วิปัสสนาภาวนา (ตอนที่ ๔)


แม้ว่าสติปัฎฐานสี่เป็นหลักของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมกรรมฐานก็จริง แต่การปฏิบัติตามหลักสติปํฎฐานสี่ ทำให้เกิดทั้งสมาธิและสติพร้อมกัน ดังนั้นจะเรียกว่าเป็นการเจริญทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานควบคู่กันก็ได้

ในทุกๆ ครั้งที่สติเกิดขึ้น จะมีสมาธิเกิดขึ้นด้วยเสมอ อาจจะเป็นสมาธิชั่วขณะ (เรียกว่า ขณิกสมาธิ) หรือสมาธิที่ละเอียดลึกมากขึ้นในระดับปานกลาง (เรียกว่า อุปจารสมาธิ) หรือหากนั่งเจริญอานาปนสติ (ในหมวดกายานุปัสสนากรรมฐานด้วย) ก็อาจจะสามารถเข้าสมาธิที่ลึกในระดับฌาน (เรียกว่า อัปปนาสมาธิ) ได้

การเจริญวิปัสนาภาวนานั้น มีแนวทางและเทคนิดได้หลายแบบ ดังนี้

๑. การเจริญสมถกรรมกรรมฐานก่อน แล้วต่อด้วยวิปัสสนากรรมฐาน โดยแนวทางนี้ ผู้ปฏิบัติอาจจะเจริญสมถกรรมฐาน (เช่น การภาวนาแบบพุทโธ ทำอานาปานสติแบบสมถกรรมฐาน หรือวิธีอื่นๆ) ก่อนแล้วมาเจริญสติปัฏฐานสี่ต่อ เรียกว่า "ยกจิตขึ้นวิปัสนนา" หากผู้ปฏิบัติไม่ยกจิตขึ้นสู่วิปัสนา โดยการเจริญสติปัฏฐานสี่ต่อ ก็จะติดอยู่ในอารมณ์ของสมถกรรมฐาน (คือความสงบ สุข หรืออิ่มเอิบใจ) ซึ่งจะไม่เกิดความก้าวหน้าต่อไป

๒. การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน โดยเน้นที่อานาปานสติ (เช่น วิธีของท่านพุทธทาสภิกขุ และสำนักสวนโมกขพลาราม) ซึ่ง อาจจะมีการเดินจงกรม และกำหนดรู้ในอิริยาบถปัจจุบัน (หรืออิริยาบถย่อย) ด้วย สิ่งจะต้องพึงระวัง คือ การนั่งสมาธิเป็นอานาปานสติแบบต้นลม เมื่อเกิดสมาธิ สงบหายใจสงบ แผ่วเบาหรือหายไป จะตัองไม่ทิ้งความรู้ตัว (สติ) จะต้องรักษาสติไว้ หากทิ้งความรู้ตัว (สติ) เมื่อไหร่ ก็จะตกไปอยู่ในสมถกรรมฐาน

๓. การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน โดยเน้นที่อิริยาบถย่อย (หรือสัมปชัญญะ) ไม่มีการเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ โดยผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาปริยัติให้เข้าใจเรื่องรูป-นามก่อน (เช่น วิธีของอาจารย์แนบ มหานีรานนท์)

๔. การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน โดยกำหนดรู้การเคลื่อนไหวของมือ ซึ่งมี ๑๔ จังหวะ มีการเดินจงกรมและการกำหนดรู้อิริยาบถย่อย (เช่น วิธีของหลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ)

๕. การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน โดยการทำอานาปานสติก่อนเป็นเวลา ๓ วัน แล้วต่อด้วยการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน โดยการสังเกตและรับรู้ในเวทนาทางกายที่ละเอียด (body scan) (เช่น ตามวิธีของท่านโคเอ็นก้า)

๖. การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน โดยเน้นที่จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การใช้สติมาดูจิต วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีสติมากและสติว่องไว และจิตค่อนข้างสงบหรือเคยทำสมาธิมาก่อน หากจิตยังไม่ค่อยมีสติและไม่ค่อยสงบ หรือมีนิวรณ์มาก จะทำได้ยาก จึงไม่เหมาะกับผู้ปฏิบัติใหม่ ซึ่งควรเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การเดินจงกรมและกำหนดรู้อิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อย) และเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การกำหนดรู้ความรู้สึก) เสียก่อน

๗. การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน โดยเน้นการกำหนดอิริยาบถปัจจุบัน (หรืออิริยาบถย่อยและการรับรู้ในอารมณ์ที่มากระทบทางอายาตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) การเดินจงกรม และการนั่งสมาธิ (แบบกำหนดรู้ที่ปลายลม คือ การพองและยุบของท้อง) [เช่น วิธีของพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และคุณแม่สิริ กรินชัย]

หลักในการพิจารณาว่าวิธีไหน เป็นสมถกรรมฐาน หรือวิปัสสนากรรมฐาน คือ หากวิธีไหนเป็นการเจริญสมาธิ วิธีนั้นเป็นสมถกรรมฐาน หากวิธีไหนเป็นการเจริญสติ (ตามหลักสติปัฏฐานสี่) วิธีนั้นเป็นวิปัสสนากรรมฐาน

แต่อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น การเจริญสติปัฏฐานสี่เป็นทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานควบคู่กัน เพราะผู้ปฏิบัติจะเกิดทั้งสมาธิและสติไปพร้อมกัน และการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น ในกระบวนพัฒนาทางจิต สภาวธรรมที่เกิดขึ้นในช่วงแรกจะมีสมาธิเป็นตัวนำ จนกว่าวิปัสสนาปัญญา (หรือวิปัสสนาญาณ) ในขั้นที่เห็นการเกิดดับของรูปและนามเกิดขึ้น จึงจะเข้าสู่สภาวธรรมของวิปัสสนา เรียกว่า เกิดวิปัสสนาญานแท้ ซึ่งจะมีความก้าวหน้าในการพัฒนาทางปัญญาตามลำดับขั้น ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 586588เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2015 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2015 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท