ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย : จัดการงานวิจัยดี สร้างการเปลี่ยนแปลงได้


ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบในผู้จัดการงานวิจัยส่วนใหญ่ คือ ไม่สามารถจัดการผลงานวิจัยได้ถึงขั้นที่ควรจะเป็น เรื่องนี้ยากที่จะหาคำตอบว่าจุดอ่อนอยู่ตรงไหน เสมือนการถามว่าเด็กเรียนเก่งหรือไม่เก่ง อยู่ที่ครูหรือเพราะตัวเด็กเอง เพราะสามารถมองได้หลายด้าน

ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ "ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย" และจดบันทึกจากเวที ที่ทางอาจารย์ให้เกียรติร่วมบรรยายเรื่อง "การพัฒนาโจทย์วิจัยและการพัฒนาข้อเสนอโครงการ" ในโครงการอบรมผู้จัดการงานวิจัย จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จากการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดร.สีลาภรณ์ ถือเป็นขุมกำลังสำคัญของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. หน่วยงานขับเคลื่อนการวิจัยของประเทศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวย สกว. และตำแหน่ง ผอ. ฝ่ายวิจัยชุมชนและสังคม ...

------------------------------------------------------------------------------------------------------



การจัดการงานวิจัย มีคุณค่า – สำคัญเพียงใด

มีคำคมหนึ่งที่ นพ.ประเวศ วะสี กล่าวไว้ว่า Management is what makes the impossible possible การจัดการเป็นเหมือนอิทธิบาท 4 คือ มันมีฤทธิ์ที่ทำให้เกิดความสำเร็จจริง จากประสบการณ์การทำงานที่ สกว. พบว่า ถ้าจัดการดีก็สามารถพัฒนางานวิจัยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ระบบราชการไทยรู้จักแต่ "Administration" (การบริหารปกครอง) ไม่รู้จัก "Management" (การบริหารจัดการ) และไม่ให้คุณค่าคิดว่าเป็นงานธุรการ ส่วนคนที่รู้จักกลับอยู่ในภาคเอกชน และเป็นคนที่ดำรงในตำแหน่งสูงสุด เป็น Manage Director เมื่อตอนที่ตั้ง สกว.ขึ้น ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ศึกษาพบว่า เมืองไทยไม่รู้จักเรื่องนี้ และในต่างประเทศก็ยังมีน้อยมาก มีอยู่ในองค์กรเพียงบางแห่ง จึงได้เริ่มพัฒนาขึ้นมาจนมีความก้าวหน้าตามลำดับ ทั้งที่ความจริงเรามีเครื่องมือหลายตัว แต่เราใช้อย่างไม่เกิดพลัง เช่น การประชุม Brain Storm KM เพราะเราขาดการจัดการต่อ


ปัญหาหรือจุดอ่อนของการจัดการงานวิจัย

การจัดการงานวิจัย เป็นทักษะที่จำเป็นที่ต้องมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งหากจะวัดการจัดการฯ จะดีหรือไม่อย่างไรนั้น สามารถดูได้จากผลลัพธ์ของงานวิจัยที่เกิดขึ้นว่าสามารถนำใช้ประโยชน์หรือตอบปัญหาได้ตรงกับความต้องการกับผู้ใช้งานหรือประเทศได้อย่างไรทั้งนี้ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบในผู้จัดการงานวิจัยส่วนใหญ่ คือ ไม่สามารถจัดการผลงานวิจัยได้ถึงขั้นที่ควรจะเป็น เรื่องนี้ยากที่จะหาคำตอบว่าจุดอ่อนอยู่ตรงไหน เสมือนการถามว่าเด็กเรียนเก่งหรือไม่เก่ง อยู่ที่ครูหรือเพราะตัวเด็กเอง เพราะสามารถมองได้หลายด้าน



หลักคิดในการบริหารงานวิจัย

หากยึดหลักในการบริหารจัดการงานวิจัยที่ดี เช่น การพัฒนาโจทย์วิจัยจะต้องนำมาตอบปัญหาของประเทศได้ การเข้าใจปัญหาเพื่อพัฒนากรอบประเด็นวิจัยของชุดโครงการหรือพัฒนา Proposal ที่มีคุณภาพ มีทีมนักวิจัยที่เหมาะสม การใช้เวทีประชุมเป็นเครื่องมือ การคำนึงถึงผู้ใช้งาน การสังเคราะห์โจทย์ที่แหลมคม เหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญซึ่งจะทำให้โครงการวิจัยมีโอกาสสำเร็จสูงขึ้น

ขอยกตัวอย่าง การพัฒนาโจทย์วิจัย เราต้องหาเป้าหมายให้เจอ จะแก้อะไร มีความรู้อะไรที่คนรู้กันอยู่แล้วบ้าง ได้ review แล้วหรือยัง แนวทางแก้ไขเท่าที่พอรู้ของปัญหานั้น มีคนทำอะไรบ้างแล้ว และเหลืออะไร จะได้ Research gap ซึ่งจะไปสู่การทำ Research agenda ถ้าจบงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ก็จะทำเราเห็นโจทย์ใหม่ต่อ งานวิจัยที่เสร็จไปแล้วก็จะกลายเป็น literature review แทน ตัวอย่าง เราพบว่าการแก้ปัญหาความยากจน สิ่งที่ต้องทำคือการเพิ่มขีดความสามารถการประกอบธุรกิจของเกษตรกร ตรงนี้ก็จะกลายเป็นโจทย์ใหม่ แล้วเราก็ต้องมา review ต่อว่า ขีดความสามารถมีอะไรบ้าง มีใครที่เคยศึกษาเรื่องนี้ในกลุ่มเกษตรกรบ้าง เป็นต้น เหล่านี้ได้จากการประชุม ถ้าเราประชุมและมีการจัดการดีพอ ก็จะทำให้ง่ายต่อนักวิจัยในการออกแบบงานวิจัย


อธิบายเพิ่มถึงหลักการบริหารจัดการงานวิจัย

หลักคิดในการบริหารงานวิจัย อันดับต้นๆ คือ ต้องการคิดถึงผลให้มากๆ จะเอาอะไร คิดให้ชัดช่วยกันระดมความคิด จะทำให้ได้งานดีกว่าเดิม

การบริหารงานวิจัยมีอยู่สองส่วน คือ ส่วนต้น (Upstream) และ ส่วนปลาย (Downstream) จุดแบ่งของ Upstream และ Downstream อยู่ที่การทำสัญญา ในขั้นตอนของ Upstream ได้แก่ การพัฒนาโจทย์วิจัย ให้ดีให้คม โดยมีผู้บริหารจัดการงานวิจัยเป็นคนช่วย ระยะเวลาประมาณ 6-12 เดือน การพัฒนาคุณภาพข้อเสนอโครงการ ถ้าทำได้ดีแล้ว จึงจะเซ็นสัญญา มีระยะเวลาประมาณ 1-3 เดือน และต่อจากขั้นตอนนี้ จะก้าวสู่ช่วง Downstream ได้แก่ การติดตามความก้าวหน้าผลงานตามระยะเวลาที่กำหนด และประเมินคุณภาพงานวิจัย

การจัดการสองส่วนนี้ ถ้าจะให้น้ำหนักแนวโน้มความสำเร็จของงานวิจัยจะอยู่ที่ Upstream ถึง 70% อีกเงื่อนไขอันหนึ่งของความสำเร็จในงานวิจัย คือ การเลือกนักวิจัย ต้องดูที่ขีดความสามารถนักวิจัย ถ้าเลือกคนทำได้ ก็มีแนวโน้มของความสำเร็จไปแล้ว 20—30 % และเหตุที่ทำให้งานไม่ประสบความสำเร็จเพราะเราเลือกคนทำไม่ได้ เราให้งานไปทำตามตำแหน่งคนที่รับผิดชอบ เราเลือกคนที่มีฝีมือจริงไม่ได้ ดังนั้น ถ้าเราจัดการตั้งแต่ต้นทาง คือ ได้ตัวคน มีตัวโจทย์ที่ดี การได้ความเห็นของ users ตั้งแต่ต้นว่าจะนำไปใช้ทำอะไร เราสำเร็จไปแล้วครึ่งทาง ส่วนที่เหลือคือทำให้ได้ผลแล้วกัน


เกร็ดเล็กน้อยการจัดการงานวิจัยกับพลังสู่การแปลงแปลง

สิ่งที่ฝากไว้ คือ “Management is what makes the impossible possible." งานวิจัยที่ได้ผลดี มันเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการปิดช่องว่างปัญหาที่เราต้องการแก้ และหากเราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง พลังของการเปลี่ยนแปลง มี 3 ตัว ได้แก่ 1.พลังความรู้ 2.พลังความร่วมมือของเครือข่าย ถ้าเราจัดกระบวนการวิจัยดีพอ ทำให้เป็นงานที่เปิดกว้าง สร้างการมีส่วนร่วม ก็จะทำให้ได้งานวิจัยที่ดี และมีเพื่อนเครือข่ายช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง และ สุดท้าย 3.พลังของการจัดการ ได้แก่ จัดการการเรียนรู้และจัดการความสัมพันธ์ หากมีสามตัวนี้ ก็จะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 586771เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2015 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2015 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท