โครงการสร้างคนที่ชุมชนบ้านปะอาว : (ตอนที่ 12) 'ยายผา' กับ 'ยายราญ' สองผู้นำ-สองบทบาทแห่งบ้านปะอาว


มีการเลือกตั้งก็ต้องมีการหาเสียง ทั้งสองยายสวมบทบาทผู้จัดการ ถือหางลูกชายและลูกเขยตน งานนี้ดิฉันวิเคราะห์ว่าแต่ละฝ่ายต่างก็มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบคนละอย่าง

ลม 'สงบ' หลัง ‘พายุใหญ่’ ผ่านไปถึง 2 ปี

เมื่อคืนนี้ 18 เม.ย.58 (คืนวันเสาร์) ดิฉันพักค้างคืนที่บ้านปะอาว (กิจวัตรที่ปฏิบัติเป็นประจำในช่วงนี้) เช้านี้ตื่นขึ้นมาสายๆ (7.00 น. ของที่นี่ก็สายมากแล้วค่ะ) มองออกไปนอกหน้าต่างเห็น 'ยายผา' มานั่งคุยเล่นที่บ้าน 'ยายราญ' เป็นภาพที่ประทับใจยิ่ง .. มันมีที่มาค่ะ มาทางนี้ ดิฉันจะเล่าให้ฟัง

ประมาณสองปีที่ผ่านมา ลูกชายยายผา กับ ลูกเขยยายราญ ต่างก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านปะอาว พร้อมกัน ครั้งนี้มีผู้สมัครเพียงสองคน ทั้งคู่จึงเป็นคู่แข่งขันทางการเมืองกัน อย่างเข้มข้น ..

จากเดิมที่ยายผากับยายราญเป็นคู่รักกัน .. ไม่ใช่ซิ ต้องบอกว่าเป็นคู่ที่มีความสัมพันธ์สนิทสนมกันแน่นแฟ้น ทั้งคู่นี้อายุใกล้ 80 ปีแล้ว อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกัน อยู่ในกลุ่มทำพานบายศรีด้วยกัน และเป็นกลุ่มญาติธรรมจำศีลภาวนาด้วยกันทุกวันพระ ในช่วงเข้าพรรษา รวมทั้งร่วมกิจกรรมอื่นๆ ด้วยกัน อีกมากมาย เพราะต่างก็เป็น 'ผู้นำ' โดยธรรมชาติด้วยกันทั้งคู่

‘ยายผา' หญิงแกร่งผู้กว้างขวาง VS ‘ยายราญ’ ผู้เงียบขรึมเครือข่ายเข้ม 

ดิฉันขอเกริ่นถึงบุคลิกเด่นๆ ของทั้งสองยายไว้เบื้องต้น เพื่อให้ได้อรรถรสนะคะ

'ยายผา' เดิมเป็นช้างเท้าหลัง ที่มีสามีแบบ perfectionist ทุกอย่างต้องดีที่สุด ยายผาจึงเป็นภรรยาใน 'อุดมคติ' ที่ 'ติง' ไม่ได้ หมายถึง ขยับตัวไม่ได้ ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของเพศหญิง ผู้เป็นภรรยา (อ้างอิงพจนานุกรมส่วนตัวของดิฉันนะคะ) สามียายผามีอาชีพเสริมเป็นช่างทองเหลือง ฝีมือดี ดิฉันไม่มีภาพบรรยากาศขณะเป็นช่างทองเหลืองมาอวด เพราะช่วงนั้นนานมากแล้ว ยังไม่มีการส่งเสริมการรวมกลุ่มช่างทองเหลืองเหมือนปัจจุบัน จึงไม่ได้ถ่ายภาพไว้ เมื่อสามีถึงแก่กรรมลง ยายผาก็เป็นอิสระ ได้ชีวิตใหม่ เหมือนนกโบยบิน ..

ยายผาคนใหม่ แจ่มใส กระตือรือร้น ช่างพูดช่างคุย แกผันตัวเป็นหนึ่งในผู้นำฝ่ายหญิง (สูงอายุ) ร่วมกิจกรรมกับชุมชนทุกครั้งเมื่อมีโอกาส ตั้งแต่นั้นมา ยายผาจึงกลายเป็นผู้นำหญิง อยู่แนวหน้า และเป็นที่รักของชุมชน

'ยายราญ' เป็นประมุขของบ้าน หลังจากสามีถึงแก่กรรมแล้วเช่นกัน ตั้งแต่ลูกสาวสองคนเพิ่งเข้าโรงเรียน เธอจึงสวมบทบาทผู้นำครอบครัวที่เป็นทั้งพ่อและแม่มาแต่ต้น ยายราญเป็นคนพูดน้อย อบรมลูกหลานให้อยู่ในศีลในธรรมและ 'อยู่ในโอวาท' ของตนได้อย่างเรียบร้อย คำว่าเรียบร้อยเป็นเชิงบวกนะคะ บรรยากาศในบ้านนี้จะให้ความเคารพผู้อาวุโส แต่ยายราญก็จะแสดงความคิดเห็นส่วนตัวและ 'ตัดสินใจสั่งการ' เมื่อจำเป็นเท่านั้น

อย่างเช่น 'นายมาร์ค' หลานชายสุดที่รัก จะถูกเลี้ยงแบบผู้ชาย แต่ก็มีบุคลิกผู้นำ สามารถแสดงออกทั้งคำพูดและการกระทำได้อย่างเต็มที่แบบ 'ผู้ชาย' ในชุมชนนี้ วันหนึ่งนายมาร์คซึ่งเป็นวัยรุ่น และเป็นผู้นำกลุ่มเยาวชนจิตอาสาด้วย ไปเปลี่ยนทรงผมฉลองปิดเทอม เป็นทรงทรมานใจสาว ย้อมสีมาพร้อม เท่มาก!! .. แต่ปัญหาคือมันทรมานใจยายด้วยน่ะซิ ยายก็สั่งคำเดียวว่า 'ไปตัดออกซะ' แหม ก็แค่ ไปตัดออกซะ ก็แค่นั้น .. แต่มันไม่ง่ายแค่นั้นน่ะซิ เพราะลูกน้องนายมาร์คกำลังซวดๆ กับผมทรงใหม่ของผู้นำกลุ่ม ตัดออกตอนนี้ก็เสียฟอร์มหมด .. ตกค่ำ เมื่อทุกคนมารวมกันในเวลาอาหารเย็น ยายยังเห็นผมทรงเดิม ให้รู้สึกทรมานใจมาก จึงคาดโทษนายมาร์คว่า 'ถ้ายังไม่ตัดผมก็ไม่ต้องเข้าบ้าน' งานนี้ทำเอานายมาร์คต้องไปกางเต้นท์นอนในเถียงนาหลายวัน โดยพ่อ-แม่ได้แต่ทำตาปริบๆ ฮา..

มีการเลือกตั้งก็ต้องมีการหาเสียง ทั้งสองยายสวมบทบาทผู้จัดการถือหางลูกชายและลูกเขยตน งานนี้ดิฉันวิเคราะห์ว่าแต่ละฝ่ายต่างมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบไปคนละอย่าง

'ยายผา' มีข้อได้เปรียบที่มีญาติเยอะ หันไปทางไหนในหมู่ 4 ก็มีแต่ 'คนสายเลือดเดียวกัน' เรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญของการได้รับเลือกของคนที่นี่ ดิฉันเคยสัมภาษณ์ผู้นำและชาวบ้านถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร อบต.ของที่นี่ คำตอบที่ได้คือ

"เลือกญาติตนเอง มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ชื่อเสียงวงศ์ตระกูล"

โอ้โฮ! ยกตระกูลมารบกันเลยเชียว แล้วถ้าเป็นญาติทั้งคู่ล่ะ จะทำอย่างไร มาดูคำตอบนะคะ "ก็เลือกคนให้เงิน หรือให้เงินมากกว่า เพราะเลือกใครก็เหมือนกัน" ที่บอกว่าเหมือนกันเพราะ "ใครก็ได้ ไม่ต่างกันหรอก ผลัดกันนำ ผลัดกันตาม คนบ้านเดียวกันน่ะละ"

'ยายราญ' มีญาติในหมู่ 4 ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งน้อยกว่า อีกทั้งลูกเขยก็มีพื้นเพมาจากหมู่อื่น (ในบ้านปะอาวนั่นละ) จึงเป็น 'เขยนำเข้า' (สำนวนดิฉันค่ะ) เป็นประเด็นที่ยายผานำมาโจมตีได้ แต่ยายราญมีข้อได้เปรียบที่ลูกชายเป็น อบต.มาก่อน ตัดสินใจลาออกมาสมัครผู้ใหญ่บ้านโดยเฉพาะ เพราะรู้สึกเบื่อกับการหาเสียงเลือกตั้งใหม่ทุก 4 ปี หากได้เป็นผู้ใหญ่บ้านก็จะยั่งยืนกว่าเพราะจะหมดวาระเมื่อเกษียนอายุ 60 ปี วิเคราะห์แล้วว่าคุ้มค่า จึงเบนเข็มมาทางนี้ ลูกเขยยายราญจึงมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ส่วนลูกชายยายผานั้นมีอาชีพรับเหมาก่อสร้างในตัวเมือง ไม่ค่อยมาร่วมกิจกรรมสำคัญของชุมชนนัก แม้เทียบกับชาวบ้านที่ไม่ใช่ผู้นำก็ยังถือว่าห่างเหินชุมชนเกินไป ประเด็นการเป็นเครือข่ายผู้นำชุมชนนี้ ลูกเขยยายราญได้เปรียบมาก

.. บทความนี้ใช้พื้นที่ค่อนข้างมากแล้ว เรื่องราวกำลังสนุก ดิฉันขอยกไปเป็นตอนที่ 13 นะคะ จะเล่าเรื่อง เครือข่ายของชุมชน มีอิทธิพลต่อการต่อสู้ทางการเมืองในครั้งนี้ และถ้าเนื้อหาไม่ยาวนัก จะเล่าถึงผลการเลือกตั้งที่ต้องแลกด้วยน้ำตาของผู้เฒ่าเลยเชียวค่ะ

..ขออภัย ดิฉันเขียนแล้ว 'ซ่อน' ไว้ หลายปีจึงเปิดสู่สาธารณะ เฉพาะสำหรับตอนที่เปิดได้เท่านั้นค่ะ ...

หมายเลขบันทึก: 589075เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2015 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2021 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท