ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๕๗. สัปดาห์รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ๓. ความท้าทายด้านระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของไทย หลังปี 2015



เย็นวันจันทร์ที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๘ CapUHC จัดการประชุม Side Meeting เรื่อง "Remaining Challenge of Thai UHC in post 2015" และจัดเลี้ยงแสดงความยินดีที่ Professor Anne Mills ได้รับ DCMG Dame Commander of the order of St Michael and St George ซึ่งถ้าเทียบกับบ้านเราก็น่าจะได้เป็น คุณหญิง ของเขาเรียกว่า เดม ถ้าเป็นผู้ชายก็คงเรียกว่า เซ่อร์

อ่านกำหนดการประชุมได้ ที่นี่ จะเห็นว่า นักวิจัยบอกว่ามีความท้าทาย ๓ กลุ่ม คือ (1) Inequity (2) Financial Sustainability และ (3) Social & political challenges

เมื่อถึงเวลางานเข้าจริง เราพบว่าวันที่ ๒๖ มกราคม เป็นวันเกิดของท่านด้วย จึงเท่ากับเป็นการแสดง ความยินดีสองซ้อน

วิทยากรของการอภิปรายในหัวข้อข้างบนมี ๓ คนคือ รมช. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์, Dr. Toomas Palu แห่งธนาคารโลก, และ Prof. Dame Anne Mills เอง

ประเด็นสำคัญของการอภิปรายคือ

  • ๑.ฝ่าย demand side ยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร โดยเฉพาะภาคประชาสังคม เวลานี้ฝ่าย supply side ผูกขาดการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบมากเกินไป
  • ๒.ต้องหาทางบูรณาการกิจกรรมในระดับพื้นที่ บูรณาการหลายกระทรวง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบบริการปฐมภูมิ และเพื่อดูแลคนที่ต้องการ เช่นคนชรา คนพิการ ฯลฯ ใช้ รพสต. (และผมนึกถึง อสม. ด้วย แต่คืนนี้ไม่มีคนพูดถึง) เป็นแกนหลัก
  • ๓.ระบบ Accountability ต้องให้รับผิดรับชอบต่อประชาชน ไม่ใช่ต่อรัฐบาลกลางเท่านั้น ต้องหาทางให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนมีเสียง เพื่อถ่วงดุลรัฐบาลกลาง ประเด็นนี้ มาจาก Prof. Anne Mills และผมนึกในใจว่า Accountability ของระบบอื่นๆ (เช่นการศึกษา) ก็ต้องไปในทางเดียวกันด้วย และสอดคล้องกับแนวทางปฏิรูปประเทศ ที่คณะกรรมการ ปฏิรูปชุด อานันท์-ประเวศ เสนอไว้
  • ๔.เปลี่ยน สวรส. ไปทำหน้าที่ที่กว้างขึ้น
  • ๕.ต้องคำนึงถึงผลกระทบจาก AEC ซึ่งจะเกิดผลในระยะยาว ที่จะมีการเคลื่อนย้ายบุคลากร สุขภาพข้ามพรมแดนประเทศ ดังที่เกิดแล้วเป็นตัวอย่างในยุโรปตะวันออก หลังเข้า EU ประมาณ ๒๐ ปี
  • ๖.มีความท้าทาย ที่จะต้องดูแลสุขภาพ "ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย" ซึ่งรวมผู้ไม่มีสัญชาติไทย ที่เข้ามาอยู่
  • ๗.ประเทศไทยโชคดีที่เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเร็ว ประเทศที่จัดระบบนี้ช้า จะยากลำบากมากอย่างในสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศไทยจัดประสาน ๓ กองทุนที่ทำหน้าที่ ดูแลหลักประกันสุขภาพช้าเกินไป จนแต่ละระบบแข็งตัวมากแล้ว ผมคิดในใจว่า ไม่มีอะไรสายเกินไป เวลานี้รัฐบาลก็ได้ตั้ง "คณะกรรมการประสานงานกองทุนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ" แล้ว

หลังอาหารเป็นพิธีแสดงความยินดีและมอบของขวัญแก่ Professor Dame Anne Mills ท่านอดีต รมต. สาธารณสุข นพ. มงคล ณ สงขลา กล่าว (อ่าน) คำแสดงความชื่นชมน่าประทับใจมาก ว่าในเวลา ๓๐ ปี Professor Dame Anne Mills ได้มีลูกศิษย์เป็นคนไทยกว่า ๑๐๐ คน จบปริญญาเอก และโท กลับมาทำงาน สร้างสรรค์วิชาการ ขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทย โดยยังร่วมมือกับ Prof. Anne Mills อย่างต่อเนื่อง และเวลานี้ ก็ขยายออกไปทำประโยชน์ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยด้วย

Prof. Anne Mills กล่าวตอบว่า ที่จริงเป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ท่านมีผลงานดีก็เพราะได้ศิษย์ดีๆ จากประเทศไทย ไปช่วยสร้างผลงานวิจัยคุณภาพสูง และใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพได้ และยังทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายสร้างสรรค์ระบบสุขภาพ และสร้างสรรค์ระบบวิชาการต่อเนื่อง

เป็นค่ำคืนที่ชื่นมื่น และประเทืองปัญญา



วิจารณ์ พานิช

๒๗ ม.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 586774เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2015 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2015 18:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท