“ตัวตน”


บันทึกเพื่อ Core Module 4: Arts Aesthetics & Appreciative Skills คศน.4

------------------------------------------


"พี่ตกลงจะเอายังไง ทั้งคนทั้งอุปกรณ์เตรียมเสร็จแล้ว พร้อมเผาได้เลย" น้ำเสียงเร่งเร้าของหัวหน้างานสุขาภิบาลในเย็นวันจันทร์ ทำให้ภาพชุลมุนของวานนี้กระจ่างชัดขึ้นในความทรงจำ

บ่ายวันอาทิตย์ที่แสงแดดจัดแผดกล้า การขี่มอเตอร์ไซด์ฝ่าเปลวแดดระริกไม่ใช่เรื่องน่าสนุก ระยะทางจากบ้านถึงโรงพยาบาลปกติใกล้นิดเดียวเหมือนถูกถ่างขยายด้วยไอร้อนจนผิวแสบไหม้

ลานปูนซีเมนต์เปิดโล่งถัดจากตัวตึก เป็นบริเวณที่ผู้ป่วยและญาติใช้เป็นที่รับประทานอาหาร นั่งพักผ่อน ดูทีวี ปรากฏฉากโครงสแตนเลส ผืนผ้าฉากพิมพ์ตราโรงพยาบาลล้อมรอบปิดกั้นสายตาผู้คนที่มุมหนึ่งของลานปูน หลังฉากกั้นเป็นเตียงเข็นผู้ป่วย บนเตียงคือร่างที่มีผ้าคลุมมิดตั้งแต่หัวจรดเท้า

"มีใครโทรแจ้งตำรวจหรือยัง" สิ้นคำถาม เสียงของน้องพยาบาลตอบว่า "แจ้งแล้วค่ะ อีกสักครู่ ร้อยเวรจะมาค่ะ" เกือบสองชั่วโมงผ่านไป ชายสวมเครื่องแบบครึ่งท่อนสองคนมาถึง หนึ่งในนั้น ถือแฟ้มและปากกาในมือ อีกหนึ่งเอื้อมมือไปเลิกชายผ้าที่คลุมหัว เผยให้เห็นร่างชายฉกรรจ์ อายุราว ๓๐ ปี โพกผ้าพันแผลรอบศีรษะ หน้าไร้สีเลือด ตำรวจคนเดิมยังจับชายผ้า พินิจดูร่างนั้นพร้อมเอ่ยขึ้น "ช่วยให้คนในโรงพยาบาลที่เห็นศพคนแรกเล่าเหตุการณ์ให้ฟังหน่อยครับ"

พยาบาลเวรผู้ผ่านวันวัยและประสบกับเรื่องราวเช่นนี้เป็นอาจิณ เล่าด้วยแววตาเรียบเฉยว่า จากการสอบถามผู้นำคนไข้มาส่ง ชายคนนี้ขึ้นรถโดยสารสายเปิ่งเคลิ่ง (หมู่บ้านชายแดนติดกับประเทศเมียนม่าร์) – อุ้มผาง เขาขึ้นรถบริเวณหน้าศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ หลังรถแล่นมาได้ราว ๒๐ กิโลเมตร ไม่ทราบเกิดเหตุอะไรขึ้น เขาตกลงจากรถโดยสาร ศีรษะกระแทกกับก้อนหินข้างทาง เสียชีวิตขณะนำส่งโรงพยาบาล ทั้งเนื้อทั้งตัวไม่ปรากฏเอกสารแสดงตนใด ๆ มีเพียงถุงพลาสติกเก่าคร่ำคร่า บรรจุเงินไทยและเมียนม่าร์ จำนวนไม่มาก

ร้อยเวรขะมักเขม้นบันทึกปากคำจนเสร็จ "ต้องพยายามติดต่อญาติผู้ตายเพื่อจัดการเรื่องศพครับ เรื่องราวของชายไม่ทราบชื่อดูเบาบางเหลือเกิน ความเกี่ยวโยงเดียวที่เป็นเบาะแส คือ สถานที่ขึ้นรถของเขา เจ้าหน้าที่องค์กร IRC ในศูนย์พักพิงชั่วคราวรับปากจะติดตามญาติผู้ตายในวันรุ่งขึ้น

ร่างของชายไม่ทราบชื่อ ถูกเข็นกลับเข้ามุมเดิม กิจวัตรของผู้ป่วยและญาติบริเวณลานปูน ดำเนินไปตามปกติ

ตลอดทั้งวันจันทร์ โทรศัพท์ดังขึ้นเป็นระยะระยะ "พี่คะ ได้ข่าวว่าพบญาติผู้ตายค่ะ ถ้าหาญาติพบจะรีบติดต่อกลับนะคะ" "พี่ครับ ได้เรื่องเกี่ยวกับศพหรือยังครับ ผมจะได้จัดการเรื่องเผาศพให้เรียบร้อย" "พี่คะ ผู้ตายไม่มีญาตินะคะ เดี๋ยวจะสอบถามคนที่เห็นตอนเขาขึ้นรถค่ะ"

ก่อนค่ำ ข่าวจากเจ้าหน้าที่องค์กรยืนยันกลับมาว่า ศพดังกล่าวเป็นชายชาวกะเหรี่ยงจากเมียนม่าร์ ชื่อ นายจ่อ เขาออกเดินทางจากหมู่บ้านเพื่อมาทำงานที่ตัวอำเภออุ้มผาง ไม่มีใครรู้รายละเอียดอื่น ๆ ชื่อ "จ่อ" และที่มา ทราบจากเจ้าของร้านค้าบริเวณหน้าศูนย์พักพิงที่เขาพูดคุยก่อนขึ้นรถ

โรงพยาบาลชุมชนเล็ก ๆ อย่างโรงพยาบาลอุ้มผาง ไม่มีห้องเย็นสำหรับเก็บรักษาศพ กรณีคนไข้เสียชีวิต แล้วญาติไม่ประสงค์นำศพกลับไปทำพิธีหรือกรณีศพไร้ญาติ ฝ่ายสุขาภิบาลจะนำศพไปเผาที่สุสาน

สายโด่งวันอังคาร เสียงกริ่งโทรศัพท์ดังขึ้นอีกครั้ง น้ำเสียงผู้โทรหงุดหงิดจนจับอาการได้ "พี่ครับ ช่วงนี้อากาศมันร้อนมาก คนไข้และญาติที่วอร์ดบ่นว่า ศพมันเริ่มมีกลิ่นโชยออกมา แถวนั้นเขาให้กินข้าวซะด้วย จะตัดสินใจยังไง รีบหน่อยนะครับ"

"เผาได้เลย" คำตอบหลังหารือกับร้อยเวรที่ยืนยันว่า หากมิอาจติดต่อญาติผู้ตายได้ ประกอบกับปากคำผู้พบเห็นเหตุการณ์และเอกสารรับรองจากแพทย์ว่า เป็นการตายจากอุบัติเหตุ ศพสามารถถูกจัดการได้

หนังสือรับรองการตายจากโรงพยาบาล ระบุชื่อ นายจ่อ ไม่ทราบอายุ ไม่ทราบที่อยู่ ไม่ทราบสัญชาติ ถูกเจ้าหน้าที่คลินิกกฎหมายอุ้มผาง นำไปแจ้งตายและออกใบมรณบัตร ที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลอุ้มผาง

ศักดิ์และสิทธิ์ในฐานะที่เป็น "บุคคล" ของนายจ่อ จึงได้รับการบันทึกเป็นครั้งแรกในใบมรณบัตร

ทุกวันนี้ ญาติพี่น้องที่บ้านนายจ่อ อาจยังคงตั้งตารอคอยการกลับบ้าน โดยไม่ทราบว่า นายจ่อเสียชีวิตไปแล้วในดินแดนที่ไกลแสนไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนของเขา

เรื่องราวของนายจ่อ ฉายภาพเมื่อสามปีก่อนให้แวบขึ้น ในรถ Ambulance ส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลแม่สอด สายตาแสดงความสงสารของชายชราที่สวมเสื้อเชิ้ตสีตุ่นกับผ้าโสร่งผืนเก่า ผมถูกมวยมุ่นอยู่กลางศีรษะตามแบบฉบับผู้นับถือลัทธิฤาษี ทอดไปยังชายฉกรรจ์ในชุดคนไข้ในที่ผุดลุกผุดนั่งบนเตียงผู้ป่วย

นายไหร่โผ่ ชาวบ้านเลตองคุ ไม่มีเอกสารแสดงตนใด ๆ ทั้งสิ้น เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอุ้มผางครั้งแรกด้วยอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หน้าบวม แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคไตระยะสุดท้าย จนกระทั่งไม่มีแรง และเริ่มไม่รู้สึกตัวเนื่องจากร่างกายไม่สามารถขับของเสียออกมาได้ แพทย์จึงตัดสินใจส่งตัวไปรับการรักษาต่อ และถูกเจาะเส้นเลือดที่คอเพื่อฟอกเลือดขับของเสียแทนไต จากนั้นจึงกลับมาทำการฟอกไตที่หน่วยไตเทียมของโรงพยาบาลอุ้มผาง

ตลอดเวลาที่ไหร่โผ่รักษาตัว ชายชราคนเดิมเป็นผู้เดียวที่คอยเฝ้าดูแล และติดตามไปทุกที่ คำถามผุดขึ้นในใจ "ทำไมลุงคนนี้ ไปไหนมาไหนโดยไม่กังวลว่าจะถูกจับเลยนะ ไม่เห็นเหมือนชาวบ้านที่ไม่มีบัตรทั่วๆไปเลย"

"ลุงเป็นคนไทย นี่ไง มีบัตรประจำตัวประชาชนด้วยนะ" นายหม่อทูอี ประทีปชิงชัย ยื่นบัตรพร้อมยิงฟันเคลือบดำเพราะหมากที่เคี้ยวเป็นประจำ "ลุงยื่นขอสัญชาติไทยให้ลูกตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้เลย หมอช่วยหน่อยนะ ตอนนี้ลูกป่วย บัตรก็ไม่มี"

เมื่อติดตามคำร้องของหม่อทูอีจากสำนักทะเบียนอำเภออุ้มผาง พบว่า เขายื่นขอเพิ่มชื่อลูก ๔ คนรวมทั้งไหร่โผ่ ที่เกิดและเติบโตจากหมู่บ้านเลตองคุ ด้วยระยะทาง ๑๐๐ กิโลเมตรจากตัวอำเภออุ้มผาง สมัย ๔๐กว่าปีที่แล้ว แม้หม่อทูอีจะเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยและมีบัตรประจำตัวประชาชน ก็ไม่มีเหตุที่จำเป็นต้องแจ้งเกิดให้กับลูก ๆ ทั้งหมดจึงกลายเป็นบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และส่งผลสืบเนื่องให้คนชั้นหลานยังคง ไร้ตัวตน จนถึงทุกวันนี้

หลายครั้งหลายหนที่ไหร่โผ่ หงุดหงิด อารมณ์เสีย เพราะอยู่แต่บนเตียง เดินไปเดินมาได้ไม่ไกลก็เหนื่อยมาก บางวันเอาแต่พร่ำบ่นอยากกลับบ้าน หม่อทูอีบอกว่า ไหร่โผ่เป็นลูกชายที่ขยันขันแข็ง มีที่ดิน ไร่นาและสวนจำนวนมาก เสียดายยังไม่มีเมียมีลูกมาช่วยดูแล

คลินิกกฎหมายอุ้มผางได้เจรจาขอให้นายทะเบียนอำเภออุ้มผางขณะนั้น (นายอำเภอเชวงศักดิ์ ใจคำ)เร่งรัดกระบวนการเพิ่มชื่อของนายไหร่โผ่และพี่น้อง จนได้รับการเพิ่มชื่อเป็นคนสัญชาติไทย วันที่พาไหร่โผ่ไปถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน เขาบรรจงใส่เสื้อเชิ้ตที่ดูสะอาดที่สุด กับโสร่งสีน้ำเงินเข้ม แม้จะแปะผ้าก๊อซอย่างหนาตรงบริเวณเจาะเส้นที่คอ แต่ประกายตาของเขาวิบวับมีความหวัง หม่อทูอีเองก็มีรอยยิ้มอย่างสุขใจ

ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มฟอกไต จนได้ถ่ายบัตรตลอดหกเดือน สองพ่อลูกอยู่ที่วอร์ดผู้ป่วยในโดยตลอดเพราะมิอาจเดินทางไปกลับจากโรงพยาบาลถึงเลตองคุสามครั้งต่อสัปดาห์ได้ วันเวลาเนิ่นนานจนหม่อทูอีและไหร่โผ่รวบรวมความกล้าขออนุญาตหมอผู้รักษากลับไปทำพิธีตามความเชื่อของตน ครั้งแรกทั้งคู่กลับเลตองคุไป ๗ วัน และมารับการรักษาเช่นเดิม

ครั้งที่สองที่หม่อทูอีพาไหร่โผ่กลับไปทำพิธีเหมือนคราวก่อน ผ่านไปเพียง ๖ วัน ชายชราผู้พ่อหอบร่างไร้เรี่ยวแรงของลูกชายกลับมา ด้วยสภาพมีตุ่มน้ำใสผุดขึ้นเต็มตัว ไหร่โผ่เป็นโรคอีสุกอีใส มีสภาวะแพร่เชื้ออย่างรุนแรง จนเกินกำลังที่หมอจะยื้อชีวิตของเขาไว้ได้

หัวอกของผู้เป็นพ่อที่หวังจะพึ่งพาลูกชายคนขยัน กลับกลายต้องเป็นผู้ดูแล เยียวยาจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตคงปวดร้าวและเศร้าใจจนเกินเอ่ยปากเป็นคำพูดใดได้ หม่อทูอี เอ่ยขึ้นเบา ๆ "ขอบคุณหมอที่ดูแลลูกผมมาตลอด ขอบคุณที่ช่วยให้เขาไม่ตายในฐานะ คนไม่มีบัตร ขอบคุณมากครับ"

หมายเลขบันทึก: 584287เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2015 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2015 10:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กว่าจะได้สัญชาติ

ไม่ง่ายเลยนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท