การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานท้องถิ่น


การเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานท้องถิ่น

14 พฤษภาคม 2558

สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ [1]

เมื่อกล่าวถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานภาครัฐ ซึ่งมีเทคนิคการบริหารหนึ่งที่ทางราชการใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการ วัดผลประสิทธิภาพของหน่วยงาน [2] นั่นคือ เทคนิค Balanced Scorecard (BSC) หรือ ระบบหรือกระบวนในการบริหารงานชนิดหนึ่งที่อาศัยการกำหนดตัวชี้วัด Key Performance Indicator (KPI) เป็นกลไกสำคัญ [3] โดยอาศัยการวัดหรือประเมิน (Measurement) เป็นหลัก ซึ่งหลักการนี้นำไปใช้แก่ "ส่วนราชการ" โดยทั่วไป รวมถึงองค์กรบริหารท้องถิ่น (อบท.) หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือราชการบริหารส่วนท้องถิ่นด้วย

เทคนิค Balanced Scorecard (BSC) มีดัชนีชี้วัดที่สำคัญอยู่ 4 ประการ ได้แก่

1. การจัดการด้านการเงิน (Financial Perspective)

2. ลูกค้า (Customer Perspective)

3. กระบวนการทำงานในองค์กร (Internal Business Process)

4. การเรียนรู้และการเติบโต (Learning and Growth)

แต่ในการบริหารงานราชการ หรือ ที่เรียกว่า การ "บริการสาธารณะ" (Public Service) [4] นั้น อาจมีข้อจำกัดบางประการในการวัดการประเมินผล เพราะ การบริการสาธารณะขององค์กรภาคราชการ ไม่ได้มีการคิดถึง "ผลกำไรขาดทุน" เหมือนดังเช่นองค์กรภาคธุรกิจ เพราะถือเป็นกิจกรรมที่อยู่ในความอำนวยการของรัฐ และถือเป็นภาระหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัดทำเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนโดยรวม อันเป็น "ผลประโยชนสวนรวมหรือผลประโยชนสาธารณะ" (Public interest) [5] หรือ "ประโยชน์แก่ส่วนรวม" ซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนรวมของคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของกลุ่มใดหรือคนใดโดยเฉพาะ โดยการจัดระเบียบสังคม รักษาความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยให้ประชาชนและสังคมการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิตเพื่อให้ประชาชนมีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นต้น

มีข้อสังเกตเกี่ยวกับประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานภาครัฐในภาพรวม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ อบท. ดังนี้

(1) การแบ่งเบาภาระของส่วนกลางตามหลักการ "กระจายอำนาจ" ให้แก่ท้องถิ่น เป็นสิ่งจำเป็น เพราะหน้าที่หลักของรัฐบาลหรือส่วนกลางมีมากมาย ตามข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป ประการหนึ่งของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) โดยนายอานันท์ ปันยารชุน (2554) ก็คือ [6] ต้องมีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น โดยการถ่ายโอนบทบาทและอำนาจตัดสินใจของราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้แก่ท้องถิ่น โดยรัฐบาลและหน่วยราชการส่วนกลางทำหน้าที่ให้คำแนะนำทางวิชาการและตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่น แทนบทบาทหน้าที่ในการบริหารและการปกครองที่มีอยู่เดิม เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความอิสระและคล่องตัวมากขึ้น สามารถแก้ปัญหาของท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

(2) ความโปร่งใสตรวจสอบได้ในการบริหารงาน ซึ่งเป็นรูปแบบของการบริหารจัดการที่ดี (Good Governance) เป็นสิ่งจำเป็น และภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศก็ต้องมุ่งต่อ "ความรับผิดชอบต่อสังคม" เป็นสำคัญด้วย ( Social Responsibility) [7]

(3) ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสถานะของบุคคล หรือ ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมในกันด้านต่าง ๆ ในทุกมิติ อันเป็นเป้าหมายหลักสำคัญของการปฏิรูปในครั้งนี้ [8] ต้องได้รับการจัดสรร หรือ การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ มีการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่เป็น "รูปธรรม" ชัดเจน จับต้องได้

(4) การวางแผนจัดการเรื่อง "ประชากร" หรือ "พลเมือง" ตามรัฐธรรมนูญในด้านต่าง ๆ เป็นสิ่งจำเป็น เพราะโลกในทศวรรษหน้า บทบาทของประชาชนในภาคประชาสังคม หรือในภาคพลเมือง จะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาสังคม หรือการพัฒนาประเทศชาติมากขึ้น เพราะ ประชาชน หรือพลเมือง เป็นบุคคลรากฐานของพื้นที่พลเมืองในพื้นที่มี "คุณภาพ" "มีความเข้มแข็งและแข็งแกร่ง" ย่อมเป็นรากฐานที่ดีในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ ประกอบกับในองค์ประกอบโครงสร้างของประชากรในอีก 10 ปีข้างหน้า สังคมไทยจะเข้าสู่ "สังคมสูงอายุ" (Aging Society) [9] ที่มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีที่มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก จนถึงร้อยละ 20 ของสัดส่วนประชากรทั้งหมด

(5) ประเด็นสุดท้ายที่ขอฝาก ก็คือ การรักษาภาพพจน์ในสายตาของสังคมโลก ต่อนานาอารยประเทศ เช่น ในเรื่องภาพลักษณ์การเคารพหลักการสิทธิมนุษยชน การให้ความร่วมมือระหว่างประเทศประเทศในการต่อต้านภัยก่อการร้าย รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ในด้านการเป็นแบบอย่างที่ดีต่ออารยประเทศในทุก ๆ ด้าน เช่น การต่อต้านการทุจริต เพื่อส่งเสริม และดึงดูดการลงทุนเป็นต้น

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวคิดเบื้องต้นนี้คงมีส่วนทำให้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทุกคนได้มีมาตรการในการบริหารงานของรัฐโดยเฉพาะท้องถิ่นในการจัดการ "บริการสาธารณะ" ได้มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดีขึ้น


[1] สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, ข่าว นสพ.สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2558 ปีที่ 65 ฉบับที่ 22662 <คอลัมน์การเมืองท้องถิ่น>~หน้า 10 #บทความพิเศษ

[2] สำนักงาน ก.พ., การบริหารงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์, http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/files/POPProvince/2557_1/PM_01a.pdf

[3] กฤษณี มหาวิรุฬห์, "แนวคิดการบริหารแบบ BalancedScorecard", บทความจากวารสารจดหมายข่าว สป.มท. ปีที่ 16 ฉบับที่ 155 พฤศจิกายน 2546 หน้า 28 – 33, http://www.sar.tpad.police.go.th/downloads/dynamic/dynamic-1312751.doc

[4] คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, "บริการสาธารณะ" "Public Service", http://board.pol.cmu.ac.th/download/file.php?id=748

[5]นันทวัฒน์ บรมานันท์, "ความหมายของประโยชน์สาธารณะ." คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 27 ธันวาคม 2547, http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?ID=461 & อุทิศ บัวศรี, "การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม",สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?ID=461

[6] แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.),14 พฤษภาคม 2554, หน้า 357-358

[7] สถาบันพระปกเกล้า, ความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR),

http://ppd.kpi.ac.th/index.php?name=content&main_id=12&page_id=26

[8] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 27 วรรคสอง

[9] มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, "นิยาม: สังคมผู้สูงอายุ", http://www.stou.ac.th/stouonline/lom/data/sec/Lom12/05-01.html

หมายเลขบันทึก: 590220เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 20:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท