โครงสร้างสังคมการเมืองบ้านนอกท้องถิ่นไทย


โครงสร้างสังคมการเมืองบ้านนอกท้องถิ่นไทย

10 กันยายน 2558

สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

มีปรากฏการณ์ที่เป็นข้อสังเกตในสังคมบ้านนอกห่างไกล ที่มีสภาพเป็นชนบทสักหน่อย วันนี้ลองมาวิเคราะห์ดูกัน

โครงสร้างสังคมไทยสามระดับชนชั้น

หากจะแบ่งโครงสร้างทางสังคมของคนในบ้านนอกเป็น 3 ระดับ คือชนชั้นระดับบน (Upper Class) ชนชั้นกลาง (Middle Class) และชนชั้นระดับล่าง (Lower Class) ซึ่งหากคิดจากสัดส่วนของคนแล้วอาจถือได้ว่าคนระดับล่างจะมีจำนวนมากที่สุด เมื่อดูจากระดับชาติ หรือระดับประเทศ ก็จะพบว่าในด้านการนโยบายและการบริหารนั้น จะถูกปกครองด้วยชนชั้นสูง หรือ ผู้มีฐานะ ผู้มีการศึกษาดี แม้จะมีจำนวนเพียงร้อยละ 5 – 10 ของประเทศ แต่คนเหล่านี้ก็สามารถเข้าถึงและครอบครองอำนาจรัฐได้ง่ายกว่าชนชั้นอื่น สำหรับคนที่เป็นชนชั้นกลางซึ่งอยู่ในระดับกลางนั้น มักสามารถเปลี่ยนแปลงเข้ากลุ่มเข้าพวกทางสังคมไปตามกระแส กล่าวคือ ชนชั้นกลางพร้อมที่จะเข้ากลุ่มได้ทั้งชนชั้นระดับบนและชนชั้นระดับล่าง หากเห็นว่ากลุ่มชนชั้นใดเป็นผลประโยชน์แก่ตน ส่วนคนที่เป็นชนชั้นระดับล่าง ที่เรียกว่า “คนจน คนรากหญ้า ตาสีตาสาตามีตามา ราษฎรผู้มีรายได้น้อย ฯลฯ” ตามคำเรียกที่ผู้นำทางการเมือง หรือชนชั้นระดับบน (สูง) ใช้เรียกขานกัน คนกลุ่มนี้ถูกนิยามคำเรียกไว้ เพื่อเป็นกลุ่มเป้าหมายที่บรรดาผู้นำทางการเมืองทั้งหลายจะได้เข้าไปกำหนดนโยบายช่วยเหลือ เยียวยา แก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นปัญหามาทุกยุคทุกสมัย นี่คือสภาพพื้น ๆ ทางสังคมไทย

โครงสร้างสังคมการเมืองท้องถิ่นไทยสองระดับพื้นที่

สำหรับในสังคมท้องถิ่นนั้น อาจแยกในระดับพื้นที่เป็น 2 ระดับ คือ (1) ระดับพื้นที่จังหวัด หมายถึง การบริหารในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ถือเป็นการเมืองท้องถิ่นในระดับบน และ (2) ระดับพื้นที่เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ถือเป็นการเมืองท้องถิ่นในระดับล่าง

การเมืองท้องถิ่นในระดับจังหวัด (ระดับบน) โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ. หรือ สจ.) จะพบข้อมูลส่วนใหญ่ว่า บุคคลเหล่านี้มาจากชนชั้นสูง หรือคนระดับบน ผู้มีการศึกษาดี เป็นพ่อค้า คหบดี ผู้รับเหมา เครือญาตินักการเมืองระดับชาติ ทั้งสิ้น จะพบว่ามีบุคคลดังกล่าวที่มาจากคนชั้นกลางน้อยมาก สำหรับบุคคลที่มาจากชนชั้นระดับล่างแทบจะไม่มีเลย ที่จะมีโอกาสเข้าไปเป็นผู้บริหารท้องถิ่น หรือเข้าไปนั่งในสภาท้องถิ่น เป็นนายก อบจ. หรือ ส.อบจ. ทั้งที่คนที่มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุดก็คือประชาชนชนชั้นระดับล่าง

สำหรับการเมืองท้องถิ่นในระดับล่าง คือ เทศบาล และ อบต. ระยะหลัง ๆ นี้จะพบเห็นข้อมูลที่แปลกแตกต่างจากสังคมการเมืองในระดับชาติ และในระดับจังหวัด เพราะ ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ได้แก่ นายกเทศมนตรี นายก อบต. สมาชิกสภาเทศบาล (สท.) สมาชิกสภา อบต. (ส.อบต.) จำนวนไม่น้อยที่มาจากชนชั้นกลาง และชนชั้นล่าง มาเป็นผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น มีส่วนน้อยที่มาจากคนที่มีการศึกษาดี คนชั้นสูง มักถูกกีดกันออกไปจากสังคม เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์และที่ปรึกษาแก่การเมืองท้องถิ่นเท่านั้น

ข้อมูลชี้ให้เห็นอะไรบางอย่าง

จากข้อมูลข้างต้น มันชี้ให้เราเห็นความจริงสัจจะบางอย่างว่า

(1) ประชาชนในท้องถิ่นระดับล่าง เขาเลือกผู้นำที่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาและอยู่ใกล้ชิด เป็นที่พึ่งได้ เป็นปากเสียงได้ เป็นกลุ่มๆ แยกไปตามเครือญาติ ในการหาเสียงเพื่อเป็นนายกฯ หรือเป็นสมาชิกสภาฯ จึงขึ้นกับเครือญาติเป็นหัวคะแนนที่สำคัญมาก กล่าวคือ หากผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นฯ คนใดมีญาติเยอะกว่าก็จะได้เปรียบสามารถมีคะแนนเสียงในการเลือกตั้งได้มากกว่าคนอื่น สำหรับปัจจัยอื่น ๆ ถือเป็นปัจจัยหนุนประกอบที่จะชนะการเลือกตั้งเท่านั้น เช่น การใช้เงินซื้อเสียง

(2) ในการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ในชุมชนท้องถิ่นระดับล่าง ไม่ว่าจะเป็น งบประมาณการพัฒนา หรือผลประโยชน์อื่นใด แม้แต่การแจกสิ่งของการช่วยเหลืออื่นใด อาทิ แจกพันธุ์พืช พันธุ์ไม้ พันธุ์ข้าว เสื้อผ้า ผ้าห่ม ฯลฯ จึงถูกจัดสรร และช่วยเหลือไปตามฐานเสียงหัวคะแนน นักการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้ก็จะจัดสรรทรัพยากรฯไปตามกลุ่มเครือญาติ กลุ่มคะแนนเสียงที่ได้ งบประมาณการพัฒนา บริหารและการบริการต่าง ๆ ก็จะลงไปยังกลุ่มเป้าหมายประชาชนที่อยู่ตรงนั้น ผู้ที่เสียโอกาสในจุดนี้กลับกลายเป็นชนชั้นสูง ที่ถือว่าเป็นคนกลุ่มน้อยในท้องถิ่นระดับล่างไป

(3) ในข้อมูลการพัฒนาการเรียนรู้ประชาธิปไตยโดยตรงของประชาชนในท้องถิ่นระดับล่างเริ่มดีขึ้น พบว่าในการเลือกตั้งทุกครั้ง จะมีนักการเมืองหน้าใหม่เกิดขึ้นเสมอ ผู้สมัครหน้าเดิมมักสอบตกไป และก็จะมีผู้สมัครหน้าเดิมสอบตกมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากนักการเมืองท้องถิ่นทำไม่ดี บรรดาญาติพี่น้องตนเองก็จะไม่เลือกเลย ถือเป็นการใช้ระบบสังคมในการคัดสรรคนดี และแซงค์ชั่นคนชั่วให้ออกไปจากระบบการเมืองท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

(4) หากชุมชนท้องถิ่นระดับล่างใดได้ผู้นำที่ดีมีความรู้ความสามารถ เป็นที่รักใคร่ของประชาชนปัญหาและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นก็จะถูกแก้ไขได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด แม้อาจมีการเรียนรู้ถูกรู้ผิดไปบ้าง กล่าวคือ ทำให้การบริการประชาชนในหน้าที่ของท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นที่ปรารถนาของประชาชนนั่นเอง

จากสภาพการณ์ข้างต้น จะเห็นได้ว่าโครงสร้างสังคมไทยเป็นอย่างนี้มาช้านานแล้ว ในระดับท้องถิ่น หน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดคือ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) หรือ “องค์กรบริหารท้องถิ่น” (อบท.) มิใช่ “ภูมิภาค” หรือส่วนกลางแต่อย่างใด ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด และกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกจุดได้ โดยการจัดสรรผลประโยชน์ เพื่อสนองตอบต่อการแก้ไขปัญหาความต้องการของประชาชนได้มากที่สุด จึงต้องแก้ไขปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจใน “ท้องถิ่นระดับล่าง” หรือ เทศบาล และ อบต. นั่นเอง



[1] สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน 2558ปีที่ 65 ฉบับที่ 22783 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น& สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์, ปีที่ 62 ฉบับที่ 52 วันศุกร์ที่ 11 - วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2558, หน้า 80, เจาะประเด็นร้อนอปท. คอลัมน์, “โครงสร้างสังคมการเมืองบ้านนอกท้องถิ่นไทย”

หมายเลขบันทึก: 594607เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2015 08:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2015 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท