สุภาพสตรีอายุประมาณ30ปีท่านหนึ่ง หลังจากที่แต่งงานมาได้เพียงแปดเดือน สามีซึ่งเป็นทหารเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่เนื่องจากเครื่องบินตก เธอคบกับสามีมาอย่างยาวนาน เคยเป็นเพื่อนเรียนด้วยกันมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล หลังจากแยกย้ายกันไปเรียนหนังสือ ต่อมาก็ได้ติดต่อกันอีกจนกระทั่งตัดสินใจแต่งงานใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในที่สุด
เธอได้รับเชิญมาให้สัมภาษณ์เพื่อแบ่งปันข้อคิดอันเป็นประโยชน์กับสังคม หลังจากเจอมรสุมครั้งสำคัญในชีวิต ขณะที่เล่าถึงความรู้สึกต่างๆที่เธอได้รับหลังจากสูญเสียสามีอันเป็นที่รักนั้น บางขณะเธอก็ยังไม่สามารถกลั้นสะอื้นเอาไว้ได้ ตอนหนึ่งเธอเล่าว่า เธอเคยคิดที่จะจบชีวิตตนเองเพื่อที่จะไปอยู่ด้วยกันกับสามีผู้ล่วงลับ แต่ก็หักห้ามความรู้สึกนั้นไว้ได้เนื่องจากได้รับกำลังใจจากคนรอบข้างมาช่วยไว้ ไม่กี่วันหลังจากนั้นเธอก็ทราบว่า ความจริงเธอไม่ได้อยู่คนเดียวเพราะเธอตั้งครรภ์แล้วสองเดือนโดยไม่รู้มาก่อน สามีของเธอได้ให้ทายาทเอาไว้แล้ว เธอมีกำลังใจขึ้นมาอีก แต่กระนั้นเธอได้เตรียมรูปงานศพของเธอเอาไว้ล่วงหน้า โดยทำกรอบรูปเหมือนกับกรอบรูปที่งานศพสามีทุกอย่าง เธอบอกว่าเพื่อว่าจะได้มีรูปตัวเธอที่ยังสวยงามอยู่คู่กับสามีซึ่งอายุเท่ากันเอาไว้ให้ลูกหลานได้เห็น
จากเรื่องนี้ก็น่าเห็นใจเธออยู่ไม่น้อยและน่าสรรเสริญในความรัก ความซื่อสัตย์ที่เธอมีต่อสามี ความจริงการสูญเสียอันเนื่องจากการพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักนั้นสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ทุกคน ไม่มีใครทราบล่วงหน้ามาก่อน มีคู่สามีภรรยาอยู่คู่หนึ่งเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างไว้หมดแล้ว วางแผนปลูกบ้าน แล้วก็ค่อยๆก่อสร้างมาเรื่อยๆจนเสร็จ เตรียมตัวจะเข้าไปอยู่บ้านใหม่ บังเอิญมีธุระไปภาคเหนือ ขากลับขับรถหลับในเกิดอุบัติเหตุตายทั้งสองคน ความเศร้าโศกอยู่ที่ลูก ลูกสองคนซึ่งเรียนระดับชั้นมัธยม ไม่กล้าเข้าไปอยู่ ไม่ใช่เพราะกลัว แต่เห็นบ้านทีไรก็ร้องไห้ทุกทีเพราะคิดถึงพ่อแม่ที่เคยฝันด้วยกันว่าบ้านหลังนี้เสร็จแล้วจะย้ายจากที่เดิมมาอยู่ด้วยกัน
หากท่านใดที่สนใจธรรมะเพื่อดับทุกข์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในทำนองนี้ ผู้เขียนมีเรื่องในพระไตรปิฎกที่น่าสนใจและน่านำมาพิจารณาเป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไปได้ เพราะชีวิตของเราทุกคนนั้นเมื่อเกิดมาแล้ว แม้จะต้องตายในที่สุด แต่ก็ไม่จำเป็นต้องรีบตาย ตายช้าๆดีกว่าตายเร็ว ตายบ่อยๆเกิดบ่อยๆ ก็ทุกข์บ่อยๆ ทุกข์ซ้ำๆ จึงควรรักษาร่างกายเอาไว้ หากยังไม่ถึงเวลาตายก็อย่าเพิ่งท้อแท้รีบตาย แก่ตายดีกว่า จะได้เห็นโลกตามความเป็นจริงได้มาก ปัญญาในการมองโลกนั้นจะได้ตอนอายุมากๆ เพราะการผ่านโลกมามาก จิตใจย่อมไม่วูบวาบไปตามกระแส ข้อจำกัดทางร่างกายที่ชราภาพที่ดูจะมีปัญหา กลับเป็นผลดีเพราะบังคับให้ลดละอบายมุขไปในตัว ที่พระท่านเคยห้ามไม่ให้ดื่มเหล้าจากที่ไม่เคยเชื่อเมื่อก่อน แต่พออายุมากๆก็ไม่ดื่มแล้ว แต่ไม่ใช่เพราะเปลี่ยนใจมาเชื่อพระ ที่เลิกได้เพราะเชื่อหมอ แต่ถึงจะเชื่อใครก็ตาม การรักตัวเองก็ทำให้คนเราอยู่ในกรอบที่ควรจะเป็นได้โดยอัตโนมัติ
เรื่องที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้บางท่านอาจจะทราบมาแล้วและอาจมองว่าเป็นเรื่องพื้นๆของการดำรงชีวิตทั่วไป แต่ผู้เขียนกลับเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประโยชน์มาก การให้ความสำคัญระหว่างตัวเรากับบุคคลต่างๆนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นต่อเรามาก เปรียบเสมือนตัวเราเป็นศูนย์กลาง มีคนอยู่หกกลุ่มอยู่ตามทิศต่างๆรอบตัวเรา การให้ความสำคัญต่อบุคคลต่างๆตามทิศทั้งหกนี้อย่างรู้คุณค่าและตามฐานะ จะทำให้เกิดความสมดุลในชีวิต หากจะมีบุคคลใดในทิศใดทิศหนึ่งจากไป เราก็ยังมีอีกบุคคลในอีกหลายทิศที่ยังอยู่กับเราและรู้ค่าในชีวิตของเราและช่วยให้ชีวิตเราเดินต่อไปได้
พระพุทธเจ้าทรงแยกบุคคลต่างๆรอบตัวเราออกเป็นหกกลุ่ม และอยู่ประจำทิศต่างๆอย่างเหมาะสม และยังทรงบอกถึงว่าหน้าที่ที่เราควรกระทำต่อบุคคลตามทิศนั้น และหากเราเป็นบุคคลในทิศนั้นๆของคนอื่นบ้าง เราควรทำหน้าที่ของเราอย่างไร นั่นคือเราควรเปิดใจให้กว้างในการดำเนินชีวิตว่าไม่ได้มีแค่ตัวเรากับใครคนใดคนหนึ่ง หรือนำชีวิตเราไปฝากไว้กับคนนี้เท่านั้น ในความเป็นจริงคนที่เรารักนั้นมีอยู่จริง แต่ว่าคนที่เขารักและเมตตาต่อเราก็มีอยู่ คนที่เราเคารพบูชาก็มีอยู่ เรามีคนต่างๆเหล่านี้อยู่รอบตัวเราถึงหกกลุ่มหรือหกทิศ
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ มีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อสิงคาลกะ ทุกๆเช้าเขาจะทำพิธีกราบไหว้บูชาทิศทั้งหกอยู่เสมอมิได้ขาด ความจริงนายสิงคาลกะนี้เมื่อก่อนก็ไม่ค่อยสนใจจะทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เที่ยวเตร่สนุกสนานไปวันๆ เขาเกิดในตระกูลเศรษฐี บิดามารดาเป็นคนมีทรัพย์สมบัติมากและศรัทธาในพระพุทธเจ้ามาก บิดามารดาขอร้องให้เขาไปทำบุญและฟังธรรมเขาก็ปฏิเสธเพราะเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองและเสียเวลา บิดามารดาไม่รู้จะทำอย่างไร ต่อมาเมื่อบิดาป่วยหนักจึงคิดว่า จะหาอุบายอย่างไรให้สิงคาลกะลูกชายได้พบและฟังธรรมของพระพุทธเจ้า คิดว่าธรรมดาพระพุทธเจ้าจะเสด็จบิณฑบาตในตอนเช้าหากลูกชายจะได้พบก็คงเป็นตอนเช้าเท่านั้น ดังนั้นเมื่อใกล้จะตายบิดาจึงได้เรียกเขามาสั่งว่า “หากพ่อตายไปแล้วขอให้เจ้าจงบูชาทิศทั้งหก” แล้วบิดาก็ตายจากไป
ธรรมดาลูกๆมักจะเชื่อฟังคำสั่งสุดท้ายของบิดามารดา สิงคาลกะก็เช่นเดียวกัน หลังจากงานศพของบิดาเสร็จแล้ว ทุกเช้าเขาจะมีผ้าเปียกและผมเปียกชุ่มน้ำ ทำพิธีบูชาทิศทั้งหก วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จผ่านมาเห็นเขาทำพิธีบูชาทิศทั้งหกอย่างนอบน้อมจึงตรัสถาม เมื่อสิงคาลกะตอบว่าท่านได้ทำตามที่บิดาสั่งไว้ก่อนตาย พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ในวินัยของพระอริยเจ้าเขาไม่นอบน้อมทิศอย่างนี้” สิงคาลกะเองก็ไม่รู้ความหมายว่าที่ตนเองทำนั้นถูกต้องหรือไม่ ได้แต่ทำไปตามความรู้สึกของตนเองเท่านั้น จึงเกิดความสนใจ ทูลถามพระองค์ว่า “ในวินัยของพระอริยเจ้า เขานอบน้อมทิศอย่างไรพระเจ้าข้า”
พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงเรื่องทิศหกแก่สิงคาลกะ มีรายละเอียดอยู่ในสิงคาลกะสูตร แต่พอจะย่อสรุปความได้ดังนี้คือ ทิศหกนั้นไม่ใช่หมายถึงทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ฯลฯ อย่างที่เราเข้าใจท่านั้น แต่หมายถึงบุคคลประจำทิศต่างๆ โดยมีตัวเราเป็นศูนย์กลาง คือ
1. ทิศเบื้องหน้าคือทิศตะวันออกได้แก่ บิดามารดา
2. ทิศเบื้องขวาคือทิศใต้ได้แก่ ครูบาอาจารย์
3. ทิศเบื้องหลังคือทิศตะวันตกได้แก่ ภรรยา(สามี) บุตร
4. ทิศเบื้องซ้ายคือทิศเหนือได้แก่ ญาติ มิตรสหาย
5. ทิศเบื้องล่างได้แก่ คนรับใช้ หรือคนที่เราจ้างมาช่วยงาน
6. ทิศเบื้องบนได้แก่ สมณะ หรือผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสูงด้วยคุณธรรมและเป็นผู้นำทางจิตใจ
*1. ปุรัตถิมทิศ (ทิศเบื้องหน้า คือ ทิศตะวันออก ได้แก่ มารดาบิดา เพราะเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก่อน
ก. บุตรธิดาพึงบำรุงมารดาบิดา ผู้เป็นทิศเบื้องหน้า ดังนี้
1) ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
2) ช่วยทำการงานของท่าน
3) ดำรงวงศ์สกุล
4) ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
5) เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
ข. บิดามารดาย่อมอนุเคราะห์บุตรธิดา ดังนี้
1) ห้ามปรามจากความชั่ว
2) ให้ตั้งอยู่ในความดี
3) ให้ศึกษาศิลปวิทยา
4) หาคู่ครองที่สมควรให้
5) มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร
2. ทักขิณทิศ (ทิศเบื้องขวา คือ ทิศใต้ ได้แก่ ครูอาจารย์ เพราะเป็นทักขิไณยบุคคล ควรแก่การบูชาคุณ
ก. ศิษย์พึงบำรุงครูอาจารย์ ผู้เป็นทิศเบื้องขวา ดังนี้
1) ลุกต้อนรับ
2) เข้าไปหา (เพื่อบำรุง คอยรับใช้ ปรึกษา และรับคำแนะนำ เป็นต้น)๒
3) ใฝ่ใจเรียน (คือ มีใจรัก เรียนด้วยศรัทธา และรู้จักฟังให้เกิดปัญญา)๓
4) ปรนนิบัติ ช่วยบริการ
5) เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ (คือ เอาจริงเอาจัง ถือเป็นกิจสำคัญ)
ข. ครูอาจารย์ย่อมอนุเคราะห์ศิษย์ ดังนี้
1) ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี
2) สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
3) สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
4) ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ
5) สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ (สอนฝึกให้รู้จักเลี้ยงตัวรักษาตนในอันที่จะดำเนินชีวิตต่อไป
ด้วยดี
3. ปัจฉิมทิศ (ทิศเบื้องหลัง ทิศตะวันตก ได้แก่ บุตรภรรยา เพราะติดตามเป็นกำลังสนับสนุนอยู่ข้างหลัง -
ก. สามีบำรุงภรรยา ผู้เป็นทิศเบื้องหลัง ดังนี้
1) ยกย่องให้เกียรติสมกับฐานะที่เป็นภรรยา
2) ไม่ดูหมิ่น
3) ไม่นอกใจ
4) มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้
5) หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส
ข. ภรรยาย่อมอนุเคราะห์สามี ดังนี้
1) จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
2) สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
3) ไม่นอกใจ
4) รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
5) ขยันไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง
4. อุตตรทิศ (ทิศเบื้องซ้าย ทิศเหนือ ได้แก่ มิตรสหาย เพราะเป็นผู้ช่วยให้ข้ามพ้นอุปสรรคภัยอันตราย และเป็นกำลังสนับสนุน ให้บรรลุความสำเร็จ
ก. บุคคลพึงบำรุงมิตรสหาย ผู้เป็นทิศเบื้องซ้าย ดังนี้
1) เผื่อแผ่แบ่งปัน
2) พูดจามีน้ำใจ
3) ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
4) มีตนเสมอ ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน
5) ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน
ข. มิตรสหายย่อมอนุเคราะห์ตอบ ดังนี้
1) เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน
2) เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน
3) ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้
4) ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก
5) นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร
5. เหฏฐิมทิศ (ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ คนรับใช้และคนงาน เพราะเป็นผู้ช่วยทำการงานต่างๆ เป็นฐานกำลังให้
ก. นายพึงบำรุงคนรับใช้และคนงาน ผู้เป็นทิศเบื้องล่าง ดังนี้
1) จัดการงานให้ทำตามความเหมาะสมกับกำลังความสามารถ
2) ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่
3) จัดสวัสดิการดี มีช่วยรักษาพยาบาลให้ยามเจ็บไข้ เป็นต้น
4) ได้ของแปลกๆ พิเศษมา ก็แบ่งปันให้
5) ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสอันควร
ข. คนรับใช้และคนงานย่อมอนุเคราะห์นาย ดังนี้
1) เริ่มทำการงานก่อนนาย
2) เลิกงานทีหลังนาย
3) ถือเอาแต่ของที่นายให้
4) ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
5) นำเกียรติคุณของนายไปเผยแพร่
6. อุปริมทิศ (ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์ คือ พระสงฆ์ เพราะเป็นผู้สูงด้วยคุณธรรม และเป็นผู้นำทางจิตใจ
ก. คฤหัสถ์ย่อมบำรุงพระสงฆ์ ผู้เป็นทิศเบื้องบน ดังนี้
1) จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา
2) จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
3) จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
4) ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
5) อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย 4
ข. พระสงฆ์ย่อมอนุเคราะห์คฤหัสถ์ ดังนี้
1) ห้ามปรามจากความชั่ว
2) ให้ตั้งอยู่ในความดี
3) อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี
4) ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
5) ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง
6) บอกทางสวรรค์ คือทางชีวิตที่มีความสุขความเจริญให้ **
การที่เราได้แยกแยะบุคคลตามทิศต่างๆตามฐานะและหน้าที่ของบุคคลนั้นๆทำให้เราได้เห็นว่าในความเป็นจริงนั้นเรามิได้อยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง ความเป็นไปในการดำเนินชีวิตนั้นคนที่มีความสำคัญกับเรามีถึงหกกลุ่มด้วยกัน เราควรให้ความสำคัญและบริหารความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องในแต่ละทิศให้เหมาะสม ผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้นี้ชื่อว่า ปกปักรักษาทั่วทุกทิศให้เป็นแดนเกษมสุขปลอดภัย คือดำเนินชีวิตได้ด้วยความมั่นใจไม่รู้สึกว้าเหว่ เงียบเหงาอยู่คนเดียว
ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันโลกเรานี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นมากมายกว่าแต่ก่อนมาก แต่ความสุขของผู้คนกลับไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งดูได้จากคนที่เป็นโรคจิตมากขึ้น มีคนคิดสั้นฆ่าตัวตายมากขึ้น ตามสถิติในประเทศเราทุกสองชั่วโมงจะมีคนฆ่าตัวตายหนึ่งคน ซึ่งนับว่าสูงมาก หากเราไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ไม่ให้ชีวิตเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่นการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป เราก็จะทำใจให้หนักแน่นมั่นคงได้เร็วขึ้น เพราะแม้จะสูญเสียไปทิศหนึ่งแต่ก็ยังมีอีกถึงห้าทิศที่ยังอยู่
ข้อความจาก * ถึง ** คัดจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
ไม่มีความเห็น