ชีวิตที่พอเพียง : ๒๔๐๗. ความซื่อตรงมั่นคงของนักวิจัย



บทบรรณาธิการเรื่อง Integrity – not just a federal issue เขียนโดย Marcia McNutt บรรณาธิการใหญ่ของวารสาร Science ลงในวารสาร Science ฉบับวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๘

เขาเริ่มต้นว่า สิ่งที่ท้าทายสูงสุดอย่างหนึ่ง ต่อความซื่อตรงมั่นคงต่อความจริงของวงการวิทยาศาสตร์ คือการที่วงการวิทยาศาสตร์ไม่ได้รับอนุญาตให้บอกสาธารณชน เกี่ยวกับอันตรายที่ค้นพบจากการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ และในเดือนมีนาคม ๒๕๕๘ เกิดกรณีเช่นนี้ในสหรัฐอเมริกา ๒ กรณี

กรณีแรกเป็นการค้นพบว่า อัตราการเกิดแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้น ๓๐๐ เท่าในรัฐโอคลาโฮมา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา และนักวิทยาศาสตร์มีหลักฐานว่า เชื่อมโยงกับกิจกรรมของอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊ส แต่มีหลักฐานในภายหลังว่า นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมาผู้ทำวิจัยเรื่องนี้ ถูกตามตัวไปพบอธิการบดี โดยมีมหาเศรษฐีน้ำมันผู้เป็นผู้บริจาค รายใหญ่ให้แก่มหาวิทยาลัย ร่วมพูดคุยด้วย ทำให้ไม่มีการแจ้งข่าวการค้นพบนี้แก่สาธารณชน

กรณีที่สอง มาจากรัฐฟลอริดา มีการเปิดเผยว่า ตั้งแต่ Herschel Vinyard Jr. ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการของ DEP (Department of Environmental Protection) ของรัฐ มีนโยบายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ระบุห้ามใช้คำต่อไปนี้ climate change, global warming, sustainability ในเอกสารหรือการสื่อสารใดๆ ของ DEP ท่านผู้นี้ได้รับแต่งตั้งในปี 2011 โดยผู้ว่าการรัฐที่เป็นผู้ไม่ยอมรับเรื่อง climate change ผู้เขียนได้ค้นหาหลักฐานจากเอกสารของ DEP ตั้งแต่ Vinyard ได้รับแต่งตั้ง ว่าไม่มีคำดังกล่าวเลย เป็นหลักฐานยืนยัน แม้ว่าผู้ว่าการรัฐจะไม่ยอมรับว่ามีนโยบายดังกล่าว

เขายกนโยบายในระดับรัฐบาลกลางของประเทศ ที่ ปธน. โอบามา มีบันทึกถึงองค์กรในสังกัดรัฐบาลกลางของประเทศ ให้เอาใจใส่เรื่อง scientific integrity เพื่อปกป้องนักวิจัยในการบอกความจริงแก่สาธารณชน แต่ยังมีกรณีตัวอย่างทั้งสอง ซึ่งเกิดในระดับรัฐ

เขาเรียกร้องให้มีกลไกระดับรัฐ และระดับมหาวิทยาลัย เพื่อปกป้องให้นักวิจัย/นักวิทยาศาสตร์ สามารถรายงานผลงาน วิจัยได้ตามความเป็นจริง ไม่ถูกยับยั้งโดยอิทธิพลทางการเมือง หรือทางการเงิน



วิจารณ์ พานิช

๒๙ มี.ค. ๕๘

580507, ชีวิตที่พอเพียง, science, integrity, research ethics, จริยธรรมในการวิจัย

หมายเลขบันทึก: 589847เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2015 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2015 10:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สังคมไทยเป็นสังคมความเชื่อและศรัทธา เชื่อจากผู้ใหญ่หรือผู้อื่นโดยไม่มีเหตุและที่ไปที่มา งานวิจัยที่มีเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์จะช่วยทำให้คนทำในสิ่งที่ถูกต้องมากขึ้น ข้อเขียนของอาจารย์เป็นประโยชน์มากโดยเฉพาะกับนักวิจัย

ขออนุญาตินำไปเล่าต่อน่ะครับ

เสริมเกียรติ มช. ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท