วิปัสสนาภาวนา (ตอนที่ ๕)


ในตอนนี้จะพูดถึงวิปัสสนาภาวนา ในแนวปฏิบัติมากขึ้น

วิปัสสนาภาวนา หากฟังหรืออ่านทางทฤษฎี ดูจะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากมีความตั้งใจจะลงมือปฏิบัติจริงๆ ก็มิได้อยากลำบากแต่อย่างใด

ข้อแนะนำในเบื้องต้น คือ ผู้ที่ต้องการปฏิบัติ ควรหาเวลาและโอกาส ไปเข้าคอร์สฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เข้าใจและมีทักษะเบื้องต้น ที่จะทำให้เป็นเสียก่อนที่จะฝึกเอง

ถ้าถามว่า ถ้าไม่ไปเข้าคอร์สฝึกปฏิบัติ แต่จะหัดทำเอง โดยหาหนังสือมาอ่าน แล้วลงมือทำเอง ได้หรือไม่

คำถามนี้ ตรงกับประสบการณ์ของผู้เขียนพอดี เพราะผู้เขียน ก็ทำแบบนี้มาก่อน ผู้เขียนเคยซื้อหนังสือมาอ่าน แล้วก็เคยฝึกด้วยตัวเองมาก่อน เป็นเวลาหลายปี

ก่อนจะเข้าคอร์สฝึกปฏิบัติ ที่มีครูบาอาจารย์ที่มีความรู้และประสบการณ์ ช่วยสอนอีกหลายครั้งและหลายปี

จึงสามารถจะตอบท่านผู้อ่านได้ว่า สามารถทำได้เองในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถจะทำได้ดี และมีความก้าวหน้าได้ช้ากว่า การเข้าคอร์สฝึกปฏิบัติ และถ้าจะปฏิบัติอย่างจริงจังและเข้มข้น ไม่แนะนำให้ทำเอง เพราะจะมีสิ่งที่ผู้ปฏิบัติเองไม่เข้าใจ และหลงเข้าใจผิด ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติ ได้อีกอย่างมากมาย

พูดเปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนฝึกขับรถ ถามว่าไปซื้อหนังสือมาอ่าน แล้วฝึกขับรถเองได้หรือไม่ ก็คงจะตอบได้ หากไปฝึกหัดในสนามกว้างที่ไม่มีผู้คน และมีเวลาหัดนานๆ แต่ไม่ขอแนะนำให้ทำ ใครๆ ก็คงจะแนะนำให้ไปเข้าโรงเรียนสอนขับรถยนต์ หรือหาคนที่ขับรถเป็นและมีความชำนาญ มาช่วยสอนขับจะดีกว่า

ผู้ที่มีความตั้งใจจะฝึกหัดทำวิปัสสนาภาวนา จึงควรเข้าคอร์ฝึกปฏิบัติ หรือหาผู้ที่ทำเป็นและมีความชำนาญช่วยสอน แต่จะต้องระวังด้วยว่า ผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจและชำนาญในการสอนวิปัสสนาภาวนาจริงๆ เพราะในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นสมถภาวนา แต่ผู้สอนเข้าใจผิดว่า เป็นวิปัสสนาภาวนา

ผู้เขียนได้อธิบายไว้อย่างมากมายและยืดยาวในตอนต้นๆ แล้วว่า อย่างไร คือ 'วิปัสสนาภาวนา' และอย่างไร คือ 'สมถภาวนา'

สรุปง่ายๆ ให้อีกทีก็คือ หากเป็นการทำให้เกิด 'สมาธิ' เพียงอย่างเดียว คือ 'สมถภาวนา' หากเป็นการทำให้เกิด 'สติ' เป็น 'วิปัสสนาภาวนา'

แต่มีสิ่งที่ควรรู้เพิ่มเติมอีก คือ โดยทั่วไปสมถภาวนา ไม่ทำให้เกิด 'สติ' แต่วิปัสสนาภาวนา จะเกิดทั้งสติและสมาธิด้วย

และหลักของวิปัสสนาภาวนา คือ การเจริญสติ โดยใช้ฐานสี่อย่าง คือ กาย เวทนา จิต และธรรม (สติปัฏฐานสี่)

พูดให้เข้าใจง่ายๆ หลักในการทำวิปัสสนภาวนา มีอยู่อย่างเดียว 'การเจริญสติ' ซึ่งเมื่อเจริญสติจะมีสมาธิเกิดขึ้นด้วย เป็นอัตโนมัติ

ผู้ปฏิบัติทำการเจริญสติอย่างเดียว ไม่ต้องเป็นห่วง หรืออยากได้อะไร การเจริญสติเป็นการสร้างหรือกระทำเหตุ เดี๋ยวผลจะเกิดขึ้นเอง เมื่อเหตุถูกต้องและมากเพียงพอ ผลจะเกิดขึ้นหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความอยาก หรือความต้องการของผู้ปฏิบัติ แต่ขึ้นอยู่กับความเพียรของผู้ปฏิบัติ พลังและความว่องไวและต่อเนื่องของสติ

ในการลงมือปฏิบัติจริงๆ อย่างในคอร์สที่ผู้เขียนจัดและช่วยกันสอนอยู่นั้น นั้น จะให้ผู้ปฏิบัติ ฝึกปฏิบัติอยู่สามอย่าง คือ

๑. การกำหนดรู้ในอิริยาบถย่อย (หรืออิริยาบถปัจจุบัน)

๒. การเดินจงกรม

๓. การนั่งสมาธิแบบอานาปานสติ ซึ่งสังเกตุดูที่ปลายลม

แต่การฝึก ๓ อย่างนี้ มีการจัดวางอย่างเป็นระบบ

มีขั้นตอน รายละเอียดมาก เหมาะสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่และผู้ที่เคยปฏิบิติแล้ว เป็นวิธีปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและได้ผลเร็ว และได้ผลอย่างน่าอัศจรรย์สำหรับบางคน ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดเพิ่มขึ้นในตอนต่อไป

แต่อยากจะขอย้ำอย่างที่เคยย้ำไว้แล้วอีกทีว่า วิปัสสนาภาวนา เป็นวิชาปฏิบัติ หากศึกษาโดยการอ่านหรือฟังให้ตาย ก็ไม่มีทางเข้าใจ ปฏิบัติเป็น และได้สัมผัสกับผลเยี่ยมยอดของการปฏิบัติ

หมายเลขบันทึก: 587193เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2015 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2015 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท