เขมรแดง...ความทรงจำที่ขมขื่นของชาวกัมพูชา


เขมรแดง...ความทรงจำที่ขมขื่นของชาวกัมพูชา

ประเทศกัมพูชาถือเป็นประเทศใกล้ชิดติดกับชายแดนไทยเราที่ครั้งหนึ่งในชีวิตผมอยากจะแนะนำให้ทุกคนได้ไปเที่ยวสักครั้ง หากพูดถึงประเทศกัมพูชา นครวัดจัดว่าเป็นสถานที่อันดับต้นๆที่หลายคนคิดถึง ผมได้มีโอกาสไปเที่ยวนครวัดช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา (วันที่ 12-14 เมษายน 2558)

การเดินทางครั้งนี้จริงๆแล้วผมตั้งใจอยากไปเยี่ยมชมปราสาทนครวัด สิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 7 ของโลกยุคโบราณ อยากไปดูความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมในดินแดนแถบประเทศที่เราอยู่อาศัยครับ แต่นอกจากการได้เพลิดเพลินไปกับการเดินชมปราสาทหินโบราณต่างๆตามที่โปรแกรมทัวร์จัดไว้แล้ว ผมยังได้รับฟังเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจจากการได้พูดคุยกับไกด์ท้องถิ่นอีกด้วย วันนี้จึงอยากนำสิ่งที่รับรู้มาๆเล่าสู่กันฟังครับ

ช่วงเวลาที่เขมรแดงปกครองกัมพูชาถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศแห่งนี้ เป็นช่วงเวลาที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ความเปลี่ยนแปลงต่างๆเป็นผลจากการที่แนวคิดคอมมิวนิสต์ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อดินแดนแถบนี้

ไกด์ท้องถิ่น(ต่อไปขอเรียกว่าเอ)ที่ผมมีโอกาสได้คุยด้วยก็ถือเป็นดอกผลหนึ่งของแนวคิดคอมมิวนิสต์นี้ โดยเอได้เล่าว่าเขมรแดงได้สร้างกองทัพโดยการประกาศให้ทุกบ้านจะต้องส่งลูกหลานเข้ามาฝึกทหารกับทางกองทัพ เด็กเหล่านี้มีอายุตั้งแต่ไม่ถึง 10 ขวบ ทั้งเด็กชายและเด็กหญิง กองทัพสอนให้เด็กเหล่านี้รู้จักการใช้ปืน การฆ่าคน เหตุผลนึงที่ทางกองทัพเลือกใช้เด็ก เนื่องจากมองว่าเด็กเมื่อถูกสอน ถูกสั่งให้ทำอะไร เด็กเหล่านี้ก็จะทำตามโดยไม่ขัดขืน ไม่รู้สึกผิดหรือเกิดความสงสารในการฆ่าใครให้ตายตามคำสั่ง เนื่องจากเด็กเหล่านี้ถูกอบรม นำมาเข้าค่ายเพื่อล้างสมองให้คิดว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (การสร้างกองทัพแบบเขมรแดงนี้ทำให้เขมรแดงมีกองกำลังมากและเติบโตอย่างรวดเร็ว)

ทหารเหล่านี้เมื่อถึงวัยที่ต้องเจริญพันธุ์ทางกองทัพก็จัดวันนัดบอดให้ โดยจัดสร้างสถานที่มีห้องนอนเรียงเป็นแถว กองทัพจะเป็นคนเลือกคู่ทั้งชายหญิงให้เพื่อพากันเข้าไปมีอะไรกันในห้องที่จัดเตรียมไว้ต่อหน้าคนของกองทัพ หากคู่ไหนไม่ยอมมีอะไรกันจะถูกลงโทษ หากใครนอกใจไปมีคนอื่นก็อาจถูกลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต เมื่อเล่ามาถึงตรงนี้เอก็เล่าว่าพ่อแม่เขาก็ถูกกองทัพเลือกคู่ให้ และทั้งคู่ก็ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันต่อมาจนตายจากกันไป

นอกจากนี้เอยังเล่าอีกว่าแม่เขาก็รอดตายมาได้จากการที่กองทัพต้องการฆ่าคนรู้หนังสือ แม่เขาถูกกองทัพโยนหนังสือให้อ่าน แต่ด้วยไหวพริบของแม่เค้าดีจึงแกล้งอ่านหนังสือกลับหัว ทำให้กองทัพคิดว่าไม่รู้หนังสือจึงปล่อยให้มีชีวิตรอดมาได้

ยุคเขมรแดงต้องการจะฆ่าคนมีสถานะในสมัยนั้น จึงส่งทหารเข้าไปกวาดล้างตามบ้านเรือนในชุมชนต่างๆ เมื่อทหารเหล่านี้บุกเข้าไปในบ้านก็จะไปปล้นฆ่า หากเจอผู้หญิงก็จะข่มขืน ยิ่งถ้าผู้หญิงคนนั้นสวยหรืออยู่ในครอบครัวดีก็จะถูกนำเข้าไปในค่ายทหารเพื่อให้รับใช้ทหารในค่ายต่อไป

อาชีพครู คนรู้หนังสือนับเป็นกลุ่มคนแรกๆที่กองทัพเขมรแดงต้องการกวาดล้างให้หมด เนื่องจากคนเหล่านี้มีความรู้ และถ่ายทอดความรู้ได้ อีกทั้งคนกลุ่มนี้มักเป็นผู้นำชุมชน ล้างสมองยาก ทำให้กองทัพอยากทำลายคนกลุ่มนี้ให้สิ้น

ทุ่งสังหาร(Killing Field) ก็ถือเป็นอีกฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาวกัมพูชาที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เออ้างว่าคนกัมพูชาเชื่อว่ายอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้มากถึง 16 ล้านคน ในขณะที่ตัวเลขที่ถูกเปิดเผยออกมามีไม่ถึง 10 ล้าน เขาเชื่อว่ามีคนถูกฆ่าตายทั้งครอบครัวจำนวนมาก เมื่อตายแล้วก็ถูกนำไปฝังหมู่ ซึ่งผู้เสียชีวิตลักษณะนี้มีเป็นจำนวนมาก ทำให้เมื่อสิ้นสุดสงครามแล้วไม่เหลือใครมาแจ้งว่าญาติพี่น้องตนเองตายไปเท่าไหร่ คนกลุ่มนี้ก็จะหายสาบสูญไปเลยทั้งครอบครัว

นอกจากนั้น เอยังเล่าถึงปราสาทนครวัดด้วยว่ายอดปราสาทนครวัดก็ถูกทำลายไปในสมัยสงครามกลางเมืองในยุคเขมรแดงนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เสียดายของผู้พบเห็นที่ได้ไปเยือน

เรื่องต่างๆที่ผมเล่ามานี้เป็นเพียงเรื่องเล่าในอดีตบางส่วนที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนรุ่นถัดไป เกร็ดความรู้ยังมีอีกมากมายที่รอให้เราเข้าไปศึกษาเรียนรู้

ประวัติศาสตร์การสร้างชาติของบ้านเราแม้จะมีบางช่วงบางตอนที่มีการสู้รบ แลกมาด้วยเลือด แต่ก็ไม่รุนแรงเท่ากับกรณีทุ่งสังหารของประเทศกัมพูชาครับ เมื่อสิ้นสุดยุคเขมรแดง สังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชาก็อาจพูดได้ว่ามีการเริ่มต้นกันใหม่ ระบบวัฒนธรรม จารีตประเพณีเก่าๆได้หายไปกับยุคเขมรแดงแทบทั้งสิ้น เมื่อพูดถึงตรงจุดนี้ การที่ผมได้เห็นประเทศไทยเราเป็นเช่นทุกวันนี้ แม้จะมีทะเลาะกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง ผมก็พอใจแล้ว ประเทศไทยเราเดินหน้ามาไกลแล้วครับ

เชน ม่วงสกุล ผู้เรียบเรียง

หมายเลขบันทึก: 590068เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2015 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2015 22:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท