เราๆ ท่านๆ คงจะมีเพื่อนๆ หรือญาติๆ ฟอกไตกันบ้างไม่มากก็น้อย คุณแม่ผู้เขียนเป็นโรคความดันเลือดสูง ไตเสื่อมสภาพ และมีอาการไตวายในช่วงสุดท้ายของชีวิต
คุณแม่ได้รับการฟอกไต และได้รับการดูแลรักษาอย่างดีเยี่ยมจากโรงพยาบาลนครพิงค์(เสียชีวิตแล้วในปี 2549)
ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยเหลือคนไข้ คลังเลือด ห้องปฏิบัติการ เอกซเรย์ และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน + ขอขอบพระคุณท่านผู้บริจาคเลือดทุกท่าน)
พระภิกษุรูปหนึ่งสอนพระวินัยที่วัดจากแดง สมุทรปราการ ท่านได้รับไตบริจาคจากน้องชาย ปัจจุบันไตที่ได้มาเสื่อมสภาพ ต้องไปฟอกไตสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
ภาวะขาดไตบริจาคเป็นปัญหาทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นไตจากคนเป็น หรือไตจากคนตาย คนส่วนใหญ่มีไต 2 ข้าง
จีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีบริการปลูกถ่ายไต ข่าวว่า ส่วนหนึ่งได้มาจากนักโทษประหาร สัปดาห์นี้หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่า ปากีสถานก็มีการซื้อขายไตเหมือนกัน
อินเดียมีบริการปลูกถ่ายไต ข่าวว่า คนเนปาลที่ฐานะยากจน เข้าไปทำงานเป็นยาม(รปภ.) ขายไตไปข้างละ 70,000 บาท แล้วถูกโกง ฟื้นจากยาสลบแล้วมีแผลเป็น ไตหายไปข้างหนึ่ง และไม่ได้เงิน
ร่างกายคนเรามีอะไหล่สำรองตามธรรมชาติค่อนข้างมาก... คนเราต้องมีไตอย่างน้อย ½ ข้างจึงจะมีชีวิตอยู่ได้ คนส่วนใหญ่มีไต 2 ข้าง จึงบริจาคไตขณะมีชีวิตได้ 1 ข้าง
สำนักข่าวบีบีซีทำภาพยนต์สารคดีจากเรื่องจริงจากอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศที่ออกกฎหมายให้คนเราซื้อขายไตได้อย่างถูกกฎหมาย เพื่อลดเวลารอคิวผู้บริจาค
อัตราการซื้อขายอย่างเป็นทางการกำหนดไว้อย่างนี้ครับ...
- ผู้ขายจะได้ค่าไต 1,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 37,000 บาท
-
ผู้รับจะต้องจ่ายค่าไต 2,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 74,000 บาท
สำนักข่าวบีบีซีเข้าไปทำสารคดีในอิหร่านพบว่า การซื้อขายไตนี้เป็นที่ถูกใจทั้งผู้ขาย และผู้ซื้อทีเดียว
เงินเดือนคนอิหร่านตกเดือนละประมาณ 200 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7,400 บาท การหาเงินมาได้สักก้อนหนึ่งช่วยให้คนจนมีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่
สำนักข่าวบีบีซียกตัวอย่างชีวิตจริงมา 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องคุณเมอร์แดด (Mehrdad – อาจมีการเปลี่ยนชื่อ เพื่อปกปิดชื่อจริง) คุณเมอร์แดดตกงานจากการรถไฟอิหร่าน
ท่านตั้งใจว่า ขายไตแล้วจะใช้หนี้ที่มีให้หมด และเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเป็นคนขับรถแท็กซี่
เรื่องที่สองเป็นเรื่องคุณโซไฮลา (Sohaila – อาจมีการเปลี่ยนชื่อ เพื่อปกปิดชื่อจริง) คุณพ่อของโซไฮลาตายไปเมื่อ 6 ปีก่อน ทิ้งเธอและน้องสาวอีก 2 คนไว้เพียงลำพัง
ปัจจุบันเธอทำงานกะกลางคืน เพื่อหาเลี้ยงน้อง 2 คน รายได้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ เธอหวังว่า จะหาเงินให้ได้สักก้อน เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
ถึงตรงนี้... ขอแสดงความยินดีกับท่านผู้อ่านทุกท่านที่มีไตดีๆ อยู่ครบ เรียนเชิญเราๆ ท่านๆ มาช่วยกันรักษาสุขภาพหน่อย
เริ่มด้วยการ ไม่ดื่มเหล้าหนัก(เป็นเหตุให้ความดันเลือดสูง) ไม่สูบบุหรี่(เป็นเหตุให้เส้นเลือดเสื่อม) กินข้าวกล้อง ผัก ผลไม้มากหน่อย กินเนื้อกิน(ไข)มันน้อยหน่อย(เพื่อป้องกันโรคอ้วน) และออกกำลังเป็นประจำ
ดื่มน้ำให้มากพอทุกวัน เพื่อป้องกันโรคนิ่ว และตรวจเช็คเบาหวาน ความดันเลือดสูงเป็นประจำ ทำอย่างนี้ได้... ไตของเราคงจะดีไปนานทีเดียว
ลองนำใจเขามาใส่ใจเรา... ถ้าท่านผู้อ่านเป็นคณเมอร์แดด หรือเป็นคุณโซไฮลาจะขายไตไหม เชิญมาแลกเปลี่ยนข้อคิดกันได้ครับ...
แนะนำให้อ่าน:
-
"ไตข้างนี้เท่าไร(ปากีสถาน)"
แหล่งที่มา:
-
ขอขอบพระคุณ (thank / courtesy of) > Iran Kidney Sale. http://news.bbc.co.uk/1/hi/programmes/this_world/6080328.stm > October 27, 2006.
-
เชิญอ่านเรื่องราวการบริจาคไตในอินเดียที่นี่ > www.hinduonnet.com/.../2004010213290300.htm และที่นี่ > www.tribuneindia.com/2003/20030709/chd.htm
-
เชิญอ่านเรื่องราวการบริจาคไตในปากีสถานที่นี่ > news.bbc.co.uk/1/hi/world/south_asia/4092325.stm
-
เชิญอ่านเรื่องราวการซื้อขายไตในฟิลิปปินส์ที่นี่ > news.bbc.co.uk/1/hi/world/south_asia/4092325.stm
-
นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง จัดทำ > ๑๔ พฤศจิกายน ๔๙.
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์ ใน บ้านสุขภาพ
ขอบคุณมากค่ะ อาจารย์วัลลภ น่าสนใจและกระตุ้นความคิดมากๆ
ปฏิกิริยาแรกที่มีคือ แล้วญาติของผู้ป่วยหล่ะ ถ้าเค้าขายให้ญาติตัวเอง ญาติจะได้เงินไม๊
(ไม่ตรงประเด็นนักแต่ที่คิดถึงเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องที่แคนาดาถกเถียงกันอยู่ค่ะ)
เค้าคิดกันว่าญาติของผู้ป่วยชราภาพที่ต้องใช้เวลาดูแลญาติที่ป่วยมากๆนั้น ควรไดรับเงินทดแทนหรือไม่้ หลายคนเป็น sandwich generation ต้องดูแลทั้งพ่อแม่ตัวเอง และลูกตัวเอง น่าสงสารกว่าผู้ป่วยเองอีก บางคนต้องลางานบ่อยๆ หรืออกกจากงาน - ข้อถกเถียงนี้ยังไม่มีข้อสรุปค่ะ)
------------------------------------------------
กลับมาเรื่องการซื้อขายไตในประเทศอิหร่าน ฟังอ.ดูเหมือนไม่มีคนต่อต้าน เพราะคนที่ขาย ต้องการเงิน คนซื้อก็ต้องการไต แต่หนูคิดว่าคนขายก็คือ คนจนและผู้หญิงเท่านั้น เพราะนี่คือทางออกที่เร็วที่สุดทางหนึ่ง
[เพื่อนสนิทหนูที่นี่คนนึงเป็นผู้หญิงอิหร่านค่ะ เค้าเล่าให้ฟังบ่อยๆว่า เกิดเป็นผู้หญิงที่นั่นลำบากมากๆ]
ถึงญาติผู้ป่วยสามารถให้ไตที่ match ตรงๆได้ เค้าก็ไม่ให้ ไปซื้อเอาดีกว่า ไม่เจ็บตัว ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันค่ะ ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดรึเปล่า ต้องขออ่าน criteria การซื้อขายให้ละเอียดก่อน
------------------------------------------------
------------------------------------------------
ถ้า demand มากกว่า supply เราจะเพิ่ม supply ได้อย่างไรโดยไม่ใช้เงินเป็น แรงจูงใจ
ใช้ "บุญ" หรือ ความเมตตา มาเป็นแรงจูงใจ น่าจะดีกว่า แต่อย่างว่าแหละค่ะ ในโลกแห่งความจริงของ คนจน เจ็บ และ ด้อยโอกาส เราไม่ได้อยู่ในจุดที่เค้ายืน เราก็ตอบไม่ได้เต็มปาก
------------------------------------------------
ภาพที่อยากเห็นคือ
------------------------------------------------
ถ้าหนูเป็นคุณเมอร์แดดหรือเป็นคุณโซไฮลา แล้วอยากหายจน และ มีชีวิตที่ดีขึ้น หนูจะไปหา อ. ยูนุสแทนค่ะ! : )