นายอำเภอสุไหงโก-ลก เป็นประธานพิธีลงเสาเอกสร้างสะพานเจาะบากงในโครงการ “ย้อนรอยพระราชกรณียกิจ ครั้งหนึ่ง...ณ สะพานบ้านเจาะบากง" ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส



นายเจษฎา จิตรัตน์ นายอำเภอสุไหงโก-ลก พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจและผู้นำชุมชน ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ร่วมพิธีลงเสาเอก เพื่อสร้างสะพานไม้ตามโครงการ "ย้อนรอยพระราชกรณียกิจ ครั้งหนึ่ง...ณ สะพานบ้านเจาะบากง" ตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับสะพานไม้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงงาน และได้ทรงตรัสกับลุงพร้อม ศรีสุข ราษฎรในพื้นที่บ้านเจาะบากง จนปรากฏเป็นภาพพระราชกรณียกิจที่เผยแพร่ออกไปทั่วประเทศ มากว่า 33 ปีแล้ว โดยในพิธีดังกล่าวได้มีพระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์ และผู้นำศาสนาร่วมละหมาดฮายัต เพื่อความเป็นสิริมงคลในการสร้างสะพานประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

ผู้นำศาสนาร่วมละหมาดฮายัต..

นายเจษฎา จิตรัตน์ นายอำเภอสุไหงโก-ลก กล่าวว่า ภาพพระราชกรณียกิจที่ทรงพระทับนั่งบนสะพานไม้ และได้ตรัสกับราษฎรคนหนึ่ง ภาพนี้คนไทยได้เห็นและต่างชื่นชมในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อราษฎรในพื้นที่ แต่น้อยคนที่จะทราบว่าภาพนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2524 ที่บ้านเจาะบากง ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

นายเจษฎา จิตรัตน์ นายอำเภอสุไหงโก-ลก เป็นประธานแถลงข่าวกสนสร้างสะพาน

ดังนั้น เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อำเภอสุไหงโก-ลก ส่วนราชการ องค์กรต่างๆ และชาวบ้านในพื้นที่จึงได้มีแนวคิดที่จะจัดสร้างสะพานไม้แห่งนั้นกลับคืนมาอีกครั้ง โดยใช้ช่างไม้คนเดิมที่เป็นผู้สร้างสะพานไม้ในสมัยนั้น ด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม ใช้แรงงานของเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่เป็นหลักไม่มีการจ่ายค่าแรง เพราะทุกคนยินดีที่จะสละแรงกายเพื่อจัดสร้างสะพานไม้เจาะบากงเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ขณะประทับอยู่บนสะพานกับลุงพร้อม จินนาบุตร

ทั้งนี้ งบประมาณทั้งหมดเกิดจากการร่วมบริจาคของทุกภาคส่วนโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับงบประมาณของส่วนราชการ พร้อมมอบหมายให้องค์การบริหารส่วนตำบลปูโยะ รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพหลักในการบริหารจัดการโครงการ

ด้านนางเอี๊ย ศรีสุข ภรรยาของลุงพร้อม กล่าวว่า รู้สึกดีใจและซาบซึ้งใจที่ภาพแห่งความทรงจำที่เป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวในอดีต ทำให้เกิดการสร้างสะพานไม้เจาะบากงขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพราะหากหวังเพียงประชาชนในพื้นที่บ้านเจาะบากงที่มีอยู่น้อยมากก็คงไม่เกิดโครงการนี้ขึ้น

สำหรับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่7 กันยายน 2524 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงงาน ณ บ้านเจาะบากง หมู่3 ตำบลปูโยะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยมิได้นัดหมายให้ราษฎรในพื้นที่ทราบล่วงหน้าแต่อย่างใด ซึ่งขณะนั้นชาวบ้านที่มีชาวไทยพุทธ และไทยมุสลิม กำลังทำนาอยู่ในพื้นที่ เมื่อได้ยินเสียงรถยนต์ของตำรวจทางหลวงนำขบวนเสด็จฯ ชาวบ้านในระแวกนั้นจึงวิ่งออกมารับเสด็จฯ ริมถนนเส้นทางเสด็จฯ รวมทั้งนายพร้อม จินนาบุตร ขณะนั้นมีอายุ 47 ปี (เสียชีวิตเมื่อปี 2555 ขณะอายุ78 ปี) ได้นั่งและยกมือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทอดพระเนตรลุงพร้อม และทรงรับสั่งให้รถยนต์พระที่นั่งฯหยุด แล้วทรงตรัสถามลุงพร้อมว่า "ที่นี่ที่ไหน" ลุงพร้อมตอบว่า "หมู่บ้านเจาะบากง" และพระองค์ทรงตรัสว่า "หมู่บ้านดังกล่าวไม่มีในแผนที่ มีแต่บ้านดคกกูโน และบ้านโคกกูยิ" ซึ่งหมู่บ้านทั้ง2แห่ง เป็นหมู่บ้านที่มีเขตติดต่อกับบ้านเจาะบากง และในระหว่างนั้นลุงพร้อม จึงได้เสนอขอพระราชทานให้มีการขุดคลองเชื่อมต่อคลองโต๊ะแดง หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จฯลงจากรยนต์พระที่นั่งฯ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปที่สะพานไม้พร้อมกับลุงพร้อม เพื่อทอดพระเนตรสภาพพื้นที่ดังกล่าว ดังภาพที่ปรากฏในภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ขณะประทับอยู่บนสะพานกับลุงพร้อม

หมายเลขบันทึก: 584499เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2015 21:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2015 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ทรงพระเจริญครับ

ผมมีรูปนี้อยู่บนโต๊ะทำงาน

ทึ่งมากเลยครับ

ขอบคุณมากๆครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท