“Perpetual contradiction” and “What is to be done”


ผมเห็นว่าข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายคือทั้งฟูกูยาม่าและฮันติงตันถูกทั้งคู่ อันที่จริง “การสร้างประวัติศาสตร์” เป็น “วิภาษวิธี” ระหว่างการสร้าง “สถาปัตยกรรมทางการเมือง” เพื่อเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงในปัจจุบันให้พยายามจะบรรลุให้ถึงอุดมคติทางจิตวิญญาณและเสรีภาพแห่งความเป็นมนุษย์ด้านหนึ่ง กับความเป็นจริงปัจจุบันของพลังการเมืองเชิงอนุรักษ์ที่ยึดโยงอยู่กับการสร้างตัวตน ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความคิดทางศาสนาและวัฒนธรรมซึ่งมีความแตกต่างกันจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ (หรือความขัดแย้งระหว่าง noumana และ phenomena)
“He must have an inclination, born of strength, for questions that no one has the courage for; the courage for the forbidden; predestination for the labyrinth. The experience of seven solitudes. New ears for new music. New eyes for what is most distant. A new conscience for truths that have hitherto remained unheard. And the will to economize in the grand manner—to hold together his strength, his enthusiasm.... Reverence for self; love of self; absolute freedom of self…." — The Antichrist, F.W. Nietzsche.


“เขาควรมีความโน้มเอียง เพื่อให้กำเนิดซึ่งความเข้มแข็ง ในอันที่จะตั้งคำถามซึ่งไม่มีใครกล้าหาญพอ; เป็นความกล้าหาญในสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องต้องห้าม ความกล้าหาญสู่เส้นทางวงกตอันถูกพรหมลิขิตเอาไว้แล้ว เขาจะต้องผ่านประสบการณ์ความโดดเดี่ยวทั้งเจ็ด* เขาจะต้องมีหูอันใหม่เพื่อฟังเพลงใหม่ เขาจะต้องมีสายตาใหม่เพื่อมองหนทางอันยาวไกลออกไป เขาจะต้องมีจิตสำนึกใหม่เพื่อสำเหนียกซึ่งสัจจะ ที่จนบัดนี้ยังไม่ถูกทำให้กระจ่าง และเขาจะต้องมีเจตจำนงที่จะหล่อรวมพฤติการณ์อันยิ่งใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ -- เพื่อที่จะผนึกความแข็งแกร่งของเขาเข้าด้วยกัน แรงบันดาลใจอันเปี่ยมล้น...การเคารพซึ่งตนเอง; ความรักต่อตนเอง; และเสรีภาพอันสัมบูรณ์ของตนเอง...” -- เดอะ แอนตี้ไครซท์, นิชเช่



แน่นอน; หัวข้อนี้ล้อข้อเสนออันมีชื่อเสียงของมาร์กซ์กับแองเกล ซึ่งทรอตสกี้นำมารณรงค์ในภายหลังคือ "การปฏิวัติถาวร" (The Permanent Revolution) และข้อเสนอของเลนิน ใน “อะไรที่ต้องทำ” (What is to be done) ตามหัวข้อ

ข้อเสนอของมาร์กซ์และแองเกลเรื่องการปฏิวัติถาวรที่ทรอตสกี้นำมารณรงค์ต่อนั้น เพราะเขาเห็นว่าการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ เพื่อสร้างรัฐเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพไม่พอ จะต้องมีการปฏิวัติต่อไปและต่อไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่รัฐคอมมิวนิสต์ที่มีความหมายอันแท้จริงของความเท่าเทียมกันและเสรีภาพของมนุษย์ในทัศนะของมาร์กซ์ให้ได้ ในเรื่องนี้ผมมีความเห็นต่างจากมาร์กซ์กับแองเกลในสองเรื่อง คือ (1) พื้นฐานการตั้งฐานการวิเคราะห์ที่ความขัดแย้งทางชนชั้น (ชนชั้นกระฏุมพีและชนชั้นกรรมาชีพ) และ (2) เรื่องผลบั้นปลายของความขัดแย้งหรือการสร้างประวัติศาสตร์

ผมเห็นว่าข้อเสนอเรื่องความขัดแย้งจากกลุ่มประวัติศาสตร์ (Historical Bloc) ของกรัมชี่ อมความหมายและสะท้อนข้อเท็จจริงที่แม่นยำกว่า (ในความเป็นจริงไม่มี ชนชั้นกระฎุมพีล้วน หรือชนชั้นกรรมาชีพล้วน ในความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ แต่จะมีการรวมกลุ่มระหว่างชนชั้นต่าง ๆ เข้าด้วยกันในความขัดแย้งหนึ่ง ๆ เข้าเป็นกลุ่มก้อนทางประวัติศาสตร์) แต่กลุ่มก้อนทางประวัติศาสตร์นั้นจะมี “คู่ตรงข้าม” ซึ่งวางอยู่บนพลังคู่ทางสังคมที่ขัดแย้งเพื่อสร้างประวัติศาสตร์ การต่อสู้ดิ้นรนนี้เป็นผลจากการต่อสู้ของจิตวิญญาณเพื่อแสวงหาการยอมรับ ฟูกูยาม่าดึงไอเดียนี้ของเฮเกล ซึ่งผ่านการตีความของโคเชฟ (Alexandre Kojève) ว่าในที่สุดการต่อสู้นั้นจะไปสร้างระบอบการเมืองที่ต้องยอมรับความเท่าเทียมกันของศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ในสังคม จึงสะท้อนออกมาเป็นระบอบการปกครองแบบ เสรีประชาธิปไตย** ซึ่งเป็นข้อเสนอในหนังสือของเขาเรื่อง “เมื่อถึงจุดสิ้นสุดทางประวัติศาสตร์และมนุษย์ยุคสุดท้าย” (จุดสิ้นสุดทางประวัติศาสตร์เป็นการตีความเรื่องการสร้างประวัติศาสตร์ของเฮเกล เมื่อสังคมแบบเสรีประชาธิปไตยบังเกิดขึ้นแล้ว ก็เท่ากับเป็นสัญลักษณ์การสิ้นสุดความขัดแย้งที่จะสร้างพลังทางประวัติศาสตร์ตามทัศนะของเฮเกล; และในสังคมแบบนี้จะผลิต “มนุษย์ยุคสุดท้าย” (The last man) ไม่ใช่ “อภิมนุษย์” ( Übermensch ) ตามทัศนะของนิชเช่ในหนังสือ “เมื่อซาราทรุสตาทรงตรัส” มนุษย์ยุคสุดท้ายจะอยู่ในโลกที่เท่าเทียมและเหมือน ๆ กัน แต่พวกเขาก็จะอยู่ไปวัน ๆ และไร้ซึ่งความเสี่ยงใดๆ ชีวิตของพวกมนุษย์ยุคสุดท้ายจึงไร้ความหมายในสายตาแบบอภิมนุษย์)



แต่ในเวลาต่อมา ฮันติงตัน ซึ่งเป็นอาจารย์ของฟูกูยาม่าได้พัฒนาไอเดียพื้นฐานในข้อสังเกตเรื่องความขัดแย้งเชิงวัฒนธรรม (The clash of civilization) โดยได้เสนอว่าในโลกนี้มีอารยธรรมอยู่ 9 รูปแบบ คืออารยธรรมแบบตะวันตก อารยธรรมแบบออร์โธด็อกซ์ อารยธรรมแบบอิสลาม อารยธรรมแบบละตินอเมริกา อารยธรรมแบบจีน (ฮั่น/ขงจื้อ) อารยธรรมแบบฮินดู อารยธรรมแบบพุทธ และ อารยธรรมแบบญี่ปุ่น อารยธรรมเหล่านี้จะทั้งปฏิสังสรรค์และขัดแย้งซึ่งกันและกัน ข้อเสนอของฟูกูยาม่าได้รับการยอมรับในวงวิชาการเพราะการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินฉันใด ข้อเสนอของฮันติงตันก็ได้รับการยอมรับในวงวิชาการเพราะการระเบิดขึ้นของเหตุการณ์ 9/11 ฉันนั้น อย่างไรก็ตามฮันติงตันถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้กฎเกณฑ์ตามอำเภอใจในการแบ่งอารยธรรมรูปแบบต่าง ๆ ต่อมาเขาเขียนบทความและภายหลังพัฒนามาเป็นหนังสือ “Who Are We? The Challenges to America’s National Identity” เป้าหมายเพื่อตอบคำถามว่ารากฐานหรือตัวตนอันจริงแท้ของแต่ละอารยธรรมเป็นมาอย่างไร (ในที่นี้คือรากฐานและตัวตนของสหรัฐอเมริกา) และเหตุใดระบอบการเมืองสมัยใหม่อย่างระบอบเสรีประชาธิปไตย จึงไม่สามารถสลายตัวตนแบบนี้ลงไปได้ แต่ในทางตรงข้ามกลับสร้างความเข้มแข็งให้ตัวตนแบบนี้เพิ่มมากขึ้น ข้อเสนอทั้งหมดนี้จึงเท่ากับเป็นการตีโต้ข้อเสนอเรื่องจุดสิ้นสุดทางประวัติศาสตร์ของฟูกูยาม่าโดยตรง หรือเท่ากับเป็นการล้มข้อเสนอพื้นฐานความขัดแย้งการดิ้นรนการยอมรับทางจิตวิญญาณซึ่งมีพื้นฐานมาจากเฮเกล นี่เป็นการล้มความคิดของฝ่ายตรงข้ามในระดับรากฐาน จึงนับเป็นการท้าทายทางปัญญาอย่างถึงราก

ต่อมาฟูกูยาม่ามาเขียนหนังสือซีรี่ส์สามเล่มเพื่อโต้ข้อเสนอของฮันติงตันและยืนยันไอเดียของเขาเองอีกที ในขณะนี้เขียนไปแล้วสองเล่มก็คือ The Origins of Political Order และ Political Order and Political Decay เพื่อระบุว่ามันมีการเน่าเปื่อยของสถาบันทางการเมืองอยู่ ในขณะที่ฟูกูยาม่าอ้างถึงไอเดีย Political Order in Changing Society ของฮันติงตัน ในคำนำส่วนหนึ่งในหนังสือของฟูกูยาม่าเองด้วย ซึ่งผมมองว่าเป็นการสิ้นสุดการโต้วาที หรือการประนีประนอมหรือการสังเคราะห์ระหว่างศึกทางความคิดของศิษย์อาจารย์คู่นี้ (ดูจุดกำเนิดการโต้ของทั้งคู่ในคลิปข้างล่างนี้)

[หมายเหตุ: ใน The Origins of Political Order นั้นฟูกูยาม่าได้ปฏิเสธไอเดีย "สังคมพลังน้ำ" แบบตะวันออกของ คาร์ล วิตโฟเกล ดูต้นฉบับของ วิตโฟเกลได้ที่นี่ http://www.columbia.edu/itc/anthropology/v3922/pdf... โดย ฟูกูยาม่า ได้นำเสนอ พัฒนาการของประวัติศาสตร์ การปกครองและสังคมวัฒนธรรม ในจีน และ อินเดีย อย่างละเอียด โดยจุดหักเหของทั้งสองสังคมอยู่ที่สมัย พระเจ้าอโศกมหาราชในอินเดีย ที่ไม่ยอมบังคับใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งอนุทวีป ในขณะที่ในจีนนั้น จักรพรรดิจิ๋นซี บังคับใช้มาตรฐานเดียวกัน (ภาษาเขียน และอื่นๆ) กับทั้งแผ่นดินในขอบเขตอำนาจของจีน ในขณะที่มีการกวาดล้าง ราชวงศ์ย่อย ๆ ก่อนหน้านั้นที่เคยมีเป็นจำนวนมากในยุคชุนชิว จั้นกว๋ออีกด้วย เมื่อเปรียบเทียบกัน สังคมจีนจึงมีลักษณะ "รัฐเข้มแข็ง" (strong state) มากกว่าสังคมอินเดีย ที่พลังทางสังคมมีความเป็นอิสระมากกว่าอำนาจรัฐ เหตุผลหนึ่งก็เพราะจีนได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีกระดาษและการเขียนบนกระดาษขึ้น ทำให้สามารถบังคับใช้คำสั่งจากส่วนกลางได้ และมีการพัฒนารัฐที่มีลักษณะ impersonal และพัฒนาการระบบราชการแบบ merit base ขึ้น ในขณะที่อินเดียไม่ยอมพัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้นมา แต่เชื่อการถ่ายทอดความรู้ผ่านการท่องจำ และเน้นการบันทึกเรื่องราวในศิลาจารึก เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเรื่องวรรณะในอินเดียด้วย ที่ชนชั้นพราหมณ์จะเป็นผู้ผูกขาดพิธีกรรมและความรู้ โดยถือเป็นชนชั้นสูงสุดในอินเดีย ด้วยเหตุนี้จึงเพิ่งมีการค้นพบเรื่องราวของพระเจ้าอโศกมหาราชใน ศตวรรษที่ 19 ในสมัยอินเดียอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ ในขณะที่มีประวัติศาสตร์และการถ่ายทอดของจีนมาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบมากกว่า (ไทยเองก็สืบทอดวัฒนธรรมนี้มาจากอินเดีย จนกระทั่งได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมแบบอื่นมาจากทั้ง อาหรับ เปอร์เซีย จีน และตะวันตก ทำให้มีรูปแบบที่ต่างออกไปจากอินเดียนับแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา)]


อย่างไรก็ตามเนื้อหาของหนังสือในชุดนี้ของฟูกูยาม่า ต้องการเนื้อที่ในการอภิปรายมากกว่านี้และอยู่นอกเหนือขอบเขตการอภิปรายนี้; โปรดดูข้อมูลเพิ่มเติมจากบันทึก "The Paradox of Modernity".



ผมเห็นว่าข้อเสนอของทั้งสองฝ่ายคือทั้งฟูกูยาม่าและฮันติงตันถูกทั้งคู่ อันที่จริง “การสร้างประวัติศาสตร์” เป็น “วิภาษวิธี” ระหว่างการสร้าง “สถาปัตยกรรมทางการเมือง” เพื่อเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงในปัจจุบันให้พยายามจะบรรลุให้ถึงอุดมคติทางจิตวิญญาณและเสรีภาพแห่งความเป็นมนุษย์ด้านหนึ่ง กับความเป็นจริงปัจจุบันของพลังการเมืองเชิงอนุรักษ์ที่ยึดโยงอยู่กับการสร้างตัวตน ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความคิดทางศาสนาและวัฒนธรรมซึ่งมีความแตกต่างกันจากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ (หรือความขัดแย้งระหว่าง noumana และ phenomena)



ความขัดแย้งที่เฟอร์กูสันในสหรัฐอเมริกา ผมเห็นว่าสามารถอธิบายได้ด้วยตัวแบบนี้ ถ้าใครได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง “Lincoln” จะเห็นการต่อสู้เพื่อสร้างอุดมคตินี้ (ความเท่าเทียมกันของมนุษย์และการเลิกทาสผิวดำ) ในขณะยังต้องประนีประนอมกับความเป็นจริง (การยึดโยงและการรักษาสหภาพเอาไว้) ความขัดแย้งนี้จึงไม่ใช่เป็นแบบรอบเดียวจบ แต่ยังต้องขัดแย้งต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อปรับความเป็นจริงให้เข้าใกล้อุดมคติที่สุด รอบการต่อสู้ของคนผิวดำในปัจจุบันจึงไม่ใช่ การเรียกร้องความเท่าเทียมกันทางสังคมซึ่งหมดไปหลังจากรอบความเคลื่อนไหวในสุนทรพจน์ “ข้าพเจ้ามีความฝัน” อันมีชื่อเสียงของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง หรือการผลักดันให้คนผิวดำได้รับตำแหน่งสูงสุดซึ่งหมดไปหลังการเป็นประธานาธิบดีโอบามา แต่เป็นรอบการขอความยุติธรรมอย่างถ้วนหน้าจริง ๆ กับคนผิวดำ ในที่นี้คือความลำเอียง (prejudice) ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือคนผิวขาวที่ยังมีลึก ๆ ต่อคนผิวดำ

ในแง่นี้หัวข้อนี้จึงล้อเลียนบทความเรื่อง “สันติภาพสถาพร” (Perpetual Peace) ของค้านท์ ซึ่งเป็นรากฐานของไอเดียการก่อตั้ง สันนิบาตชาติ ในสมัยประธานาธิบดีวิลสัน และสหประชาชาติในสมัยประธานาธิบดีรูสเวลท์อีกด้วย (ข้อที่น่าสนใจคือ องค์กรแรกเริ่มด้วยอุดมคติแต่จบด้วยสัจจนิยม แต่องค์กรหลังเริ่มด้วยสัจจนิยมแต่จบด้วยอุดมคติ) มุมมองผมจึงเห็นว่า ไม่มี “สันติภาพสถาพร” แต่ก็ไม่มี “การปฏิวัติถาวร” ทั้งสองเรื่องเป็น วิภาษวิธีซึ่งกันและกัน แต่ละสภาพเป็นเรื่องชั่วคราว สภาพจะเปลี่ยนเป็นความสงบหรือการปฏิวัติขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่ไม่สามารถมีใครกำหนดได้ ในไอเดียแบบ Badiou ซึ่งในมุมมองนี้การคลี่คลายต่อความเป็นจริง (Truth procedures) ต่อสภาวะสี่แบบคือ ศิลปะ ความรัก การเมือง และ วิทยาศาสตร์ จะมีลักษณะการคลี่คลายคล้ายกันในสี่รูปแบบตั้งแต่แบบค่อยเป็นค่อยไป (modification) ไปจนถึงเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากและคาดเดาผลลัพธ์ไม่ได้ (events)***

เมื่อมองการเปลี่ยนแปลงในไทยเองก็เป็นการต่อสู้กันระหว่าง การสถาปนาสถาปัตยกรรมทางการเมืองที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณและอุดมคติแห่งความเท่าเทียมกันและความเป็นมนุษย์ กับการรักษาตัวตนซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมและศาสนาซึ่งเป็นรากเหง้าของอารยธรรมไทย

หากมองข้อเสนอของเลนินในเรื่อง “อะไรที่ต้องทำ” ของเลนิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตระหนักถึงการต่อสู้ทางชนชั้น และความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งองค์การหรือพรรคซึ่งเป็นกองหน้า (vanguard) เพื่อผลักดันการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพและสถาปนารัฐเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพจึงเป็นการคลี่คลายเชิงตรรกะเมื่อวิเคราะห์ “ความจำเป็นในเชิงประวัติศาสตร์” ในมุมมองแบบมาร์กซ์ได้แล้ว

ในภาพประกอบบทความนี้ผมได้เสนอภาพการโบกธงโซเวียตเหนืออาคารรัฐสภาไรซ์สตาค (Reichstag) ของนาซีเยอรมัน อันเป็นอาคารที่รวมทั้งอำนาจนิติบัญญัติและการบริหาร และเป็นจิตวิญญาณแบบเยอรมันสามารถรวมประเทศเยอรมนีซึ่งก่อนหน้านั้นมีสภาพเป็นเพียงสหพันธรัฐหลวม ๆ โดยมีแกนกลางอยู่ที่รัฐปรัสเซียผลักดันประเทศชาติให้หลุดพ้นจากความล้าหลังจนกระทั่งสามารถคุกคามรัสเซียซึ่งเป็นมหาอำนาจชั้นนำในเวลานั้นได้ ปัจจุบันอาคารแห่งนั้นได้รับชื่อใหม่เป็นบุนเดสแทก (Bundestag) หรือรัฐสภาแห่งเยอรมนี เพื่อล้างภาพอดีตของนาซีเยอรมัน

การก่อกำเนิดขึ้นของสภาโซเวียตและการเปลี่ยนประเทศรัสเซียเป็นสหภาพโซเวียต จึงเป็นความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ที่มุ่งมั่นจะเปลี่ยนแปลงรัสเซียจากประเทศที่ล้มเหลวแพ้แม้กระทั่งสงครามกับญี่ปุ่นซึ่งในเวลานั้นถือเป็นประเทศด้อยพัฒนาที่ยุทธนาวีช่องแคบสึชิมะ ซึ่งถือเป็นการปิดฉากอย่างเด็ดขาดของยุทธนาวีและเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้รัสเซียต้องเพลี่ยงพล้ำต่อญี่ปุ่นในเวลาต่อมา นอกจากนี้ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การโหมรุกของนาซีเยอรมันในยุทธการบาร์บารอสซาจนกองทัพเยอรมันเกือบยึดครองมอสโคว์ได้ ทำให้สหภาพโซเวียตต้องเสียทหารไปจำนวนมากและสามารถยันการรุกของนาซีแล้วตีโต้กลับ (ภายใต้การสนับสนุนการส่งเสบียงและยุทโธปกรณ์ของสหรัฐอเมริกา) จนกระทั่งสามารถเข้ากรุงเบอร์ลินและกลายมาเป็นภาพดังกล่าวในที่สุด จึงเป็นการสะท้อนถึงศักยภาพของการสร้างวิสัยทัศน์ของเลนินให้กลายมาเป็นความจริงคือพรรคบอลเชวิคและสหภาพโซเวียต ในบทความของเลนินดังกล่าว

แน่นอนว่ากรอบการวิเคราะห์ของผมย่อมต่างออกไปจากมาร์กซ์ “อะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำ” สำหรับสังคมไทย ยังเป็นสิ่งที่จะต้องคิดต่อไป ผมยังไม่ตกผลึกพอในเรื่องนี้**** แต่ผมเห็นว่าในช่วงหนึ่งพรรคไทยรักไทยทำตัวแบบพรรคกองหน้าของการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยโดยแบบไม่ได้ตั้งใจ การสามารถเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ในสนามเลือกตั้ง ทั้งที่ตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบและต่อมาสามารถสร้างฉันทามติต่อสังคมไทยในการเปลี่ยนแปลงประเทศขนานใหญ่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา http://www.siamintelligence.com/thaksin-forge-the-... แม้ว่าในเวลาต่อมา “กลุ่มเสื้อแดง” จะถือไม้ต่อพร้อมด้วยการสนับสนุนจากทักษิณและแกนนำของ พลังประชาชนและเพื่อไทยในเวลาต่อมา จะไม่พอรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว หลังเผชิญกับการ “ปรับเปลี่ยนประวัติศาสตร์” ถึงสามครั้งด้วยการรัฐประหาร (หรือกึ่งรัฐประหาร) จากกองทัพ (2549, 2551, และ 2557) แต่นี่เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมมองว่า การเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยกำลังจะเปลี่ยนจากรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป ไปเป็นคาดเดาไม่ได้ขึ้นมากทุกที

อนึ่งการวิพากษ์การรัฐประหารของฝ่ายต้านรัฐประหารในทำนองปฏิเสธและมองเฉพาะด้านอย่างเดียว ผมคิดว่าไม่พอและเป็นการมองอย่างแคบเกินไป อย่างที่ผมเคยเสนอว่านี่เป็นเพียงเครื่องมือในการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ของพลังสองฝ่าย (คณะราษฏรเคยใช้เครื่องมือนี้ทั้งในปี 2475 และ 2476 และปรีดีก็พยายามใช้เครื่องมีอนี้ในปี 2492 เมื่อคราวกบฏวังหลวงแต่ล้มเหลว) การมองว่าการต่อสู้ทางการเมืองมีแต่ด้านสันติจึงไม่เพียงพอ (ไม่ได้หมายความว่าเราต้องใช้ความรุนแรง การเปลี่ยนแปลงด้วยความรุนแรงหรือแบบส้นติเป็น event ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งเราไปกำหนดไม่ได้ตามกรอบการวิเคราะห์ของ Badiou)

มีบทความหนึ่งที่เขียนถึงเรื่องนี้ได้ดีใน The Diplomat คือบทความที่ชื่อว่า “Everything you know about Clausewitz is wrong” http://thediplomat.com/…/everything-you-know-about... บทความนี้อ้างถึงคำพูดที่มีชื่อเสียงของเคลาซ์วิทซ์ และคนนำมาถ่ายทอดต่ออย่างผิด ๆ คือคำพูดที่ว่า “สงครามคือ ‘อีกหนึ่งทาง’ ของความต่อเนื่องของนโยบาย” ไม่ใช่ “สงครามคือความต่อเนื่องของการเมือง”


“War Is Merely the Continuation of Policy by Other Means.” That’s how they render “Der Krieg ist eine bloße Fortsetzung der Politik mit anderen Mitteln” into English. Properly translated, however, the title reads “War Is a Mere Continuation of Policy with Other Means.” “With,” not “by.” There is zero ambiguity in the German. The translators, or perhaps their publisher, flub this one.

เหมาเจ๋อตุงเป็นตัวอย่างของการสืบเนื่องของความคลาดเคลื่อนนี้ และไปอีกระดับหนึ่ง ในคำพูดที่มีชื่อเสียงของเขาที่ว่า “สงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด” ในบทความในเว็บไซต์นี้ http://www.thaizhong.org/index.php?option=com_cont... เขาแปลคำพูดดังกล่าวของเคลาซ์วิทซ์ว่า “สงครามคือการต่อเนื่องของการเมืองด้วยวิธีการพิเศษ” ซึ่งเป็นความคลาดเคลื่อนดังที่บทความใน The Diplomat ที่ว่าเหมาเจ๋อตุงมอง “การเมือง” และ “สงคราม” แยกออกจากกัน ในขณะที่เคลาซ์วิทซ์ ไม่ได้มองสองเรื่องนี้แยกออกจากกัน อาทิเช่น ในช่วงสงครามก็อาจใช้การทูตเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองได้

แต่ไม่ว่าจะมองในลักษณะใดจะเห็นว่า การใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมือง

เมื่อสภาพความเป็นจริงเป็นเช่นนี้ การต่อต้านรัฐประหารโดยปฏิเสธมันอย่างเดียวจึงเป็นเรื่องที่ไม่เข้ากับความเป็นจริง แต่เราจะต้องวิพากษ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่หันไปใช้เครื่องมืออย่างการรัฐประหารเพื่อปรับเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ถึงสามครั้ง เท่ากับเป็นการทำลาย “สัญญาประชาคม” ที่ยอมรับกันโดยนัยว่าการเมืองสมัยใหม่ไม่ควรเปลี่ยนแปลงด้วยกติกานอกระบบ หรือการใช้ความรุนแรง การที่ฝ่ายหนึ่งหันมาใช้กติกานอกระบบและความรุนแรงนั้น ย่อมบ่มเพาะสถานการณ์ให้ฝ่ายตรงข้ามหาทางใช้วิธีการแบบเดียวกัน (คือใช้ความรุนแรงมาตอบโต้) และทั้งหมดจะนำพาสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงอย่างถึงรากแบบคาดเดาไม่ได้ก็เป็นได้ และการปฏิรูปที่เกิดขึ้นภายใต้ภาวะการณ์ของการทำรัฐประหารก็ไม่ต่างจากการ บังคับการสถาปนาทางการเมืองของผู้ชนะโดยปราศจากการยอมรับของอีกฝ่ายโดยสิ้นเชิง.



เชิงอรรถ


*ความโดดเดี่ยวทั้งเจ็ด (seven solitudes) นิชเช่แจกแจงความโดดเดี่ยวทั้งเจ็ดไว้ดังนี้ (และเขาจะมาเพิ่มความโดดเดี่ยวอย่างที่แปด ซึ่งคงจะเป็นบทสรุปสุดยอดเรื่องความโดดเดี่ยวนี้ของเขา ในภายหลัง)

1. Shame and silence before the great thought — ความโดดเดี่ยวจากความละอายและความเงียบก่อนก่อกำเนิดความคิดยิ่งใหญ่

2. Loss of all grounds — ความโดดเดี่ยวจากความสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง

3. Searching — ความโดดเดี่ยวจากการแสวงหา

4. Absence of friends — ความโดดเดี่ยวจากการจากไปของมิตรสหาย

5. Highest responsibility — ความโดดเดี่ยวจากความรับผิดชอบอันสูงสุด

6. Beyond morality - the perspective of eternity — ความโดดเดี่ยวจากมุมมองที่เหนือศีลธรรม -- มุมมองจากความเป็นนิรันดร์

7. Convalescence — ความโดดเดี่ยวจากการพักฟื้น

[8. The singular will — ความโดดเดี่ยวจากเจตจำนงค์หนึ่งเดียว (ดู will to power)]

http://www.hunter.cuny.edu/jns/reviews/rohit-sharm...


** ดู Fukuyama on Trust and Recognition http://home.mira.net/~andy/works/fukuyama.htm


*** ...I distinguish between four types of change: modifications (which are consistent with the existing transcendental regime), weak singularities (or novelties with no strong existential consequences), strong singularities (which imply an important existential change but whose consequences remain measurable) and, finally, events (strong singularities whose consequences are virtually infinite).


**** เท่าที่ผมลองค้นข้อมูลดู ผมพบว่าสมศักดิ์ เคยเสนอไอเดียทำนองนี้ไว้ที่นี่ http://www.prachatai.com/journal/2012/09/42508 แม้ผมจะเห็นด้วยในส่วนใหญ่ โดยเฉพาะไอเดียเรื่องการก่อรูปขององค์กรที่จะต้องเป็นอิสระจาก “เสื้อแดง” ผมคิดว่าอาจเป็นที่มาของการก่อรูปของ สปป ในทางที่เป็นจริงก็เป็นได้ ซึ่งได้พิสูจน์ในทางประวัติศาสตร์ไปแล้วว่าไม่พอต่อการรับมือกับสถานการณ์จริง (นอกจากนี้เรื่องปฏิกิริยาต่อกันของพรรคเพื่อไทยเองที่ยืนกรานการเลือกตั้งและการผลักดัน พรบ นิรโทษกรรมที่ผิดพลาด) แต่ผมเห็นต่างจากสมศักดิ์อยู่ในหลายด้านด้วยกัน ด้วยธรรมชาติที่กรอบวิเคราะห์ที่ผมใช้ต่างจากสมศักดิ์อยู่มาก แต่อย่างที่เขียนไปแล้วว่าไอเดียยังไม่ตกผลึกดี ดังนั้นผมจึงจะไม่อภิปรายในที่นี้และในขณะนี้ว่า “อะไรคือสิ่งที่ต้องทำ”


คำสำคัญ (Tags): #The Permanent Revolution
หมายเลขบันทึก: 594471เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2015 19:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2016 15:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท