ลุงที่ขับสามล้อรับจ้างเล่าให้ฟังว่า เพื่อนสามล้อด้วยกันขับไปเฉี่ยวชนรถเก๋งที่วงเวียน รถเก๋งเสียหายเล็กน้อย แต่งานนี้สามล้อเป็นคนผิด ที่เกิดเหตุอยู่ใกล้ป้อมยามตำรวจพอดี คนขับรถเก๋งเป็นผู้ชายทำงานอยู่ในกรุงเทพฯขับรถมาเที่ยวบ้านต่างจังหวัดกำลังจะกลับกรุงเทพฯ พอลงมาคุยกัน คำแรกที่สามล้อพูดก็คือว่า เมาหรือเปล่า? เท่านั้นเองทำให้คนขับรถเก๋งโกรธมาก เขาบอกภายหลังว่าทีแรกจะไม่เอาเรื่องเพราะเสียหายไม่เท่าไร มีสีถลอกกับไฟแตกก็เปลี่ยนได้ รถก็มีประกันด้วย แต่พอมาเจอคำนี้ ทำให้เขาไม่ยอม สุดท้ายสามล้อซึ่งหาเช้ากินค่ำต้องจ่ายค่าเสียหายไปสามพันบาท
ลุงยังเล่าต่อไปว่าวันหนึ่งแกไปเกี่ยวรถมอเตอร์ไซค์ที่จอดอยู่ทำให้ตะแกรงหัก เจ้าของไม่อยู่ในตอนนั้นแต่แกต้องไปส่งผู้โดยสาร จึงสั่งคนแถวนั้นว่าเดี๋ยวแกจะกลับมา พอกลับมาถึง เจ้าของมอเตอร์ไซค์เป็นผู้ชายยืนรออยู่ด้วยอารมณ์ไม่ดีนัก แกยกมือไหว้ขออภัยแล้วบอกว่าร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์อยู่ไม่ห่างแกจะพาไปซื้ออะไหล่ เจ้าของอารมณ์ดีขึ้นยิ้มได้ บอกว่าไม่เป็นไรครับ เสียหายไม่มาก ขอกันกินยังมากกว่านี้ เรื่องก็จบลงด้วยดี มาเจอกันคราวหลังก็ยังยิ้มแย้มทักทายกันได้
หากตามหลักฐานกล่าวว่าโทสะดับได้ด้วยความเมตตา พิจารณาดูความจริงกรณีนี้ความเมตตามาจากไหน ในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ในทีแรกเมตตาก็คงจะทำงานไม่ทันแม้ว่าจะใครเคยแผ่เมตตามาบ่อยๆก็ตาม สติน่าจะมาก่อนรับรู้ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น ปัญญาก็ตามมาว่าควรจะทำอะไรดีจึงจะเสียหาย(กับตนเอง)น้อยที่สุด จึงรู้ว่าพูดดีๆ ดีกว่าพูดหาเรื่อง
อาการที่พูดดี พูดอ่อนน้อม ไม่เพียงทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกดี คนพูดที่แม้จะพูดเพื่อรักษาตัวเองก็ตามก็ยังรู้สึกดีไปด้วย โทสะของคนพูดก็เริ่มเบาไปตามคำพูดและกิริยาที่อ่อนน้อมของตนเอง ใจเย็นลง ความเข้าใจฝ่ายตรงข้ามมีมากขึ้น เริ่มคุยกันได้ คุยกันไปคุยกันมาชักเริ่มเข้าใจ สามล้อส่งลูกเรียนสองคน หาเช้ากินค่ำจะเอาเงินมาจากไหน เมตตามาแล้วตอนนี้ หากเพื่อนสามล้อของลุงคนนั้นเอาคำว่า “คุณเมาหรือเปล่า” คืนมาได้ แล้วใช้คำอื่นแทนที่สุภาพกว่านี้แกคงไม่ต้องเสียเงินถึงสามพันบาท
โบราณถือว่าความอ่อนน้อมถ่อมตนนี้เป็นเรื่องดี และคนสมัยก่อนจะสอนลูกหลานให้อ่อนน้อมถ่อมตน ไปลามาไหว้ จะเก่งแค่ไหนก็ตามก็ไม่แสดงกิริยายกตนข่มท่าน เพราะท่านรู้ว่า ความอ่อนน้อมจะทำให้ลูกหลานมีชีวิตที่เจริญขึ้นเป็นที่รักของผู้ร่วมงาน ซึ่งมีแต่ดีกับดี
แต่ว่าปัจจุบันนี้น่าจะเกิดความเข้าใจผิดกับคำนี้คือเข้าใจว่าอ่อนน้อมคืออ่อนแอ คือต้องยอมเขาไปหมด สู้เขาไม่ได้ ดังนั้นจึงเกิดความนิยมที่จะแสดงความเก่งหรือความสามารถเหนือกว่าคนอื่นเต็มไปหมด ความจริงความอ่อนน้อมนี้เป็นมงคลที่๒๑ (นิวาโต จ) ในมงคล๓๘ ความอ่อนน้อมนี้เป็นของดี คนอ่อนน้อมไม่ใช่คนอ่อนแอแต่เป็นคนมีปัญญารักษาตนเองและหมู่คณะได้ หากมีคุณสมบัติอย่างอื่นเสมอกัน คนอ่อนน้อมจะถูกเลือกให้ทำงานในความรับผิดชอบสูงกว่า คนอ่อนน้อมจะตั้งสติได้เร็ว สติมาปัญญาก็เกิด
คนอ่อนน้อมไม่ต้องแบกภาระจากคำพูดที่ตนเองเคยคุยไว้แบบยกตนข่มท่าน แต่จะทำงานตามความสามารถอย่างดีที่สุดเท่าที่ตนเองทำได้และยังไม่รู้สึกเสียหายหรือเสียหน้าหากเห็นคนอื่นเขาทำได้ดีกว่าจะไปถามเขาว่าเขามีวิธีการทำอย่างไร บอกหน่อยได้ไหมอะไรทำนองนี้ ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวกเพื่อชิงดีชิงเด่นแข่งขันกันจนเกินงามเกินพอดีจนเด็กๆเข้าใจผิดคิดว่าขนาดผู้ใหญ่เขายังรุนแรงกันขนาดนี้เราคงต้องซ้อมฝึกความรุนแรงกันไว้บ้าง ความจริงทำงานกันก็เพื่อดำรงชีวิตและพัฒนาตนเองและให้มีความสุขกันพอประมาณในโลกนี้เมื่อถึงเวลาต่างคนก็ต่างไป ทร้พยากรนั้นก็มีคงที่ ใครจะเก่งเพิ่มขึ้นเท่าไรทรัพยากรก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม
ไม่มีความเห็น