ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

คุณธรรมนักพูด


คุณธรรมนักพูด

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก

www.drsuthichai.com

คุณธรรม คือ การกระทำในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่มีความถูกต้อง คุณธรรมนักพูด จึงหมายถึง การพูดในสิ่งที่ดีงาม การพูดในเชิงสร้างสรรค์ พูดในสิ่งที่มีประโยชน์

ความจริงแล้วไม่ใช่เพียงแต่ วงการพูด เท่านั้นที่จะต้องมีคุณธรรม แต่ ทุกอาชีพ ทุกวงการ จะต้องมีคุณธรรม เพราะคุณธรรมจะทำให้คนที่อยู่ในอาชีพ อยู่ในวงการ มีความเจริญก้าวหน้า แต่ตรงกันข้าม ผู้ใด อาชีพใด วงการใด ขาดซึ่งคุณธรรม จริยธรรม เสียแล้วก็จะนำมีซึ่งความเสื่อม ความถดถอย และอาจเสียชื่อเสียง เงินทอง ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เช่น

อาชีพทนายความ สภาทนายความ จะให้ทนายความทุกคนได้เรียนและมีการทดสอบในรายวิชามารยาททนายความ

อาชีพขายประกันชีวิต ก็จะมีจรรยาบรรณของนักขายประกันชีวิต ที่จะต้องยึดถือปฏิบัติร่วมกัน

อาชีพครู อาจารย์ จะต้องมีกรอบของการปฏิบัติและประพฤติตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน นักศึกษา

อาชีพแพทย์ จะต้องมีจรรยาบรรณของแพทย์ เป็นต้น

เราจะเห็นได้ว่า ทุกวงการ ทุกอาชีพ ต่างก็มีการวางกฎระเบียบในเรื่องของ จริยธรรม จรรยาบรรณ คุณธรรม มารยาท ให้คนในอาชีพ คนในวงการของตนเอง ได้ยึดถือและปฏิบัติร่วมกัน และถ้าผู้ใด ผิดจริยธรรม จรรยาบรรณ คุณธรรม มารยาท บางอาชีพ บางวงการ ถึงขั้นมีบทลงโทษถึงขั้นให้ออกจากวงการไปเลยทีเดียว

สำหรับคุณธรรมนักพูด กระผมขอแบ่งเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ

1.ประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้คำพูด

2.ประเด็นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้คำพูด

1.ประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้คำพูด

1.1.ไม่ควรพูดปด พูดโกหก ซึ่งในทางพุทธศาสนาถือว่าผิดศิล 5 เลยทีเดียว อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐ อับราฮัม ลินคอล์น เคยกล่าวไว้ว่า “ ท่านอาจโกหกคนทุกคนได้บางเวลา ท่านอาจโกหกคนทุกคนได้บางเวลา แต่ท่านไม่สามารถโกหกคนทุกคนตลอดเวลาได้” ฉะนั้น นักพูดที่มีคุณธรรม ไม่ควรพูดปด พูดโกหก หลอกลวง เพราะถ้าเราพูดโกหกบ่อยๆ คนที่เขารู้ เขาก็จะไม่เคารพนับถือศรัทธาเรา

1.2.ไม่ควรพูดให้คนทะเลาะกันหรือพูดให้เกิดการแตกความสามัคคี เราต้องยอมรับว่า บ้านเมืองของเราในปัจจุบันและในยุคอดีต คำพูดมีส่วนเป็นอันมากที่ทำให้เกิดความสามัคคี เช่น แกนนำทางการเมืองมักใช้คำพูดไปทางที่ทำลายฝ่ายตรงกันข้าม พูดให้คนฝ่ายของตนเองเกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่ง

1.3.ควรรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเอง เช่น สัญญากับใครแล้ว ควรที่จะปฏิบัติตามคำพูดของตนเอง สัญญาว่าจะไปพูดให้ก็ต้องไปตามนัด ไม่ควรขาดนัด หากมีธุรกิจ ติดงานสำคัญ ก็ควรโทรศัพท์ไปขอโทษ เพื่อผู้จัดจะได้จัดนักพูดท่านอื่นแทนตนเองได้

สำหรับคุณธรรมนักพูด ในทางพุทธศาสนายังได้กล่าวถึงเรื่องของการใช้คำพูด ซึ่งนักพูดท่านใดยึดถือก็ถือได้ว่า นักพูดท่านนั้นมีคุณธรรมที่ดีตามหลักพุทธศาสนา คือ

-ปิยวาจา ซึ่งอยู่ใน สังคหวัตถุ 4 ปิยวาจา หมายถึง การใช้คำพูดด้วยถ้อยคำที่สุภาพ ไพเราะ อ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดก้าวร้าว หยาบคาย พูดให้ถูกต้องตามกาลเวลา กาลเทศะ ซึ่งมีหลักที่ยึดถือดังนี้ เว้นจากการพูดเท็จ , เว้นจากการพูดส่อเสียด ,เว้นจากการพูดคำหยาบและเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

-มุสาวาท คำว่า มุสา มีความหมายถึง เท็จ หรือเจตนาที่จะใช้คำพูดเท็จ การใช้คำพูดประเภท มุสาวาท จะทำให้เกิดวาจาที่โกง วาจาที่หลอกลวง เจตนาจะทำให้ผู้อื่นเสียประโยชน์

-ปิสุณวาจา คือ การพูดออกไปเพื่อเจตนาให้คนอื่นเกิดจิตที่เศร้าหมอง ไม่สบายใจ พูดให้ร้ายลับหลังผู้อื่น พูดแล้วมุ่งทำให้เกิดการแตกแยกขึ้น

2.ประเด็นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้คำพูด

2.1.ต้องตรงต่อเวลา เวลานัด 9 โมงเช้า ก็ต้องไปตามนัด ถ้าจะให้ดีก็ควรไปก่อนเพียงเล็กน้อย เพื่อไปเตรียมตัวและเพื่อให้เจ้าภาพหรือผู้จัดเกิดความสบายใจ อีกทั้งเมื่อผู้จัดให้พูด 9 โมงเช้า ถึง เที่ยง(12 นาฬิกา) ก็ควรเลิกตามกำหนด ไม่ควร เลิกก่อนหรือเลิกเกินเวลามากจนเกินไป

2.2.มารยาทในการแต่งกาย นักพูดที่ดีมีคุณธรรม ควรแต่งกายให้เกียรติผู้ฟังและผู้จัด การแต่งกายที่ดีของนักพูดก็คือ ควรแต่งกายเสมอผู้ฟังหรือแต่งกายเหนือกว่าผู้ฟังหนึ่งขั้น แต่ไม่ควรแต่งกายให้ต่ำกว่าผู้ฟัง เช่น ผู้ฟังสวมเสื้อยืดคอเชิต กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ แต่ก็ควรแต่งตัวให้เหมือนผู้ฟังหรืออาจจะดีกว่าผู้ฟังสักเล็กน้อย เราอาจจะใส่เสื้อสูททับด้านนอก แต่ไม่ควรแต่งกายต่ำกว่าผู้ฟัง เช่นใส่เสื้อยืดคอกลม กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ เป็นต้น

2.3.ไม่ควรเห็นแก่เงิน นักพูดในปัจจุบันมีความแตกต่างกับนักพูดในอดีต คือ ในอดีตการพูดมักจะไม่ได้สร้างรายได้ให้แก่ผู้พูดมากนัก แต่ในยุคปัจจุบัน การพูดเป็นเงินเป็นทอง นักพูดระดับแนวหน้าของประเทศ พูดครั้งหนึ่งหลักหมื่นหลักแสนกันเลยทีเดียว ฉะนั้น นักพูดที่ไม่มีคุณธรรมมักเห็นแก่รายได้ เมื่อรับงานแรกตกลงว่าจะไปพูดให้แล้ว โดยผู้จัดมีงบประมาณน้อยได้ค่าพูดชั่วโมงละ 500 บาท แต่พอต่อมามีคนมาติดต่อขอไปพูดให้โดยเสนอรายได้ 30,000 บาท นักพูดบางคนเห็นแก่เงิน จึงโทรศัพท์ไปปฏิเสธงานแรกที่รับกันเลยทีเดียว

2.4.ต้องพูดให้ตรงกับหัวข้อเรื่องที่ได้รับมอบหมายให้พูด นักพูดบางท่าน เมื่อเขาเชิญไปให้พูดหัวข้อหนึ่ง แต่ตอนพูดกับไปพูดอีกหัวข้อหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงกับหัวข้อที่ผู้จัดมอบหมายให้ อย่างนี้ก็ถือว่าไม่รับผิดชอบต่อการพูด เพราะผู้ฟังส่วนใหญ่มักคาดหวังกับหัวข้อที่ผู้จัดตั้งไว้ จึงยอมเสียเวลา ยอมเสียเงินไปนั่งฟัง ฉะนั้นเมื่อได้รับมอบหมายให้พูด ก็ควรพูดให้ตรงกับหัวข้อที่ได้รับมอบหมายให้พูด

2.5.ต้องเตรียมการพูดมาเป็นอย่างดี นักพูดต้องรับผิดชอบกับงานพูดของตนเอง เราจะเห็นได้ว่า นักพูดหลายๆคน ตอนเข้าวงการใหม่ๆ มีการเตรียมการพูดอย่างดี แต่พอพูดไปนานๆ เริ่มที่จะไม่เตรียมการพูดแล้ว แต่แท้ที่จริงแล้ว นักพูดที่มีคุณธรรมจะต้องมีการเตรียมตัว ทำการบ้าน สำหรับงานพูดของตน งานถึงจะออกมาดีและจะเกิดข้อผิดพลาดน้อยลง

ฉะนั้น หากท่านเป็นคนหนึ่งที่ต้องการความก้าวหน้าในวิชาชีพทางด้านการพูด คุณธรรมนักพูด จึงเป็นสิ่งที่ท่านควรประพฤติปฏิบัติเพื่อความเจริญก้าวหน้าในอาชีพทางด้านการพูด เพราะถ้าท่านขาดซึ่งคุณธรรมนักพูดเสียแล้ว ก็จะพาท่านไปสู่หนทางที่เสื่อมลง

</o:p></span>

หมายเลขบันทึก: 583043เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2014 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ธันวาคม 2014 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบสวัสดีปีใหม่นะครับ อาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท