ความผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัยของนักวิจัยภาคสนาม


ผมกำลังศึกษาเรื่อง...ผู้หญิงอีสานกับการดื่มสุรา...เป็นการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ ซึ่งศึกษากับคน... ดังนััน จึงมีความยืดหยุ่นและมีเหตุการณ์ที่ผมไม่สามารถควบคุมได้เลย...จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการลงภาคสนาม เมื่อสัมภาษณ์กับประชากรเป้าหมาย มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากมายที่ทำให้งานสะดุดลง หรือ ต้องยกเลิกไปเลยก็มี


เช่น ขณะสัมภาษณ์ทั้งที่เราขออนุญาตแล้ว เจ้านายก็ดุและไล่ลูกน้องให้ไปทำงานทันที

หรือขณะถามผู้ถูกสัมภาษณ์เกิดเปลี่ยนใจกระทันหันไม่ให้ข้อมูล

หรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ผมตกใจเมื่อผู้ให้ข้อมูลเป็นลมชัก

หรือกระทั่งถามกันดีๆ เกือบจะจบข้อคำถามสุดท้าย...สามีก็มาทะเลาะกับภรรยา ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูล

เหตุการณ์ที่กล่าวมา...ผมให้ตกใจ ขวัญกระเจิงได้ไม่น้อย...


แต่เหตุการณ์ล่าสุด...นับเป็นความผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัยเลยสำหรับตัวผม

เป็นการสารภาพบาป และนับเป็นบทเรียนให้ผมตลอดชีวิตก็ได้ครับ


ผู้ให้ข้อมูลเป็นหญิง ชื่อ พี่นาง (นามสมมติ) อายุ 40 กว่าปี ที่เลือกเก็บข้อมูล เพราะกำลังป่วยโรคตับแข็ง จากการดื่มเหล้าขาวมานานกว่า 20 ปี

ปลายปีที่แล้ว ท้องเริ่มโตขึ้นอย่างช้าๆ จนนึกว่า ตัวเองตั้งครรภ์ สามีดีใจมากเพราะเพิ่งแต่งงานกัน และได้ตั้งชื่อเล่นลูกไว้แล้ว

พี่นาง มีลูก 8 คนแล้ว แต่นับลำดับสามีคนนี้เป็นคนที่ 13 พี่นางยังบอกว่า ชีวิตลำยองในละครยังเป็นน้อง

การให้ข้อมูลเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวา เพราะผู้เล่า บอกว่าตนเองอยากพูดความจริง ไม่ปิดบังใคร


เมื่อเวลาต้นปี พี่นางเริ่มอาเจียนเป็นเลือดแดงสด เลยไปหาหมอที่โรงพยาบาลหลายหน

จนหมอบอกว่า เป็นโรคตับแข็ง

เลยกลับมาอยู่บ้านแม่...เพราะสามีคนปัจจุบันไปทำงานที่กรุงเทพฯ หาเงินมารักษาพี่นาง

พี่นางเล่าว่า สามีแต่ละคนดีมาก เพราะตนเองไม่ได้ทำงานเลย ตนเองต่างหากที่ทำตัวไม่ดี สามีคนปัจจุบันเป็นคนดี เพราะดูแลตนเองดีมาก ก่อนป่วย ทุกๆ วัน ตอนเช้าจะซื้อเหล้าขาวตั้งไว้บนโต๊ะให้พี่นางก่อนออกไปทำงาน และเมื่อสามีเลิกงานก็กลับมานั่งกินเหล้าด้วยกัน ไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกันเลย


และตอนที่ผมผิดพลาดอยู่ตอนท้ายๆ บทสนทนา...

พี่นางจะไล่ลำดับสามีให้ผมฟัง...จนถึงลำดับที่ 12 ขณะที่ผมจดบันทึกในสมุด ก็มีเสียงพูดจากข้างหลังผม ว่า

"แม่ พอเถิด..."

เป็นเสียงลูกสาวพี่นางกับสามีคนที่ 8 ที่อยู่กับแม่พี่นาง (น้องเรียนชั้น ม.1 ไม่เคยเห็นหน้าพ่อตั้งแต่เกิด)

แต่พี่นางบอกว่า มันเป็นเรื่องจริง ต้องพูดให้จบ

แม่กับลูก เลยด่าทอกันสลับไปมา

จนผมรีบยุติการสนทนา...ขณะที่น้องก็เดินเข้าไปในบ้าน....

ผมจึงขอลากลับบ้านก่อน...


จึงเป็นบทเรียนว่า ในสถานการณ์นี้ ข้อมูลบางประเด็นต้องเลือกสถานที่ และเวลาที่เหมาะสม

ผมได้โทรศัพท์ไปถามข่าวพี่นาง พี่นางบอกว่า ไม่มีอะไร?

ผมขอโทษพี่นางสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น...พี่บอกว่า ผมไม่ได้ผิด ไม่มีอะไรที่ต้องขอโทษ และต้องมาเก็บข้อมูลให้เสร็จ เพราะเรื่องราวของตนเอง จะเป็นบทเรียนให้คนอื่นบ้าง

แต่อย่างไง ผมต้องกลับไปขอโทษน้องลูกสาวพี่นาง

ถึงแม้ไม่มีอะไรที่จะต้องขอโทษ แต่ผมรู้ว่า ความรู้สึกของคนๆ หนึ่ง...มันมีอะไรซุกซ่อนในคำขอโทษมากกว่านั้น

ผมผิดพลาดไปแล้วจริงๆ ครับ


หมายเลขบันทึก: 585498เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2015 00:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2015 00:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

จริงนะ บางทีเราก็ลืมไป

คุยเรื่องแบบนี้ต้องส่วนตัวมากๆ พี่นึกถึงจิตใจลูก แกคงอายนะ

อาจารย์สอนวิจัยพี่เคยสอนว่า ข้อมูลบางอย่างที่ไม่เป็นประโยชน์กับงานวิจัยเราก็ไม่ต้องถาม

เป็นพี่ก็คงไปขอโทษเหมือนที่น้องทำค่ะ

งานเชิงคุณภาพ ทำให้เราต้องเก็บข้อมูลอย่างเต็มอิ่มมากที่สุด เพราะมันเกี่ยวร้อยเชื่อมโยงกัน เก็บมา 100 ใช้เพียง 10 ก็มี สำหรับผม...เห็นด้วยกับพี่หนุ่ย ผมรู้สึกเศร้าพอสมควร แต่ก็เป็นบทเรียนอย่าเกิดซ้ำอีก ถ้าเชิงปริมาณเราอาจไม่เห็นผู้ให้ข้อมูลเลย แต่คุณภาพ เราเห็นทุกคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีชีวิตและจิตใจครับ

น่าสนใจและเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า งานวิจัยคุณภาพนิยมข้อมูลจากสถานการณ์ชีวิต แต่คุณค่าของงานวิจัยอยู่ที่ความเข้าใจในสัมพันธภาพที่คุณทิมดาบตระหนักรู้ในบันทึกนี้ เป็นกำลังใจให้เสมอครับ งานวิจัยคืองานที่เราได้ฝึกทำความดีในชีวิตจริงครับผม

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท