต่อัครมเหสีของเราไม่เคยไปฟังธรรมเลย เป็นสิ่งที่ไม่สมควร

พระองค์จึงคิดหาอุบายด้วยการให้พวกนักกวีผู้ฉลาด แต่บทกวีประพันธ์ถึงคุณสมบัติความงดงามของพระวิหารเวฬุวันราชอุทยานแล้ว รับสั่งให้นำไปขับร้องใกล้ ๆ ที่พระนางเขมาเทวีประทับ เพื่อให้ทราบสดับบทประพันธ์นั้น

พระนางได้สดับคำพรรณนาความงดงามของพระราชอุทยานแล้ว ทรงหลงอุบายถูกหลอกให้ไปวัดก็มีพระประสงค์จะเสด็จไปชม จึงเข้าไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสาร

เมื่อพระนางเข้าไปในวัดแล้ว พระพุทธเจ้าทรงเห็นพระเทวีกำลังเสด็จมา จึงทรงเนรมิตหญิงคล้ายนางเทพอัปสรด้วยฤทธิ์ ทำให้ถือพัดใบตาลถวายงานพัดอยู่

พระนางเขมาเทวีทรงเห็นหญิงนั้น ทรงดำริว่า หญิงนี้มีส่วนเปรียบด้วยนางเทพอัปสร ยืนอยู่ไม่ห่างพระผู้มีพระภาคเจ้า เราไม่พอที่แม้แต่จะเป็นหญิงรับใช้ของหญิงเหล่านั้นได้เลย เราต้องเสียหายด้วยอำนาจจิตชั่ว เพราะเหตุเล็กๆ น้อยๆ

ทรงถือเอานิมิตประทับยืนมองดูหญิงนั้นคนเดียว

เมื่อพระนางกำลังทอดพระเนตรดูอยู่ หญิงนั่นก็ล่วงปฐมวัย มัชฌิมวัย ถึงปัจฉิมวัยแล้ว ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยว ล้มกลิ้งลงพร้อมกับพัดใบตาล ด้วยพระกำลังอธิษฐานของพระพุทธเจ้า

พระนางเขมาทอดพระเนตรเห็นเหตุนั้นแล้วทรงพระดำริว่า

สรีระแม้อย่างนี้ ยังถึงความวิบัติเช่นนี้ สรีระของเราก็จักมีคติอย่างนี้เหมือนกัน

ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบวาระจิตของพระนางแล้ว ก็ตรัสพระคาถาว่า

ชนเหล่าใด กำหนัดอยู่ด้วยราคะ ย่อมตกไปสู่กระแสตัณหา เหมือนแมลงมุมตกไปยังใยที่ตัวเองทำไว้

ฉะนั้น ชนเหล่านั้นตัดกระแสตัณหานั้นเสียได้แล้ว เป็นผู้หมดอาลัยละกามสุขได้

ย่อมงดเว้นกิจคฤหัสถ์ [บวช] อยู่

ในอรรถกถาว่า จบคาถา พระนางเขมาทรงบรรลุพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาณ ขณะประทับยืนนั้น

เมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้วจำต้องปรินิพพานหรือไม่ก็บวชเสียในวันนั้น

เพราะเพศฆราวาสไม่สามารถจะรองรับความเป็นพระอรหันต์ได้ จึงเสด็จกลับพระราชนิเวศน์ให้พระเจ้าพิมพิสารพระสวามีทรงอนุญาตการบวชก่อน

พระเจ้าพิมพิสาร ทรงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ให้พระนางประทับบนวอทองแล้วนำไปอุปสมบทในสำนักของภิกษุณีสงฆ์

เมื่อพระนางบวชแล้วได้นามว่า “พระเขมาเถรี” เพราะอาศัยเหตุที่พระนางมีปัญญามาก

บรรลุพระอรหัตผลทั้ง ๆ ที่อยู่ในเพศฆราวาส พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องเธอไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่ายผู้มีปัญญา

และทรงแต่งตั้งให้เป็น อัครสาวิกาฝ่ายขวา

พระนางทรงเป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ในทิพโสตธาตุและเจโตปริยญาณ รู้ชัดปุพเพนิวาสญาณ ชำระทิพจักษุให้บริสุทธิ์

มีอาสวะทั้งปวงหมดสิ้นภพใหม่ไม่มีอีก ญาณอันบริสุทธิ์ของพระองค์ ในอรรถะธรรมะ นิรุติและปฏิภาณ เกิดขึ้นแล้วในพระพุทธศาสนา

ทรงเป็นผู้ฉลาดในวิสุทธิทั้งหลาย คล่องแคล่วในกถาวัตถุ รู้จักนัยแห่งอภิธรรม ถึงความชำนาญในศาสนา

วิชชา ความรู้แจ้ง ความรู้วิเศษ มี ๘ คือ
๑. วิปัสสนาญาณ ญาณอันนับเข้าในวิปัสสนา
๒. มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ
๓. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้
๔. ทิพพโสต หูทิพย์
๕. เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่นได้
๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้
๗. พิทพจักขุ ตาทิพย์ (จุตูปปาตญาณ)
๘. อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้น


หมายเลขบันทึก: 595423เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2015 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2015 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท