ชีวิตที่พอเพียง : ๒๔๑๑. ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศ


..............................ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา การรับจำนำข้าวมีผลสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจครึ่งหนึ่งของการเติบโตทั้งหมด โดยที่รัฐต้องสูญเสียเงิน(ภาษีของเรา) ๗ แสนล้านบาท บวกกับการสร้างสังคมที่มีการคอร์รัปชั่นมโหฬาร................................


วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๘ ผมมีบุญได้รับฟังสรุปสถานภาพของรัฐวิสาหกิจของไทยจากปากของกรรมการ คนร. (คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) ท่านหนึ่ง คือคุณบรรยง พงษ์พานิช ซึ่งที่จริงสื่อได้เผยแพร่แล้วดังตัวอย่าง , , , , ,

ทำให้ผมได้ตระหนักว่าระบบเศรษฐกิจของประเทศเราอ่อนแอและบิดเบี้ยวเพียงใด

เป็นการบริหารระบบเศรษฐกิจของประเทศแบบเน้นผลระยะสั้น หรือกล่าวตรงๆ คือผลทางการเมืองระยะสั้น ของรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ไม่ได้เน้นสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศในระยะยาว สะท้อนภาพของการเมืองที่ทำลายประเทศ มากกว่าทำประโยชน์

นี่คือ "กับดักรายได้ปานกลาง" ตัวใหญ่

เป็นเรื่องของการบริหารระบบเศรษฐกิจมหภาคแบบไร้ประสิทธิภาพ เต็มไปด้วยการผูกขาด และคอร์รัปชั่น

คนร. จึงเสนอตั้ง "องค์กรเจ้าของ" ขึ้นมาดูแลรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมองในมุมหนึ่ง มันสะท้อนว่า บอร์ดของรัฐวิสาหกิจไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ควร เพราะบอร์ดคือกลไกกำกับองค์กรแทน "เจ้าของ" ซึ่งในที่นี้คือสังคมไทย

ผมมองว่า รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่การบริหารงานอ่อนแอสุดๆ นั้น ดำรงอยู่ได้เพราะอ้างว่าทำเพื่อคนจน ผมจึงเสนอโจทย์วิจัย ว่าให้คิดเปรียบเทียบระหว่างรัฐเอาเงินไปหนุนรัฐวิสาหกิจนั้น กับเอาเงินไปอุดหนุนประชาชน กลุ่มที่ต้องการใช้บริการ ให้ไปใช้บริการของคู่แข่งเอกชนที่บริการดีกว่า บริหารงานมีประสิทธิภาพกว่า แบบไหนจะมีผลดีผลเสียแตกต่างกันอย่างไร ทั้งต่อประชาชน และต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

ผมได้ยินว่า รัฐบาลเคยล้างหนี้ให้ ขสมก. มาแล้ว ๒ ครั้ง ครั้งละกว่าสองหมื่นล้าน ขณะนี้มีเสียงเรียกร้องให้ล้างหนี้ ๙.๒ หมื่นล้าน เงินล้างหนี้เหล่านั้น มาจากภาษีของพวกเรานะครับ

ฟังจาก รายการนี้ และข้อมูลอื่น น่าตกใจที่ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจมันปลอมอย่างยิ่ง ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา การรับจำนำข้าวมีผลสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจครึ่งหนึ่งของการเติบโตทั้งหมด โดยที่รัฐต้องสูญเสียเงิน(ภาษีของเรา) ๗ แสนล้านบาท บวกกับการสร้างสังคมที่มีการคอร์รัปชั่นมโหฬาร คือเงิน ๗ แสนล้านบาทนั้น เข้ากระเป๋า "เจ๊" จำนวนมาก

ผมได้เรียนรู้ว่า คอร์รัปชั่นในยุคหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ได้วิวัฒนาการไปมาก มีวิธีการแสดงความ 'ทรงอำนาจ" เป็นเสมือน "ฟีโรโมน" ดึงดูดแนวร่วมเข้ามาเสนอโครงการดำเนินการ ที่ได้ผลประโยชน์มิชอบร่วมกัน แบ่งกันกิน ซึ่งหลายๆ กรณี ประชาชนได้รับประโยชน์ด้วย (อย่างกรณีรับจำนำข้าว) แต่เป็นผลแบบ "ได้กระจุก เสียกระจาย" (คำของคุณบรรยง) คือคนได้ประโยชน์ เป็นส่วนน้อย และในระยะสั้น แต่ก่อผลเสียต่อบ้านเมืองส่วนรวม และในระยะยาว รวมทั้งคนที่ได้ประโยชน์ ระยะสั้น ก็เสียประโยชน์ในระยะยาวด้วย

รัฐวิสาหกิจส่วนหนึ่งอยู่ได้เพราะการผูกขาด ไม่มีคู่แข่งขัน จึงอยู่ได้แม้คุณภาพและประสิทธิภาพต่ำ องค์กรเหล่านี้เป็นแหล่งเพาะเชื้อคอร์รัปชั่น ดังที่เห็นๆ กันอยู่

เป็นระบบที่บ่มเพาะความอ่อนแอ และไร้ความสัตย์ซื่อ ในสังคม


วิจารณ์ พานิช

๘ เม.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 590171เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 12:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท