​เป้าหมาย.....และ วิธีการ...ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน


เป้าหมาย.....และ วิธีการ...ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

*************************************

อนุสนธิจากการที่ "สภาเกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ด" ได้เชิญผมให้ไปบรรยายประมาณ 3 ชั่วโมง เพื่อ "เปลี่ยนทัศนคติ" ของเกษตรกร ในการทำนา ให้กับตัวแทนเกษตรกร จำนวน 196 ตำบล ของจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อ 17 กันยายน 2558 ณ โรงแรมเพชรรัตน์ จ. ร้อยเอ็ด

ผมจึงเลือกหัวข้อเรื่องการทำนาแบบ "การพึ่งตนเอง" เป็นหลักในการบรรยาย

เพราะ น่าจะเป็นตัวอย่าง และแนวทางของ "ระบบคิด" และ "การทำงาน" แบบ "อิสรชน" ที่สามารถ "พึ่งตนเอง" ได้มากและง่ายที่สุด และนำสู่ความ "พอเพียง" ได้ดีที่สุด

ในกระบวนการบรรยายนั้น ผมได้พยายามนำเสนอ "หลักคิด" ที่มีผู้เสนอว่า น่าจะเข้าถึงหลักการมากกว่า และยิ่งกว่านั้น ผู้เข้าร่วมฟัง ยังมีคำถามถึง "วิธีการ" ทำงาน ในขั้นตอนต่างๆ อีกด้วย

ทำให้การบรรยายของผมต้องพูดถึงการทำงานทั้งสามระดับพร้อมๆกัน
ที่ผมคิดว่า น่าจะมีผู้ฟังหลายท่านสับสนแน่นอน ว่า....
สิ่งที่ผมพูดนั้น เป็น "หลักคิด" "หลักการ" หรือ "วิธีการ" กันแน่

เช่นคำว่า "ไม่ไถ" นั้น เป็นระดับหลักคิด และเป้าหมายของการทำงาน ที่จะทำอย่างไรก็ได้ ที่จะทำให้ ไม่ต้องมีการไถนา เพื่อรักษาระบบนิเวศของดิน ลดต้นทุน ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก และสามารถพึ่งตนเองได้มากและง่ายขึ้น

หลักการ "ไม่ไถ" นี้ มิใช่แค่ระดับ "วิธีปฏิบัติ" ที่ชาวนาส่วนใหญ่เข้าใจ จึงมีคำถามมากมาย เพียงเพราะเข้าใจว่าเป็น "วิธีปฏิบัติ"

ทั้งนี้รวมถึง "ไม่ดำ ไม่หว่าน" "ไม่ใส่ปุ๋ย" "ไม่ใช้ยาปราบศัตรูพืช" ที่เป็นเป้าหมายย่อยๆ ก่อนจะนำสู่เป้าหมายใหญ่กว่า คือ การพัฒนาการ "พึ่งตนเอง" และ "ชีวิตที่พอเพียง"

และยังจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของผม คือ การสร้างความรู้ที่สามารถอยู่กับธรรมชาติ และมีอิสระจากระบบธุรกิจการเกษตร มากที่สุด เท่าที่จะทำได้

เพราะระบบธุรกิจนี้ ไม่เคยมีความจริงใจกับเกษตรกร แต่อย่างใดทั้งสิ้น
มีแต่จะพยายาม....หาทางหลอกล่อ เอารัดเอาเปรียบ เกษตรกร อยู่ทุกหนทางที่ทำได้

และเกษตรกรส่วนใหญ่ก็ยังยินยอมพร้อมใจ เดินเข้าไปเป็นเครื่องมือของระบบธุรกิจ อย่างไม่คิดหน้าคิดหลังกันบ้างเลย

มีเพียงจำนวนไม่มากที่พยายามจะคิดบ้าง แต่ก็ไม่มีทางเลือก เพราะความรู้ไม่พอใช้ หรือระบบคิดไม่พร้อม จึง...จำใจต้องทำตามเขาไปอย่างนั้น

ในความเป็นจริงของสังคมไทย.....
จึงมีเกษตรกรจำนวนน้อยมากๆๆ ที่สามารถหลุดลอด ออกมาจากกับดักทางความคิด ของระบบทุนนิยมได้

การที่จะหลุดลอดจากกับดักต่างๆ จนสามารถเอาตัวเอง และครอบครัวรอดออกมาได้นั้น ต้องมีหลักคิดที่ชัดเจน มีหลักการ และเป้าหมายที่ชัดเจน พยายามพัฒนาวิธีการให้สอดคล้องกับเป้าหมายและขีดความสามารถของตนเอง

ที่จะต้องมีปณิธาน และเจตนาอันแน่วแน่ มีความเข้าใจทั้ง ธรรมะ และ ธรรมชาติ อย่างถูกต้อง จึงจะมีความมั่นคง ทางด้านจิตใจ ร่างกาย ความคิด ความรู้ และวิธีการปฏิบัติได้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์ อย่างเพียงพอ จึงจะ "พอเพียง"

เรื่องนี้....ผมก็เข้าใจดีพอสมควรเลยครับ... ว่า มิใช่เรื่องง่ายๆ คิดง่ายๆ ทำง่ายๆ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

เพราะ นอกจาก เกษตรกรทุกคนจะต้องสู้กับ "ความไม่รู้" ของตนเองแล้ว ยังต้องสู้กับความเข้าใจผิดของคนรอบข้าง อีกมากมาย

เมื่อสู้แล้ว ก็จะยังต้องมีพละกำลังเหลือพอ ที่จะนำทั้งตัวเอง ครอบครัว และ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ให้เห็นด้วย หรือคล้อยตาม เพื่อลดแรงต้าน ทั้งทางกระแสสังคมและกระแสความคิด

เมื่อทำได้ดั่งนี้แล้ว จึงจะทำให้การมีชีวิตที่ "พอเพียง" สามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างราบรื่น

เนื่องจากไม่มีงานใดที่ทำสำเร็จได้ในครั้งเดียว ทุกอย่างต้องทำอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักของอนิจจัง และ อนัตตา

ถ้าไม่มั่นคงจริงๆ ก็อาจจะล้มได้ในระยะต่อไป ที่อาจจะทำให้งานที่พยายามทำมา "ไร้ค่า" หรือ "ด้อยคุณค่า" ไปได้โดยง่าย

ฉะนั้น ในการกล่าวปิดการบรรยายเมื่อวานนี้ ........

ผมจึงเน้นชัดๆ ว่า การทำงานใดๆ ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ตั้งแต่เป้าหมายชีวิตที่เกืดมา เป้าหมายการทำงาน การทำการเกษตร การทำนา
แล้วก็พยายามจับหลักให้มั่นว่าอะไรเป็นหลักการ และวิธีการที่สอดคล้องและสนับสนุนกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายขั้นสูงสุดของชีวิต

จึงจะทำให้การทำงาน และการใช้ชีวิตมีความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ครับ

การบรรยายสองชั่วโมงกว่าๆ ก็จบลงด้วยประการฉะนี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 595013เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2015 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กันยายน 2015 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท