​มหากาพย์มหาภารตะ กับงานศิลปกรรม


มหากาพย์มหาภารตะ กับงานศิลปกรรม

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ

เผยแพร่ครั้งแรก facebook fanpage บทความคติชนวิทยา ๑๐/๗/๒๕๕๘

มหากาพย์มหาภารตะ เป็นบทกวีขนาดยาว ว่าด้วยเรื่องราวสงคราม ทุ่งกุรุเกษตร ระหว่างกษัตริย์เการพ กับกษัตริย์ปาณฑพ ซึ่งเป็นญาติกัน และกล่าวถึงอาวตานทั้ง ๘ ของพระนารายณ์ คือพระกฤษณะ ทำหน้าที่เป็นสารถีขับรถศึก และสอนปรัชญาทางศาสนาให้พระอรชุน

มหากาพย์มหาภารตะเป็นทั้งวรรณกรรมและคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูประเภทสมฤติ ซึ่งแปลว่าเป็นสิ่งที่จดจำสืบทอดต่อกันมาแบบมุขปาฐะ

มหากาพย์ภารตะได้ชื่อว่าเป็นมหากาพย์ที่ยาวที่สุดในโลก เขียนในสมัยคุปตะ (ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์, ๒๕๔๖ : ๖๐) รจนาเป็นคำฉันท์ รวมกันทั้งสิ้น ๑๐๐,๐๐๐ โศลก ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บรรทัด เนื้อเรื่องแบ่งเป็นตอน ๆ แต่ละตอนเรียกว่าบรรพ มีด้วยกันทั้งสิ้น ๑๘ บรรพ (กรุณา – เรื่องอุไร กุศลาสัย, ๒๕๕๒ : (๑๗)) กล่าวกันว่าผู้แต่งมหากาพย์เรื่องนี้คือ ฤๅษีกฤษณะ ไทวปายนะ วยาส จากการคำนวณของผู้เชี่ยวชาญซึ่งใช้หลักการทางโบราณคดีเทียบเคียงกับทางเอกสาร สงครามนี้อาจเกิดขึ้นในช่วง ๙๐๐ ปีก่อนคริสตกาล (ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์, ๒๕๔๖ : ๖๐)

แต่ยวาหระลาล เนห์รู (๒๕๔๘ : ๒๑๒) กล่าวว่าเรื่องราวของสงครามกลางเมืองนี้ได้เกิดขึ้นภายหลังการประพันธ์มหากาพย์ภารตะในครั้งแรก นักประพันธ์ได้เพิ่มเติมเข้าไปในภายหลัง

มีเรื่องย่อยที่สอดแทรกอยู่ในมหากาพย์มหาภารตะเช่น ศกุนตลา (รจนาโดยกาลิทาส) สาวิตรี พระนล และนางทมยันตี เรื่องย่อยที่นับว่าเป็นหัวใจสำคัญคือภควัตคีตา

วีระ ธีระภัทร (๒๕๕๐) กล่าวถึงประวัติการศึกษามหากาพย์มหาภารตะในประเทศไทยว่า ต้นฉบับมหาภารตะที่เชื่อว่าเป็นต้นฉบับเต็มแปลจากโศลกภาษาสันสกฤตมาเป็นภาษาอังกฤษ คือต้นฉบับ The Mahabharata ของ Kisari Mohan Ganguli
ประเทศไทยมีการศึกษาค้นคว้ามหากาพย์มหาภารตะตั่งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ มีประจักษ์พยานเป็นหนังสือหลายเล่ม เช่น วินิจฉัยเรื่องกฤษณาสอนน้อง พระราชนิพนธ์ของราชการที่ ๕ และ กฤษณาสอนน้องของกรมพระปรมานุชิตชิโนรส หนังจากนี้ก็ได้มีการแปลและเรียบเรียงมหากาพย์มหาภารตะมากมาย

สำหรับประเทศไทยการแพร่หลายของมหากาพย์ภารตะนั้นไม่เป็นที่นิยมเท่ากับมหากาพย์รามยณะ อาจเป็นเพราะมหากาพย์มหาภารตะเป็นเรื่องราวของการรบกันในหมู่เครือญาติ ซึ่งชาวไทยให้ความสำคัญกับหมู่เครือญาติ โดยเฉพาะในสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มาแต่โบราณได้พยายามสร้างความสามัคคีในหมู่ราชวงศ์ เช่น มีการสร้างพระพุทธรูปปางห้ามญาติเพื่อเตือนญาติวงศ์ให้สามัคคีไม่แย่งชิงราชสมบัติต่อกัน
ดังนั้นหลักฐานความนิยมของมหากาพย์มหาภารตะจึงปรากฏในเพื่อนบ้านเช่น ชวา และเขมรเป็นส่วนใหญ่ ดังปรากฏหลักฐานเป็นภาพสลักนูนต่ำที่ระเบียงคดทิศตะวันตก ด้านทิศใต้ของปราสาทนครวัดประเทศกัมพูชา ก่อสร้างในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ (พ.ศ. ๑๖๕๐ – ๑๖๙๓) จุดประสงค์เพื่อสร้างอุทิศถวายแก่พระวิษณุเทพ กล่าวคือ

ภาพสลักเป็นแบบนูนต่ำ มีความยาว ๔๙ เมตร เล่าเรื่องขณะการสู้รบ ตระกูลเการพอยู่ทางด้านซ้าย ตระกูลปานฑพอยู่ทางด้านขวา ขอบผนังทั้งสองด้านเป็นภาพของทหารแต่ละฝ่ายยืนเรียงเป็นแถวกันเป็นระเบียบ มีนายทหารบนรถม้าศึกและหลังช้าง มีภาพตังละครคือภีษมะแม่ทัพของเการพ อรชุนแม่ทัพของปานฑพ และพระกฤษณะสารถีของอรชุน (Michale Freeman and Claude Jacquse, 2006 : 58 – 59)

มหากาพย์มหาภารตะมีความยาว ภาษาอยาก ตัวละครเยอะ บางตอนน่าเบื่อ ผู้เขียนแนะนำให้อ่านฉบับแปลของ กรุณา – เรื่องอุไร กุศลาสัย เพื่อความเข้าใจง่ายในขั้นต้น แล้วจึงอ่านฉบับต่อไป ก็นับว่าเป็นการดีครับ

แม้จะเต็มไปด้วยความเกลียดชังและความแก้แค้น แม้จะมีการนำเสนอให้เห็นผลของการกระทำและตอกย้ำในเรื่องธรรมะย่อมชนะอธรรมก็ตาม และแม้จะชีให้เห็นถึงความสำคัญต่อความรับผิดชอบในหน้าที่ แต่หัวใจของเรื่องราวทั้งหมดกลับไม่ใช้สิ่งนั้น
หัวใจของมหากาพย์มหาภารตะอยู่ที่ประโยคสั้น ๆ ๒ ประโยค “การให้อภัย” “สมานฉันท์”


รูปภาพประกอบ ภาพสลักมหาภารตะบนระเบียงทิศตะวันตกปราสาทนครวัด ศิลปะขอม-นครวัด

ข้อมูลภาพจาก ฐานข้อมูลภาพ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล http://www.thapra.lib.su.ac.th/supat/slide/result.php…. สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2558.

เอกสารประกอบการเขียน
กรุณา – เรืองอุไร กุศลาสัย. มหาภารตยุทธ. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓. สำนักพิมพ์ศยาม. กรุงเทพฯ : ๒๕๕๒. บวรบรรณรักษ์ (นิยม รักไทย) , ร.อ. หลวง. มหาภารตยุทธ์. กรุงเทพฯ : คลังวิทยา. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์. ยวาหระลาล เนห์รู. พบถิ่นอินเดีย. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพฯ : แม่คำผาง. ๒๕๔๙.
วีระ ธีรภัทร. เรื่องเล่าจากมหากาพย์มหาภารตะ ตอนกำเนิดพี่น้องเการพและปานฑพ เล่ม ๑. พิมพ์ครั้งแรก. ๒๕๕๐.
ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์, ศ. ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาอินเดีย. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ๒๕๔๕.
Michale Freeman and Claude Jacques. Anclent Angkor. Bangkok : River Books. 2006.

คำสำคัญ (Tags): #นครวัด#มหาภารตะ
หมายเลขบันทึก: 593910เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2015 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2015 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท