รักที่ไม่สัมพันธ์กับการกระทำ


ค่ำนี้ ความคิดต่อไปนี้เกิดขึ้นในสมองของผม ความคิดนั้นคือ "ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ด้วยเงินร้อยล้าน มันไม่เท่ากับการทำตัวให้พ่อแม่เบาใจ" คำว่า รักพ่อรักแม่ ใครๆ ก็พูดได้ แต่คำว่ารักเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายถ้าลูกพูดได้แต่ไม่ได้ทำตัวให้สมกับคำที่พูดออกไป การไม่พูดว่ารักจะดีกว่า เพราะอย่างน้อยก็ไม่ได้โกหกท่าน การที่เราพูดว่ารัก แต่พฤติกรรมที่แสดงออกมันสวนทางกัน จริงๆแล้วเราไม่ได้รักคนอื่นหรอก หากแต่เรารักตัวเราเอง เราเพลิดเพลินกับตัวเราเอง เรากลัวตัวเองจะต้องอยู่อย่างไม่มีใครอยู่รอบตัว สักเกตง่ายๆ ในยามที่เราเพลิดเพลิน เรามีคนที่เราบอกเขาว่ารักอยู่ในความเพลิดเพลินหลงระเริงอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มี ก็แสดงว่า เรารักตัวเองมากกว่าเรารักคนที่เราบอกว่ารักเขา ดังนั้น ก่อนที่จะบอกว่า "รักพ่อรักแม่" นั้น ลองคิดให้ดีเสียก่อนว่าเราไม่ได้โกหกหลอกหลวงให้ท่านหลงดีใจ

วันนี้ หลายคนอาจทำตัวเสเพล อันที่จริงผมไม่ควรเขียนเรื่องนี้ เพราะผมเองก็ไม่ได้ดีไปกว่าใคร และใครๆก็ไม่ค่อยกล้าที่จะเขียนเรื่องดังกล่าวนี้ เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะดีไปกว่าใคร แต่ผมก็เชื่อว่า ข้อความเพียงประโยคเดียวอาจช่วยพลิกชีวิตของบางคนได้ คำว่า เสเพลที่ผมกล่าวถึงนี้ หมายถึง ปล่อยชีวิตไปตามอารมณ์ หลงระเริงไปกับความเพลิดเพลินที่เข้าใจว่าสิ่งนั้นดูดี เก่ง สุดยอดของคน ฯลฯ แต่ความดูดี เก่ง สุดยอดของคนที่กล่าวถึงนี้ กลับกลายเป็นความหนักใจของพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ฯลฯ ผมยกตัวอย่างแนวคิดในการเข้าสังคมของคนยุคใหม่ที่มองว่า การเข้าสังคมนั้นต้องมีเหล้ายาปลาปิ้งมาเป็นตัวประสาน ถ้าไม่มีสิ่งนี้แล้วดูจะไร้รสชาติ ถ้าข้อความนี้เป็นจริง ก็แสดงว่า ๑) การเข้าสังคมต้องมีเหล้ายาปลาปิ้ง ๒) การเข้าสังคมที่ไม่มีเหล้ายาปลาปิ้งจะไม่เป็นสังคม สิ่งที่เราพบคือ สังคมที่ไม่จำเป็นต้องมีเหล้ายาปลาปิ้งมีอยู่ในโลก ดังนั้น ความจำเป็นในการมีเหล้ายาปลาปิ้งจึงไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับการเป็นสังคม

ในชีวิตจริงเราสามารถจะเลือกได้ว่า จะอยู่ในสังคมแบบใด ซึ่งขึ้นกับตัวเราเองว่าเราจะสร้างแบบชีวิตของเราอย่างไร ลูกบางคนอาจอ้างกับพ่อแม่ว่า การเข้าสังคมมันก็มีบ้างที่จะมีเหล้ายาปลาปิ้ง คำว่า "บ้าง" มีความหมายอย่างไร คำว่า "บ้าง" ไม่ใช่คำว่า "บ่อย" หรือ "ทุกๆ" คำว่า "บ้าง" ใน ๑ เดือน ไม่ได้หมายความถึง ๑๕ วัน/เดือน หรือทุกๆวัน/เดือน ความเป็นไปได้ของคำว่า "บ้าง"/เดือน คือ ๒-๓-๕ วัน แต่อาจไม่ใช่ "๑"

บางคนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหล้ายาปลาปิ้ง อาจอ้างว่า "เงินก็เงินของผม คุณมายุ่งอะไรกับผมด้วย "หรือ "แม่อยู่เฉยๆ เงินที่ผมได้มานั้น ผมทำงานได้แล้ว ผมรับผิดชอบได้แล้ว" คำถามคือ "เรารับผิดชอบได้แล้วจริงหรือ" อีกอย่างหนึ่ง "ผมกินสิ่งเหล่านี้มันก็เรื่องของผม ผมไม่ได้ไปทำให้ใครได้รับความเดือดร้อน" ข้อสังเกตง่ายๆ ถ้าเรารับผิดชอบได้แล้ว ก็แสดงว่า ในชีวิตของเราไม่เคยขอความช่วยเหลือจากใคร ถ้าการที่เราเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนจริง ก็แสดงว่า ชีวิตของเรามีแต่ตัวเรา ไม่ได้มีคนอื่นที่สัมพันธ์กับเรา เพราะจริงๆแล้ว ชีวิตเราไม่ใช่อะไรอื่นเลย หากแต่เป็นเลือดเนื้อของพ่อแม่ ที่เราควรถนุถนอมให้สมกับที่เราหยิบยืมเลือดเนื้อเขามา ถ้าถามว่า "เหล้ายาเบียร์ยาเสพติดทั้งหลาย" นั้น เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ คงไม่มีใครตอบว่าเป็นสิ่งที่ดี การที่เรานำเอาสิ่งที่ไม่ดีเข้าไปใส่ในร่างกายที่เราหยิบยืมเขามานั้นมันยุติธรรมกับร่างกายนั้นหรือไม่

ในบางครอบครัว สามีต้องรับผิดชอบทั้งภรรยาและลูกน้อย หรือภรรยาประเภทเมรีขี้เมา ก็ต้องรับผิดชอบทั้งสามีและลูกน้อย และ/หรือลูกที่ต้องรับผิดชอบพ่อแม่ของตัวเอง แต่เรากลับเอาชีวิตเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหล้ายาปลาปิ้ง แน่นอนเราอาจไม่คิดว่า และไม่เชื่อหรอกว่า ผลของเหล้ายาปลาปิ้งจะทำให้เราอุบัติเหตุ ทั้งเจ็บไข้ได้ป่วย ปวดหัว โรคร้ายต่างๆที่ค่อยๆคืบคลานมากับสิ่งเหล่านี้ เราบอกว่าเราไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ร่างกายก็ร่างกายของเรา เท่าที่สังเกต เมื่อถึงคราวเจ็บป่วยจริงๆ เพื่อนร่วมวงก็มาเยื่ยมบ้างเพียงครั้งคราว หรืออาจไม่มาเลย คนที่ดูแลเอาใจใส่เราเป็นอย่างดีกลับกลายเป็นคู่ชีวิตและลูกที่เราไม่ค่อยใส่ใจ และที่แน่ๆคือพ่อแม่ที่เราอ้างว่ารักท่าน แต่เรามักข่มเหงน้ำใจของท่านอยู่บ่อยครั้ง

หลายคนไม่อยากตักเตือนเพื่อนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหล้ายาปลาปิ้ง อาจจะด้วยหลายสาเหตุต่อไปนี้ ๑) ไม่ตักเตือนมันดีกว่า วันที่มันล้มกูจะหัวเราะให้หงายเหงือก สมน้ำหน้ามัน ทำพอได้ หร่อยนักแรง ฯลฯ ๒) ไม่ตักเตือนเพราะเกรงเพื่อนจะไม่เข้าใจ เพราะคิดว่าสิ่งที่เตือนไปนั้นเป็นการเตือนเพราะความเกลียดชัง สู้อยู่นิ่งๆดีกว่า จะได้ไม่เสียเพื่อน ๓) ไม่ตักเตือนเพราะเกรงว่า จะถูกย้อนกลับมาว่า "ยุ่งอะไรด้วย เรื่องของตัวเองก็ทำให้มันดีก่อนเหอะ ก่อนมาเตือนผม อย่ามาวุ่นวายกับชีวิตผมฯลฯ" ภาษิตไทยจึงว่า พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง อย่างไรก็ตาม เท่าที่สังเกต คนที่เข้ามาตักเตือนเรากลับไม่ใช่คนที่เกลียดชังเรา

สุดท้าย ถ้าจะรักตัวเอง ก็จงรักษาชีวิตเลือดเนื้อของผู้ที่ให้เรามาด้วย ถ้าเราเป็นลูกก็อย่าให้พ่อแม่ต้องมานั่งทุกข์ใจ รู้สึกผิดที่เลี้ยงลูกมาไม่ดี ถ้าเราเป็นพ่อ ก็อย่าให้ลูกต้องรู้สึกหดหู่เมื่อมองดูพ่อของคนอื่นแล้วน่าภาคภูมิใจกว่า ถ้าเราเป็นแม่ก็อย่าทำให้สามีรู้สึกว่า เวรกรรมแท้ๆ ที่ได้เมรีชี้เมาอย่างเรา และลูกรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นแม่ของตนเอง คำว่า "รัก" พูดไม่ยากเลย แต่พฤติกรรมที่แสดงว่าเรารักคนรอบข้างต่างหากเป็นสิ่งที่ดูจะจริงมากกว่าคำที่เราพูดออกมาจากปาก

หมายเหตุ : เกณฑ์แสดงการทำหน้าที่ของแต่ละชีวิตในสังคม อ่านได้ใน http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=265

ชีวิตเรา เราเลือกได้ว่าเราจะเป็นเพื่อนแบบไหน เป็นพี่น้องแบบไหน เป็นพ่อแม่แบบไหน ฯลฯ

หมายเลขบันทึก: 585482เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2015 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2015 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท