​การประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity Life Insurance) ตอนที่ 1 สังคมผู้สูงอายุกับการประกันชีวิตแบบบำนาญ (Aging Society and Annuity Life Insurance)


การประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำหรือบำนาญ (Annuity หรือ Pension) เป็นแบบประกันที่มีผลประโยชน์ในรูปแบบของการจ่ายเงินรายงวดให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุที่สามารถรับเงินบำนาญได้คือตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งมีทั้งการจ่ายบำนาญรายงวดเป็นรายเดือนหรือรายปีตามแต่ผู้เอาประกันภัยได้เลือกรับไว้ ดังนั้นการประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำหรือบำนาญจึงเหมาะกับผู้ที่มีวัตถุประสงค์ในการทำประกันชีวิตเพื่อการเก็บออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ



การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี รวมถึงความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ ส่งผลทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น โดยดูได้จากอายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) ที่สูงขึ้น ในประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country) ส่วนใหญ่พบว่าผู้หญิงจะมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดสูงถึง 80-87 ปี และผู้ชายจะมีอายุคาดเฉลี่ย 77-85 ปี สำหรับในประเทศไทยผู้หญิงจะมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดสูงถึง 76-78 ปี ซึ่งยังต่ำกว่าของผู้หญิงในประเทศที่พัฒนาแล้วประมาณ 4-9 ปีและผู้ชายจะมีอายุคาดเฉลี่ย 70-72 ปีซึ่งต่ำกว่าของผู้ชายในประเทศที่พัฒนาแล้วประมาณ 7-12 ปี

องค์การสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN) คาดการณ์ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2544-2643 (ปี ค.ศ. 2001-2100) จะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ (Century of Aging) เพราะปัจจุบันโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งแต่ละประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศ เช่น ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทางด้านการแพทย์ โภชนาการและการบริโภคอาหาร เป็นต้น

องค์การสหประชาชาติ ได้ให้คำนิยาม (Definition) เกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ดังนี้

ผู้สูงอายุ (Older Person) หมายถึงประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปและได้แบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น 3 ระดับ ได้แก่

1. ระดับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

2. ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ60ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ20 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

3. ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) หมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ20 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่

สำหรับประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ สรุปว่าไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2548โดยมีประชากรผู้สูงอายุ ร้อยละ 10.4 ของประชากรทั้งประเทศและคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในช่วงปี 2567-2568 โดยคาดว่าจะมีผู้สูงอายุ 14 ล้านกว่าคนหรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด พูดให้เข้าใจกันง่ายๆคือมีผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุกๆ 5 คน โดยสาเหตุมาจากการลดลงของภาวะเจริญพันธุ์หรืออัตราการเกิดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ในขณะอัตราการตายต่ำกว่าอัตราการเกิด ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบประชากรกลุ่มอื่นได้แก่วัยเด็ก (อายุน้อยกว่า 15 ปี) และวัยแรงงาน (อายุ 15 -59 ปี)

สัดส่วนประชากรวัยต่าง ๆ พ.ศ. 2548 – 2578 (ที่มา http://www.ipsr.mahidol.ac.th/IPSR/AnnualConferenc....)

เมื่ออัตราส่วนของผู้สูงอายุสูงมากขึ้นในขณะที่อัตราส่วนของวัยแรงงานเริ่มลดลง จึงทำให้ "อัตราส่วนการเกื้อหนุนผู้สูงอายุ" (Potential Support Ratio) ลดลงด้วยเช่นกัน อัตราส่วนการเกื้อหนุนผู้สูงอายุหมายถึงจำนวนคนในวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) เทียบกับจำนวนผู้สูงอายุ 60 ปี กล่าวคือ ผู้สูงอายุหนึ่งคนจะมีประชากรในวัยแรงงานช่วยเหลือดูแลกี่คน ซึ่งคำนวณโดยการหารจำนวนประชากรในวัยแรงงาน (อายุ 15 – 59 ปี) ด้วยจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ดังนั้นอัตราส่วนการเกื้อหนุนผู้สูงอายุที่ลดลงย่อมหมายถึงมีจำนวนประชากรวัยแรงงานที่คอยช่วยเหลือดูแลเกื้อหนุนผู้สูงอายุมีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุนั่นเอง

อัตราส่วนการเกื้อหนุนผู้สูงอายุของประเทศไทย (Potential Support Ratio) พ.ศ. 2503 – 2578

(ที่มา http://www.ipsr.mahidol.ac.th/IPSR/AnnualConferenc....)

อีกดัชนีที่นิยมใช้ในการชี้วัดคือ "อัตราส่วนพึ่งพิง" (Dependency Ratio) ซึ่งมีข้อสมมุติว่าประชากรวัยเด็กและวัยสูงอายุต้องพึ่งพิงทางเศรษฐกิจจากประชากรวัยทำงาน ในการคำนวณอัตราส่วนนี้ ประชากรวัยเด็กคือประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปี ประชากรสูงอายุคือประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป และประชากรวัยทำงานคืออายุระหว่าง 15 ถึง 59 ปี อัตราส่วนพึ่งพิง แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ

1. อัตราส่วนพึ่งพิงรวม (Total dependency ratio) คือรวมผู้พึ่งพิงทั้งที่เป็นเด็กและผู้สูงอายุต่อผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน 100 คน

2. อัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็ก (Youth dependency ratio) เป็นจำนวนเด็กต่อผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน 100 คน

3. อัตราส่วนพึ่งพิงวัยชรา (Old-age dependency ratio) เป็นจำนวนผู้สูงอายุต่อผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน 100 คน

ค่าของอัตราส่วนพึ่งพิงยิ่งสูงย่อมแสดงถึงมีจำนวนผู้ที่ต้องพึ่งพิงมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ทำงานนั่นเอง ทั้งนี้พบว่า ในปี พ.ศ. 2533 มีประชากรวัยแรงงาน 10 คน ทำหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน (อัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุ (Old-age dependency ratio) เท่ากับ .1161) และยังมีการประมาณการว่า ในปี พ.ศ. 2563 ภาระของประชากรวัยแรงงาน ในการดูแลผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะจะมีประชากรวัยแรงงานประมาณ 4 คน จะต้องรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุอย่างน้อย 1 คน (อัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุ (Old-age dependency ratio) เท่ากับ .2350)

อัตราส่วนพึ่งพิงรวม อัตราส่วนพึ่งพิงวัยเด็ก และอัตราส่วนพึ่งพิงวัยชรา พ.ศ. 2503 – 2578

(ที่มา http://www.ipsr.mahidol.ac.th/IPSR/AnnualConferenc....)

โดยทั่วไปผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปคือวัยที่เกษียณจากการทำงานแล้ว ดังนั้นผู้สูงอายุจึงเป็นคนที่ไม่มีรายได้จากการทำงาน ผู้สูงอายุจึงต้องนำเงินที่เก็บออมจากการทำงานมาก่อนหน้านี้รวมถึงรายได้จากลูกหลานที่มอบให้ไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณ อย่างไรก็ตามพบว่ายังมีผู้สูงอายุบางส่วนที่ยังคนต้องทำงานหลังจากอายุเกิน 60 ปี ไปแล้ว จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรหรือการสำรวจแรงงาน พบว่า ในปี 2554 มีผู้สูงอายุที่ยังคงต้องทำงาน 3.2 ล้านคน จากจำนวนผู้สูงอายุทั้งสิ้น 8.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 38.6 จากการสำรวจยังพบว่า การทำงานของผู้สูงอายุเหล่านี้ ส่วนใหญ่ทำงานในฐานะของแรงงานนอกระบบถึงร้อยละ 90.3 ซึ่งหมายถึงเป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับสวัสดิการและความคุ้มครองจากการทำงาน และอีกส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานในระบบ พบว่าส่วนใหญ่ทำงานในภาคการค้าและการบริการร้อยละ 51.9 รองลงมาเป็นภาคการผลิตร้อยละ 31.2 และภาคเกษตรกรรมร้อยละ 17.0 ตามลำดับ ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ ส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรกรรมถึงร้อยละ 68.8 รองลงมาเป็น ภาคการค้าและการบริการร้อยละ 24.1 และภาคการผลิตร้อยละ 7.2 ตามลำดับ ทั้งนี้จากผลสำรวจค่าจ้างหรือเงินเดือนของผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานในระบบ พบว่าโดยภาพรวมมีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 12,609 บาท ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาคการค้าและบริการได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุดประมาณ 18,417 บาท รองลงมาภาคการผลิต 7,381 บาท และภาคเกษตรกรรม 4,427 บาท ส่วนผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบ มีค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 3,833 บาทเท่านั้น โดยในภาคการผลิตได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุดประมาณ 4,754 บาท รองลงมาเป็น ภาคการค้าและการบริการประมาณ 3,898 บาท ขณะที่ผู้สูงอายุที่อยู่ในแรงงานนอกระบบ ภาคเกษตรกรรมได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนน้อยที่สุดประมาณ 3,464 บาท

นอกจากนี้จากผลสำรวจหนึ่งยังพบว่ามีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 85 หรือจำนวนประมาณ 6 ล้านคน เท่านั้นที่สามารถดูแลตนเองได้ โดยมีผู้สูงอายุกว่า 1 ล้านคนคิดเป็นเกือบร้อยละ 15 ที่สุขภาพไม่ดี นอนติดเตียง ต้องพึ่งคนอื่นดูแล โดยมีประมาณ 960,000 คน ที่ช่วยเหลือตนเองได้บางส่วน อีกประมาณ 63,000 คน ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย โรคเรื้อรัง 5 อันดับที่พบมากในผู้สูงอายุคือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วนลงพุง และโรคข้อเสื่อม ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังไร้ลูกหลานดูแลจะเพิ่มมากขึ้นโดยพบว่ามีผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวหรืออยู่ลำพังเพิ่มมากขึ้น 2 เท่าตัว จากร้อยละ 3.6 ในปี 2537 เป็นร้อยละ 7.6 ในปี 2550

จากผลสำรวจที่กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้เห็นสภาพปัญหาที่สำคัญของผู้สูงวัย กล่าวคือประชากรสูงอายุจำนวนมากเป็นผู้ที่มีความยากจน โดยพบว่า ร้อยละ 20.7 ของประชากรสูงอายุ มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อปีต่อคน แม้ในปัจจุบันจะมีการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายเดือนเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในด้านรายได้ของผู้สูงอายุซึ่งมีการจ่ายแบบขั้นบันได กล่าวคือ

อายุ 60 -69 ปี จะได้รับ 600 บาท

อายุ 70 -79 ปี จะได้รับ 700 บาท

อายุ 80 -89 ปี จะได้รับ 800 บาท

อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท

แต่เงินจำนวนดังกล่าวไม่น่าจะเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องใช้จ่ายในด้านต่างๆ นอกจากนี้และประชากรสูงอายุส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคเรื้อรัง ดังนั้นจึงมีภาระเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย

ดังนั้นทุกคนจึงต้องมีการเตรียมการสำหรับการเข้าสู่วัยผู้สูงอายุสำหรับตนเอง โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในวัยแรงงานซึ่งยังสามารถหารายได้ได้อยู่นั้นจะต้องรู้จักวางแผนทางการเงินด้วยการออมเงินไว้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากที่เกษียณจากการทำงานและไม่มีรายได้จากการทำงานแล้ว การวางแผนทางการเงินด้วยการออมนั้นมีรูปแบบมากมาย ทั้งการนำเอาเงินไปฝากไว้ในธนาคาร การนำเงินไปซื้อกองทุน การนำเงินไปลงทุน การซื้อประกันชีวิต เป็นต้น

การประกันชีวิต (Life Insurance) ในปัจจุบันมีรูปแบบผลประโยชน์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือ ความคุ้มครองความสูญเสียกรณีเสียชีวิต รูปแบบที่สองคือ การออมหรือการสะสมทรัพย์ไว้ ทั้งนี้รูปแบบผลประโยชน์ของการประกันชีวิตอาจเป็นรูปแบบที่ให้ผลประโยชน์ด้านความคุ้มครองการเสียชีวิตอย่างเดียว โดยไม่มีผลประโยชน์ด้านการออมหรือสะสมทรัพย์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งการประกันชีวิตในรูปแบบดังกล่าวจะจ่ายผลประโยชน์ให้ผู้รับประโยชน์ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตเท่านั้น หากผู้เอาประกันภัยมีชีวิตอยู่ถึงครบกำหนดสัญญาจะไม่มีการจ่ายผลประโยชน์ใดๆแก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งได้แก่ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาหรือเฉพาะกาล (Term Life Insurance) นอกจากการประกันชีวิตแบบดังกล่าวแล้วยังมีการประกันชีวิตที่มีผลประโยชน์ทั้งความคุ้มครองการเสียชีวิตและการออมหรือสะสมทรัพย์ทรัพย์รวมอยู่ด้วยซึ่งการประกันชีวิตในรูปแบบนี้จะจ่ายผลประโยชน์ให้ผู้รับประโยชน์ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตระหว่างสัญญา และหากผู้เอาประกันภัยมีชีวิตอยู่ถึงครบกำหนดสัญญาก็จะมีการจ่ายผลประโยชน์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยด้วยซึ่งได้แก่ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life) ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment) และประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำหรือบำนาญ (Annuity หรือ Pension) หรือการประกันชีวิตเพื่อวัยเกษียณ (Retirement) เป็นต้น

จากแบบประกันชีวิตต่างๆข้างต้นที่กล่าวมา การประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำหรือบำนาญ (Annuity หรือ Pension) เป็นแบบประกันที่มีผลประโยชน์ในรูปแบบของการจ่ายเงินรายงวดให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุที่สามารถรับเงินบำนาญได้คือตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งมีทั้งการจ่ายบำนาญรายงวดเป็นรายเดือนหรือรายปีตามแต่ผู้เอาประกันภัยได้เลือกรับไว้ ดังนั้นการประกันชีวิตแบบเงินได้ประจำหรือบำนาญจึงเหมาะกับผู้ที่มีวัตถุประสงค์ในการทำประกันชีวิตเพื่อการเก็บออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ นอกจากนี้การประกันชีวิตแบบบำนาญยังมีผลประโยชน์ในด้านการลดหย่อนภาษีตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 ให้ความเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการออมในรูปแบบของประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity Product) โดยให้มีการเพิ่มวงเงินการให้ หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิต จากเดิมไม่เกิน 100,000 บาท เป็น 300,000 บาท โดยค่าเบี้ยประกันชีวิตที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ในส่วนที่เพิ่มขึ้นมาอีก 200,000 บาทนั้นกำหนดให้เฉพาะค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเท่านั้น ซึ่งต่อมาก็ได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 194) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้ตามวรรคสามของข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า เบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญที่ได้รับยกเว้นภาษี มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. เป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

2. เป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร

3. มีการกำหนดการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจำนวนผลประโยชน์เงินบำนาญดังกล่าวจะจ่ายเท่ากันทุกงวดหรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้ โดยการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญจะจ่ายตามการทรงชีพที่อาจมีการรับรองจำนวนงวดในการจ่ายที่แน่นอน

4. มีการกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ถึงอายุ 85 ปี หรือกว่านั้น และผู้มีเงินได้ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้วก่อนได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ

5. เป็นเบี้ยประกันที่จ่ายสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

ทั้งนี้เมื่อรวมผลประโยชน์ทางภาษีของการประกันชีวิตตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร การยกเว้นเงินได้ ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2551

ที่ได้ขยายวงเงินที่สามารถนำไปยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้จาก 50,000 บาทเป็น 100,000 บาท เฉพาะกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป โดยกำหนดให้ใช้สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป ทำให้เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญมีผลประโยชน์ทางด้านการลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นโดยมีเงื่อนไขคือ

1. ยกเว้นเงินได้ที่จ่ายไปเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญหรือการประกันชีวิตแบบอื่น หรือการประกันชีวิตแบบบำนาญและการประกันชีวิตแบบอื่นรวมกัน แล้วแต่กรณี ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และ

2. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้เพิ่มขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และ

3. เงินที่จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญในข้อ 2 เมื่อนำมารวมรวมคำนวณกับเงินที่ได้จ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี หรือจ่ายเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ทั้งนี้สำหรับเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

ดังนั้นจากข้อมูลของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ทั้ง 2 ฉบับสามารถสรุปผลประโยชน์การนำเอาเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตมาลดหย่อนภาษีได้ดังนี้

1.กรมธรรม์ประกันชีวิตที่เริ่มทำก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552

เบี้ยประกันภัยที่ลดหย่อนภาษีได้คือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตรวมทั้งเบี้ยประกันภัยของสัญญาเพิ่มเติมที่ได้ซื้อแนบกับสัญญาประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท

2. กรมธรรม์ประกันชีวิตที่เริ่มทำตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป

เบี้ยประกันภัยที่ลดหย่อนภาษีได้คือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตเท่านั้น โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท แต่เบี้ยประกันภัยของสัญญาเพิ่มเติมที่ได้ซื้อแนบกับสัญญาประกันชีวิตไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

3. กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่จ่ายตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

เบี้ยประกันภัยที่ลดหย่อนภาษีได้คือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเท่านั้น โดยสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน แต่สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้เป็นการนำเอาเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญมาลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมจากเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ซื้อไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้นเมื่อรวมกับเบี้ยประกันภัยของการประกันชีวิตในข้อ 2 แล้วจะสามารถนำเอาเบี้ยประกันภัยจากการประกันชีวิตแบบบำนาญไปลดหย่อนภาษีได้ถึง 300,000 บาท แต่ทั้งนี้เมื่อรวมกับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนและหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท



ดังนั้นการประกันชีวิตแบบบำนาญจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ต้องการวางแผนเกษียณอายุอย่างมั่นคง




References

1. ไทยจ่อเข้า 'สังคมผู้สูงอายุ' เต็มตัวปี 68 ล่าสุดกว่า 1 ล้านคนนอนติดเตียง!. http://www.thairath.co.th/content/410946

2. นิยาม: สังคมผู้สูงอายุ. http://www.stou.ac.th/stouonline/lom/data/sec/Lom12/05-01.html

3. ผู้สูงอายุ. http://www.cps.chula.ac.th/cps/research_division/article_ageing/ageing_001.html

4. การทำงานของผู้สูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2554. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. 2555.

5. ร่างยุทธศาสตร์การวิจัยรายสาขา : ด้านสังคมผู้สูงอายุ พ.ศ. 2555-2559

6. List by the World Health Organization (2012). List of countries by life expectancy. http://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_life_expectancy

7. ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์, ปราโมทย์ ประสาทกุล. ประชากรไทยในอนาคต. http://www.ipsr.mahidol.ac.th/IPSR/AnnualConferenc...

หมายเลขบันทึก: 585199เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2015 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015 00:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท