ชีวิตที่พอเพียง : ๒๔๗๘. ไปลอนดอนครั้งที่สามในแปดเดือน ๑. เดินทาง



ในช่วง ๘ เดือนมานี้ผมไปลอนดอนสามครั้งแล้ว ทาง PMAC คงจะทำนายว่าในสองปีต่อจากนี้ไปผมจะต้องไปอังกฤษ อีกหลายครั้ง จึงให้ผมทำวีซ่าเข้าสหราชอาณาจักรชนิด ๒ ปีไว้เลย

คราวนี้ไปกับคณะของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนายกสภา ร่วมกับคณะของ HITAP ในฐานะประธานมูลนิธิ HITAP เพื่อไปลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ iDSI (The International Decision Support Initiative), NICE (National Institute for Health and Care Excellence), และมหาวิทยาลัย York ในการผลิตบัณฑิตปริญญาเอกคุณภาพสูง ในสาขา HTA (Health Technology and Intervention Assessment) & Health Policy ให้แก่ประเทศรายได้ต่ำในภูมิภาคอาเซียน โดยที่ทางประเทศไทยเป็นความร่วมมือ ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กับ HITAP

เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๘ สภามหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่งอนุมัติหลักสูตรใหม่ระดับนานาชาติ สาขาวิชา ประเมินเทคโนโลยี และนโยบายด้านสุขภาพ ในระดับปรัชญาดุษฎีบัณฑิต และระดับวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต โดยที่ภาควิชาเภสัชสังคม คณะเภสัชศาสตร์ จะเป็นผู้บริหารหลักสูตร โดยดำเนินการร่วมมือกับ HITAP ซึ่งที่จริง อาจารย์ของภาควิชานี้ได้ร่วมมือกับ HITAP ทั้งด้านวิจัยและด้านผลิตบัณฑิตปริญญาเอกมาหลายปีแล้ว จนเชื่อในความ สามารถซึ่งกันและกัน

iDSI เสนอโครงการขอเงินสนับสนุนจาก Bill & Melinda Gates Foundation, มูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์, และ UKaid และชวน HITAP ร่วมดำเนินการ HITAP (นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์) มาชวนมหาวิทยาลัยมหิดลอีกต่อหนึ่ง ภายใต้คำแนะนำ เชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาความเข้มแข็งของวิชาการที่เป็นเลิศระดับโลก อธิการบดี ศ. คลินิก นพ. อุดม คชินทร รีบรับลูก และจัดเงินของมหาวิทยาลัยมหิดลสมทบสนับสนุน โครงการ ปีละ ๕ ล้านบาท เป็นเวลา ๓ ปี ถือเป็น International Excellence Curriculum แรก ที่จะมีการจัดการโครงการในระดับมหาวิทยาลัย เพราะในมหาวิทยาลัยมหิดลจะมีหลายคณะที่มีขีดความ สามารถสูง เข้าร่วมดำเนินการ เช่นที่ศิริราชมีหน่วย HTA อยู่ในสังกัดโรงพยาบาล ทำ HTA สำหรับใช้ในการตัดสินใจ เลือกใช้เทคโนโลยีในโรงพยาบาล มี รศ. นพ. เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ เป็นหัวหน้าหน่วย

ผมสองจิตสองใจว่าควรไปดีหรือไม่ เพราะมีภารกิจที่กรุงเทพที่ขาดไม่ได้ คือวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ประชุมสภา มหาวิทยาลัยมหิดลและวันที่ ๒๐ ประชุมคณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ กิจกรรมที่ลอนดอนที่มีสาระสำคัญที่สุดอยู่ที่วันที่ ๑๙ ซึ่งผมจะต้องออกจากห้องประชุมเวลา ๙.๓๐ น. ไปสนามบิน ฮีธโรว์ เพื่อขึ้นเครื่องบินของการบินไทยกลับกรุงเทพ ถึงกรุงเทพเช้าและไปประชุมเลย

แต่ผู้เกี่ยวข้องทุกคนบอกว่าผมต้องไป เอา! ไปก็ไป

วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๘ การประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดลเสร็จเร็วกว่าปกติ คือเลิกเวลา ๑๖.๓๐ น. ผมกลับบ้าน กินอาหารเย็น อ่านหนังสือชีวิตของเซอร์ วิลเลียม ออสเลอร์ อาบน้ำ เรียกรถแท็กซี่ ๑๖๘๑ แล้วเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา ๒๑.๐๐ น. เครื่องบินออก ๐๑.๑๕ น. ของวันที่ ๑๖

เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมนั่งชั้นธุรกิจบนเครื่องบิน Airbus 380 ของสายการบินไทย ดังนั้น เมื่อขึ้นเครื่องเราต้องเดินไป ขึ้นชั้นบนของเครื่องบิน การจัดที่นั่งชั้นธุรกิจบนเครื่องบินรุ่นใหม่ทุกที่นั่งเข้าออกง่ายหมดแล้ว ไม่ต้องปีนข้ามผู้โดยสารท่าน ที่นั่งด้านนอกเพื่ออกไปเข้าห้องน้ำอีกต่อไป ดังนั้นความหมายของ window seat / aisle seat จึงเปลี่ยนไปแล้ว ใครชอบที่ แบบไหน ก็เลือกตามชอบ ซึ่งกลายเป็นว่า ที่นั่งริมหน้าต่างให้ความเป็นส่วนตัวดีที่สุด แถมยังได้วิวภายนอกด้วย

ห้องโดยสารชั้นธุรกิจเต็มทุกที่นั่ง น่าชื่นใจ เจ้าหน้าที่บอกว่า กำลังจะเพิ่มเที่ยวบินเป็นวันละ ๒ เที่ยว ผมบอกเจ้าหน้าที่ บนเครื่องบินว่าขอน้ำแก้วเดียวแล้วขอนอน ไม่ต้องปลุกเมื่อถึงเวลาอาหารเช้า ผมจะนอนยาว แล้วผมก็กินยาก่อนนอน พร้อมยานอนหลับ

ที่นอนบนเครื่องบินชั้นธุรกิจเดี๋ยวนี้นอนราบหมดแล้ว ยกเว้นเครื่องแบบเก่า ผมนอนได้ ๒ ช่วง ช่วงละ ๓ ชั่วโมง แล้วรู้สึกสดชื่น จึงไปขอเนยแข็ง ผลไม้ กินกับกาแฟ เมื่อตอนราวๆ ๐๑.๓๐ น. เวลาอังกฤษ ตามด้วยการเขียนบันทึกนี้

ไม่ทราบว่าผมอุปาทานหรือไม่ ผมรู้สึกว่าเครื่องบิน A-380 บินนิ่มกว่าเครื่องแบบอื่น

หลังเลี้ยงอาหารเช้าประมาณ ๔๐ นาที เตรื่องบินก็ถึงสนามบินฮีธโรว ก่อนเวลา ๕ นาที คือถึง ๗.๑๐ น. เขาแจก ใบนำทางเข้าตรวจคนเข้าเมืองผ่านทางด่วน ดังนั้นรอไม่ถึง ๑๐ นาที ผมก็เข็นกระเป๋าออกมารอคนมารับแล้ว คือผมเอากระเป๋าใบเล็กที่ขนขึ้นเครื่องได้มา ไม่มีของที่ส่งมาใต้ท้องเครื่อง รอคนขับรถของ AirportBee ประมาณ ๒๐ นาที เขาจึงมา เขาคงไม่คิดว่า ผมจะผ่านกระบวนการต่างๆ เร็วขนาดนั้น

รถที่มารับเป็นรถเก๋ง โตโยต้า คัมรี รุ่นเก่ามากแล้ว แต่สภาพยังดี คนขับเป็นชายชาวปากีสถาน อายุประมาณ ๔๐ อพยพมาอยู่อังกฤษกับพ่อแม่ ตั้งแต่ยังเด็ก ผมจึงได้โอกาสสอบถามสภาพการดำรงชีวิตในอังกฤษ ต่อคำถามว่ารายได้ประมาณ เท่าไรจึงจะอยู่ในลอนดอนโดยไม่เดือดร้อน คำตอบคือปีละ ๕๐,๐๐๐ - ๕๕,๐๐๐ ปอนด์ แต่ถ้าอยู่ต่างจังหวัด ๓๐,๐๐๐ - ๓๕,๐๐๐ ก็พอ ผมรู้ว่าหมอจีพีในระบบ NHS ของอังกฤษเงินเดือนปีละ ๒๐๐,๐๐๐ ปอนด์ จึงนับว่าสูงทีเดียว

ผมถามว่าบริการสุขภาพของ NHS (National Health Services) เป็นอย่างไรบ้าง คุณภาพดีไหม เขาตอบว่าเคยดี แต่เวลานี้แย่ลง นัดหมอจีพี ต้องรอ ๒ - ๓ วัน และมีความไม่สะดวกอื่นๆ เขาบอกว่ารัฐบาลนี้มีนโยบาย privatize NHS ซึ่งเขาคาดหวังว่าบริการจะดีขึ้น เขาบอกว่าในอังกฤษมีโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมาก คนมีเงินก็หันไปใช้บริการของเอกชน ผมนึกในใจว่า NHS คงจะกำลังเดินเส้นทางเดียวกับการรถไฟไทย

โชเฟอร์มาจากแคว้นแคชเมียร์ของปากีสถาน ผมชมว่าในประเทศไทยแคว้นแคชเมียร์มีชื่อด้านผลิตผ้าไหม และผ้าขนสัตว์ชั้นเยี่ยม เขาขอบคุณ

ใช้เวลาเดินทางชั่วโมงนิดๆ ก็ไปถึงโรงแรม Thistle Trafalgar Square เมื่อเวลาราวๆ ๙ น. นานแล้วที่ผมไม่ได้นั่งรถ ผ่าเข้าไปใจกลางเมืองลอนดอน เห็นรถบรรทุกขนของแล่นอยู่คับคั่งจึงถามว่า เมืองลอนดอนไม่มีช่วงเวลาห้ามรถบรรทุกแล่น ในส่วนใจกลางเมืองหรือ คำตอบคือเขาไม่ห้ามเด็ดขาด ใช้วิธีให้ต้องขออนุญาตและจ่ายค่าอนุญาต

ที่จริงผมตั้งใจจะเดินทางจากสนามบินเข้าเมืองโดยรถใต้ดิน ผมรู้ว่าเดินทางโดยสายสีม่วง Picadilly Line มาขึ้นที่สถานี Picadilly Circus แล้วเดินไปโรงแรมเพียง ๕ นาทีก็ถึง ค่าตั๋ว ๖ ปอนด์ แต่ทาง PMAC คงเป็นห่วงคนแก่ จึงจองรถ AirportBee ให้ ราคา ๔๐ ปอนด์ ซึ่งมีข้อดีคือได้คุยกับโชเฟอร์ และได้เห็นวิว

ที่โรงแรม Thistle ผมได้พักห้อง ๔๒๕

วันกลับ เช้าวันที่ ๑๙ ผมหมายมั่นปั้นมือจะไปวิ่งที่ริมแม่น้ำเทมสฺฝั่งใต้ บริเวณ ลอนดอนอายสฺ แต่ฝันสลายเพราะฝน

ผมใช้เวลา ๑ ชั่วโมงนั่งรถใต้ดินไปสนามบิน ฮีธโรว์ คราวนี้แปลก พอไปถึงสถานี Hatton Cross ซึ่งเป็นสถานีก่อนถึง สนามบิน เขาก็ประกาศว่ารถขบวนนี้จะแล่นไปสถานี Heathrow Airport 4 ก่อน แล้วจึงจะไป 1,2,3 หากผู้โดยสารต้องการไปที่ Heathrow 1,2,3 เขาแนะนำให้ลงที่นี่ แล้วรอต่อขบวนหลัง ซึ่งจะแล่นตรงไป Airport 1,2,3 แล้วต่อไป Airport 5 ผู้โดยสาร ส่วนใหญ่ลง รวมทั้งผม อีกนาทีเดียวรถขบวนหลังก็มา

ผมเสียเวลาไปราวเกือบครึ่งขั่วโมง ที่ security check เพราะเป้โดนโยกไปที่สายพานที่บอกว่ามีของต้องห้าม ต้องไปรอ คิวตรวจของฝรั่งตัวอ้วน ที่มีภรรยาไทย เอาน้ำหอมขวดใหญ่ และครีมหลอดใหญ่ เกิน ๑๐๐ ซีซี ใส่กระเป๋า (ซึ่งต้องทิ้งไป เอาขึ้นเครื่องไม่ได้) และมีของกระจุก กระจิกอีกมากที่ต้องเอาออกจากกระเป๋า ใส่ถุงพลาสติก ให้เจ้าหน้าที่เอาไปเข้าเครื่องตรวจ ทางเคมี เขาตั้ง lab เคมีกันตรงนั้นเลย เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นการตรวจที่ใช้ทั้งเอ็กซเรย์และเคมี

ของผมสิ่งที่เขาสงสัยคือขวดโลชั่นที่ใช้จนเกือบไม่เหลือแล้ว ขนาดขวด ๖๐ ซีซี กับ HDD ใช้เวลาตรวจไม่ถึง ๑๐ นาทีก็เสร็จ ที่แปลกคือ ขวดโลชั่นขนาดประมาณ ๑๐๐ ซีซีในกระเป๋าใหญ่ที่ผมถือขึ้นเครื่องผ่านฉลุย ตรวจไม่พบ

หลังจากนั้นก็ต้องเดินไปที่ Gate B ระยะทางประมาณกิโลครึ่ง ต้องขึ้นลงบันไดเลื่อน และเดินทางเลื่อน ไปใช้ United Airline Lounge ใกล้ Gate B46 ในห้องรับรองคนมาก และนั่งกันแบบคนเดียวครองทั้งโต๊ะ กว่าจะหาที่นั่ง

บนเครื่องผมกินอาหารมื้อใหญ่ ซึ่งอร่อยมากและหรูหรา แล้วนอน ด้วยความช่วยเหลือของ ลอราซีแพม ๐.๕ มิลลิกรัม ผมนอนได้ ๓ ยก รวม ๕ ชั่วโมง ตัวการทำให้ตื่นคือคอแห้งจากอากาศแห้ง กับไปถ่ายปัสสาวะ ในชั้นธุรกิจผู้โดยสารเต็มเหมือน ขาไป น่าชื่นใจแทนการบินไทยจริงๆ ทั้งๆ ที่ราคาตั๋วของเราแพงกว่า EVA Air ถึง ๓๐% (อ. บุ๋มบอก)


วิจารณ์ พานิช

๑๙ ก.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 593634เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2015 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2015 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท