ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๒๓. โรงเรียนรุ่งอรุณ



เช้าวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ เนื่องจากไปถึงตั้งแต่เช้า จึงมีโอกาสไปแอบดูกิจกรรมหน้าเสาธงตอน ๘.๐๐ น. ของนักเรียนชั้นมัธยมปลาย

หลังจากนักเรียนร่วมกันร้องเพลงชาติ โดยมีวงดนตรีหรือแตรวงของโรงเรียนเล่นดนตรีประกอบเสร็จ ก็เป็นช่วงเวลาสะท้อนความคิดของพี่ ม. ๕ ในการไปลงพื้นที่ตำบลสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำ HIA การจัดการทรัพยากรป่าและน้ำ ที่ทั้งมีผลต่อคนในพื้นที่ซึ่งเป็นต้นน้ำ และต่อเหล่านักเรียน ซึ่งเป็นคนปลายน้ำ ตามด้วยการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของนักเรียนชั้น ม. ๕ และ ม. ๔ ชักชวนไปร่วม Art Fair บ้าง Music Festival บ้าง ที่นักเรียนชั้นนั้นๆ เป็นผู้จัด

ตอนประชุมคณะกรรมการมูลนิธิร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนรุ่งอรุณ มีการนำเสนอวีดิทัศน์ความยาว ๒๒ นาที ที่นักเรียนชั้น ม. ๕ เพิ่งตัดต่อเสร็จเมื่อคืนที่ผ่านมา เล่าเรื่องราวของการไปทำงานศึกษาและเก็บข้อมูล ในพื้นที่ตำบลสบลาน เป็นเวลา ๕ วัน และกลับมาวิเคราะห์ สังเคราะห์และนำเสนอผลการศึกษาเป็น หนังสั้น, เป็นอินโฟกราฟิก, และเป็นหนังสือ สำหรับหนังสือ อ่านได้ ที่นี่ ผมได้รับแจกหนังสือนี้มาเล่มหนึ่ง อ่านแล้วไม่น่าเชื่อว่าเป็นผลงานของนักเรียนชั้น ม. ๕ แต่ดูจากวีดิทัศน์แล้วก็ต้องเชื่อ และตอนดูวีดิทัศน์ก็เห็นกระบวนการทำงาน ค่อยๆ เอาข้อมูลที่เก็บได้มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ร่วมกัน ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่าง

เมื่อเอาหนังสือกลับมาอ่านที่บ้านก็พบกระบวนการศึกษาที่หน้า ๖๒ ว่ามี ๔ ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ

  • ๑.ขั้นตอนการให้โจทย์เบื้องต้น (โดยครู)
  • ๒.ขั้นตอนการดำเนินโครงงาน (โดยนักเรียน) แบ่งออกเป็น ๘ ขั้นตอนย่อย โดยขั้นตอนสุดท้าย คือการจัดเวทีสาธารณะ
  • ๓.ขั้นตอนการประเมินผลการทำงานโดยผู้ร่วมรับฟังการเสวนา
  • ๔.ขั้นตอนการประเมินผลการเรียนรู้โดยการประเมินตนเอง และการประเมินโดยกลุ่ม

นี่คือการเรียนรู้แบบ Project-Based Learning ที่เป็นโครงงานจริง พื้นที่จริง ปัญหาหรือความท้าทายจริง และเมื่อทำงานเสร็จก็จะนำไปเสนอในการประชุมจริง คือในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กรรมการที่มาร่วมประชุมต่างก็ทึ่งในความสามารถของนักเรียน

เป็นประจักษ์พยานว่า หากจัดกระบวนการส่งเสริมสนับสนุนให้ถูกต้อง นักเรียนมีศักยภาพในการเรียนรู้และสร้างสรรค์มากกว่าที่เราคิด นี่คือมิติของความเป็นมนุษย์ หรืออาจกล่าวในแง่ลบว่า การศึกษาแบบเน้นสอนโดยถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป ได้ปิดกั้นลดทอนศักยภาพของนักเรียนไปอย่างมากมาย

สะท้อนว่า โรงเรียนรุ่งอรุณได้สั่งสมทักษะการจัดการเรียนรู้ เพื่อฝึกฝนทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ให้แก่นักเรียน ไว้อย่างหนักแน่น ศิษย์เก่าที่จบ ม. ๖ ไปแล้ว ๘ ปี บอกว่าเมื่อเทียบกับตอนที่ตนเรียนชั้น ม. ๕ นักเรียนรุ่นใหม่มีความสามารถสร้างสรรค์มากกว่าอย่างเทียบกันไม่ติด ซึ่งคงไม่ใช่เพราะนักเรียนเก่งมากน้อย ต่างกัน แต่เป็นเพราะครูและโรงเรียนมีทักษะในการจัดการเรียนรู้แบบที่ให้นักเรียนดึงศักยภาพภายใน ของตนออกมาทำผลงาน

คุณอนุ ศรีรัตนบัลล์ กรรมการบริหารมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ให้ความเห็นว่า โรงเรียนรุ่งอรุณจัดการศึกษาในโมเดลที่มีลักษณะ Qualitative : Abstract & Asymmetry และ Dynamic เคลื่อนมาจากสภาพการศึกษาทั่วไปที่มีลักษณะ Quantitative : Concrete & Symmetry และ Static แนวความคิดจำแนกลักษณะการศึกษาออกเป็น 4 Quadrant นี้ น่าสนใจมาก (ดูรูปที่ ๑) และผมเห็นด้วยกับวิธีอธิบายความซับซ้อนของการศึกษา ออกมาเป็น Quadrant ตามตัวแปรสองมิติ โดยที่ในความเป็นจริง จะมีมิติซับซ้อนยิ่งกว่านี้


วิจารณ์ พานิช

๒๖ พ.ย. ๕๗





พิธีเคารพธงชาติ


วงดนตรีเล่นประกอบเพลงชาติ


ตัวแทน ม. ๕ เล่าเรื่องการไปเรียนรู้การจัดการทรัพยากร


ฟังเรื่องเล่าและคำประกาศของเพื่อนนักเรียน

หมายเลขบันทึก: 583466เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2015 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2015 14:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท