ปัญหาและข้อสังเกตกรณีการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเข้ารับการฝึกอบรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่จัดโดย "หน่วยงานอื่น" ตามระเบียบฯ ใหม่ พ.ศ. 2557


ปัญหาและข้อสังเกตกรณีการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเข้ารับการฝึกอบรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่จัดโดย "หน่วยงานอื่น" ตามระเบียบฯ ใหม่ พ.ศ. 2557

15 เมษายน 2558

กล่าวนำ [1]

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และการเข้ารับการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2557 [2]

สรุปสาระสำคัญการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2557

อยู่ภายใต้เงื่อนไข

(1) จัดการฝึกอบรมเอง

(2) ส่งคนไปฝึกอบรม

(ใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2555 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)

(1) หน่วยราชการจัด หรือจัดร่วมกับหน่วยงานอื่น ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ (ข้อ 7)

(2) หน่วยงานอื่นจัด

(2.1) ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รวมถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่ไม่ใช่เป็นผู้จัดการฝึกอบรมสามารถเข้ารับการฝึกอบรมและเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมตามระเบียบนี้ได้ (ข้อ 8)

(2.2) ต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น โดยให้พิจารณาอนุมัติเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องหรือเป็นประโยชน์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตามจำนวนที่เห็นสมควร (ข้อ 9)

(2.3) ให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหรือผู้สังเกตการณ์ที่เข้ารับการฝึกอบรมหรือเข้าร่วมสังเกตการณ์ที่หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นจัดการฝึกอบรม จัดทำรายงานผลการเข้ารับการฝึกอบรมหรือเข้าร่วมสังเกตการณ์เสนอผู้มีอำนาจอนุมัติตามข้อ 9 ภายในหกสิบวัน นับแต่วันเดินทางกลับถึงสถานที่ปฏิบัติราชการ (ข้อ 10)

ดูบทบัญญัติ

ข้อ 4

"การฝึกอบรม" หมายความว่า การอบรม การประชุมทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การสัมมนาทางวิชาการหรือเชิงปฏิบัติการ การบรรยายพิเศษ การฝึกศึกษา การดูงาน การฝึกงานหรือที่เรียกชื่ออย่างอื่น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีโครงการหรือหลักสูตรและช่วงเวลาจัดที่แน่นอนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคคลหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน โดยไม่มีการรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ

"การอบรม" หมายความว่า การให้ความรู้โดยการบรรยายและการตอบปัญหาจากวิทยากรเพียงฝ่ายเดียว

"การฝึกอบรมประเภท ก" หมายความว่า การฝึกอบรมที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกินกึ่งหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นระดับ 9 ขึ้นไป หรือตำแหน่งที่เทียบเท่า

"การฝึกอบรมประเภท ข" หมายความว่า การฝึกอบรมที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกินกึ่งหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นระดับ 1 ถึงระดับ 8 หรือตำแหน่งที่เทียบเท่า

"การฝึกอบรมบุคคลภายนอก" หมายความว่า การฝึกอบรมที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกินกึ่งหนึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

ข้อ 5 ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความวินิจฉัยปัญหา กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบนี้

ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่กำหนดในวรรคหนึ่ง ให้ขออนุมัติต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยก่อนการปฏิบัติ

ข้อ 6 การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมให้เป็นไปตามระเบียบนี้

การเบิกจ่ายเงินและหลักฐานการจ่ายซึ่งมิได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ข้อ 7 โครงการหรือหลักสูตรการฝึกอบรมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหรือจัดร่วมกับหน่วยงานอื่น ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ

ข้อ 8 การฝึกอบรมที่จัดโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่น ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รวมถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่ไม่ใช่เป็นผู้จัดการฝึกอบรมสามารถเข้ารับการฝึกอบรมและเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมตามระเบียบนี้ได้

ข้อ 9 การจัดฝึกอบรม การเดินทางไปจัดการฝึกอบรมและเข้ารับการฝึกอบรม การเดินทางไปดูงาน ทั้งในประเทศและหรือต่างประเทศ ตามที่กำหนดในโครงการหรือหลักสูตรการฝึกอบรมต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น โดยให้พิจารณาอนุมัติเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องหรือเป็นประโยชน์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตามจำนวนที่เห็นสมควร

ข้อ 10 ให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมหรือผู้สังเกตการณ์ที่เข้ารับการฝึกอบรมหรือเข้าร่วมสังเกตการณ์ที่หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นจัดการฝึกอบรม จัดทำรายงานผลการเข้ารับการฝึกอบรมหรือเข้าร่วมสังเกตการณ์เสนอผู้มีอำนาจอนุมัติตามข้อ 9 ภายในหกสิบวัน นับแต่วันเดินทางกลับถึงสถานที่ปฏิบัติราชการ

ตอนที่ 1 ประเด็นสำคัญ [3]

(1) ได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2555

เดิม ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549 ต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจฯ ตามข้อ 7 จึงสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ ตามข้อ 22-26

"ข้อ 7 การจัดฝึกอบรม การเดินทางไปจัดและเข้ารับการฝึกอบรม การเดินทางไปดูงานทั้งในประเทศและหรือต่างประเทศ ตามที่กำหนดในหลักสูตร ต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น โดยให้พิจารณาอนุมัติเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องหรือเป็นประโยชน์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตามจำนวนที่เห็นสมควรและภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับ"

ข้อ 9 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และการเข้ารับการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2557

"ข้อ 9 การจัดฝึกอบรม การเดินทางไปจัดการฝึกอบรมและเข้ารับการฝึกอบรม การเดินทางไปดูงาน ทั้งในประเทศและหรือต่างประเทศ ตามที่กำหนดในโครงการหรือหลักสูตรการฝึกอบรมต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น โดยให้พิจารณาอนุมัติเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องหรือเป็นประโยชน์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตามจำนวนที่เห็นสมควร"

(2) หน่วยงานการฝึกอบรม

ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549 ข้อ 4

"หน่วยงานผู้จัด" หมายความว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นที่มิใช่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจจัดหรือจัดร่วมกัน (ถูกยกเลิกแล้ว ตามระเบียบฯใหม่)

ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และการเข้ารับการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2557 (ใช้บังคับ 1 พฤศจิกายน 2557) ข้อ 8 บัญญัติให้ อปท. สามารถเข้ารับการฝึกอบรมและเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมตามระเบียบนี้ได้ แยกเป็น

(1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(2) ส่วนราชการ

(3) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ

(4) องค์การมหาชน

(5) รัฐวิสาหกิจ หรือ

(6) หน่วยงานอื่น

ซึ่งเหมือนระเบียบฯ เดิม ข้อ 4 มีหน่วยงานผู้จัดเพิ่มใหม่คือ (1) องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และ

(2) องค์การมหาชน

"ข้อ 8 การฝึกอบรมที่จัดโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่น ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รวมถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่ไม่ใช่เป็นผู้จัดการฝึกอบรมสามารถเข้ารับการฝึกอบรมและเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมตามระเบียบนี้ได้"

ตามหนังสือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0808.2/4088 ลงวันที่ 22 เมษายน2552 เรื่อง ขอหารือการเบิกจ่ายในการฝึกอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ตอบหารือจังหวัดสงขลา)

ได้นิยามความหมายของคำว่า "หน่วยงานอื่น" ไว้ว่าหมายถึง "หน่วยงานที่มีการจัดตั้งตามระเบียบ กฎหมาย"

...หน่วยงานผู้จัดจะมีความหมายอย่างไรต้องพิจารณาจากระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549 ข้อ 4 ประกอบกับข้อ 22 กล่าวคือ หน่วยงานผู้จัดฝึกอบรมหมายถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา แต่หากเป็นหน่วยงานอื่นก็ควรจะหมายถึง หน่วยงานที่มีการจัดตั้งตามระเบียบ กฎหมาย เช่นเดียวกัน สำหรับกรณีที่จังหวัดสงขลาหารือมานั้น จากข้อเท็จจริงชมรมช่างท้องถิ่นจังหวัดสงขลามีการจัดตั้งขึ้นโดยเป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมาย ก็ถือว่าเป็นหน่วยงานผู้จัดตามระเบียบนี้ และหากบุคคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจให้ไปฝึกอบรมก็สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ ตามอัตราที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ…

(3) เนื้อหาสาระของการฝึกอบรม

ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และการเข้ารับการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2557 (ใช้บังคับ 1 พฤศจิกายน 2557) ข้อ 7 ข้อ 9 กล่าวคือ (1) ต้องเป็นกิจกรรมดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในความรับผิดชอบของ อปท. (2) ต้องเป็นการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบตามปกติของข้าราชการ หรือ ส่วนราชการโดยตรงนอกที่ตั้งสำนักงาน (3) ควรคำนึงถึงมาตรฐานของหน่วยงานผู้จัด โดยพิจารณาถึงประสบการณ์ คามชำนาญ ความน่าเชื่อถือ ผลงานที่ผ่านมา ข้อมูลวิทยากรที่มาให้ความรู้ รวมถึงภารกิจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งหน่วยงาน ว่ามีหน้าที่หรือวัตถุประสงค์เกี่ยวข้องอย่างไรกับการจัดฝึกอบรม ทั้งนี้ กรณีหน่วยงานอื่นที่มิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐจะจัดฝึกอบรมนั้น ควรเป็นหน่วยงานที่มีการจัดตั้งอย่างถูกต้องตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย และ (4) ต้องเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องหรือเป็นประโยชน์ต่อ อปท. ตามจำนวนที่เห็นสมควร และสอดคล้องกับสถานะทางการเงินการคลัง (คำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ) นั้นตามจำนวนที่เห็นสมควร

(3.1) อยู่ในอำนาจหน้าที่ (หลักการเดิม ตามระเบียบฯ พ.ศ. 2549 ไม่มี)

"ข้อ 7 โครงการหรือหลักสูตรการฝึกอบรมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดหรือจัดร่วมกับหน่วยงานอื่น ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ"

(3.2) ผู้มีอำนาจ ฯ พิจารณาอนุมัติเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องหรือเป็นประโยชน์ต่อ อปท. นั้นตามจำนวนที่เห็นสมควร

"ข้อ 9 การจัดฝึกอบรม การเดินทางไปจัดการฝึกอบรมและเข้ารับการฝึกอบรม การเดินทางไปดูงาน ทั้งในประเทศและหรือต่างประเทศ ตามที่กำหนดในโครงการหรือหลักสูตรการฝึกอบรมต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น โดยให้พิจารณาอนุมัติเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องหรือเป็นประโยชน์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตามจำนวนที่เห็นสมควร"

(3.3) กรณีหน่วยงานอื่นที่มิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐจะจัดฝึกอบรมนั้น ควรเป็นหน่วยงานที่มีการจัดตั้งอย่างถูกต้องตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย

ดู ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0808.2/ว 4952 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2556 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนฝึกอบรม กรณีหน่วยงานอื่นเป็นผู้จัดฝึกอบรม [4]

(4) การเบิกค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรม ได้แก่

(4.1) ค่าใช้จ่ายที่อยู่ในดุลพินิจ ให้ อปท. ที่จัดการฝึกอบรมเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม (ข้อ 12 วรรคสอง) ของบุคคลตามข้อ 22 ได้ ได้แก่ ประธานฯ เจ้าหน้าที่ วิทยากร ผู้เข้ารับการฝึกอบรม และผู้สังเกตการณ์ ให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น เหมาะสม และประหยัด (ข้อ 13) ได้แก่

(1) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการใช้และการตกแต่งสถานที่ฝึกอบรม

(2) ค่าใช้จ่ายในพิธีเปิดและปิดการฝึกอบรม

(3) ค่าวัสดุ เครื่องเขียน และอุปกรณ์

(4) ค่าประกาศนียบัตร

(5) ค่าถ่ายเอกสาร ค่าพิมพ์เอกสารและสิ่งพิมพ์

(6) ค่าหนังสือสำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรม

(7) ค่าใช้จ่ายในการติดต่อสื่อสาร

(8) ค่าเช่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการฝึกอบรม

(9) ค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการฝึกอบรม

(4.2) ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดไว้ในระเบียบ ได้แก่

(1) ค่ากระเป๋าหรือสิ่งที่ใช้บรรจุเอกสารสำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรม (2) ค่าของสมนาคุณในการดูงาน (3) ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม (4) ค่าสมนาคุณวิทยากร (5) ค่าอาหาร (6) ค่าเช่าที่พัก (7) ค่ายานพาหนะ

รายละเอียดดังนี้

(1) ค่ากระเป๋าหรือสิ่งที่ใช้บรรจุเอกสารสำหรับผู้เข้ารับการฝึกอบรม ให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินอัตราใบละ 300 บาท (ข้อ 14)

(2) ค่าของสมนาคุณในการดูงาน ให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงแห่งละไม่เกิน 1,500 บาท (ข้อ 15)

(3) ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม ให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินอัตราตามบัญชีหมายเลข 1 (ข้อ 16)

(4) ค่าสมนาคุณวิทยากร ตามหลักเกณฑ์และอัตรา (ข้อ 17)

(5) ค่าอาหาร การจัดอาหารให้แก่บุคคลตามข้อ 22 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดการฝึกอบรมเบิกจ่ายค่าอาหารได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินอัตราค่าอาหาร ตามบัญชีหมายเลข 1 (ข้อ 18)

(6) ค่าเช่าที่พัก การจัดที่พักหรือออกค่าเช่าที่พักให้แก่บุคคลตามข้อ 22 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดการฝึกอบรมเบิกจ่ายค่าเช่าที่พักได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินอัตราค่าเช่าที่พักตามบัญชีหมายเลข 2 และบัญชีหมายเลข 3 (ข้อ 19)

(7) ค่ายานพาหนะ มีการจัดยานพาหนะให้บุคคลตามข้อ 22 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามหลักเกณฑ์ (ข้อ 20)

กรณีการฝึกอบรมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัด แต่ไม่ได้จัดอาหาร ที่พักหรือยานพาหนะ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดการฝึกอบรมเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดหรือส่วนที่ขาดให้แก่บุคคลตามข้อ 22 แต่ถ้าบุคคลตามข้อ 22 (4) หรือ (5) เป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้เบิกจ่ายจากต้นสังกัด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด (ข้อ 21)

ตอนที่ 2 แนวปฏิบัติตามหนังสือสั่งการฯ ที่สำคัญ [5]

(1) คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณีเทศบาลนครระยองชนะคดีฟ้องกระทรวงมหาดไทย กรณีหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0808.3/ว 611 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2546 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ประกาศสำนักงานศาลปกครองเพิกถอนกฎ ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2549 ตามคำพิพากษาศาลปกครองระยอง คดีหมายเลขแดงที่ 64/2546 คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.61/2549 ลงวันที่ 4 เมษายน 2549 ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เลม123ตอนที่72วันที่ 13กรกฎาคม2549 หน้า 23 [6]

(2) หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0808.3/ว 611 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2546 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ที่ถูกศาลปกครองยกเลิก) [7] (อ้างถึง หนังสือกระทรวงมหาดไทยดวนมาก ที่ มท 0807/ว 3701 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2545)

หนังสือดังกล่าว ให้พนักงานและเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นสามารถเข้าอบรมได้จะต้องเป็นการฝึกอบรมดังนี้ (1) เป็นการฝึกอบรมของกระทรวงมหาดไทยตามข้อเสนอของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (2) เป็นการฝึกอบรมของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (3) เป็นการฝึกอบรมที่มีข้อตกลงร่วมกันหรือจัดร่วมกับกระทรวงมหาดไทยหรือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งจะได้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบเป็นคราวๆ ไป แต่ หนังสือ ฉบับดังกล่าว ได้ถูกศาลปกครองสูงสุด ยกเลิก เพราะ เป็นการขัดต่อความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการกำหนดนโยบาย การปกครอง การบริหาร การบริหารงานบุคคลและการเงินและการคลัง

สรุปสาระสำคัญของหนังสือสั่งการนี้คือ กระทรวงมหาดไทย ออกหนังสือห้าม อปท. อบรมกับหน่วยงานอื่น ต้องอบรมกับหน่วยงานที่ ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น (เอกชนจัดเบิกค่าเดินทางได้ก็ต่อเมื่อ ต้องเป็นการอบรมที่จัดร่วม กับมหาดไทยเท่านั้น) หนังสือสั่งการดังกล่าวทำให้ท้องถิ่นขาดอิสระในการพัฒนาบุคลากร

(3) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2526 แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 6 พ.ศ. 2548 [8]

ต่อมาถูกยกเลิกโดย ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2555 [9]

เดิมข้อ 12 (2) แห่งระเบียบมท.ฯ พ.ศ. 2526 ซึ่งยกเลิกแล้วระบุว่า การฝึกอบรมที่ถือว่าเป็นการเดินทางไปราชการชั่วคราว (ไปศึกษา ฝึกอบรม หรือสัมมนา) ต้องจัดโดย ราชการหรือ อปท.หรือ รมต.มหาดไทยอนุมัติ

เดิม ข้อ 12 (2) (ยกเลิกแล้ว) แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2526 (แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2548) บัญญัติว่า

"ข้อ 12 การเดินทางไปราชการชั่วคราว ได้แก่

(2) การไปศึกษา ฝึกอบรม หรือสัมมนาที่ส่วนราชการหรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัด หรือที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุมัติ ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงการเดินทางของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นผู้จัดการศึกษา ฝึก อบรม หรือสัมมนาและวิทยากร หรือผู้บรรยายด้วย ..."

(4) การเบิกค่าลงทะเบียนมากกว่าระเบียบกำหนดของส่วนราชการ กรณีหน่วยงานผู้จัดไม่ใช่ส่วนราชการ ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0409.7/ว 51 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2548 เรื่อง การเบิกค่าลงทะเบียน [10]

(ออกตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของส่วนราชการ พ.ศ. 2545

แต่ปัจจุบัน ถูกยกเลิกโดย ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 และแก้ไขเพิ่มเติมจนถึง ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2555)

(5) ความแตกต่างระหว่าง "หน่วยงานผู้จัด" (ถูกยกเลิกโดยระเบียบ มท.ฯใหม่ พ.ศ. 2557) "หน่วยงานอื่น" (ในระเบียบ มท.ฯใหม่ พ.ศ. 2557 ข้อ 8) และ "ส่วนราชการ" (ตามระเบียบ กค.ฯ พ.ศ. 2549 ข้อ 4)

ข้อ 4 แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 และแก้ไขเพิ่มเติมจนถึง ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2555

"ส่วนราชการ"หมายความว่าสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงทบวงกรมส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นหรือเทียบเท่ากระทรวงทบวงกรมส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งไม่มีฐานะเป็นกรมแต่มีหัวหน้าส่วนราชการซึ่งมีฐานะเป็นอธิบดี

คำว่า "หน่วยงานอื่น" พิจารณา ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นตอบหารือจังหวัดสงขลา ที่ มท 0808.2/4088 ลงวันที่ 22 เมษายน2552 เรื่อง ขอหารือการเบิกจ่ายในการฝึกอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0808.2/ว 4952 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2556 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนฝึกอบรม กรณีหน่วยงานอื่นเป็นผู้จัดฝึกอบรม [11]

ฉะนั้นคำว่า "หน่วยงานอื่น" และ "หน่วยงานผู้จัดไม่ใช่ส่วนราชการ" จึงมีความหมายแตกต่างกัน แต่ก็มีความเหมือนกันตรงที่ "มิใช่หน่วยงานผู้มีอำนาจในการจัดการฝึกอบรมโดยตรง"

(6) ยุทธศักดิ์ พบลาภ ประธานชมรมจัดเก็บรายได้แห่งประเทศไทย (8 เมษายน 2558) ให้ข้อสังเกตว่า [12]

สตง. เคยตีความคำว่า "ชมรม" ไม่ได้เป็น หน่วยงานอื่น เป็นแค่กลุ่มบุคคล และไม่มีฐานะทางกฎหมาย โดย "ชมรม" หมายถึง การรวมกันของกลุ่มบุคคลที่มีจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน และไม่ได้มีฐานะทางกฎหมาย การกระทำใดๆ ตามกฎหมาย จึงไม่สามารถใช้ในนามชมรมได้ นอกจากกิจกรรมที่ทำร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการหรือไม่มีผลตามกฎหมาย ดังนั้น การที่ชมรมออกใบเสร็จเป็นเงินค่าลงทะเบียนให้กับ อปท. จึงไม่สามารถกระทำได้

คำถามต่อมาก็คือ "สมาพันธ์" ต่าง จาก "ชมรม" หรือไม่ อย่างไร

คำตอบ คือ "ไม่ต่างกันเลย" เพราะ "สมาพันธ์" ตั้งขึ้นมา ก็คือ การรวมกันของกลุ่มบุคคลที่มีจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน และไม่ได้มีฐานะทางกฎหมาย เช่นเดียวกัน ชมรม เพราะมิได้มีการจดทะเบียนตามกฎหมายเป็น "สมาคม" หรือ "มูลนิธิ" แต่อย่างใดเหมือนกัน

แต่ ชมรม สมาพันธ์ องค์การอื่น หรือ เอกชน จะอยู่ในความหมาย "หน่วยงานอื่น" จะเป็นหน่วยงานผู้จัดการฝึกอบรมได้ แต่ต้อง "เป็นหน่วยงานที่มีการจัดตั้งตามระเบียบ กฎหมาย"

ตอนที่ 3 แนวปฏิบัติตามหนังสือสั่งการฯ ที่สำคัญ (ต่อ) [13]

ปัญหาและข้อสังเกตกรณีการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเข้ารับการฝึกอบรมที่จัดโดย "หน่วยงานอื่น" ตามระเบียบฯ ใหม่ พ.ศ. 2557

ตั้งข้อสังเกตมา 2 ตอนแล้ว ตอนที่ 3 มาพิจารณาดูแนวหนังสือสั่งการต่าง ๆ ย้อนหลัง ซึ่งหนังสือสั่งการบางฉบับอาจถูกยกเลิกไปแล้วและหรือแม้หนังสือสั่งการฉบับเดิมนั้นจะออกโดยอาศัยระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับเดิมที่ถูกยกเลิกไปแล้วแต่หลักการต่าง ๆ อาจยังสามารถนำมาปรับใช้ได้ "โดยอนุโลม"

(1) หนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0409.7/ว 51 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2548 เรื่อง การเบิกค่าลงทะเบียน [14]

อนุมัติให้ส่วนราชการเบิกจ่ายค่าลงทะเบียน ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายในทำนองเดียวกันที่เรียกชื่อออย่างอื่นได้เท่าที่จ่ายจริงตามที่หน่วยงานผู้จัดเรียกเก็บ โดยให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะพิจารณาตามความจำเป็น เหมาะสม และคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการเป็นหลัก กล่าวคือ ถ้าหน่วยงานเอกชนจัด แม้ค่าลงทะเบียนจะมากกว่าระเบียบกำหนดก็ให้สามารถเบิกจ่ายได้ตามเหมาะสม

(2) หนังสือกระทรวงการคลังที่ กค 0409.6/ว 42 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2550 เรื่อง หลักเกณฑ์การเบิกค่าพาหนะรับจ้างข้ามเขตจังหวัด เงินชดเชย และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นต้องจ่ายเนื่องในการเดินทางไปราชการ [15] (ยกเลิก หนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0409.6/ว 78 ลงวันที่ 15 กันยายน 2549 เรื่อง การเบิกค่าพาหนะรับจ้างกรณีการเดินทางข้ามเขตจังหวัด (ตอบเลขาธิการ กพฐ.)

...ปรับปรุงแก้ไขอัตราการเบิกจ่าย กรณีเดินทางข้ามเขตจังหวัด ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2549)

...ส่วนราชการถือปฏิบัติ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2550 ข้อ 10 ข้อ 11 และ ข้อ 15

...การเดินทางไปราชการประจำของ อปท. จึงมีสิทธิที่จะได้รับค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ได้รับอนุมัติจากนายกฯซึ่งเป็นไป ตามระเบียบมท.ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2526 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2548 ดังนี้

- ข้อ 31 ความหมายของการเดินทางไปราชการประจำ
- ข้อ 32 การเบิกค่าใช้จ่ายตามข้อ 13 และเบิกค่าขนย้ายสิ่งของส่วนตัวในลักษณะเหมาจ่ายตามอัตราในบัญชี 3
- ข้อ 35 เบิกค่าเช่าที่พักและค่าพาหนะเดินทางสำหรับผู้ติดตาม (หนึ่งคนสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งระดับ 6 ลงมา ไม่เกินสองคนสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งระดับ 7 ขึ้นไป)
- ข้อ 40 ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการประจำ ให้เบิกจ่ายจากต้นสังกัด

(3) หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.2/ว 2879 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2550 เรื่อง การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น [16] (ยกเลิก)

... การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ให้ถือปฏิบัติตามบัญชีอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2550

...ค่าเบี้ยเลี้ยง ให้เบิกตามบัญชีหมายเลข 2, ค่าเช่าที่พัก ให้เบิกตามบัญชีหมายเลข 3

...สำหรับค่าเช่าที่พักนั้น ... ตามระเบียบกระทรวงการคลังฉบับดังกล่าวในข้อ 8 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า

การเดินทางไปราชการในท้องที่ที่มีค่าครองชีพสูงหรือเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้หัวหน้าส่วนราชการ
เจ้าของงบประมาณใช้ดุลพินิจพิจารณาอนุมัติให้เบิกจ่ายค่าเช่าที่พักสูงกว่าอัตราที่กำหนดเพิ่มขึ้นอีก
ไม่เกินร้อยละยี่สิบห้า (ข้อ 16 วรรคสอง ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2526 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 6 พ.ศ. 2548)

หนังสือสั่งการฉบับนี้...ให้ใช้ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2550 อาศัยอำนาจตามความในข้อ 57 แห่งระเบียบกระทรวงกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2526 (ถูกยกเลิกโดยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2555)

(4) หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0807.2/ว 477 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 เรื่อง หารือเรื่องการฝึกอบรมของหน่วยงานอื่นที่มิใช่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น [17] (ตอบหารือจังหวัดสุพรรณบุรี) และ หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0807.2/ว 743 ลงวันที่ 8 เมษายน 2551 เรื่อง หารือเรื่องการฝึกอบรมของหน่วยงานอื่นที่มิใช่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

...สำหรับหน่วยงานอื่นจัดฝึกอบรมให้กับบุคลากร อปท.นั้น ขอให้ผู้บริหารพิจารณาหลักสูตรการฝึกอบรมนั้นอย่างรอบคอบ โดยให้พิจารณาถึงความน่าเชื่อถือหรือชื่อเสียงของหน่วยงานผู้จัด เนื้อหาหลักสูตรตรงกับความต้องการ ค่าใช้จ่ายไม่สูงเกินไป เป็นต้น

(5) หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.2/ว 1961 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 เรื่อง ขอให้กำหนดมาตรการเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ กรณีการเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและการเบิกค่าใช้จ่ายในการจัดงาน [18]

...กรณีหลักสูตรกฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป.รับรองเป็นการฝึกอบรมที่มีผลให้ผู้ผ่านการอบรมมีคุณสมบัติได้รับการแต่งตั้งเป็นบุคลากรศาลปกครอง ประกอบกับผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับวุฒิบัตร "กฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองตามมาตรฐานที่ ก.ศป.รับรอง" จึงถือว่าหลักสูตรดังกล่าวเป็นการฝึกอบรมที่ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพผู้เข้ารับการฝึกอบรมจึงไม่สามารถเบิกค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของ อปท. พ.ศ. 2549 ได้

(6) admin สถาบันฝึกอบรมโยธาไทย-Yotathai Training (เคยรับราชการ สตง.) ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคำว่า "โดยอนุโลม" ไว้อย่างน่าสนใจว่า [19]

...ขอเรียนว่า สตง. ไม่ใช่ศาลครับ การท้วง เป็นความคิดเห็น ไม่ใช่คำพิพากษา ไม่เป็นแม้แต่คำสั่งทางปกครองด้วยซ้ำ เป็นข้อเสนอแนะหนึ่ง อาจจะผิดหรือถูกได้

ภายใต้กรอบที่ระเบียบ อนุญาตไว้ สตง.บางท่านตีความตามระเบียบฯ เดินทางไปราชการว่า ถ้าไม่ร่วมกับมหาดไทย เบิกค่าเดินทางไม่ได้ (เอกชนจัดเบิกค่าเดินทางได้ก็ต่อเมื่อ ต้องเป็นการอบรมที่จัดร่วม กับมหาดไทยเท่านั้น) ทั้งที่ระเบียบฯ อบรม ปี 2549 ได้บอกว่า เบิกได้โดยอนุโลม

เช่น การจัดอบรมของสถาบันฝึกอบรมโยธาไทยชอบโดยกฎหมาย และสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย ผู้เข้าอบรมก็สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามระเบียบ

...เพราะ อนุโลมตามหลักการในสาระสำคัญ "อนุโลม" คือใช้แทนกันได้ตามเหมาะสม นำมาใช้โดยอาศัยหลักการเดียวกัน แต่ให้แก้ไขในรายละเอียดได้ตามควรแก่ กรณี เช่นเบิกค่าที่พักได้กี่บาท เบิกเท่าไหร่ เบิกยังไง แต่ไม่ได้หมายความว่าการไปอบรมจะเบิกได้เฉพาะที่ร่วมมือกับมหาดไทยเท่านั้น

สรุปที่กำหนดให้ การเบิก ค่าเดินทางและที่พัก อนุโลมตามระเบียบว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเท่านั้น ไม่ใช่การ เบิกโดยอาศัยระเบียบว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ โดยตรง

(7) ภัฏพงศ์ธามัน (ทนายความ) ได้อธิบายข้อสับสนของการเบิกเงินเพื่อชำระค่าลงทะเบียนอบรมแก่หน่วยงานเอกชนเป็นผู้จัด (18 กรกฎาคม 2554, เวลา 17:08 น.) [20]

แนะนำว่า กรณีเจ้าหน้าที่ สตง. ได้ตรวจสอบหลักฐานการเบิกค่าใช้จ่ายของผู้บริหารและพนักงานส่วนท้องถิ่นแล้วพบว่า หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้รับตรวจได้จ่ายเงินค่าลงทะเบียนอบรมเป็นจำนวนเงินมากกว่าวันละ 600 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2549ข้อ 22 (2) ซึ่งกำหนดให้จ่ายได้เพียงแค่วันละ 600 บาทเท่านั้น เจ้าหน้าที่ สตง. จึงตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการเบิกเงินตามหลักฐานที่ตรวจพบดังกล่าวนั้น น่าจะไม่เป็นไปตามข้อ 67 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 จึงได้สอบถามข้อเท็จจริงจากนายกฯ และหรือหัวหน้าหน่วยงานคลัง เพราะเหตุใดจึงจ่ายเงินมากกว่าที่ระเบียบกำหนด มิใช่เจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีคำสั่งให้คืนเงินแต่อย่างใด เป็นเรื่องการเข้าใจผิดของนายกฯ และพนักงานส่วนท้องถิ่น ที่เข้าใจว่า สตง. สั่งให้คืนเงินเสียแล้ว หรือเป็นกรณีที่ อปท. ไม่สามารถชี้แจงหลักการและเหตุผลในการอนุมัติจ่ายเงินค่าลงทะเบียนกับหน่วยงานเอกชนให้แก่เจ้าหน้าที่ สตง. ได้

ซึ่ง อปท. ในฐานะหน่วยงานผู้รับตรวจมีหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ สตง. และ โดยสามารถชี้แจงดำเนินการได้ตามขั้นตอน ตามข้อ 102 และ 103 แห่งระเบียบฯ ดังกล่าว

โดยมีเหตุผลชี้แจงในการเบิกเงินค่าลงทะเบียนอบรมฯ ว่า "ได้พิจารณาหลักสูตรการอบรมนั้นอย่างรอบคอบ โดยให้พิจารณาถึงความน่าเชื่อถือ หรือชื่อเสียงของหน่วยงานผู้จัด เนื้อหาหลักสูตร ว่า ตรงกับความต้องการ และมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกับหลักสูตร หรือไม่" ตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0807.2/ว 743 ลงวันที่ 8 เมษายน 2551 และหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0807.2/ว 477 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554


[1] เผยแพร่ในเฟซบุ๊ค, https://www.facebook.com/groups/dinkorat/ , 15 เมษายน 2558,18.10

[2] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2557, 

แจ้งตามหนังสือ กระทรวงมหาดไทย ที่ มท 8080.2/ว 4122 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 เรื่อง ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และการเข้ารับการฝึกอบรมของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2557, ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 219 ง วันที่ 31 ตุลาคม 2557 หน้า 1-10, http://www.tessaban.com/2014/lule07.PDF &  http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2014/11/14427_1_1416797312293.pdf?time=1418641628807

[3] เผยแพร่ในเฟซบุ๊ค, https://www.facebook.com/groups/dinkorat/ , 16 เมษายน 2558, 1.02

[4] หนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0808.2/ว 4952 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2556 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนฝึกอบรม กรณีหน่วยงานอื่นเป็นผู้จัดฝึกอบรม, http://www.dla.go.th/upload/ebook/column/2014/9/4928_7387.pdf

[5] เผยแพร่ในเฟซบุ๊ค, https://www.facebook.com/groups/dinkorat/ , 16 เมษายน 2558, 1.07

[6] ประกาศสำนักงานศาลปกครองเพิกถอนกฎ ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2549, ราชกิจจานุเบกษา เลม123ตอนที่72วันที่ 13กรกฎาคม2549 หน้า 23,https://yotathai.app.box.com/s/7cc808055667addd888d

[7] หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาด ที่ มท 0808.3/ว 611 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2546 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, https://yotathai.app.box.com/s/372a494e2f4ce9d3678e

[8] ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2526 แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2548 (ถูกยกเลิกแล้ว) , http://www.local.moi.go.th/law032.pdf&ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทางราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2526 ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2541 (ยกเลิกแล้ว), http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2541/E/061/53.PDF

[9] (1) ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ. 2555, ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบว้นนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป, ราชกิจจานุเบกษา หน้า 3-15 เล่ม 129 ตอนพิเศษ 161 ง วันที่ 24 ตุลาคม 2555, http://www.bankhaicity.com/private_folder/law/rule06.pdf&http://www.slideshare.net/valrom/2555-31880965

(2) แก้คำผิดระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทางราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ.2555, เดิมตามราชกิจจานุเบกษาฯ หน้า 10 ข้อ 33 บรรทัดที่ 1 คำว่า"ตามข้อ 14"ให้แก้เป็น"ตามข้อ 15"

ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 130 ตอนพิเศษ 24 ง ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 หน้าที่ 30

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/E/024/30.PDF(แก้คำผิด)

[10] หนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0409.7/ว 51 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2548 เรื่อง การเบิกค่าลงทะเบียน, https://yotathai.app.box.com/s/a4277473d4782fb624d6

[11] หนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0808.2/ว 4952 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2556 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนฝึกอบรม กรณีหน่วยงานอื่นเป็นผู้จัดฝึกอบรม, http://www.dla.go.th/upload/ebook/column/2014/9/4928_7387.pdf

[12] ดู เวบไชต์ชมรมจัดเก็บรายได้แห่งประเทศไทย, http://www.judkebclub.com/index.php/ฝึกอบรม/คำชี้แจง-ก่อนสมัครอบรม

[13] เผยแพร่ในเฟซบุ๊ค, https://www.facebook.com/groups/dinkorat/ , 16 เมษายน 2558, 14.21

[14] หนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0409.7/ว 51 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2548 เรื่อง การเบิกค่าลงทะเบียน, https://yotathai.app.box.com/s/a4277473d4782fb624d6

[15] หนังสือกระทรวงการคลังที่ กค 0409.6/ว 42 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2550 เรื่อง หลักเกณฑ์การเบิกค่าพาหนะรับจ้างข้ามเขตจังหวัด เงินชดเชย และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นต้องจ่ายเนื่องในการเดินทางไปราชการ, http://webhost.cpd.go.th/ewt/auditcpd/download/%E0%B8%A742.pdf

[16] หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.2/ว 2879 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2550 เรื่อง การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น,http://www.nmt.or.th/chiangmai/thaduea/DocLib15/การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น%202550.pdf

[17] หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0807.2/ว 477 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 เรื่อง หารือเรื่องการฝึกอบรมของหน่วยงานอื่นที่มิใช่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, http://www.bupho.go.th/bupho/mainfile/uploadsfiles83.pdf

[18] หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.2/ว 1961 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 เรื่อง ขอให้กำหนดมาตรการเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ กรณีการเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและการเบิกค่าใช้จ่ายในการจัดงาน, http://web.yotathai.com/uploads/7/8/5/4/7854144/w1961.pdf

[19] เวบไซต์สถาบันฝึกอบรมโยธาไทย-Yotathai Training,http://www.yotathai-training.com/law

[20] ภัฏ พงศ์ธามัน, "ข้อสับสนของการเบิกเงินเพื่อชำระค่าลงทะเบียนอบรมแก่หน่วยงานเอกชนเป็นผู้จัด", 18 กรกฎาคม 2554, https://www.facebook.com/notes/ภัฏ-พงศ์ธามัน/ข้อสับสนของการเบิกเงินเพื่อชำระค่าลงทะเบียนอบรมแก่หน่วยงานเอกชนเป็นผู้จัด/191229034268523


+++++++++++++++++++++++++++
หมายเหตุ

ค่าธรรมเนียมการอบรมที่จัดฝึกอบรมโดยส่วนราชการที่มีหน้าที่
1 ค่าลงทะเบียนอบรม (ไม่รวมค่าที่พักและพาหนะ) เพื่อเป็นหนังสือคู่มือ ค่าเอกสาร ค่ากระเป๋า ค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารว่างเครื่องดื่ม ค่าตอบแทนและค่าเดินทางวิทยากร ค่าสถานที่จัดอบรม และค่าวัสดุอุปกรณ์เครื่องเขียน สามารถเบิกได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2557

ตามข้อ 8 ซึ่งกำหนดว่า การฝึกอบรมที่จัดโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่น ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น รวมถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ที่ไม่ใช่เป็นผู้จัดการฝึกอบรม สามารถเข้ารับการฝึกอบรมและเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมตามระเบียบนี้ และ

ตามข้อ 9 ซึ่งกำหนดว่า การจัดฝึกอบรม การเดินทางไปจัดฝึกอบรมและเข้ารับการฝึกอบรม การเดินทางไปดูงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามที่กำหนดในโครงการหรือหลักสูตรการฝึกอบรมต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น โดยให้พิจารณาอนุมัติเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องหรือเป็นประโยชน์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตามจำนวนที่เห็นสมควร

2 ค่าพาหนะค่าที่พัก และค่าเบี้ยเลี้ยง สามารถเบิกได้ตามจริงจากต้นสังกัด ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ.2557 และ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558

การจัดฝึกอบรมโดยส่วนราชการที่มีหน้าที่บริการวิชาการแก่สังคมและท้องถิ่น ดังนั้น ผู้เข้ารับการอบรมตามโครงการดังกล่าว จะได้ใบเสร็จรับเงิน และวุฒิบัตร ที่ออกให้โดย ส่วนราชการที่จัดฝึกอบรม จึงสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม(ค่าลงทะเบียน) ได้เต็มจำนวนค่าลงทะเบียน และเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ได้ตามสิทธิ์ ทุกประการ


NB : see สรุปสาระสำคัญระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 , หน่วยตรวจสอบภายใน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย,http://www.audit.moi.go.th/pdf_new/training.htm

หมายเลขบันทึก: 588996เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2015 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2017 11:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท