ว่าด้วยการกีฬากับท้องถิ่น


ว่าด้วยการกีฬากับท้องถิ่น

21 พฤษภาคม 2558

สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ [1]

ความสำคัญของการกีฬา

พระบรมราโชวาทในวันเปิดการแข่งขันกรีฑานักเรียน ประจำปี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 ว่า

"…การกีฬานั้นนับเป็นอุปกรณ์การศึกษาที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการกล่อมเกลาให้เด็กมีจิตใจอดทน กล้าหาญ รู้แพ้รู้ชนะ ปลูกฝังพลานามัยให้แข็งแรง เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้มีสมรรถภาพ ทั้งในทางจิตใจและร่างกายเป็นผลสืบเนื่องไปถึงการเป็นพลเมืองของชาติอันเป็นยอดแห่งความปรารถนา…"

ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้จัดทำ "แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2555-2559)"

ด้วยคุณค่าของกีฬา ในการ "เป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาคนทั้งร่างกายและจิตใจ" เพื่อให้คนไทยได้รับการส่งเสริมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างถูกต้องจนเป็นวิถีชีวิต มีสุขภาพและสมรรถภาพที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีน้ำใจนักกีฬาเพื่อหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว สู่ความสามัคคีและสมานฉันท์ มีการบริหารจัดการกีฬาทุกมิติอย่างเป็นระบบ โดยใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาพัฒนาศักยภาพนักกีฬาสู่ความเป็นเลิศอย่างมีมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งให้การกีฬาเป็นแหล่งสร้างรายได้ สร้างอาชีพ…

อำนาจหน้าที่ท้องถิ่นด้านการกีฬา

พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496

มาตรา 50 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลตำบลมีหน้าที่ต้องทำในเขตเทศบาลดังต่อไปนี้ …

(7) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

(8) บำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น…

มาตรา 54 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เทศบาลเมืองอาจจัดทำกิจการใดๆ ในเขตเทศบาล ดังต่อไปนี้ …

(9) ให้มีและบำรุงสถานที่สำหรับการกีฬาและพลศึกษา

พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537

มาตรา 68 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย องค์การบริหารส่วนตำบลอาจจัดทำกิจการในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ดังต่อไปนี้ …

(4) ให้มีและบำรุงสถานที่ประชุม การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจและสวนสาธารณะ

อบจ.

พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540

มาตรา 45 องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการภายในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังต่อไปนี้…

(7 ทวิ) บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น

(ไม่มีบทบัญญัติให้ อบจ. มีอำนาจหน้าที่ด้านการกีฬาไว้แต่อย่างใด)

พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542

มาตรา 16 ให้เทศบาล เมืองพัทยา และองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองดังนี้ …

(14) การส่งเสริมกีฬา

การกีฬาที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับท้องถิ่น

จากอำนาจหน้าที่ของท้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงแยกความสัมพันธ์ของท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการกีฬาได้เป็น 3 แบบ คือ

(1) แบบท้องถิ่นชุมชนสัมพันธ์

(2) แบบเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะกิจอื่น เช่น ต่อต้านยาเสพติด ผู้สูงอายุ

(3) แบบสากล

(1) การกีฬาแบบท้องถิ่นชุมชนสัมพันธ์

ในรูปแบบนี้ อปท. จะเป็นผู้จัดกิจกรรมการกีฬาเอง แม้ อปท. จะไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการกีฬา ยกเว้น "เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร"

ฉะนั้น อบจ. เทศบาลตำบล และ อบต. จึงไม่มีอำนาจหน้าที่จัดการด้านกีฬาได้โดยตรง แต่ ในลักษณะของชุมชนสัมพันธ์ มักมีกิจกรรมของการกีฬาสอดแทรกไปกับการจัดกิจกรรมชุมชนของท้องถิ่นในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่

งานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานประเพณีสงกรานต์ งานประเพณีชักพระ งานประเพณีแข่งเรือ ฯลฯ อาจมีกีฬา ซึ่งอาจเป็น ประเภทกีฬาสากล กีฬาไทย หรือกีฬาพื้นบ้าน (กีฬาพื้นเมือง) เพื่อความสมัครสามัคคี การรื่นเริงในงานฯ

งานวันท้องถิ่นไทย ก็อาจมีกิจกรรมการกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง อปท.

งานเทศกาลต่าง ๆ เฉพาะถิ่น เช่น งานเทศกาลไหมงานเทศกาลผลไม้

(2) การกีฬาแบบเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะกิจอื่น

เช่น การกีฬาเพื่อต่อต้านยาเสพติด การกีฬาของผู้สูงอายุ การกีฬาของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) การกีฬาของกลุ่มสตรีแม่บ้าน หรือ การกีฬาของโรงเรียนในสังกัด อปท. เป็นต้น

โดยมีวัตถุประสงค์คล้ายกับข้อ (1) คือเพื่อความสมัครสมานสามัคคี รื่นเริง แฝงไว้ด้วยการส่งเสริมสุขภาพ การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ของเยาวชน การต่อต้านยาเสพติด ฯลฯ เป็นต้น

(3) การกีฬาแบบสากล

เป็นการสั่งการจากหน่วยเหนือ ที่จัดการแข่งขันโดย อำเภอ จังหวัด หรือ ราชการส่วนกลาง การกีฬาแห่งประเทศไทย องค์กรเอกชน ต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นการแข่งขันกีฬาในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับเขต ระดับภาค ฯลฯ ในลักษณะนี้ อปท. จะเป็นผู้ส่งนักกีฬาไปเข้าร่วมการแข่งขัน

ซึ่งการกีฬาในรูปแบบนี้จะเป็นการส่งเสริม นักกีฬาช้างเผือก จากชุมชน หมู่บ้านสู่ตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศฉะนั้น จึงอาจมีนักกีฬาฝีมือดี ๆ จากชุมชนหมู่บ้าน ก้าวเข้าไปสู่ระดับชาติ และ ระดับโลกในสากลได้

นอกจากนี้พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา (2558) [2] ยังมีความปรารถนาให้ "คนรุ่นใหม่" ฝันอยากเห็นภาพลักษณ์การกีฬาไทยต้องไม่มี "คอรัปชั่น" และต้องทำงานอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยเฉพาะการคัดเลือกนักกีฬา และสมควรตั้งกระทรวงกีฬาขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อรับผิดชอบด้านการกีฬาของประเทศ

มีข้อสังเกตในการดำเนินการด้านการกีฬาของ อปท. โดยเฉพาะเรื่อง "งบประมาณ"

(1) การตรวจสอบงบประมาณการจัดการกีฬาของท้องถิ่น มีการใช้จ่ายงบประมาณฟุ่มเฟือย โดยไม่จำเป็น รายจ่ายหลาย ๆ อย่าง มักแฝงไปในรูปของ งบประมาณสิ้นเปลือง หาเสียง หาคะแนนนิยม สนุกสนาน รื่นเริง แก่ชุมชน ในลักษณะของ "งบประชานิยม" หรือเป็นรายจ่ายงบประมาณที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้โดยตรง แต่ด้วยนโยบายของผู้บริหารท้องถิ่นดังกล่าว จึงอาจมีการเบิกจ่ายงบประมร "แบบถัวจ่าย" ซึ่งเป็นการเพ่งเล็งจับผิดของ สตง.ได้ง่าย

(2) จากอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย อปท. ยกเว้น เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ไม่สามารถที่จะจัดการกีฬาด้วยตนเองได้

(3) ปัญหาเรื่องงบประมาณอุดหนุนการกีฬาแก่หน่วยงานอื่น หรือ องค์กรอื่นก็เช่นเดียวกัน เมื่อปรากฏว่า อปท. (ยกเว้น เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร) ไม่มีอำนาจหน้าที่ด้านการกีฬา ก็จึงไม่สามารถ "อุดหนุนงบประมาณ" แก่ หน่วยงานอื่น หรือ องค์กรอื่นได้หากมีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบก็อาจถูกโต้แย้ง เรียกเงินคืนจาก สตง. ได้ ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ตามข่าวสื่อมวลชนทั่วไปที่ อบจ.ชัยนาท อุดหนุนสมาคมการกีฬาไม่ถูกต้อง [3] เป็นต้น

(4) อำนาจหน้าที่ของ อปท. ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 นั้น ได้มีการวินิจฉัยว่า จะต้องมีการถ่ายโอนภารกิจให้แก่ อปท. เสียก่อน จึงจะถือว่า อปท. มีอำนาจหน้าที่ในการนั้น ๆ


[1] สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, ข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม 2558,ปีที่ 65 ฉบับที่ 22669, หน้า 10, ‪#‎บทความพิเศษ‬ : ‪#‎ว่าด้วยการกีฬากับท้องถิ่น & สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ คอลัมน์ เจาะประเด็นร้อนอปท.: ว่าด้วยการกีฬากับท้องถิ่น, วันศุกร์ที่ 22 - พฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2558 ปีที่ 62 ฉบับที่ 36 หน้า 80

[2] "คนรุ่นใหม่" ฝันเห็นกีฬาไทยไร้ "คอรัปชั่น", เดลินิวส์, 21 มีนาคม 2558,

http://www.dailynews.co.th/sports/309120

[3] ชัยนาทงานเข้าสตง.เรียกเก็บเงินคืน50ล. , 21 มิถุนายน 2555, http://www.siamsport.co.th/Sport_Football/120621_321.html

หมายเลขบันทึก: 590420เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2015 00:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2015 01:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

...กีฬาเพื่อการออกกำลังกาย ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกเพศ ทุกวัยตามความชอบความถนัด สามารถส่งเสริมพัฒนาให้ผู้ออกกำลังกายในกีฬานั้นๆได้พัฒนาศักยภาพของตนเองให้ดีขึ้นจนนำไปใช้เป็นอาชีพได้ ที่สำคัญมีสถานที่สำหรับเล่นกีฬาเพื่อการออกกำลังกาย อย่างเพียงพอ ...แต่การกีฬาเมืองไทยเข้าถึงยากมาก...ผู้ที่จะเป็นนักกีฬาซึ่งมีไม่มากจากคนทั้งประเทศต้องมีความสามารถ มีความพร้อม มีเงินสนับสนุน มีค่าดำเนินการต่างๆมากมายนะคะ...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท