บันทึกการเรียนรู้จากพื้นที่การทำงานจังหวัดพิจิตร : โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม โรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรม (บางมูลนากโมเดล)


บันทึกการเรียนรู้จากพื้นที่การทำงานจังหวัดพิจิตร : โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม โรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรม (บางมูลนากโมเดล)


โดย อาจารย์อิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และ อนุกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

เป็นผลจากการเดินทางเพื่อศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส 1 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันเสาร์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๘ ถึง วันอาทิตย์ที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๘


--------------------------------------------------------------

() ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ "โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม โรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรม"

--------------------------------------------------------------

. โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม เปิดสอนนักเรียนใน ๖ ระดับชั้น ตั้งแต่ มัธยมศึกษาปีที่ ๑ ถึง มัธยมศึกษาปีที่ ๖ ระดับชั้นละ ๙ ห้อง มีนักเรียนประมาณ ๒,๑๗๕ คน มีครูจำนวน ๘๘ คน และมีผู้บริหาร ๔ คน โดยมีนายมานพ เกตุเมฆ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

. โรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรมจริยธรรม

เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๕๓ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือของ ๓ องค์กรภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์คุณธรรม และโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม จังหวัดพิจิตร โดยมีเป้าหมายของโครงการคือสร้างโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรมจริยธรรม (บางมูลนากโมเดล) เพื่อปลูกจิตสำนึกให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา พร้อมทั้งปลูกฝังจิตสำนึกด้านจริยธรรมให้กับเยาวชน และส่งมอบหลักสูตร/กระบวนการสร้างโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรมจริยธรรมให้กับทางกระทรวงศึกษาธิการเพื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ของประเทศไทยต่อไป

ทั้งนี้ โดยลักษณะของโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรม จะมีความสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียน ได้แก่ กิจกรรมชุมนุม/ชมรมและกิจกรรมเพื่อสังคม/สาธารณประโยชน์ โดยให้เป็นกิจกรรมที่พัฒนาและส่งเสริมจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรม ให้กับครูและนักเรียน โดยมีนักเรียนร่วมกันทำกิจกรรมคุณธรรม หรือโครงงานคุณธรรม และมีครูเป็นที่ปรึกษา

เมื่อดำเนินการครบ ๑ ปี โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม ได้พัฒนามาเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรม ได้รับการประเมินผลจากนักวิจัยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยใช้ CIPP Model 2มีผลสัมฤทธิ์อยู่ในระดับ "ดี" ในส่วนของการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ ๓ (พ.ศ. ๒๕๕๔ - ๒๕๕๘) โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม มีผลคะแนนรวมทุกตัวบ่งชี้ร้อยละ ๘๒.๗๔ กล่าวคือ มีผลการประเมินอยู่ในระดับคุณภาพ "ดี" และได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษา มีจุดเด่น คือ ผู้เรียนมีอัตลักษณ์ด้านความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ มีความพอเพียงรวมทั้งสถานศึกษามีจุดเน้น จุดเด่น เป็นโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรม

. การขยายผลโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรม

  • สำนักงานผู้ตรวจเงินแผนดิน เห็นว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการศึกษาของชาติ อีกทั้งยังเป็นภารกิจของสำนักงานผู้ตรวจฯด้านการส่งเสริมจิตสำนึก คุณธรรมจริยธรรม ดังนั้น งบประมาณปี ๒๕๕๘ จึงได้บรรจุโครงการดังกล่าวในแผนงบประมาณยุธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และมูลนิธิยุวถถิรคุณ เพื่อขยายผลโรงเรียนคุณธรรมจริยธรรมในระดับภูมิภาค ให้เป็นโรงเรียนต้นแบบ เพราะการสร้างต้นแบบนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งของการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในวงการการศึกษา ที่จะเป็นต้นกล้าในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้ดำรงตนในทางที่ดี เพื่อเป็นแบบอย่างในการศึกษาต่อไป"
  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้จัดตั้ง "โครงการกองทุนการศึกษา" เพื่อพระราชทานแก่เด็กทั่วไปและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอกเปรมติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานโครงการกองทุนการศึกษา โดยมีเป้าหมาย คือ"เพื่อสร้างคนดีสู่สังคม" โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ คณะกรรมการบริหารโครงการกองทุนการศึกษาและ คณะ นำโดยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ให้ความสนใจ เข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงานโรงเรียนต้นแบบฯ เพื่อนำ แนวทางการพัฒนาไปปรับใช้กับโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา

--------------------------------------------------------------

() โรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรม : หลักการสำคัญ กระบวนการทำงาน ยุทธศาสตร์ กิจกรรม

--------------------------------------------------------------

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับคณะผู้บริหารของโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคมในการศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการ ฯ ประกอบกับ รายละเอียดจากรายงานการสังเคราะห์องค์ความรู้ กระบวนการสร้างโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรม บางมูลนากโมเดล พบว่า

กระบวนการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรม เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน กันยายน ๒๕๕๓ โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาไว้ ๓ ด้าน ได้แก่ การพัฒนาครู การพัฒนานักเรียน และการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ใน ๓ ด้าน คือ"ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ พอเพียง" โดยมีการจัดทำโครงงานคุณธรรมใน ๖ ประเด็น เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อน โดยมีรายละเอียดดังนี้

. กระบวนการในการดำเนินการ ในการดำเนินการตามโครงการนี้ มีการทำงานใน ๕ ระยะ กล่าวคือ ระยะที่ ๑ การจัดทำยุทธศาสตร์ในการพัฒนา ระยะที่ ๒ การขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์สู่การปฎิบัติการ ระยะที่ ๓ ระยะการติดตามประเมินผล ระยะที่ ๔ การปรับปรุงและพัฒนาผลการดำเนินการ และ ระยะที่ ๕ การขยายผลและการต่อยอด

. หลักการสำคัญที่ใช้เป็นหลักการพื้นฐานของการทำงาน

.. หลักการสร้างการมีส่วนร่วม โดยมีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ๔ กลุ่ม กล่าวคือ ผู้บริหารและครู นักเรียน ผู้ปกครอง และ ชุมชน เพื่อร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนา กำหนดอัตลักษณ์และตัวบ่งชี้ รวมทั้ง การมีส่วนร่วมในการดำเนินการ และ การมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผล

.. หลักการบริหารจัดการที่เป็นระบบ หรือ PDCA (Plan Do Check Action ) โดยเน้นการเปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กรร่วมกันคิดเพื่อวาง"ความสามารถหลัก"(Core Competencies) และ"ค่านิยมร่วม"(Core Values) ขององค์กร ศูนย์คุณธรรมได้นำหลักการนี้มาพัฒนาเป็น "ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ" แล้วนำปัญหาที่อยากแก้มาร่วมกันหาหนทางแก้ไขด้วยหลักคุณภาพ (Plan Do Check Action – PDCA.) และใช้ความดีมาสร้าง "ค่านิยม" ให้เป็น "อัตลักษณ์" เพื่อเป็นพลังผลักดันให้งานประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย

. ยุทธศาสตร์ในการพัฒนา การกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนา เป็นกระบวนการทำงานที่เกิดขึ้นในระยะแรกของการดำเนินโครงการ โดยหลังจากการจัดประชุมเชิงปฎิบัติการในกลุ่มต่างๆทั้ง ๔ กลุ่มคือ กลุ่มผู้บริหารและครู กลุ่มนักเรียน กลุ่มผู้ปกครอง และ กลุ่มชุมชน โดยได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนา หรือ "ยุทธศาสตร์ ๓-๖-๓" ประกอบด้วย

๓ อัตลักษณ์

"ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความพอเพียง"

๖ กิจกรรมหลัก

(๑) เสริมสร้างระเบียบวินัย (๒) เสริมสร้างความดี (๓) เสริมสร้างความกตัญญูกตเวที (๔) การพัฒนาจริยธรรม (๕) ส่งเสริมจิตอาสา (๖) พัฒนาโรงเรียนสีขาว

๓ ยุทธศาสตร์

(๑) การพัฒนาครู (๒) การพัฒนานักเรียน (๓) การพัฒนาสภาพแวดล้อม













ภาพที่ ๒ กรอบแนวคิดในการทำงานของโรงเรียนบางมูลนาก


. ตัวบ่งชี้ความสำเร็จ ประกอบด้วย ตัวบ่งชี้ของครู ตัวบ่งชี้ของนักเรียน และ ตัวบ่งชี้ของสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ ตัวบ่งชี้ทั้ง ๓ กลุ่มนี้ เกิดขึ้นจากกระบวนการการร่วมกำหนดตัวบ่งชี้


ตัวบ่งชี้ความสำเร็จ

รายละเอียด

ตัวบ่งชี้ของครู

(๑) ไม่เบียดเบียนเวลาราชการ (๒) ตรงต่อเวลา (๓) ไม่แสวงหาผลประโยชน์จากนักเรียนและโรงเรียน (๔) รับผิดชอบในหน้าที่ (๕) จิตอาสา (๖) ประหยัดทรัพยากรของโรงเรียน

ตัวบ่งชี้ของนักเรียน

(๑) ปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน (๒) ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข (๓) ดำรงชีวิตอย่างพอเพียง (๔) มีจิตอาสา และจิตสำนึกสาธารณะ

ตัวบ่งชี้สภาพแวดล้อม

(๑) โรงเรียน สะอาด ร่มรื่น สวยงาม และ (๒) ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน

ตารางที่ ๑ รายละเอียดตัวบ่งชี้ความสำเร็จ


. การขับเคลื่อนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ใน ๖ ขั้นตอน ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฎิบัติ ได้ถูกนำไปสู่การปฏิบัติ ๖ ขั้นตอนเป็นการปฏิบัติ ๖ ขั้นตอน คือ (๑) จัดโครงสร้างการทำงานทุกระดับ (๒) สร้างเครือข่ายผู้ปกครอง/ชุมชน (๓) การบูรณาการทำงานโครงการกับภารกิจหลัก งาดี

นประจำ กิจกรรมพิเศษ (๔) การพัฒนาสภาพแวดล้อมโรงเรียนสีขาว (๕) การนิเทศ ติดตาม สรุปบทเรียน สร้างขวัญและกำลังใจ (๖) ประชาสัมพันธ์เผยแพร่

. โครงงานคุณธรรม โครงงานคุณธรรมแบ่งเป็น ๖ ด้าน กล่าวคือ การเสริมสร้างระเบียบวินัย การเสริมสร้างความดี การส่งเสริมความกตัญญูกตเวที การพัฒนาจริยธรรม การส่งเสริมจิตอาสา และ การพัฒนาโรงเรียนสีขาว โดยมีการจัดทำโครงงานคุณธรรมจำนวน ๑๐๘ โครงการ

--------------------------------------------------------------

() บทเรียนความสำเร็จในการทำงานในการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรมจริยธรรม

--------------------------------------------------------------

จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับคณะผู้บริหารของโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคมในการศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการ ฯ ประกอบกับ รายละเอียดจากรายงานการสังเคราะห์องค์ความรู้ กระบวนการสร้างโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรม บางมูลนากโมเดล พบว่า ปัจจัยทีก่อให้เกิดความสำเร็จในการเป็นต้นแบบของโรงเรียนด้านคุณธรรมและจริยธรรมของโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม ประกอบด้วย ปัจจัยสำคัญ ๓ ปัจจัย กล่าวคือ (๑) ปัจจัยความสำเร็จที่มาจาก "คน" (๒) ปัจจัยความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อม และ ชุมชน (๓) ปัจจัยความสำเร็จที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ และ (๔) ปัจจัยความสำเร็จที่เกิดจาก "ระบบบริหารจัดการ" จัดการ


. ปัจจัยความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก "คน" "ชุมชน" และ "สิ่งแวดล้อม"

.. การสร้าง พัฒนา และ กระตุ้นให้ "คน" มีความเข้าใจ ความตระหนัก ในการสร้าง พัฒนาและกระตุ้นให้เกิดความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของคุณธรรม จริยธรรม มีกระบวนการทำงานเพื่อสร้าง พัฒนาและ กระตุ้นให้ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง รวมทั้ง คนในชุมชนเกิดความเข้าใจ ความตระหนักและเห็นความสำคัญของการมีคุณธรรมจริยธรรม และนำมาสู่การร่วมมือร่วมใจในการทำงาน

.. การสร้างและพัฒนาคนให้ มีความรู้ ความสามารถและศักยภาพในการดำเนินการในโครงการ การจัดกระบวนการและกิจกรรมเสริมหนุนและปฎิบัติการเสริมสร้างพลัง (Empowerment) เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ โดยมีการจัดกิจกรรมหลักคือ การพัฒนากระบวนการคิดเชิงระบบ และ กิจกรรมเฉพาะสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

  • กลุ่มผู้บริหารและครู มีการจัดอบรมเชิงปฎิบัติการให้แก่คณะครูเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารสถานศึกษาอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม กระบวนการขับเคลื่อนสู่การเป็นบางมูลนากโมเดล และ โครงงานคุณธรรม
    • กลุ่มนักเรียนและแกนนำเยาวชน มีการจัดอบรมเชิงปฎิบัติการให้กับเยาวชนแกนนำในหลักสูตรโครงงานคุณธรรม การเข้าร่วมจัดฐานการเรียนรู้ในค่ายลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด และผู้บำเพ็ญประโยชน์ รวมทั้ง "การจัดค่ายคุณธรรม : เด็กดีสร้างได้" สร้างได้สำหรับนักเรียนทุกระดับชั้น ทั้งเด็กเก่ง ปานกลาง และ เด็กที่มีผลการเรียนในระดับต่ำ
    • การให้คำปรึกษาและเตรียมความพร้อมในการจัดกิจกรรมสัปดาห์คุณธรรม และงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ

.. การสร้าง "แรงบันดาลใจ" ในการทำงาน โดยการเรียนรู้จากต้นแบบ ในการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนบางมูลนากนั้น นอกจากจะใช้กระบวนการสร้างการเรียนรู้จากการทำงานนโครงงานคุณธรรม จริยธรรมแล้ว ทางโรงเรียนยังใช้กระบวนการสร้างการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนด้วยการเรียนรู้จาก "ต้นแบบ" โดยเฉพาะให้นักเรียนได้เรียนรู้จากบุคคลต่างๆโดยเฉพาะบุคคลต้นแบบที่เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียน


. ปัจจัยความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการจัดการสิ่งแวดล้อม และ ชุมชน

กระบวนการขับเคลื่อนเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรมของโรงเรียนบางมูลนากนั้นเป็นการขับเคลื่อนการทำงานโดยให้ความสำคัญกับการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ล้อมรอบตัวเด็กนักเรียนไปพร้อมกันด้วย โดยมีการจัดการสิ่งแวดล้อมใน ๓ ระดับ กล่าวคือ

  • ระดับครอบครัว โดยมีการทำงานร่วมกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเครือข่ายพ่อแม่จิตอาสา ซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงาน
  • ระดับภายในโรงเรียน ประกอบด้วย การดำเนินการอย่างจริงจังของผู้บริหารโรงเรียนและการดำเนินการของครูในโรงเรียนในการจัดกระบวนการเรียนรู้ภายใต้สาระการเรียนรู้ทั้ง ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้ รวมไปถึง การสร้างสิ่งแวดล้อมในด้านกิจกรรมต่างๆที่เอื้อต่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจในเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม อีกทั้ง มีการดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษา นักการภารโรง รวมไปถึง ผู้ประบกรร้านค้าภายในโรงเรียน
  • ระดับภายนอกโรงเรียน อันหมายถึง ชุมชนที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานร่วมกับโรงเรียน

. ปัจจัยความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้

.. การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้จากการจัดทำโครงงาน หรือ Project Based Learning โครงงานคุณธรรมเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยพัฒนา กระบวนการคิดวิเคราะห์ให้กับนักเรียน ซึ่งกระบวนการคิดวเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผลนี้จะส่งผลให้เกิดการสร้างความตระหนักและความเข้าใจถึง ผิด-ชอบ-ชั่ว-ดี ตระหนักได้หมายรู้ถึงความดีงามได้ ภายใต้การประชุมเชิงปฎิบัติการจากคณะครูทั้ง ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้ คณะครูได้ร่วมกันกำหนดรูปแบบและแนวปฎิบัติเกี่ยวกับการจัดทำโครงงานคุณธรรม โดย ๑ ห้องเรียน : ๒ อาจารย์ที่ปรึกษา : ๒ โครงงาน (หรือ มากกว่าได้หากมีศักยภาพในการดำเนินการ)

.. การกำหนดโจทย์คำถามในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ในการกำหนดโจทย์ในการจัดทำโครงงานคุณธรรม เป็นการกำหนดโจทย์ของการทำงานจากประเด็นปัญหา หรือ Problem Based Learningโดยโครงการนี้มีการสร้างโจทย์ที่ใช้ในการเรียนรู้ภายใต้แนวคิด "ปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ" เป็นกรอบแนวคิดในการสร้างโจทย์ของการจัดทำโครงงานคุณธรรม

.. การจัดทำโครงงานคุณธรรมภายใต้การออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างผสมผสานและแบบการบูรณาการจากทั้ง ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยมีครูทำหน้าที่เป็น ผู้เอื้ออำนวย (Facilitator) หรือ ผู้สนับสนุน (Supporter) ในการทำงาน การจัดกระบวนการเรียนรู้ดำเนินการในรูปแบบของการจัดทำโครงงานคุณธรรม ร่วมกับ งานวินัยนักเรียน และ กิจกรรม หรือ โครงการพัฒนาจิตสำนึกตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๕๑ ในส่วนของกิจกรรมชุมนุมและกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ โดยให้ความสำคัญกับออกแบบกระบวนการหรือกิจกรรมในโครงงานคุณธรรมที่เน้นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการสืบค้นหาปัญหาและหาสาเหตุของปัญหาและคิดค้นกระบวนการในการจัดการปัญหาแบบมีส่วนร่วม ด้วยวิธีการที่หลากหลายและสร้างสรรค์

. ปัจจัยความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการโครงการ

.. การสร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินการ แนวคิดพื้นฐานที่ใช้เป็นแนวคิดหลักในการออกแบบกระบวนการทำงานในการดำเนินการโครงการนี้ คือ แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะเห็นได้จาก ในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำงาน ทั้งในขั้นตอนแรกของการจัดทำโครงการ กล่าวคือ กระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนา และ กระบวนการกำหนดอัตลักษณ์และตัวบ่งชี้ ไม่เพียงเท่านั้น ในขั้นตอนของการดำเนินการและ การทบทวน และ ปรับปรุงการดำเนินการ มีการจัดกิจกรรมประชุมเชิงปฎิบัติการโดยนำคณะครูและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปสัมมนาเชิงปฎิบัติการเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการดำเนินการโครงการ ร่วมกันวิเคราะห์ SWOT ร่วมกันคิดแก้ไขปัญหาและวิธีการที่จะนำไปสู่การดำเนินการที่มีประสิทธิภาพในระยะต่อไป

.. การดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจังของ "ผู้อำนวยการและผู้บริหารของโรงเรียน" ในการดำเนินการโครงการนี้ ผู้อำนวยการและผู้บริหารของโรงเรียนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการทำงาน โดยผู้อำนวยการของโรงเรียน คือ โดยมีนายมานพ เกตุเมฆ และคณะผู้บริหาร ให้ความสำคัญกับการดำเนินการในโครงการนี้โดยเข้ามามีบทบาททั้งในการลงมือปฎิบัติการ ตลอดจน การกำกับติดตาม และ บทบาทในการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินการ โดยการจัดกระบวนการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการคิด วิเคราะห์ การจัดดระบวนการเพื่อทำให้ผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และ ชุมชน ตระหนักถึงความสำคัญ ตลอดจน การจัดทำกลไกในการสนับสนุนส่งเสริม เช่น การให้รางวัล เป็นต้น

.. การสนับสนุนและการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน โดยมีการให้คำปรึกษาช่วยเหลือ/แก้ปัญหาโดยทีมพี่เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีมนักวิชาการ จากคณะศึกษาศาสตรมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตลอดจนการนิเทศ การกำกับติดตามและการสร้างขวัญกำลังใจให้กับครู นักเรียน ผู้ปกครองในการดำเนินการตามโครงการนี้

บทส่งท้าย

ความน่าสนใจของโรงเรียนบางมูลนากในฐานะที่เป็นโรงเรียน "ต้นแบบ" ด้านคุณธรรมจริยธรรม ก็คือ ความเป็นต้นแบบที่สำคัญที่สุด ก็คือ "ต้นแบบในด้านกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบมีส่วนร่วม" โดยจุดเริ่มต้นของการทำงานก็คือ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน รวมไปถึง การกำหนดอัตลักษณ์ร่วมกันของทั้งครู นักเรียน ปัจจัยนี้เองส่งผลต่อการสร้างความร่วมมือในการทำงานและส่งผลต่อความสำเร็จของการทำงาน ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็น "ต้นแบบในด้านการจัดการแบบยั่งยืน" จะเห็นได้ว่า ในการทำงานและขับเคลื่อนการทำงานในโรงเรียนนี้ มีสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งแวดล้อม ทั้ง ในระดับ ผู้บริหาร ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง บุคลากรในโรงเรียน ชุมชน ปัจจัยนี้เองเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการสร้สงความยั่งยืนของการทำงานและการขับเคลื่อนคุณธรรมรจริยธรรมของโรงเรียน

ในขณะเดียวกัน ประเด็นที่ต้องดำเนินการเพื่อต่อยอดการทำงานของโรงเรียนบางมูลนากนั้น นอกจากการขยายผลในด้านการพัฒนารูปแบบและกระบวนการทำงานเป็นโรงเรียนด้านคุณธรรมและจริยธรรมไปยังโรงเรียนและสังคมแล้ว ประเด็นที่จำเป็นที่ต้องดำเนินการก็คือ การพัฒนาต่อยอดผลงานหรือโครงงานที่นักเรียนจัดทำขึ้น เพื่อทำให้เกิดการนำโครงงานไปใช้หรือนำไปขยายผลในรูปแบบต่างๆในสังคม เพื่อทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงงานที่มีอยู่ได้จริงและเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย







1คณะเดินทางประกอบด้วย (๑) นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการสังคม ฯ (หัวหน้าคณะเดินทาง) (๒) นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ (๓) พลเรือเอก พลวัฒน์ สิโรดม (๔) พลเอก ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ (๕) พลเรือเอก ยุทธศิลป์ โดยชื่นงาม (๖) นางวงศ์พันธ์ ณธันยพัต (๗) นางจิราภรณ์ เล้าเจริญ (๘) นายกันติพจน์ ศรีบุญรัตน์ (๙) อาจารย์อิทธิพล ปรีติประสงค์ (๑๐) หม่อมหลวง อารยา สิโรดม (๑๑) นางทิพย์พรรณี โดยชื่นงาม (๑๒) นางสาวศิริพร ภิญโญสิริธร (๑๓) นางธนยา สิงห์มณี

2 CIPP Model เป็นการประเมินที่เป็นกระบวนการต่อเนื่อง โดยมีจุดเน้นที่สำคัญ คือ ใช้ควบคู่กับการบริหารโครงการเพื่อหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งแนวทางการประเมินในด้านต่าง ๆ มีรายละเอียด ดังนี้

(๑) การประเมินบริบท หรือสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation : C) เป็นการประเมินเพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญ เพื่อช่วยในการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ ความเป็นไปได้ของโครงการ

(๒) การประเมินปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation : I) เป็นการประเมิน เพื่อใช้ข้อมูลตัดสินใจปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยดูว่าปัจจัยที่ใช้จะมีส่วนช่วยให้บรรลุจุดมุ่งหมายของโครงการหรือไม่

(๓) การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation : P) เป็นการประเมินระหว่างการดำเนินโครงการ เพื่อหาข้อดี และข้อบกพร่องของการดำเนินงานตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ และเป็นการรายงานผลการปฏิบัติงานของโครงการนั้นด้วย

(๔) การประเมินผลผลิต (Product Evaluation : P) เป็นการประเมินเพื่อดูว่าผลที่เกิดขึ้นเมื่อสิ้นสุดโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือตามที่คาดหวังไว้หรือไม่

หมายเลขบันทึก: 588251เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2015 05:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2015 05:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์โก๋ครับ

หายไปนาน

โรงเรียนนี้เคยมาดูโรงเรียนต้นแบบที่กาญจนบุรี

ชื่อโรงเรียนบ้านหนองตาบ่งด้วยครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท