เรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้นำในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ มีโอกาสได้ไปเรียนรู้จาก "กูรู" เรื่องการปลูกสวนป่า ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์ที่ได้รับรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ ประจำปี ๒๕๕๐ (ที่นี่) ใครยังไม่รู้จักท่านลองสืบค้นออนไลน์ จะพบได้ไม่ยากเลยครับ เพราะเท่าที่ผมค้นดู ท่านเป็น "กูรู" ประเภท "กูรูบอก" (คือ ผู้รู้ที่เป็นบล็อกเกอร์) ที่มีผลงานทั้งเก่าใหม่ไม่ขาดสาย ผู้สนใจสามารถติดตามงานเขียนของท่าน (ท่านเขียนทุกวัน) ได้ที่หน้าเฟส Sutthinun Pratchayapruet

ความจริงการไปเยี่ยมท่านครั้งนี้ ไม่ได้มีเป้าหมายจะไปเรียนรู้เรื่องป่าของปราชญ์ผู้ใหญ่ แต่ที่ตั้งใจคือไปเรียนรู้หลักสูตร "ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร" ของสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งวันที่ ๕-๖ มิ.ย. นี้ท่านคณบดีและคณะอาจารย์มาใช้พื้นที่มหาชีวาลัย เป็นแหล่งเรียนรู้ภาคสนามสำหรับนิสิต ชั้นปี ๒ ของหลักสูตรฯ ผมทราบเรื่องจากครูบาสุธินันท์ทางโทรศัพท์หลังจากเรียนท่านว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคามประสงค์จะพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนาผู้นำด้านการขับเคลื่อน "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ในระดับปริญญาตรี ท่านบอกผมว่า ไม่ต้องไปเริ่มใหม่.. มาเรียนรู้จากคนที่เขาทำมาก่อน แล้วย้อนกลับไปพัฒนาในบริบทของตน จะเห็นผลเร็วกว่า นอกจากนี้ท่านยังเสนอแนะให้ทำ MOU ร่วมกันหลายๆ ฝ่าย เช่น จุฬาฯ มมส. มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิมั่นพัฒนา เป็นต้น

ผมมีโอกาสได้รู้จักกับผู้ใหญ่ของธนาคารไทยพานิชย์ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับ CSR และการอุดหนุนทางการศึกษา หลังจากเล่าความตั้งใจของมหาวิทยาลัยที่จะสร้างหลักสูตร "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ขึ้นในมหาวิทยาลัยให้ท่านฟัง ท่านติดต่อไปยังท่านอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทันที ท่านอาจารย์ก็เอื้ออำนวยส่งไฟล์หลักสูตรให้ทันทีเช่นกัน ขอบพระคุณท่านไว้นะโอกาสนี้ด้วยครับ

จนเป็นที่มาของวันนี้ ที่ผมได้มีโอกาสสนทนาเรียนถามท่านคณบดีสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.คณิศักดิ์ อรวีระกุล ผู้รับผิดชอบหลักสูตรฯ นี้ แม้ท่านจะอธิบายเพียงรอบเดียวเกี่ยวกับความมาของการพัฒนาหลักสูตรและความเป็นไปของการผลิตบัณฑิต แต่ผมมั่นใจว่าเข้าใจในหลักคิดของการพัฒนาหลักสูตรนี้ ไม่ใช่เพราะผมฟังดี แต่เป็นเพราะวิธีที่ท่านอธิบายของท่าน เป็นลำดับขั้นตอน เชื่อมโยงร้อยเรียงได้อย่างเยี่ยมยิ่ง

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร


ก่อนที่จะเล่าให้ฟังบทถอดความจากการเล่าเรื่องของท่านคณบดี ขอคัดลอกส่วนสำคัญๆ ของหลักสูตรฯ คือปรัชญา วัตถุประสงค์ มาไว้ตรงนี้ดังนี้ครับ

ปรัชญา

มุ่งพัฒนาการศึกษาสหสาขาวิชาบูรณาการการเรียนการสอน ผู้เรียนต้องได้รับโอกาสให้ฝึกปฏิบัติ ทดลอง และแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่จริงมากกว่าการเรียนในห้องเรียน ทั้งนี้ บัณฑิตต้องมีคุณลักษณะเฉพาะที่พร้อมเพื่อเป็นผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ในการเป็น ผู้ประกอบการด้านอาหารและการเกษตรรุ่นใหม่ระดับชุมชน ( Agricultural entrepreneur)” หรือเป็น ผู้นำท้องถิ่นรุ่นใหม่เพื่อการปฏิรูประบบการผลิตการเกษตรและการอาหารในระดับชุมชน

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

  • เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถรู้รอบใน ศาสตร์และศิลป์ของห่วงโซ่คุณค่าระบบการผลิตอาหาร ตั้งแต่กระบวนการสรรหาวัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต ขั้นตอนการแปรรูป การจัดการการขนส่ง การค้า การตลาด
  • เพื่อพัฒนาทักษะและความคิดวิเคราะห์ลงสู่การปฏิบัติจริง ในการเป็นผู้ประกอบการกิจการด้านอาหารและการเกษตร ( Agricultural entrepreneur)
  • ปลูกฝังให้มีจิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านความปลอดภัย ความมั่นคงทางอาหาร ด้วยมาตรฐานการผลิตและการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
  • มีความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาและการสืบค้นความรู้ และมีความใฝ่รู้ตลอดชีวิต

คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบัณฑิต

บัณฑิตที่พึงประสงค์ต้องเพียบพร้อมด้วยคุณลักษณะบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเสริมด้วย ใจรักที่จะปฏิบัติงานในพื้นที่ระดับชุมชนของประเทศ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาความสามารถของเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ และ พร้อมที่จะพัฒนาตนเองเป็นผู้ประกอบการกิจการด้านอาหารและเกษตรกรรมรุ่นใหม่ของประเทศ มีความรู้รอบใน ศาสตร์และศิลป์ของห่วงโซ่คุณค่าระบบการผลิตอาหาร ที่มีทักษะและความคิดวิเคราะห์ลงสู่การปฏิบัติจริง มีจิตวิญญาณการเป็นผู้ประกอบการกิจการด้านอาหารและการเกษตร ( Agricultural entrepreneur) ด้วยการสร้างงานของตนเอง มีขีดความสามารถทางการบริหารจัดการควบคู่ ไปกับจิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านความปลอดภัย ความมั่นคงทางอาหาร ด้วยมาตรฐานการผลิตและการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาและการสืบค้นความรู้ และมีความใฝ่รู้ตลอดชีวิต

ถอดความจากเรื่องเล่าของท่านคณบดี

ผมฟังว่า...

เบื้องแรกของความคิดออกมาจากจิตสำนึกรับผิดชอบของผู้ใหญ่คืออธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่จุฬาฯ ยังไม่ได้มีส่วนช่วยพัฒนาบัณฑิตที่จะออกไปเป็นที่พึ่งด้านการเกษตรเลย จึงได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์อรรณพ คุณาวงษ์กฤต เป็นหัวเรือใหญ่ในการพัฒนาหลักสูตรนี้ กระบวนการร่างหลักสูตรฯ จึงเกิดขึ้น เริ่มจากการระดม "ผู้รู้" กลุ่มหนึ่งมา ระดมสมองว่า "หากจุฬาฯ จะเล่นเรื่องเกษตร จะทำเรื่องอะไร จะไปทางไหน..."

เมื่อสำรวจปัญหาด้านการเกษตรของไทย พบว่าเกษตรกรไทยนั้นขาดปัญญาและความสามารถด้านการค้าหรือการพาณิชย์ เกษตรกรไทยขาดความเข้าใจเรื่อง "ห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าการเกษตร" ที่ประกอบด้วยการผลิต การแปรรูป และการค้าการตลาด หากจะแก้ปัญหานี้ ต้องสร้างเกษตรกรยุคใหม่ที่เข้าใจห่วงโซ่คุณค่าของสินค้าการเกษตรทั้งหมด อะไรที่ผู้แปลรูปรู้ เกษตรกรต้องรู้ อะไรที่พ่อค้ารู้ เกษตรกรต้องรู ้ เกษตรกรต้องรู้เรื่องลอจิสติก (logistic system) เรื่องการแปรรูป การตลาด การค้าขาย บัญชี และศาสตร์ด้านการบริหารจัดการ ดังนั้นคุณลักษณ์ของบัณฑิตที่พึงประสงค์จึงต้องสมดุลอยู่ตรงกลางระหว่าง "วิทยาศาสตรบัณฑิต" และ "ศิลปศาสตรบัณฑิต" หรือก็คือต้องมีทั้งศาสตร์ด้านการผลิตและการแปรรูป และศิลปะของการค้าขายและการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้น่าซื้อ

"...เมื่อมาพิจารณาพบว่า คนที่รู้ลึกเรื่องศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ก็มี คนที่รู้เกี่ยวกับศาสตร์เกี่ยวกับการค้าและการจัดการซึ่งเป็นศิลปศาสตร์ ดังนั้น จึงน่าจะต้องหาความสมดุลระหว่างทั้งสองด้านครึ่งต่อครึ่ง ดังนั้นนิสิตจึงต้องเรียนทั้งสองศาสตร์ ได้แก่ พืชสวน พืชไร่ ปศุสัตว์ การจัดการฟาร์มพืชฟาร์มสัตว์ หลักการแปรรูปผลิตผลจากพืชจากสัตว์ แปรรูปได้ แล้วก็ต่อด้วยการนำไปขาย การหาตลาด และ การสร้างแบลนด์หรือคุณภาพของสินค้าให้น่าซื้อน่าใช้ โดยจัดการเรียนรู้ตามไลน์แบบนี้ เช่น วันนี้ที่มาเรียนรู้มหาชีวาลัยนี้ก็เกี่ยวกับการจัดการ บัณฑิตเหล่านี้ ต้องออกมาเป็นผู้ประกอบการ เป็นผู้จัดการสินค้าเกษตรชุมชน..."

อีกประการสำคัญของคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์คือ ต้องเป็นเกษตรกรผู้ประกอบการผู้นำชุมชน เป็นนักจัดการทรัพยากรชุมชน ซึ่งต้องเป็นคนที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อชุมชน ดังนั้นความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นเรื่องจำเป็น ศาสตร์พระราชาเกี่ยวกับการน้อมนำไปใช้ด้านการเกษตร เกษตรผสมผสาน เกษตรประณีต เกษตรอินทรีย์ เกษตรสีเขียว หรือการเกษตรแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมๆกับการปลูกฝังจิตสำนึกและจิตวิญญาณของความรักบ้านเกิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องรับนิสิตมาปลูกฝังใหม่ตั้งแต่ต้น ไม่สามารถที่จะรับคนที่เรียนจบหลักสูตรการเกษตรทั่วไปมาต่อยอดได้

"...จึงต้องใส่ความรู้เกี่ยวกับเรื่องชุมชน เรื่อง "พอเพียง" เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทร์ย์ เกษตรสีเขียว หรือเกษตรแบบเป็นมิตร จึงเข้ามา เพื่อมุ่งปลูกฝังคนที่มีจิตวิญญาณสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน
กระบวนการเกี่ยวกับการเรียนการสอนจึงต้อง เริ่มรับมาปลูกฝังเองตั้งแต่แรก ไม่ใช่รับบัณฑิตจบเกษตรเข้ามาต่อยอด..."

"...อีกอันหนึ่งที่มันหายไปคือ ความเป็นชุมชน เราต้องปลูกฝังนิสิตให้เคารพทั้งมิติวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชุมชน โดยให้รู้อย่างเท่าทันประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ ที่ชุมชนทำอยู่ เช่น พิธีแรกนาขวัญ เรื่องการบูชาพระแมโพสพตั้งท้อง ทำขวัญข้าว ฯลฯ นิสิตต้องรับรู้และเข้าใจเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ ว่าเราทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้งมงาย แต่เป็นกุศโลบายสอนให้ลูกหลานใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเคารพ ทำอย่างไรถึงจะอยู่ได้นาน ต้องอนุรักษ์ จิตสำนึกอนุรักษ์ต้องมี..."


การรับนิสิต

จุฬาฯ รับนิสิตเข้าสู่หลักสูตรนี้ปีละประมาณ ๕๐ คน ทุกคนมีทุนการศึกษาในรูปแบบต่างๆ จุฬาฯเองจะุอุดหนุนทุนการศึกษาให้กับนิสิตทันที ๒๐ ทุน ผมเข้าใจว่าส่วนที่เหลือมาจากการอุดหนุนจากเงินทุนจากภาคีต่างๆ

ทราบว่าปีนี้ (๒๕๕๘) เป็นปีแรกที่มีบัณฑิตสำเร็จการศึกษา สองปีการศึกษาที่ผ่านมา มีการจำกัดว่า นิสิตที่จะมาเรียนต้องเกี่ยวข้องกับเกษตรกร เช่น เป็นบุตรหลานเกษตรกร มีพื้นที่แปลงเกษตรที่จะกลับไปทำหลังสำเร็จการศึกษา เพื่อมุ่งพุ่งเป้าไปยังกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ให้มากขึ้น

กระบวนการรับเข้า รับเอาผ่านระบบสอบโควต้ารับตรงปกติของมหาวิทยาลัย แต่ละปีมีผู้สนใจเข้ามาสมัครเยอะกว่ากำหนดมาก มีกระบวนสอบสัมภาษณ์ที่เข้มข้น และมีการลงไปเยี่ยมบ้านเยี่ยมแปลงนาสวนของนิสิตทุกคน

เนื่องจากแปลงฝึกของหลักสูตรฯ อยู่ที่ศูนย์การเรียนรู้ที่จังหวัดน่าน ดังนั้น นิสิตกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จึงมุ่งไปยังพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือเป็นหลัก

การจัดการเรียนรู้

ชั้นปีที่ ๑ นิสิตทั้งหมดจะมาเรียนวิชาพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งวิชาศึกษาทั่วไป ที่กรุงเทพฯ ปี ๒-๔ ลงไปประจำที่ศูนย์การเรียนรู้จังหวัดน่าน โดยระบบการเรียนการสอนทางไกล ออนไลน์ ชั้นปี ๒ จะมีการศึกษาดูงาน และตระเวนเรียนรู้ทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่แปรรูปไปถึงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั่วประเทศ ปี ๓-๔ นิสิตทุกคนต้องเป็นผู้ประกอบการเอง

ส่วนสาเหตุและความเหมาะสมของสถานที่ ท่านคณบดีเล่าให้ฟังว่า

"...เมื่อชัดว่าบัณฑิตที่พึงประสงค์เป็นแบบนี้ จึงมองหาวิธีในการจัดการเรียนการสอน พอดีว่าจุฬาฯ มีศูนย์การเรียนรู้อยู่ที่จังหวัดน่าน ซึ่งมีแผนว่าจะพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัยน่าน แต่ตอนหลังเมื่อมี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเกิดขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องสานต่อตามแผนนั้น กอปรกับจังหวัดน่านมีบริบทปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารของจังหวัดน่าน นำเข้าอาหารเกือบทั้งหมด

ถ้าไม่มีใครส่งไข่ไก่ให้ ไข่จะหมดใน ๓ วัน จะไม่มีข้าวมันไก่กินใน ๒ วัน ในจังหวัดปลูกเฉพาะเข้าโพดไว้เลี้ยงสัตว์เท่านั้น และสร้างปัญหาทำลายป่าทำให้เขาโล้นไปเรื่อยๆ แต่มีจุดเด่นเรื่องความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม เช่น ชมรมคนเมืองน่าน เข้ามาร่วมกัน..."

เกี่ยวกับอาจารย์

ท่านคณบดีบอกว่า ตอนทำหลักสูตรแรกๆ ทางจุฬาฯ ก็ระดมอาจารย์จากหลายๆ สาขามาร่วมกันคิด เชิญอาจารย์ทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกษตร พบว่ามีอาจารย์กว่า ๒๐๐ คน เข้ามาร่วมกันคิดร่วมกันทำ อย่างไรก็ดีสำนักวิชาพัฒนาทรัพยากรก็มีคณาจารย์ประจำที่รับผิดชอบหลักสูตรนี้โดยตรงด้วย ท่านบอกว่า

"...หลักสูตรฯ มีอาจารย์ประจำหลักสูตรของเราเอง เพราะสิ่งสำคัญคือต้องมีอาจารย์ที่เป็นต้นแบบ เป็นแบบอย่าง หากได้อาจารย์ที่มีจิตวิญญาณและมีความคิดที่จะกลับคืนท้องถิ่นด้วย จุฬาฯ โชคดีที่คณาจารย์ในหลักสูตรเป็นแบบนี้เกือบทั้งหมด..."


สุดท้ายต้องขอขอบพระคุณท่านคณบดีและอาจารย์ติ๊ก (ขออภัยที่เรียกนามชื่อเล่น) แค่เพียงเวลาสั้นที่ได้สนทนากัน ผมก็สัมผัสได้ถึงความเมตตาและความตั้งใจจริงที่จะผลิตบัณฑิตใหม่ที่จะเป็นอนาคตของชาติไทยอย่างเต็มที่

ผมบอกท่านคณบดีว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีปณิธานที่แน่วแน่ ที่จะสร้างบัณฑิตที่มีหลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง และมีจิตสำนึกตามปรัชญา เป็น"ผู้มีปัญญา" ให้เป็นที่พึ่งของชุมชนและสังคม




หมายเลขบันทึก: 590980เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2015 00:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2015 00:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท